"...จำเลยได้นำเอกสารผลประเมินวิชาการดังกล่าว ที่มีข้อความว่า ‘คัดลอกผลงาน’ ไปแสดงต่อผู้เสียหาย อ้างว่ามีการลอกเลียนผลงานทางวิชาการกัน จะถูกตั้งกรรมการสอบวินัยร้ายแรง จำเลยเบิกความรับข้อเท็จจริงดังกล่าวด้วย แม้จำเลยไม่ได้กล่าวถ้อยคำเรียกร้องทรัพย์สินโดยตรง แต่ตามพฤติการณ์ของจำเลยหลายประการประกอบกันตามที่ศาลวินิจฉัยไว้แล้วข้างต้น เชื่อว่าพฤติการณ์ของจำเลยเป็นการข่มขืนหรือจูงใจเพื่อให้ผู้เสียหายมอบให้หรือหามาซึ่งทรัพย์สินแก่ตนเองหรือผู้อื่นแล้ว ข้อต่อสู้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น…”
.........................................
“พิพากษาว่า นางกชพร นวลสุวรรณ จำเลย มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 (เดิม) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 5 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้เหลือหนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกกระทงละ 2 ปี 16 เดือน รวม 5 กระทง จำคุก 10 ปี 80 เดือน”
คือคำตัดสินจากศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 4 ที่สั่งจำคุก นางกชพร นวลสุวรรณ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนักพัฒนาทรัพยากรบุคคล หัวหน้ากลุ่มงานพัฒนาบุคลากร สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษากาฬสินธุ์ เขต 3 โดยถูกกล่าวหาว่าเรียกรับเงินในการประเมินผลงานวิชาการ มีผู้เสียหาย 4 จาก 5 ราย รวมวงเงินเสียหายประมาณ 36,000 บาท (อ่านประกอบ : คุก 10 ปี 80 เดือน! อดีต จนท.เขตการศึกษากาฬสินธุ์ฯ 3 เรียกเงินประเมินผลงานวิชาการ)
รายละเอียดในคดีนี้น่าสนใจอย่างไร ทำไมนางกชพรเรียกรับเงินแค่ 36,000 บาท แต่กลับโดนโทษจำคุกสูงถึง 10 ปี 80 เดือน?
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สรุปคำพิพากษามาให้ทราบดังนี้
คดีนี้พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปราบปรามการทุจริต 1 ภาค 4 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นางกชพร นวลสุวรรณ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนักพัฒนาทรัพยากรบุคคล หัวหน้ากลุ่มงานพัฒนาบุคลากร สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษากาฬสินธุ์ เขต 3 (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากาฬสินธุ เขต 3) โดยถูกกล่าวหาว่าเรียกรับเงินในการประเมินผลงานวิชาการ มีผู้เสียหาย 5 ราย รวมวงเงินเสียหายประมาณ 36,000 บาท
คดีนี้มีข้อเท็จจริงศาลรับฟังได้ว่า นางกชพร ได้รับการแต่งตั้งเป็นเลขานุการของคณะกรรมการประเมินผลงานที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา มีหรือเลื่อนวิทยฐานะชำนาญพิเศษ เมื่อปี 2551 มีหน้าที่ติดต่อประสานงานกับคณะกรรมการฯ จัดเตรียมผลงานวิชาการของคณะครูที่ส่งมาไว้ที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษากาฬสินธุ์ เขต 3 เป็นต้น
ในการประชุมของคณะกรรมการฯ มีการประเมินผลงานของอาจารย์อย่างน้อย 27 ราย ปรากฏว่า คณะกรรมการฯมีมติอนุมัติผลงานทางวิชาการ 7 ราย ให้ปรับปรุงผลงานทางวิชาการ 7 ราย และมีมติไม่อนุมัติผลงาน ด้วยเหตุผลว่าผลงานไม่ถึงมาตรฐาน 13 ราย
โดยจำเลยมีการโทรศัพท์ และไปพบบุคคลต่าง ๆ ที่ยื่นประเมินผลงานวิชาการดังกล่าว รวม 5 ราย โดยนำผลงานวิชาการที่ไม่ผ่านการประเมินไปให้ดู พร้อมกับพูดจาข่มขืนใจอ้างว่า หากผู้เสียหายไม่นำเงินมามอบให้กับจำเลย รายละ 9,000 บาท ผู้เสียหายจะถูกแต่งตั้งกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง และจะต้องถูกออกจากราชการ ทำให้ผู้เสียหายอย่างน้อย 4 ราย ต้องยอมจ่ายเงินให้แก่จำเลย โดยนำเงินสดใส่ซอง 2 ซอง ซองละ 18,000 บาท รวม 36,000 บาท ส่งมอบให้จำเลย เพื่อให้ช่วยเหลือจะได้ไม่ถูกลงโทษทางวินัยร้ายแรง
เบื้องต้นจำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลพิเคราะห์ข้อเท็จจริงโดยละเอียด โดยคำให้การของพยานฝ่ายโจทก์ คือกลุ่มผู้เสียหาย รวมถึง ผอ.โรงเรียนเขาวงพิทยาคาร จ.กาฬสินธุ์ เบิกความว่า ได้รับการติดต่อจากจำเลย ให้นัดกลุ่มผู้เสียหาย ที่เป็นข้าราชการครูไปพบที่บ้านพักของจำเลย โดยจำเลยแจ้งต่อผู้เสียหายว่า คัดลอกผลงานกัน เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ถ้ามีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยจะถูกลงโทษทางวินัยถึงขั้นให้ออกจากราชการ
ต่อมาผู้เสียหายแจ้งกับกลุ่มผู้เสียหายที่เหลือว่า จำเลยอ้างว่า ได้พูดคุยกับกรรมการผู้ประเมินแล้ว และมีค่าใช้จ่ายให้กรรมการรายละ 5,000 บาท จำนวนกรรมการ 9 ราย เป็นเงิน 45,000 บาท จึงขอให้ผู้เสียหายจ่ายรายละ 9,000 บาท (รวม 5 ราย เป็นเงิน 45,000 บาท) จนกระทั่งผู้เสียหายอย่างน้อย 4 ราย ได้รวบรวมเงินไปมอบให้แก่จำเลย 36,000 บาท
เมื่อพิจารณาพฤติการณ์แห่งคดี จำเลยเป็นเจ้าพนักงานที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเลขานุการคณะกรรมการประเมินผลงานฯ ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ นำเอกสารแบบรายงานผลการประเมินดังกล่าว ที่มีข้อสังเกต ไปแสดงต่อผู้เสียหายทั้ง 5 ราย แล้วพูดจูงใจและข่มขืนใจผู้เสียหายว่า คัดลอกผลงานเป็นความผิดวินัยร้ายแรง แม้จำเลยไม่ได้กล่าวถ้อยคำเรียกร้องทรัพย์สินโดยตรง แต่พฤติการณ์จำเลยย่อมทำให้ผู้เสียหายกลัวว่าจะถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรง และเข้าใจได้ว่าจะต้องจ่ายเงินเพื่อให้จำเลยไปดำเนินการช่วยเหลือติดต่อกับกรรมการผู้ประเมินวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ ให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงความเห็นหรือข้อสังเกตในรายงานดังกล่าว
ประกอบกับพฤติการณ์ของจำเลย ได้นำเอกสารแบบรายงานผลการประเมินวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ ที่มีความเห็นหรือข้อสังเกตของกรรมการไปแสดงต่อผู้เสียหาย โดยไม่มีเหตุผลและความจำเป็นอย่างอื่น ไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายทั้ง 5 ราย เป็นญาติพี่น้อง หรือมีบุญคุณอย่างใดต่อกัน จำเลยจะมีความหวังดีต่อผู้เสียหาย
นอกจากนี้พฤติการณ์ที่จำเลยรับเงินจากผู้เสียหาย 4 รายจาก 5 ราย และเมื่อเกิดเรื่องร้องเรียนได้คืนเงินแก่ผู้เสียหาย ทั้งที่ประธานกรรมการฯ ได้ให้ที่ประชุมทบทวนกรณีไม่อนุมัติผลงานวิชาการในรายที่มีข้อสังเกตว่า ‘มีการคัดลอก’ อยากให้ใช้ข้อความว่า ‘ผลงานวิชาการไม่ถึงระดับมาตรฐาน’ โดยที่ประชุมเห็นชอบตามที่ประธานกรรมการฯเสนอ นอกจากนี้ผลงานที่ไม่ผ่านทางวิชาการ มิได้มีการดำเนินการทางวินัยแก่ผู้เสียหาย กรณีการคัดลอกผลงานแต่อย่างใด
เมื่อประมวลพฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าว บ่งชี้ให้เห็นว่า จำเลยมีเจตนามาตั้งแต่แรก ที่จะกระทำการทุจริต เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น จูงใจหรือข่มขืนใจผู้เสียหายให้มอบเงินแก่จำเลย
สำหรับข้อต่อสู้สำคัญของจำเลยคือ อ้างว่าไม่เคยพูดจาข่มขู่ผู้เสียหายให้มอบให้หรือหามาให้ซึ่งเงินสดรายละ 9,000 บาท และไม่เคยบอกว่าหากผู้เสียหายไม่ให้เงินจะถูกออกจากราชการนั้น ศาลวินิจฉัยว่า จำเลยได้นำเอกสารผลประเมินวิชาการดังกล่าว ที่มีข้อความว่า ‘คัดลอกผลงาน’ ไปแสดงต่อผู้เสียหาย อ้างว่ามีการลอกเลียนผลงานทางวิชาการกัน จะถูกตั้งกรรมการสอบวินัยร้ายแรง จำเลยเบิกความรับข้อเท็จจริงดังกล่าวด้วย แม้จำเลยไม่ได้กล่าวถ้อยคำเรียกร้องทรัพย์สินโดยตรง แต่ตามพฤติการณ์ของจำเลยหลายประการประกอบกันตามที่ศาลวินิจฉัยไว้แล้วข้างต้น เชื่อว่าพฤติการณ์ของจำเลยเป็นการข่มขืนหรือจูงใจเพื่อให้ผู้เสียหายมอบให้หรือหามาซึ่งทรัพย์สินแก่ตนเองหรือผู้อื่นแล้ว ข้อต่อสู้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบ ประกอบสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้เป็นที่พอใจว่า จำเลยใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนหรือจูงใจผู้เสียหาย มอบให้หรือหามาให้ซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเอง และเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต อันเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 และมาตรา 157 ตามฟ้องโจทก์ และเมื่อการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามมาตรา 148 ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้ว กรณีไม่จำเป็นต้องปรับบทความผิดตามมาตรา 157 ซึ่งเป็นบททั่วไปอีก
พิพากษาว่า นางกชพร นวลสุวรรณ จำเลย มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 (เดิม) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 5 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้เหลือหนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกกระทงละ 2 ปี 16 เดือน รวม 5 กระทง จำคุก 10 ปี 80 เดือน
อ่านประกอบ :
คุก 10 ปี 80 เดือน! อดีต จนท.เขตการศึกษากาฬสินธุ์ฯ 3 เรียกเงินประเมินผลงานวิชาการ
คุก 2 ปี 6 ด.ไม่รอลงอาญา! จนท.ธุรการสนามบินอุบลฯ ทุจริตเรียกเก็บเงินเช็ค 1.4 แสน
คุก 5 ปี! อดีตนายกฯ พิปูน ช่วยเหลือ หจก. เสนอราคาต่ำอันดับ 3 ทำสัญญาถนนคอนกรีต
คุก 4 ปี 12 ด.ใช้คืน7.2 แสน! 'พ.ต.ท.หญิง' เบียดบังเงินโรงพิมพ์ ตร.
โดนอีกคดี! คุก 6 ปี อดีตนายกฯโนนท่อน โอนเงินตั้งจ่ายค่าจ้างที่ปรึกษาโครงการมิชอบ
คุก 10 ปี 80 ด.! จนท.สพฐ. เรียกเงิน 'ครู' แลกให้ผ่านผลงาน-ไม่จ่ายข่มขู่ยัดโทษวินัย
ยืนโทษ คุก 18 ปี 24 ด.! อดีตนายกอบต.บัวงาม เรียกเงินตอบแทนบรรจุครูดูแลเด็ก
ยืนโทษคุก 1 ปี! อดีตนายก อบต.ช้างให้ตก ปัตตานี ไม่ต่อสัญญาจ้างพนง.โดยมิชอบ
คุก 12 ด.! อดีตนายก อบต.สงเปลือย ประกาศข้อบัญญัติงบฯ มิชอบ-ไม่เรียกเงินโบนัสคืน
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage