"...ณ เวลานี้ ประเทศไทยได้คาดการณ์ว่าวัคซีนจะถูกจัดส่งมาให้ในช่วงกลางปี 2564 โดยวัคซีนชุดแรกนั้นจะครอบคลุมประชาชนจำนวน 13 ล้านคน จากที่มีทั้งหมด 69 ล้านคน และก่อนหน้านี้ทางสถาบันวัคซีนแห่งชาติก็ได้มีการเซ็นสัญญาความผูกพันทางการตลาดล่วงหน้าไปแล้วกับบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า เพื่อที่จะจัดหาวัคซีน..."
......................................
สืบเนื่องจากประเด็นถกเถียงเรื่องการจัดหาวัคซีนในประเทศไทย ที่เกิดขึ้นในระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลรายบุคคล เมื่อวันที่ 17 ก.พ.2564 ที่ผ่านมา ข้อกล่าวหาหนึ่ง ที่นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปราย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม และนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ในประเด็นเรื่องความไม่ชอบมาพากลในการจัดหาวัคซีนโควิด-19 คือ ประเทศไทยจัดหาวัคซีนล่าช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้านมาก และอาจจะช้าที่สุดด้วยซ้ำ
สำนักข่าวอิศรา(www.isranews.org) สำรวจข้อมูลในสื่อต่างประเทศ ถึงประเด็นการจัดหาวัคซีนจากประเทศต่างๆในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน ว่ามีความคืบหน้ารวมถึงปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นมานำเสนอ ณ ที่นี้อีกครั้ง
มีรายละเอียดดังนี้
@ประเทศบรูไน
ประเทศบรูไน ได้เข้าร่วมโครงการโคแวกซ์หรือโครงการจัดหาวัคซีนจากองค์การอนามัยโลก (WHO) และคาดว่าจะได้รับวัคซีนในช่วงไตรมาสแรกของปี 2564 ซึ่งจำนวนวัคซีนนั้นจะมีเพียงพอสำหรับประชาชนจำนวนร้อยละ 50 และ ณ เวลานี้ประเทศบรูไนกำลังจะเจรจากับผู้ผลิตรายอื่นๆเพื่อจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมอีก
@ประเทศกัมพูชา
ประเทศกัมพูชา คาดว่าจะนำเข้าวัคซีนจากประเทศจีนและประเทศรัสเซีย โดยวัคซีนจากประเทศจีนนั้นยังคงอยู่ในกระบวนการทดลองทางคลินิก ในขณะที่วัคซีนจากประเทศรัสเซียก็ได้เริ่มกระบวนการผลิตแล้ว และนอกจากนี้ประเทศออสเตรเลียเองก็ได้เสนอความช่วงเหลือทางการเงินเพื่อจะสนับสนุนและช่วยเหลือด้วยวัคซีนให้ครอบคลุมกับทุกประเทศในอาเซียน รวมไปถึงประเทศกัมพูชาด้วยเช่นกัน
@ประเทศอินโดนีเซีย
ณ เวลานี้ ประเทศอินโดนีเซียได้เริ่มกระบวนการฉีดวัคซีน โดยมีบุคลากรทางการแพทย์ได้รับวัคซีนไปแล้วเป็นจำนวน 9 ล้านคน นับตั้งแต่เดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ขณะที่บริษัทซิโนแวคของประเทศจีนนั้นก็ได้มีการหารือกับประเทศอินโดนีเซียในการจัดหาวัคซีนด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอินโดนีเซีย กำลังประสบปัญหาว่าจะทำอย่างไรจึงจะจัดหาวัคซีนให้เพียงพอกับประชากรจำนวน 268 ล้านคน และประเด็นเรื่องราคาวัคซีนของวัคซีนซิโนแวคที่มีการประเมินเอาไว้ว่าราคาน่าจะอยู่ที่ 20 ดอลลาร์สหรัฐฯ(600 บาท) ต่อโดส
โดย นพ.อัคมัด ยูริอันโต (Achmad Yurianto) อธิบดีกรมควบคุมและป้องกันโรค กระทรวงสาธารณสุข ออกมาระบุว่า กระบวนการฉีดวัคซีนนั้นจะมีการฉีดกับบุคคลที่มีอายุระหว่าง 18-59 ปี โดยวัคซีนจะต้องได้รับรองตามข้อกำหนดฮาลาลก่อนที่จะนำไปใช้ และ ณ เวลานี้ ยังมีความไม่แน่นอนว่าวัคซีนจะสามารถเข้าถึงประชากรส่วนใหญ่ของประเทศอินโดนีเซียได้อย่างไร โดยทางด้านของประเทศออสเตรเลียก็ได้เคยออกมาแถลงการณ์ว่าจะช่วยเหลือทางการเงินเพื่อแก้ปัญหาในเรื่องนี้
นายโจโค วิโดโด้ ประธานาธิบดีอินโดนีเซียเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของบริษัทซิโนแวค (อ้างอิงวิดีโอจาก Channel News Asia)
@ประเทศลาว
ประเทศลาว ได้มีการทดลองวัคซีนสปุตนิก 5 ของประเทศรัสเซีย และกำลังอยู่ในระหว่างการหารือกับประเทศจีนเพิ่มเติมว่าจะจัดหาวัคซีนได้อย่างไร
@ประเทศมาเลเซีย
ประเทศมาเลเซียจะฉีดวัคซีนฟรีให้กับประชาชน แต่สำหรับชาวต่างชาติในประเทศมาเลเซียแล้วจะต้องจ่ายเงินสำหรับค่าฉีดวัคซีน ซึ่งจากรายงานของกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่านายนายมูห์ยิดดิน ยาสซิน นายกรัฐมนตรีมาเลเซียได้มีการเซ็นสัญญากับบริษัทไฟเซอร์เพื่อที่จะจัดหาวัคซีนจำนวน 12.8 ล้านโดส โดยจะแบ่งเป็น 2 ระยะ ระยะละ 6.4 ล้านโดส เริ่มโครงการเมื่อไตรมาสที่ 1 ในปี 2564 โดยประเทศมาเลเซียตั้งเป้าไว้ว่าจะฉีดวัคซีนให้ได้ 80-100 เปอร์เซ็นต์
@ประเทศเมียนมา
ประเทศเมียนมาได้ขอความช่วยเหลือจากกลุ่มกาวี หรือกลุ่มพันธมิตรวัคซีน และขอความช่วยเหลือไปยังโครงการโคแวกซ์เพื่อที่จะจัดหาวัคซีน ขณะที่ประเทศออสเตรเลียก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่จะช่วยเหลือทางการเงินกับเมียนมาเช่นกัน โดย ณ เวลานี้รัฐบาลได้ตั้งเป้าเอาไว้ว่าจะฉีดวัคซีนให้กับประชากรกลุ่มเสี่ยงสูงเป็นจำนวน 20 เปอร์เซ็นต์ แต่ ณ เวลานี้ ปัญหาสำคัญของประเทศเมียนมาก็คือเรื่องฐานะทางการเงิน ระบบขนส่งและ การที่ต้องตกอยู่ภายใต้การคว่ำบาตรของประเทศสหรัฐอเมริกา ในขณะที่จำนวนผู้ป่วยยังคงพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ
@ประเทศฟิลิปปินส์
ประเทศฟิลิปปินส์ ตั้งเป้าเอาไว้ว่าจะเริ่มฉีดวัคซีนในเดือน มิ.ย. 2564 และคาดว่าจะฉีดวัคซีนให้กับประชากรจำนวน 25 ล้านคน หรือคิดเป็นจำนวน 25 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากร ภายในก่อนสิ้นปี 2564 สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อของประเทศฟิลิปปินส์นั้นถือว่าหนักและรุนแรงเป็นอันดับ 2 ของอาเซียนรองจากประเทศอินโดนีเซีย โดยขณะนี้ชุมชนธุรกิจ ประกอบไปด้วยบริษัทท้องถิ่นในประเทศกว่า 30 แห่งได้มีการจัดซื้อวัคซีนจากบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าไปแล้วจำนวน 2.6 ล้านโดส ประมาณสิบกว่าวันก่อนหน้านี้ โดยกลุ่มชุมชนธุรกิจที่ว่ามานี้จะบริจาควัคซีนส่วนมากให้กับรัฐบาลฟิลิปปินส์ และจะเก็บบางส่วนเอาไว้สำหรับลูกจ้างของบริษัทตัวเอง
@ประเทศสิงคโปร์
ประเทศสิงคโปร์กำลังดำเนินการเพื่อจะผลิตวัคซีนของตัวเองที่ชื่อว่าลูนาร์วัคซีน โดยเป็นความร่วมมือกันกับบริษัทสหรัฐอเมริกาที่ชื่อว่าอาร์คทูรัส (Arcturus) และวิทยาลัยการแพทย์ Duke-NUS Medical School ของประเทศสิงคโปร์ ซึ่งวัคซีนที่ว่านี้จะเป็นวัคซีนประเภทเอ็มอาร์เอ็นเอที่ฉีดเพียงครั้งเดียว พัฒนามาจากยีนของไวรัสโควิด-19 ที่มีการตัดต่อพันธุกรรมให้กลายเป็นไวรัสที่ไม่อันตราย โดยเทคนิคที่ว่านี้นั้นถือว่ามีความปลอดภัยกว่าวัคซีนชนิดอื่นๆที่อาศัยซากไวรัสเป็นองค์ประกอบกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกัน
โดยมีกำหนดการว่าวัคซีนนี้จะสามารถใช้งานได้ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2564 ซึ่งกลุ่มแรกที่จะได้รับวัคซีนจะเป็นกลุ่มประชากรที่ทางรัฐบาลสิงคโปร์ได้ประเมินแล้วว่ามีความเสี่ยงสูงทางด้านสุขภาพ
ความร่วมมือของประเทศสิงคโปร์กับบริษัทอาร์คทูรัส (อ้างอิงวิดีโอจาก Channel News Asia)
@ประเทศไทย
ณ เวลานี้ ประเทศไทยได้คาดการณ์ว่าวัคซีนจะถูกจัดส่งมาให้ในช่วงกลางปี 2564 โดยวัคซีนชุดแรกนั้นจะครอบคลุมประชาชนจำนวน 13 ล้านคน จากที่มีทั้งหมด 69 ล้านคน และก่อนหน้านี้ทางสถาบันวัคซีนแห่งชาติก็ได้มีการเซ็นสัญญาความผูกพันทางการตลาดล่วงหน้าไปแล้วกับบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า เพื่อที่จะจัดหาวัคซีน
ซึ่ง ณ เวลานี้กำลังมีการหารือกันกับทางมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดและประเทศอังกฤษว่าวัคซีนจะถูกจัดส่งได้ทันช่วงไตรมาส 1 หรือไม่ ถ้าหากมีการทดลองเสร็จสมบูรณ์ทันเวลา
@ประเทศเวียดนาม
สถาบันสุขอนามัยและการระบาดวิทยาแห่งชาติเวียดนามหรือ NIHE ซึ่งเป็นหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขของเวียดนามได้ลงนามในข้อตกลงกับบริษัทเมดิเจน วัคซีน (Medigen Vaccine) ซึ่งเป็นบริษัทผลิตวัคซีนที่ตั้งอยู่ ณ กรุงไทเป ประเทศไต้หวัน เพื่อที่จะจัดหาวัคซีนเป็นจำนวนกว่า 3 ล้านโดสถึง 10 ล้านโดส ภายในปี 2564 และ ณ เวลานี้บริษัทเมดิเจนก็กำลังดำเนินการทดลองวัคซีนในระยะที่ 2 ร่วมกับสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐฯอเมริกาในประเทศไต้หวันและในประเทศเวียดนาม โดยมีกำหนดการเปิดตัวในไตรมาสแรกของปี 2564
โดยในประเทศเวียดนามเองก็กำลังดำเนินการเพื่อที่จะผลิตวัคซีนของตัวเอง ร่วมกับสถาบันวัคซีนและจุลชีววิทยาซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองญาจาง และสถาบันแห่งนี้ก็ได้มีความร่วมมือกับวิทยาลัยการแพทย์ไอคาห์น เมืองนิวยอร์ก องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรทางการแพทย์ที่ชื่อว่า PATH ด้วยเช่นกัน ซึ่งขณะนี้ได้มีการทดลองวัคซีนในระยะที่ 1 แล้วในประเทศเวียดนาม ขณะที่การทดลองระยะ 2 และ 3 จะเริ่มดำเนินการในช่วงต้นปี 2564 โดยทางสถาบันได้ตั้งเป้าไว้ว่าจะส่งเอกสารคำขออนุมัติการใช้งานไปให้กับกระทรวงสาธารณสุขได้อย่างเร็วที่สุดในช่วงเดือน เม.ย. 2565 และอ้างว่ามีขีดความสามารถในการผลิตวัคซีนได้ถึง 30 ล้านโดสต่อปี ด้วยความหวังว่าวัคซีนนั้นจะสามารถเข้าสู่กระบวนการแจกจ่ายได้อย่างเร็วที่สุดในช่วงเดือน ต.ค. 2564
ทั้งหมด คือ ความคืบหน้าการจัดหาวัคซีนโควิดของประเทศต่างๆในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน ที่เกิดขึ้นล่าสุดในห้วงเวลานี้
เรียบเรียงจาก:https://www.aseanbriefing.com/news/covid-19-vaccine-roll-outs-in-asean-asia-live-updates-by-country/
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage