"...ถ้าสินค้าชนิดนี้ มีผู้จำหน่ายเพียงรายเดียว ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ ระบุ ทำไมในการจัดซื้อด้วยวิธีการประกวดราคา (e-bidding) ถึงมีเอกชนที่สนใจเข้าซื้อซองเป็นจำนวนกว่า 8 ราย และยื่นซองแข่งขัน 2 ราย แบบนี้ หรือเอกชนเหล่านี้ เลิกประกอบธุรกิจกล้องตรวจการณ์กลางคืน, บุคคล (แเบบตาเดียว) แบบ 2 ไปหมดแล้ว? ทั้งที่ การจัดซื้อสัญญาที่ 1 ด้วยวิธีการประกวดราคา (e-bidding) และสัญญาที่ 2 ที่ใช้วิธีการเฉพาะเจาะจง ทำสัญญาว่าจ้างห่างกันแค่ 1 เดือน ขณะที่การจัดซื้อสัญญาที่ 1 ด้วยวิธีการประกวดราคา (e-bidding) กำหนดราคากลาง ก่อนการจัดซื้อสัญญาที่ 2 ที่ใช้วิธีการเฉพาะเจาะจงด้วย ...."
...................................
ประเด็นตรวจสอบการจัดซื้อยุทธภัณฑ์ ซึ่งเกี่ยวกับการจัดซื้อกล้องตรวจการณ์กลางคืน แบบตาเดียวหรือ Night Vision Scope ของกองทัพบก ที่ นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.ก้าวไกล ได้หยิบยกขึ้นมาเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เกี่ยวกับการใช้จ่ายงบประมาณที่ไม่โปร่งใส นอกเหนือจากข้อมูลโครงการจัดซื้อรถบัสโดยสารของกรมการขนส่งทหารบก (ขส.ทบ.) 7 สัญญา 2.2 พันล. ซึ่งเป็นโครงการที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้ดำเนินการตรวจสอบมาอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา (อ่านประกอบ : ส.ส.ก้าวไกลใช้ข้อมูล'อิศรา'ซักฟอก'บิ๊กตู่'ปม ขส.ทบ.จัดซื้อรถ 7 สัญญา 2.2 พันล.)
สำนักข่าวอิศรา สืบค้นฐานจัดซื้อข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวกับจัดซื้อกล้องตรวจการณ์กลางคืน แบบตาเดียวหรือ Night Vision Scope ของกองทัพ มานำเสนอไปแล้วว่า ในช่วงปี 2560 - 2563 กองทัพบก โดยหน่วยงานย่อย คือ กรมการทหารช่าง ราชบุรี ได้จัดซื้อจัดจ้างโครงการกล้องตรวจการณ์กลางคืน, บุคคล (แบบตาเดียว) จำนวน 9 สัญญา วงเงินกว่า 198 ล้าน (เท่าที่ตรวจสอบพบ) จากเอกชน 2 ราย คือ
1. บริษัท วิริยะกิจ (1995) จำกัด ปรากฎชือเป็นคู่สัญญา ในช่วงปี 2560 - ต้นปี 2562 จำนวน 4 สัญญา วงเงิน 83,917,600 บาท
2. จากนั้นในช่วงปลายปี 2562 - ปลายปี 2563 บริษัท ซิลเวอร์บริดจ์ ดีเฟนซ์ กรุ๊ป จำกัด ปรากฎชื่อเป็นคู่สัญญามาโดยตลอด จำนวน 5 สัญญา วงเงิน 114,345,000 บาท
ขณะที่จากการตรวจสอบพบข้อสังเกตที่น่าสนใจ 2 ประการ ตรงตามที่นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.ก้าวไกล ตั้งข้อสังเกตไว้ คือ 1. การประกวดราคาในช่วงปี 60 จนถึง กลางปี 2563 วิธีประกวดราคาที่ใช้ส่วนใหญ่ คือ วิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) แต่ในช่วงตั้งแต่เดือน พ.ค.2563 มีการเปลี่ยนวิธีการประกวดราคาใหม่ ในการจัดซื้อ 3 สัญญาล่าสุด เป็น วิธีเฉพาะเจาะจงแทน 2. การจัดซื้อหลายสัญญา โดยเฉพาะตั้งแต่ช่วงกลางปี 2562 ราคาวงเงินงบประมาณ ราคากลาง และราคาที่ชนะการประมูล จะเท่ากันทั้งหมด
(อ่านประกอบ : ขยายข้อมูล ส.ส.ก้าวไกล! 'อิศรา' เจาะจัดซื้อกล้องตรวจการณ์ ทบ.4 ปี 198 ล. ผูกซื้อ 2 บ.)
ต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ ได้ลุกขึ้นอภิปรายชี้แจงข้อเท็จจริงถึงการจัดซื้อกล้องตรวจการณ์กลางคืน แบบตาเดียวหรือ Night Vision Scope ว่า "เรามีหน่วยทหารหลายหน่วยที่มีขีดความสามารถที่แตกต่างกัน เรามีทั้งหน่วยทหารราบ หน่วยรบพิเศษ มีความจำเป็นต้องใช้กล้องดังกล่าวในภารกิจลาดตระเวน เฝ้าตรวจเวลากลางคืน โดยเฉพาะหน่วยเฉพาะกิจตามแนวชายแดน ค้นหาการลักลอบเข้าเมืองและขนยาเสพติดผิกดฎหมาย จึงต้องใช้กล้องที่มีประสิทธิภาพสูง"
"ในปี 2561 ก่อนจัดซื้อ กองทัพบกได้สืบหากล้องตาสเปคที่ต้องการ เชิญผู้ประกอบมาทำการทดสอบ ทดลองใช้งานกับหน่วยต่างๆ จนนำไปสู่การกำหนดสเปคที่ต้องการ ทั้งนี้เป็นการจัดซื้อโดยวิธีประกวดราคา (e-bidding) ส่วนปี 2563 หน่วยงานยืนยันความต้องการใช้กล้องแบบเดิมเพื่อให้ครบตามจำนวนที่ต้องการ และทราบว่ามีผู้จำหน่ายเพียงรายเดียว จึงใช้วิธีเฉพาะเจาะจง ราคาจัดซื้อเท่ากับปี 2561-2562"
(อ่านประกอบ : 'บิ๊กตู่'แจงจัดซื้อชุดทหาร-กล้องตรวจการณ์ แต่ไม่ตอบปมรถ ขส.ทบ.7 สัญญา 2.2 พันล.)
น่าสนใจว่า ข้อเท็จจริงการจัดซื้อกล้องตรวจการณ์กลางคืน วิธีเฉพาะเจาะจง เป็นไปตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ ชี้แจงต่อสาธารณชนหรือไม่?
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา สืบค้นรายละเอียดการจัดซื้อจ้ดจ้าง กล้องตรวจการณ์กลางคืน แบบตาเดียวหรือ Night Vision Scope ในช่วงปี 2563 จำนวน 4 สัญญา ที่ปรากฎชื่อ บริษัท ซิลเวอร์บริดจ์ ดีเฟนซ์ กรุ๊ป จำกัด เป็นคู่สัญญา
แยกเป็นการประกวดราคาโดยวิธีประกวดราคา (e-bidding) 1 สัญญา และวิธีเฉพาะเจาะจง 3 สัญญา
พบข้อมูลตามตารางดังต่อไปนี้
จากข้อมูลสรุปในตารางข้างต้น มีข้อสังเกตสำคัญดังต่อไปนี้
หนึ่ง
การประกวดราคาทั้ง 4 สัญญา ที่ใช้วิธีประกวดราคา (e-bidding) 1 สัญญา และวิธีเฉพาะเจาะจง 3 สัญญา อ้างอิงแหล่งสืบราคากลางจากเอกชน 3 ราย เหมือนกัน คือ 1. บริษัท ซิลเวอร์บริดจ์ ดีเฟนซ์ กรุ๊ป จำกัด
2. บริษัท 107 เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด 3. บริษัท เอ็นจิเนียริ่ง รีวอร์ด (ประเทศไทย) จำกัด (ดูเอกสารประกอบ)
ข้อสังเกต ถ้าสืบราคากลางจากเอกชน 3 ราย บริษัท ซิลเวอร์บริดจ์ ดีเฟนซ์ กรุ๊ป จำกัด ก็ไม่น่าใจเป็นผู้ขายสินค้าชนิดนี้รายเดียว?
สอง
คำนวณราคากลางจัดซื้อทั้ง 4 สัญญา เฉลี่ยต่อเครื่อง ได้ดังนี้
- สัญญาแรก 80 ชุด ราคา เฉลี่ย 495,000 บาท ต่อเครื่อง
- สัญญาสอง 60 ชุด ราคาเฉลี่ย 495,000 บาท ต่อเครื่อง
- สัญญาสาม 20 ชุด ราคาเฉลี่ย 495,000 บาท ต่อเครื่อง
- สัญญาสี่ 12 ชุด ราคาเฉลี่ย 495,000 บาท ต่อเครื่อง
ข้อสังเกต จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าจะใช้วิธีประกวดราคา (e-bidding) หรือวิธีเฉพาะเจาะจง จะซื้อกี่ชุด ราคาเฉลี่ยก็จะอยู่ที่ 495,000 บาท ต่อเครื่อง
สาม
เชื่อมโยงข้อสังเกต ข้อสอง
กล่าว คือ ในการกำหนดราคากลางจัดซื้อสัญญาที่ 1 และ 2 อ้างอิงข้อมูลตามสัญญาซื้อขายเลขที่ 26 /2561 ลงวันที่ 5 มีนาคม 2561
เมื่อตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกพบว่า เป็นงานประกวดราคาโครงการซื้อยุทโธปกรณ์สายช่าง ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) วงเงิน 49,995,000 บาท ที่ปรากฎชื่อ บริษัท ซิลเวอร์บริดจ์ ดีเฟนซ์ กรุ๊ป จำกัด เป็นคู่สัญญาเช่นกัน
จัดซื้อสินค้า 3 ชนิด คือ กล้องตรวจการณ์กลางคืน, บุคคล (แบบตาเดียว) แบบ 2 จำนวน 101 ชุด กล้องตรวจการณ์สำหรับชุดซุ่มยิง พร้อมขาตั้ง 8 กล้อง และ ไฟฉายพร้อมด้วยด้ามจับ 55 กระบอก
โดย กล้องตรวจการณ์กลางคืน, บุคคล (แบบตาเดียว) แบบ 2 จำนวน 101 ชุด สืบราคากลางจากเอกชน 2 ราย คือ บริษัท ซิลเวอร์บริดจ์ ดีเฟนซ์ กรุ๊ป จำกัด ราคาเครื่องละ 495,000 บาท บริษัทเรย์โซน (ไทยแลนด์) จำกัด ราคาเครื่องละ 519,750 บาท
ดังนั้น ราคากลางเฉลี่ยเครื่องละ 495,000 บาท จึงถูกกำหนดมาตั้งแต่ปี 2561 แล้ว และราคากลางนี้ ก็เป็นราคากลางจาก บริษัท ซิลเวอร์บริดจ์ ดีเฟนซ์ กรุ๊ป จำกัด ด้วย
สี่
ในการประกวดราคาซื้อกล้องตรวจการณ์กลางคืน, บุคคล (แเบบตาเดียว) แบบ 2 โดยวิธีการประกวดราคา (e-bidding) วงเงิน 39,600,000 บาท
มีเอกชนเข้าซื้อซอง จำนวน 8 ราย คือ บริษัท เจ-บิ๊คส์ เทรดดิ้ง จำกัด, บริษัท 107 เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด, บริษัท ก้านขาวคอร์ปอเรชั่น จำกัด, บริษัท รอยัล ดีเฟนส์ จำกัด, บริษัท ซิลเวอร์บริดจ์ ดีเฟนซ์ กรุ๊ป จำกัด, บริษัท แอปเปิล ไซเอ็นทิฟิค จำกัด, บริษัท อรุณศรี เอนเนอยี่ พาวเวอร์ จำกัด และ บริษัท อโกรสตาร์ เทคโนโลยี จำกัด
ต่อมามีเอกชน 2 ราย ยื่นซองเสนอราคา คือ บริษัท ซิลเวอร์บริดจ์ ดีเฟนซ์ กรุ๊ป จำกัด และ บริษัท 107 เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติทั้งคู่
ก่อนที่ บริษัท ซิลเวอร์บริดจ์ ดีเฟนซ์ กรุ๊ป จำกัด จะเป็นผู้ชนะ โดยเสนอเท่าราคากลาง 39,600,000 บาท
ส่วน บริษัท 107 เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด เสนองานอยู่ที่ 42,768,000 บาท (ดูเอกสารประกอบ)
ข้อสังเกตสำคัญส่วนนี้ คือ ถ้าสินค้าชนิดนี้ มีผู้จำหน่ายเพียงรายเดียว ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ ระบุ ทำไมในการจัดซื้อด้วยวิธีการประกวดราคา (e-bidding) ถึงมีเอกชนที่สนใจเข้าซื้อซองเป็นจำนวนกว่า 8 ราย และยื่นซองแข่งขัน 2 ราย แบบนี้
หรือเอกชนเหล่านี้ เลิกประกอบธุรกิจกล้องตรวจการณ์กลางคืน, บุคคล (แเบบตาเดียว) แบบ 2 ไปหมดแล้ว?
ทั้งที่ การจัดซื้อสัญญาที่ 1 ด้วยวิธีการประกวดราคา (e-bidding) และสัญญาที่2 ที่ใช้วิธีการเฉพาะเจาะจง ทำสัญญาว่าจ้างห่างกันแค่ 1 เดือน
ขณะที่การจัดซื้อสัญญาที่ 1 ด้วยวิธีการประกวดราคา (e-bidding) กำหนดราคากลาง ก่อนการจัดซื้อสัญญาที่2 ที่ใช้วิธีการเฉพาะเจาะจงด้วย (ดูข้อมูลในตารางประกอบ)
นี่ยังไม่นับรวมข้อสังเกตของ นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.ก้าวไกล ที่ระบุว่า
"ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2561-2563 มีผู้ชนะรายเดียวมาตลอด ที่ชนะการประมูลเท่ากับราคากลางพอดี ไม่พลาดแม้แต่บาท และเป็นการดำเนินการตลอด 3 ปีงบประมาณ แม้ว่าค่าเงินบาทต่อเงินดอลลาร์สหรัฐจะเปลี่ยนแปลง ที่ชนะการประมูลเท่ากับราคากลางพอดี ไม่พลาดแม้แต่บาท"
"ตั้งแต่ปี 2561 – 2563 ใช้วิธีประกวดราคาทั้งหมด กระทั่งปี 2563 มีการจัดซื้อครั้งที่ 2 เปลี่ยนเป็นจัดซื้อเฉพาะเจาะจง โครงการดังกล่าวดำเนินการเมื่อ 6 ก.พ.2563 และเปิดให้มีการวิจารณ์ทีโออาร์ ปรากฏว่ามีเอกชนรายใหม่เข้าร่วมแข่งขัน และได้วิจารณ์ทีโออาร์ไปเกี่ยวกับปัญหาการแสดงตัวอย่างภายใน 5 วัน เนื่องจากเป็นยุทธภัณฑ์ต้องนำเข้าและขอใบอนุญาต และได้มีการทักท้วงไปที่หน่วยงาน ว่า หากจะยืนยันขั้นตอนการดำเนินการเช่นนี้ จะเข้าข่ายการปิดกั้นการแข่งขัน และผิดตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ ทำให้หน่วยงานไม่ดำเนินโครงการนี้ต่อ กระทั่งวันที่ 11 มี.ค. มีการประกาศจัดซื้อจัดจ้าง แต่ให้ทำแบบเฉพาะเจาะจง และเลือกยี่ห้อนี้เท่านั้น"
"สำหรับโครงการดังกล่าว เมื่อสืบราคาสเปคตรงตามที่กองทัพไทยต้องการ ราคากล้อง อุปกรณ์ติดตั้งบนหมวก และกระเป๋าเก็บ รวมกับอุปกรณ์เสริมต่างๆที่ระบุในเอกสารสเป็คของกองทัพ รวมค่าขนส่ง ประกันภัย และภาษีแล้ว คิดเป็นเงินไทย 261,000 บาท เท่ากับว่า ราคากลางที่กำหนด 495,000 บาท กองทัพซื้อแพงกว่า 47% หรือคิดเป็นเงินสูงถึง 78 ล้านบาท"
ขณะที่คำชี้แจงของ พล.อ.ประยุทธ์ มีเพียงแค่ว่า "เรามีหน่วยทหารหลายหน่วยที่มีขีดความสามารถที่แตกต่างกัน เรามีทั้งหน่วยทหารราบ หน่วยรบพิเศษ มีความจำเป็นต้องใช้กล้องดังกล่าวในภารกิจลาดตระเวน เฝ้าตรวจเวลากลางคืน โดยเฉพาะหน่วยเฉพาะกิจตามแนวชายแดน ค้นหาการลักลอบเข้าเมืองและขนยาเสพติดผิกดฎหมาย จึงต้องใช้กล้องที่มีประสิทธิภาพสูง"
"ในปี 2561 ก่อนจัดซื้อ กองทัพบกได้สืบหากล้องตาสเปคที่ต้องการ เชิญผู้ประกอบมาทำการทดสอบ ทดลองใช้งานกับหน่วยต่างๆ จนนำไปสู่การกำหนดสเปคที่ต้องการ ทั้งนี้ เป็นการจัดซื้อโดยวิธีประกวดราคา (e-bidding) ส่วนปี 2563 หน่วยงานยืนยันความต้องการใช้กล้องแบบเดิมเพื่อให้ครบตามจำนวนที่ต้องการ และทราบว่ามีผู้จำหน่ายเพียงรายเดียว จึงใช้วิธีเฉพาะเจาะจง ราคาจัดซื้อเท่ากับปี 2561-2562"
จึงอาจเป็นคำตอบที่ไม่ครบถ้วน ไม่ตรงประเด็น ไม่สามารถคลี่คลาย ข้อสงสัยการจัดซื้อยุทธภัณฑ์กล้องตรวจการณ์กลางคืน แบบตาเดียวหรือ Night Vision Scope ของกองทัพบก ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ ได้มากนัก (รวมไปถึงกรณีโครงการจัดซื้อรถบัสโดยสารของกรมการขนส่งทหารบก (ขส.ทบ.) 7 สัญญา 2.2 พันล. ที่สำนักข่าวอิศรา ติดตามตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกมาอย่างต่อเนื่อง พล.อ.ประยุทธ์ ก็ยังไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจนต่อสังคมในระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้เช่นกัน (อ่านประกอบ : 'บิ๊กตู่'แจงจัดซื้อชุดทหาร-กล้องตรวจการณ์ แต่ไม่ตอบปมรถ ขส.ทบ.7 สัญญา 2.2 พันล.)
ส่วนข้อเท็จจริงที่ชัดเจน จากคำชี้แจง ของ พล.อ.ประยุทธ์ ในกรณีนี้ คือ 'ทหาร' มีความต้องการอยากได้อยากใช้กล้องยี่ห้อนี้ ที่มีผู้จำหน่ายเพียงรายเดียว (ทั้งที่สืบราคากลางจากเอกชนหลายแห่ง มีเอกชนหลายรายมาซื้อซองแข่งงาน) จึงจำเป็นต้องจัดซื้อด้วยวิธีพิเศษ
จะเข้าข่ายการล็อกสเปคหรือไม่?
ระเบียบขั้นตอนทางกฎหมายทำได้หรือไม่?
คงเป็นเรื่องที่ต้องรอคอยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้ามาตรวจสอบ เพื่อทำความจริงให้ปรากฎต่อไป
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage