"...บุคคลต้องห้าม ไม่ให้สมัคร ส.ส.ร. คือ ข้าราชการการเมือง , ส.ส. , ส.ว. หรือรัฐมนตรี รวมถึงบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 ที่มีอยู่ทั้งหมด 18 ข้อ ยกเว้นบุคคล 3 ข้อที่สามารถสมัคร ส.ส.ร.ได้ คือ 1.เจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการสื่อ 2.ผู้ที่เคยได้รับโทษจำคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึง 10 ปี และ 3.ผู้ที่เคยเป็น ส.ว. ..."
...........................................................................................
หมายเหตุสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) : เมื่อวันที่ 24-25 ก.พ. ในการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พุทธศักราช ... วาระที่ 2 ที่จบลงเป็นที่เรียบร้อย
ขั้นตอนหลังจากนี้จะต้องทิ้งไว้ 15 วัน ก่อนที่จะพิจารณาในวารที่ 3 ขั้นสุดท้าย ซึ่งจะต้องใช้คะแนนเสียงเห็นชอบมากกว่ากึ่งหนึ่งของรัฐสภา ที่มีเงื่อนไขอีกว่า ต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จากพรรคการเมืองที่สมาชิกมิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ประธานสภาฯ หรือรองประธานสภาฯ เห็นชอบไม่น้อยกว่า 20% และมีสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เห็นชอบไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของทั้งหมดที่มีอยู่ของสมาชิก
อย่างไรก็ตาม หากผ่านวาระที่ 3 จะส่งผลทำให้ประเทศไทยมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ชุดที่ 5 หลังจากตลอด 88 ปีที่ผ่านมา ไทยเคยมี ส.ส.ร.มาแล้ว 4 ชุด
(ข่าวประกอบ : รู้จักที่มา ส.ส.ร. 4 ชุดในรอบ 88 ปีประชาธิปไตยที่ถูกมองว่าเป็นทางออกการแก้ไข รธน.)
สำหรับรายละเอียด ร่างรัฐธรรมนูญ (รธน.) แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พุทธศักราช ... ที่เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 ที่ผ่านวาระที่ 2 ของรัฐสภา มีสาระสำคัญ ดังนี้
@ ใช้เสียง 3 ใน 5 ของรัฐสภาแก้ รธน.
มาตรา 256 ที่ว่าด้วยเรื่องกระบวนการแก้ไข รธน. ยังกำหนดให้การเสนอญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องมาจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ หรือสมาชิกไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของรัฐสภา หรือจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 50,000 คนตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย
สำหรับการออกเสียงลงคะแนนในวาระที่หนึ่งขั้นรับหลักการ และวาระที่สามขั้นสุดท้าย ให้ใช้เสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกรัฐสภา จากของเดิมกำหนดให้ใช้เสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา และต้องมีเสียง ส.ว. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ร่วมอยู่ด้วย
@ ส.ส.ร. 200 คนมาจากการเลือกตั้ง
ส่วนประเด็นสำคัญที่สุดคือการเพิ่มหมวด 15/1 การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีมาตรา 256/1 ถึง 256/15 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจหลายประเด็น
กำหนดให้มี ส.ส.ร.ทำหน้าที่จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จำนวน 200 คน มาจากการเลือกตั้งของประชาชน
บุคคลที่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ร. ต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทยโดยการเกิด มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ในวันเลือกตั้ง และมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปี หรือเกิดในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้ง หรือเคยศึกษาในจังหวัดไม่น้อยกว่า 5 ปีการศึกษา หรือเคยรับราชการหรือปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐ หรือมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัด แล้วแต่กรณี เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี
@ เจ้าของสื่อ-อดีต ส.ว.-พ้นคุกไม่ถึง 10 ปีสมัคร ส.ส.ร.ได้
ส่วนบุคคลต้องห้าม ไม่ให้สมัคร ส.ส.ร. คือ ข้าราชการการเมือง , ส.ส. , ส.ว. หรือรัฐมนตรี รวมถึงบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98
แต่เปิดช่องให้บุคคล 3 กลุ่มตามมาตรา 98 (3) , (7) และ (14) สมัคร ส.ส.ร. ได้ ดังนี้
1.เจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชน
2.ผู้ที่เคยได้รับโทษจำคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึง 10 ปีนับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
และ 3.ผู้ที่เคยเป็น ส.ว.
สมาชิกภาพของ ส.ส.ร. สิ้นสุดลงเมื่อ เสียชีวิต , ลาออก หรือขาดคุณสบัติตามข้อห้ามข้างต้น ทั้งนี้ให้ดำเนินการเลือกตั้ง ส.ส.ร.แทนตำแหน่งที่ว่างลงภายใน 45 วัน เว้นแต่จะเหลือเวลาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญไม่ถึง 90 วันจะไม่ดำเนินการเลือกตั้งก็ได้
อย่างไรก็ กรณีที่ ส.ส.ร.สิ้นสุดโดยไม่ต้องจัดการเลือกตั้งใหม่ คือ กรณีจำนวนสมาชิกเหลือไม่ถึงกึ่งหนึ่ง หรือ ร่างรัฐธรรมนูญตกไป หากรัฐสภาวินิจัยฉัยว่าร่างรัฐธรรมนูญมีลักษณะต้องห้ามและเป็นการแก้ไขหมวด 1 หมวด 2 หรือ กรณีไม่ผ่านประชามติ หรือร่างรัฐธรรมนูญประกาศใช้บังคับเป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว
ส่วนกรณี ส.ส.ร.ทำร่างรัฐธรรมนูญไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลา ให้ดำเนินการจัดให้มี ส.ส.ร.ขึ้นใหม่ภายใน 90 วัน ทั้งนี้ผู้ที่เคยเป็น ส.ส.ร.จะมาเป็นอีกไม่ได้
@ แบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส.ร. 1 คนต่อ 1 เขต
ส.ส.ร.ซึ่งมาการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ให้ใช้วิธีการออกเสียงโดยตรงและลับ ให้แต่ละเขตเลือกตั้งมี ส.ส.ร.ได้เขตละ 1 คน และมีลักษณะการแบ่งเขตเช่นเดียวกับการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งหมายความว่าการเลือกตั้ง ส.ส.ร.จะมีการแบ่งเขตเลือกตั้งเป็น 200 เขต
กำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน นับแต่มีเหตุแห่งการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และให้ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จใน 15 วันนับตั้งแต่เลือกตั้ง จากนั้นส่งให้ประธานรัฐสภาภายใน 5 วันนับแต่วันที่ประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง เพื่อนำเข้าสู่ขั้นตอนประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป
ส่วนเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของ ส.ส.ร.ให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกา
@ วาระแรกเริ่มจัดเลือกตั้ง ส.ส.ร.ภายใน 30 วัน
ในวาระแรกเริ่มให้ตราพระราชกฤษฎีกากำหนดให้มีการรับสมัครเลือกตั้ง ส.ส.ร. ภายใน 30 วันนับแต่วันที่รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ และให้ดำเนินการตามขั้นตอนการจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 90 วันนับแต่วันที่รัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ
@ ขีดเส้น 240 วันทำร่าง รธน.ฉบับใหม่ให้เสร็จ
ส.ส.ร.ต้องจัดทำร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จใน 240 วันนับแต่วันมีการประชุมครั้งแรก ซึ่งการประชุมครั้งต้องเกิดขึ้นไม่ช้ากว่า 30 วันนับตั้งแต่วันที่เลือกตั้งสมาชิกได้ไม่น้อยกว่า 90%
ทั้งนี้หากสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงหรือมีการยุบสภา ไม่ถือเป็นเหตุกระทบกระเทือนต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ ส.ส.ร.
ในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ให้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั่วไป และประชาชนในทุกจังหวัดอย่างทั่วถึง โดยให้ ส.ส.ร. , คณะรัฐมนตรี และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง จัดให้มีการเผยแพร่เนื้อหาสาระและความคืบหน้าผ่านสื่อมวลชนและเวทีแสดงความคิดเห็นต่างๆ
อย่างไรก็ตาม การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จะกระทำมิได้ กรณีที่รัฐสภาวินิจฉัยว่าร่างรัฐธรรมนูญมีลักษณะต้องห้ามดังกล่าว ให้ร่างรัฐธรรมนูญเป็นอันตกไป
@ ทำประชามติ 1 ครั้ง หากไม่ผ่านให้ถือเป็นอันตกไป
เมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว ให้นำเสนอต่อรัฐสภาภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญ โดยไม่มีการลงมติ
หลังจากรัฐสภาอภิปรายแสดงความคิดเห็น ให้ประธานรัฐสภานำร่างรัฐธรรมนูญส่งให้ กกต.ภายใน 7 วัน เพื่อจัดให้มีการออกเสียงประชามติของประชาชนว่าเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่
เมื่อทำประชามติเสร็จสิ้น ให้ กกต.ประกาศผลภายใน 15 วัน หากคะแนนประชามติ ไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญหรือผู้มีสิทธิออกเสียงออกมาไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนผู้มีสิทธิ ให้ร่างรัฐธรรมนูญนั้นเป็นอันตกไป
กรณีเสียงประชามติเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ ให้ประธานรัฐสภานำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย และให้นำความในมาตรา 81 วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลม และให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
ทั้งนี้ หากร่างรัฐธรรมนูญที่จัดทำขึ้นตามหมวดนี้ตกไป ครม. หรือ ส.ส.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของสมาชิกทั้งหมด หรือสมาชิกรัฐสภาไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของสมาชิกทั้งหมด มีสิทธิเสนอญัตติต่อรัฐสภา เพื่อให้มีมติให้มีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามหมวดนี้อีกได้ โดยการออกเสียงให้ความเห็นชอบต้องได้เสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของสมาชิกรัฐสภา ทั้งนี้บุคคลที่เคยเป็น ส.ส.ร.จะเป็นอีกไม่ได้
เมื่อรัฐสภามีมติอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว จะมีการเสนอญัตติซ้อนไม่ได้ เว้นแต่จะมีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่แล้ว
ทั้งหมดเป็นอัพเดตล่าสุดของ ร่างแก้ไข รธน.ที่ผ่านการพิจารณาวาระที่ 2 ของรัฐสภา จากนี้จะทิ้งไว้ 15 วัน ก่อนเข้าสู่การพิจารณาในวาระที่ 3 ขั้นสุดท้ายต่อไป
ข่าวประกอบ :
เปิดสูตรแก้ รธน.ฉบับพรรคร่วมรัฐบาล ตั้ง 200 สสร.ยกร่างใหม่ใน 240 วัน
รู้จักที่มา ส.ส.ร. 4 ชุดในรอบ 88 ปีประชาธิปไตยที่ถูกมองว่าเป็นทางออกการแก้ไข รธน.
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage