"...มีการแบ่งวันฉีด เพื่อป้องกันการสับสน เจ้าหน้าที่จะฉีดวัคซีนซิโนแวค ทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ ส่วนวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าจะฉีดทุกวันเสาร์และอาทิตย์ เนื่องจากมีข้อจำกัดของวัคซีนซิโนแวคสำหรับผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปี จึงจำกัดไว้ให้กับผู้มีอายุ 18-59 ปีก่อน แต่สำหรับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้านั้น ผู้สูงอายุสามารถฉีดได้..."
..................................................
สถานการณ์การระบาดของโควิดเริ่มกลับมาอยู่ในทิศทางที่ดีขึ้น หลังจากประชาชนชาวไทยดำเนินมาตรการอย่างเคร่งครัด ประกอบกับการมีวัคซีนโควิดนำเข้าสู่ประเทศ โดยล็อตแรกจากซิโนแวคเข้ามา 200,000 โดส และมีวัคซีนจากแอสตร้าเซนเนก้าอีก 117,600 โดส ซึ่งทั้งหมดผ่านการรับรองคุณภาพจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์แล้ว และจะเริ่มฉีดให้กับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นบุคลากรการแพทย์ ผู้มีโรคประจำตัว และผู้สูงอายุในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด และพื้นที่ควบคุม
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข กล่าวให้ความเชื่อมั่นว่า ขณะนี้มีวัคซีนป้องกันโรคโควิดอยู่ในประเทศแล้ว 317,600 โดส เป็นวัคซีนซิโนแวค และแอสตร้าเซนเนก้าที่ได้มาก่อนกำหนดจากความพยายามของกระทรวงสาธารณสุขในการเจรจาให้ได้วัคซีนมา ซึ่งวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าล็อตนี้เป็นส่วนหนึ่งของ 61 ล้านโดสที่ได้ทำสัญญาจองซื้อ วัคซีนจากทั้ง 2 บริษัทผ่านการตรวจรับรองคุณภาพและรับรองรุ่นการผลิตจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และจะเริ่มฉีดให้กับกลุ่มเป้าหมายตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ เพื่อให้เกิดประโยชน์ที่สุด ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุขไม่ปิดกั้นการนำเข้าวัคซีนโควิดจากบริษัทอื่นๆ หากมีเอกสารที่ถูกต้อง มีแหล่งที่มาและแหล่งผลิตที่ได้รับมาตรฐาน บริษัทดังกล่าวสามารถนำมาขึ้นทะเบียนกับอย.ได้
“วัคซีนโควิด 19 ของประเทศไทยไม่ได้ล่าช้าหรือมีอุปสรรคใดๆ วันนี้ไทยมีวัคซีนโควิด-19 อยู่ในมือมากที่สุดในอาเซียน หากนับจำนวนประชากรหรืออัตราส่วนประชากรประเทศไทยไม่แพ้ชาติใดในโลกนี้ และขอให้มั่นใจในวัคซีนและกระบวนการฉีดว่ามีความปลอดภัยในทุกขั้นตอน มีคณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีน ควบคุมให้เกิดความเป็นธรรมทั่วถึง เป็นไปตามหลักวิชาการทางการแพทย์ และอยู่ในกระบวนการสาธารณสุขที่แข็งแกร่งของประเทศไทยทุกประการ” นายอนุทิน กล่าว
สำหรับแผนการกระจายวัคซีนของกระทรวงสาธารณสุขจะมีแผนการอย่างไร มีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้
นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข แถลงแผนการการกระจายวัคซีนโควิดและความพร้อมของสถานบริการในการฉีดวัคซีน ว่า วัคซีนล็อตแรกขณะนี้อยู่ระหว่างกระบวนการตรวจสอบคุณภาพและรุ่นการผลิตที่เรียกว่า 'Lot Release' และกำลังเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด คาดว่าไม่เกิน 1-2 วันนี้จะเสร็จสิ้นตามกระบวนการที่กำหนด
โดยการกระจายวัคซีนในครั้งนี้จะอยู่ความดูแลของคณะอนุกรรมการอำนวยการบริการจัดการวัคซีนโควิด ซึ่งตั้งภายใต้คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ โดยมี นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานคณะอนุกรรมการ และ นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นเลขานุการ จัดตั้งคณะทำงานทั้งหมด 5 ด้าน ดังนี้
1.คณะที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์และแผนงาน
2.คณะทำงานด้านการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและสื่อสารประชาสัมพันธ์
3.คณะทำงานด้านการให้บริการวัคซีน ฝึกอบรม และการกำกับติดตามผล
4.คณะทำงานด้านการประกันคุณภาพวัคซีนและติดตามอาการไม่พึงประสงค์ภายหลังได้รับวัคซีน
5.คณะทำงานด้านระบบข้อมูลการให้บริการวัคซีนป้องกันโรคโควิด และคณะทำงานวิชาการด้านการบริการจัดการและศึกษาการให้บริการวัคซีน
ทั้งนี้จะให้ทุกจังหวัดตั้งอนุกรรมการและคณะทำงานทั้ง 5 ด้านแบบส่วนกลางในการวางแผนฉีดวัคซีนด้วย เพื่อรองรับการกระจายวัคซีน
“18 จังหวัดแรกที่จะได้รับวัคซีนระยะแรกจากซิโนแวค 2 ล้านโดส ทุกจังหวัดมีการดำเนินงานและเตรียมการวางแผนตามมาตรฐานที่กำหนดเรียบร้อยแล้ว มั่นใจได้ว่าการฉีดวัคซีน หลังจากตรวจ Lot Release เสร็จเรียบร้อยแล้ว” นพ.ธงชัย กล่าว
@จัดระบบขนส่งวัคซีนตลอดปี 2564
สำหรับความก้าวหน้าและกิจกรรมที่กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการแล้วนั้น คือ การอบรมเรื่องวัคซีนต้านโควิดให้กับแพทย์เมื่อวันที่ 4 ก.พ.2564 และอบรมเรื่องวัคซีนซิโนแวคให้กับบุคลากรระดับเขต จังหวัด และหน่วยบริการ ประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.), สำนักงานสาธารณสุข (สสจ.), กทม. , รพ.รัฐและเอกชนทั่วประเทศ ทั้งนี้จะมีการอบรมเรื่องวัคซีนต้านโควิดอีกครั้งให้กับแพทย์วันที่ 1 มี.ค.2564 และจะมีการจัดเพิ่มเติมอีกเป็นระยะ
ส่วนแผนการขนส่งวัคซีน ในระยะที่ 1 ช่วง ก.พ.-พ.ค.2564 องค์การเภสัชกรรม (GPO) และบริษัท DKSH จะร่วมมือกันจัดส่งวัคซีนไปยังเป้าหมายระยะแรก ต่อมาในระยะที่ 2 ช่วง มิ.ย.-ธ.ค.2564 องค์การเภสัชกรรมจะรับหน้าที่จัดส่งวัคซีนให้กับโรงพยาบาลทั่วประเทศวันละ 400,000 โดส และจะมีที่จัดเก็บวัคซีนได้ 100 ล้านโดส ซึ่งรัฐบาลจะจัดสรรตู้เย็นเก็บวัคซีนให้จังหวัดละ 2 ตู้ โดยจะเก็บวัคซีนได้ประมาณ 100,000 โดสต่อตู้ พร้อมกับเข็มฉีดยา กระบอกฉีดยา กระติกสำหรับใส่วัคซีน และเครื่องวัดอุณหภูมิในพื้นที่เป้าหมายก่อนช่วงให้บริการ 1-2 สัปดาห์
"การขนส่งมีองค์การเภสัชกรรมร่วมกับบริษัท DKSH ดำเนินด้วยระบบลูกโซ่ความเย็น ควบคุมอุณหภูมิ 2-8องศาเซลเซียส ซึ่งสามารถส่งวัคซีนไปถึงโรงพยาบาลชุมชนทุกแห่งทั่วประเทศภายใน 24 ชั่วโมง" นพ.ธงชัย กล่าว
@ 8 ขั้นตอนการรับวัคซีนสำหรับ ‘ประชาชน’
เมื่อประชาชนจะเข้าไปรับบริการฉีดวัคซีน จะได้เจอกับ 8 ขั้นตอนในสถานพยาบาล ดังนี้
1.ลงทะเบียน 2.ชั่งน้ำหนัก วัดความดันโลหิต 3.ซักประวัติ ประเมินความเสี่ยง และลงนามใบยินยอมรับวัคซีน 4.รอฉีดวัคซีน 5.ฉีดวัคซีน 6.พักสังเกตอาการ 30 นาที พร้อมกับแสกน Line Official Account ‘หมอพร้อม’ ซึ่งในระหว่างรอนั้น อาจจะมีการให้ความรู้จากเจ้าหน้าที่ด้วย 7.ตรวจสอบก่อนกลับบ้าน พร้อมรับเอกสารการปฏิบัติตัวหลังฉีดวัคซีน 8.ตรวจดูกระดานประเมินผลความครอบคลุมการฉีดวัคซีนและอาการไม่พึงประสงค์จาก Line Official Account ‘หมอพร้อม’
การลงทะเบียน จะต้องลงทะเบียนยืนยันการใช้บริการฉีดวัคซีนล่วงหน้าผ่านสถานพยาบาลใกล้บ้านหรือ ‘หมอพร้อม’ เพื่อจองสถานที่และวันเวลาในการฉีดวัคซีน ทั้งนี้ประชาชนทุกคนสามารถลงทะเบียนได้ แต่ในระยะแรกกลุ่มในพื้นที่เสี่ยงจะมีรายชื่อให้สามารถนัดจองฉีดวัคซีนได้เท่านั้น ส่วนในระยะที่ 2 จะสามารถเข้าไปนัดจองการฉีดวัคซีนได้
"การบริหารจัดการวัคซีนมีการวางระบบเชื่อมโยงข้อมูลทั้งหมด ตั้งแต่การขนส่งที่มีการติดตามวัดอุณหภูมิให้คงที่ จนถึงตู้เย็นในโรงพยาบาล มีการทำข้อมูลว่าฉีดวัคซีนของอะไร ล็อตนัมเบอร์อะไร ทำให้ตรวจสอบได้ทั้งหมด" นพ.ธงชัพ กล่าว
ทั้งนี้ ‘หมอพร้อม’ ยังสามารถดูความคืบหน้าของสถานการณ์การฉีดวัคซีนได้ และในวันที่ 7 และ 28 ของการรับวัคซีนจะมีการแจ้งเตือนผ่าน ‘หมอพร้อม’ ให้นัดฉีดเข็มต่อไป ส่วนผู้ไม่มีสมาร์ทโฟนจะมีการติดตามผ่าน อสม.และทางโทรศัพท์ โดยวัคซีนซิโนแวคจะห่างจากเข็มแรก 21 วัน ส่วนวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าจะห่างจากเข็มแรก 10-12 สัปดาห์
@จัดคิวฉีด 'ซิโนแวค' ทุก จ.-ศ. ส่วน 'แอสตร้าเซนเนก้า' ทุก ส.-อ.
อย่างไรก็ตามการให้บริการฉีดวัคซีน จะมีการแบ่งวันฉีด เพื่อป้องกันการสับสน เจ้าหน้าที่จะฉีดวัคซีนซิโนแวค ทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ , ส่วนวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าจะฉีดทุกวันเสาร์และอาทิตย์ เนื่องจากมีข้อจำกัดของวัคซีนซิโนแวคสำหรับผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปี ผลการทดลองในวัคซีนดังกล่าว มีกลุ่มตัวอย่างเป็นผู้สูงอายุเพียงร้อยละ 4 จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด ซึ่งถือว่ามีผลการทดสอบในผู้สูงอายุที่น้อยเกินไป เบื้องต้นจึงจำกัดไว้ให้กับผู้มีอายุ 18-59 ปีก่อน แต่สำหรับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้านั้น ผู้สูงอายุสามารถฉีดได้
"ส่วนแผนการรับวัคซีนในระยะต่อไปหลังเดือน พ.ค.-มิ.ย. 2564 ที่จะมีการทยอยฉีดในคนไทยกลุ่มเป้าหมายที่กว้างขึ้นอีกราว 61 ล้านโดส ให้ครอบคลุมตามทฤษฎีก็คือ 60% ของประชากรทั้งหมดให้ได้ภายในสิ้นปีนี้ จะมีการฉีดเข็มแรกสำหรับบุคคลทั่วไป อาจจะเริ่มได้ในเดือนตุลาคม ซึ่งจะได้ช้าได้เร็ว ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงของแต่ละคน” นพ.ธงชัย กล่าว
@ ‘ชาวต่างชาติ’ ฉีดวัคซีนครบ 2 โดส เดินทางเข้าไทยยังต้องกักตัว 14 วัน
ก่อนหน้านี้ นพ.เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทน ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีชาวต่างชาติถ้าได้รับวัคซีน 2 โดสเรียบร้อย เมื่อเดินทางเข้าประเทศไทยยังต้องกักตัวหรือไม่ ว่า ขณะนี้ยังไม่มีข้อแนะนำจากองค์การอนามัยโลกออกมา ยังต้องปฏิบัติแบบเดิมอยู่ คือกักตัวตามปกติ 14 วัน แต่หากมีข้อมูลทางวิชาการชัดเจน ว่าเมื่อได้รับวัคซีนแล้วป้องกันการติดเชื้อได้สูง รวมถึงประเทศต้นทางปลายทาง มีความเห็นตรงกัน หรืออาจมีข้อแนะนำระดับนานาชาติจะนำมาพิจารณาต่อไป โดยอาจจะลดระยะเวลาการกักตัวลงในช่วงแรก แต่ถ้าหากมีผลชัดเจนมากขึ้นอีก การกักตัวจะยิ่งสั้นลง หรืออาจพิจารณาไปถึงขั้นไม่ต้องกักตัวได้
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage