"...วัคซีนซิโนแวคและวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เป็นวัคซีนชนิดเชื้อตายและไวรัลเวกเตอร์ มีอัตราการแพ้รุนแรงแบบนี้ต่ำมาก ซึ่งหากเทียบกันจะพบว่า วัคซีนที่ไทยนำเข้ามาใช้จะพบอัตราการแพ้รุนแรงที่ต่ำกว่าวัคซีนชนิด mRNA 5-10 เท่า และทุกๆรายที่มีอาการแพ้รุนแรงไม่มีใครเสียชีวิตเลย..."
.......................................
หลังจากไทยได้รับวัคซีนล็อตแรกจากซิโนแวคและแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งปัจจุบันฉีดเข็มแรกให้กับบุคลากรและผู้นำระดับประเทศและจังหวัด รวม 254 ราย ยังไม่พบผลข้างเคียงรุนแรง
อย่างไรก็ตามจากสถิติการฉีดวัคซีนทั่วโลกกว่า 239 ล้านโดส ยังไม่พบการรายงานผู้เสียชีวิตจากวัคซีนต้านโควิด แต่มีรายงานว่า อาจมีการพบผู้แพ้วัคซีนที่ได้รับผลข้างเคียงรุนแรงบ้าง แต่อยู่ในสัดส่วนที่ไม่มากนัก
ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญศูนย์เด็ก (โรคติดเชื้อ) โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ กล่าวถึงผลข้างเคียงของวัคซีนว่า อาการที่เราพบบ่อยๆ มักจะอยู่ในช่วงของ 48 ชั่วโมงแรก โดยเฉพาะในช่วง 24 ชั่วโมงแรกอาจจะแสดงอาการได้เยอะ ยกตัวอย่างเช่น อาการปวดในบริเวณที่ฉีด หรือครั่นเนื้อครั่นตัว ส่วนอาการรุนแรงที่จะต้องจับตามองหลังจากฉีดวัคซีน คือ อาการแน่นหน้าอก หายใจไม่ออก หรือหน้ามืดเป็นลม ซึ่งเป็นอาการแพ้รุนแรงที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ในวัคซีนทุกชนิด
อย่างไรก็ตามอาการแพ้ผลข้างเคียงของวัคซีนอย่างรุนแรง เกิดขึ้นได้น้อยมาก หรือหากเทียบเป็นตัวเลข อาจเทียบได้ 1 ในหลาย ๆ ล้านโดส
"ในการฉีดวัคซีนครั้งนี้ แพทย์ได้เตรียมความพร้อมการในการเฝ้าระวังไว้อยู่แล้ว ทั้งนี้วัคซีนที่พบในทั่วโลกชนิด mRNA ยกตัวอย่างเช่น วัคซีนไฟเซอร์ หรือวัคซีนโมเดอร์นา เป็นต้น จะมีอัตราการแพ้รุนแรงแบบนี้สูงมาก แต่วัคซีนที่ไทยนำมาใช้ วัคซีนซิโนแวคและวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เป็นวัคซีนชนิดเชื้อตายและไวรัลเวกเตอร์ มีอัตราการแพ้รุนแรงแบบนี้ต่ำมาก ซึ่งหากเทียบกันจะพบว่า วัคซีนที่ไทยนำเข้ามาใช้จะพบอัตราการแพ้รุนแรงที่ต่ำกว่าวัคซีนชนิด mRNA 5-10 เท่า และทุกๆรายที่มีอาการแพ้รุนแรงไม่มีใครเสียชีวิตเลย" ศ.พญ.กุลกัญญา กล่าว
ศ.พญ.กุลกัญญา กล่าวอีกว่า หากประชาชนไม่มั่นใจว่า อาการที่เราพบเป็นผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนหรือไม่ ขอให้รีบปรึกษาแพทย์ทันทีที่พบอาการแปลกปลอม โดยเฉพาะในช่วง 7 วันแรก
@ 'อายุ'ทำให้มีผลข้างเคียงแตกต่างกัน
ศ.พญ.กุลกัญญา กล่าวว่า ไม่ว่าจะเป็นเพศหญิง หรือชาย จะแสดงผลข้างเคียงไม่แตกต่างกัน แต่อายุต่างหากที่จะทำให้มีผลข้างเคียงที่แตกต่างกัน
"ผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี จะไม่แสดงอาการของผลข้างเคียงเท่าใด ดังนั้นแล้วจะเห็นว่าผู้สูงอายุ เมื่อฉีดแล้วจะสบาย ไม่ค่อยเจ็บ แต่ผู้ที่อายุน้อยกว่าจะแสดงอาการของผลข้างเคียงที่เยอะกว่า ไม่ว่าจะเป็นอาการเจ็บ เป็นไข้ หรือครั่นเนื้อครั่นตัว" ศ.พญ.กุลกัญญา กล่าว
@ ภูมิคุ้มกันสร้างได้ หลังฉีดวัคซีน 14 วัน แต่ยังไม่เต็มที่ต้องรอเข็มที่ 2
ศ.พญ.กุลกัญญา กล่าวถึงสาเหตุที่ต้องเว้นระยะห่างการฉีดวัคซีน 2 เข็ม ว่า วัคซีนทั้ง 2 ชนิดที่ไทยรับมามีเทคโนโลยีในการผลิตที่แตกต่างกัน วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เป็นวัคซีนชนิดไวรัลเวกเตอร์ ส่วนวัคซีนซิโนแวค เป็นวัคซีนเชื้อตาย ดังนั้นการฉีดเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้รวดเร็วที่สุดจึงแตกต่างกัน
วัคซีนซิโนแวคจะต้องเว้นระยะห่างการฉีดเข็มที่ 2 ประมาณ 4 สัปดาห์ อย่างไรก็ตามหากเกิดการระบาดหนัก อาจมีการร่นระยะเวลาเป็น 2 สัปดาห์แทน
วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า หลังจากร่างกายสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้แล้วใน 14 วันหลังจากได้รับวัคซีนจะต้องเว้นระยะห่างระหว่างเข็มไว้ที่ 10-12 สัปดาห์ได้ เนื่องจากมีผลการวิจัยออกมาว่ายิ่งเว้นช่วงห่าง ยิ่งได้ประสิทธิภาพที่ดี
"ส่วนภูมิคุ้มกันระหว่างรอทิ้งช่วง ก่อนจะได้รับเข็มที่ 2 จะมีภายใน 14 วันหลังจากฉีด แต่ว่าจะยังไม่เต็มที่ ต้องได้รับการฉีดกระตุ้นจากเข็มที่ 2 ก่อน ถึงจะได้รับอย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตามแม้จะได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว ยังไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อโควิดอย่างสมบูรณ์ แต่สามารถมั่นใจได้ว่าหากเราป่วย จะไม่มีอาการรุนแรง อาจจะมีอาการเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ทั้งนี้จะสามารถมั่นใจได้ว่าจะไม่เกิดการแพร่ระบาด เมื่อประชาชนภายในประเทศได้รับวัคซีน 70% จากจำนวนประชากรทั้งหมด เนื่องจากปริมาณดังกล่าวจะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้ ซึ่งเราจะกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติได้เหมือนเดิม ดังนั้นขณะนี้จึงขอให้ประชาชนเว้นระยะห่าง หมั่นล้างมือ และสวมใส่หน้ากากอนามัยก่อนอีกระยะหนึ่ง" ศ.พญ.กุลกัญญา กล่าว
@ 'ผู้มีโรคประจำตัว'มีอาการคงที่-ไม่น่าเป็นห่วง ฉีดได้
ก่อนหน้านี้ ศ.พญ.กุลกัญญา กล่าวถึง การฉีดวัคซีนให้กับผู้มีโรคประจำตัวว่า วัคซีนที่ไทยนำเข้าทั้ง 2 ชนิด คือวัคซีนของซิโนแวคและวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้ามีความปลอดภัยสูง สามารถใช้ได้กับผู้มีโรคเรื้อรัง และโรคประจำตัว แต่สำหรับผู้มีโรคเรื้อรังที่อาการยังไม่คงที่ หรือยังน่าเป็นห่วงอยู่ ให้ปรึกษาแพทย์ก่อนฉีด ส่วนผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี สามารถฉีดได้เช่นกัน โดยจะเข้ารับวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าได้ แต่ของซิโนแวคนั้น ยังมีผลการศึกษาในคนอายุ 60 ปีขึ้นไปน้อย จึงต้องรอข้อมูลเพิ่ม หากมีข้อมูลเพียงพอว่าปลอดภัยจะสามารถนำมาใช้ได้เช่นเดียวกัน
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage