กางข้อพิจารณาศาลยุติธรรม ชำแหละประมวลกฎหมายอาญาทำแท้งฉบับใหม่! เปิดชัด ๆ ครบทุกข้อ แบบไหนทำได้ แบบไหนผิดกฎหมาย มีผลแล้วตั้งแต่ 7 ก.พ. 64 ชงผู้พิพากษาทั่วประเทศ
........................................
เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2564 ที่ผ่านมา นายพงษ์เดช วานิชกิตติกูล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ทำหนังสือถึงหัวหน้าหน่วยงานในสังกัดสำนักงานศาลยุติธรรม แจ้งข้อพิจารณาเกี่ยวกับ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 28) พ.ศ. 2564 กรณีแก้ไขเพิ่มเติมความผิดฐานทำให้แท้งลูก โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปแล้วเมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2564 ที่ผ่านมา และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2564
มีรายละเอียดที่น่าสนใจ รวมถึงข้อกฎหมายที่อธิบายว่าการทำแท้ง แบบใด ‘ผิด’ แบบใด ‘ถูก’ และไม่ต้องรับโทษ?
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สรุปให้สาธารณชนทราบ ดังนี้
สำนักงานศาลยุติธรรม ระบุว่า พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติในฐานความผิดฐานทำให้แท้งลูกดังกล่าว กำหนดอายุครรภ์สำหรับความผิดฐานหญิงทำให้ตนเองแท้งลูกหรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูกตามมาตรา 301 รวมทั้งเพิ่มเหตุยกเว้นความผิดฐานทำให้แท้งลูกตามมาตรา 305 ให้สอดคล้องกับคำวินิจฉัยและข้อเสนอแนะของศาลรัฐธรรมนูญ จึงขอให้โปรดแจ้งผู้พิพากษาและข้าราชการศาลยุติธรรมในหน่วยงานภายใต้สังกัดทราบ
โดยสาระสำคัญของ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติในฐานความผิดฐานทำให้แท้งลูกดังกล่าว มาตรา 301 ระบุว่า หญิงใดทำให้ตนเองแท้งลูกหรือยอมให้ผุ้อื่นทำให้ตนแท้งลูกขณะมีอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 305 ระบุว่า ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 301 หรือมาตรา 302 เป็นการกระทำของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและตามหลักเกณฑ์ของแพทยสภาในกรณีดังต่อไปนี้ ผู้กระทำไม่มีความผิด
(1) จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากหากหญิงตั้งครรภ์ต่อไปจะเสี่ยงต่อการได้รับอันตรายต่อสุขภาพทางกายหรือจิตใจของหญิงนั้น
(2) จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากมีความเสี่ยงอย่างมากหรือมีเหตุผลทางการแพทย์อันควรเชื่อได้ว่าหากทารกคลอดออกมาจะมีความผิดปกติถึงขนาดทุพพลภาพอย่างร้ายแรง
(3) หญิงยืนยันต่อผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมว่าตนมีครรภ์เนื่องจากมีการกระทำความผิดเกี่ยวกับเพศ
(4) หญิงซึ่งมีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ยืนยันที่จะยุติครรภ์
(5) หญิงซึ่งมีอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 20 สัปดาห์ ยืนยันทีจะยุติครรภ์ ภายหลังการตรวจและรับคำปรึกษาทางเลือกจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและผู้ประกอบวิชาชีพอื่น ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ รมว.สาธารณสุข ประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของแพทยสภา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น
โดยเหตุผลของการประกาศใช้กฎหมายดังกล่าว เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2563 ว่า บทบัญญัติตามมาตรา 301 เดิม ขัดหรือแย้งต่อมาตรา 28 ของรัฐธรรมนูญ เนื่องจากการมุ่งคุ้มครองสิทธิทารกในครรภ์เพียงอย่างเดียว ทำให้หญิงไม่ได้รับความเป็นธรรมและถูกจำกัดสิทธิในเนื้อตัวร่างกาย และสิทธิในการกำหนดเจตจำนงในการยุติการตั้งครรภ์หรือตั้งครรภ์ต่อไป จำเป็นต้องมีความสมดุลโดยนำอายุครรภ์มาเป็นเกณฑ์พิจารณา
(หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา : ประมวลกฎหมายอาญาที่เกี่ยวข้องกรณีนี้ ได้แก่ มาตรา 302 ผู้ใดทำให้หญิงแท้งลูกโดยหญิงนั้นยินยอม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ วรรคสอง ถ้าการกระทำนั้นเป็นเหตุให้หญิงรับอันตรายสาหัสอย่างอื่นด้วย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ วรรคสาม ถ้าการกระทำนั้นเป็นเหตุให้หญิงถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท
มาตรา 303 ผู้ใดทำให้หญิงแท้งลูกโดยหญิงนั้นไม่ยินยอม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ วรรคสอง ถ้าการกระทำนั้นเป็นเหตุให้หญิงรับอันตรายสาหัสอย่างอื่นด้วย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท วรรคสาม ถ้าการกระทำนั้นเป็นเหตุให้หญิงถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท
มาตรา 304 ผู้ใดเพียงแต่พยายามกระทำความผิดตามมาตรา 301 หรือมาตรา 302 วรรคแรก ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ)
สำหรับการทำแท้งที่ไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 28) มีดังต่อไปนี้
1.กรณีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ หญิงทำให้ตนเองแท้งลูกหรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูก หญิงนั้นไม่มีความผิด ดังนั้นเมื่อหญิงไม่มีความผิด ผู้ใช้ ตัวการ และผู้สนับสนุนให้หญิงทำแท้งขณะอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์โดยไม่ได้เป็นผู้ทำแท้ง หญิงก็ไม่มีความผิดเช่นกัน ยกเว้นกรณีเป็นตัวการร่วมถึงขั้นเป็นผู้ลงมือทำแท้งหญิงนั้นเองตามมาตรา 302
2.กรณีครรภ์อายุไม่เกิน 12 สัปดาห์ แต่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 305 คือกระทำโดยแพทย์ตามหลักเกณฑ์ของแพทยสภา เนื่องจากเหตุใดเหตุหนึ่ง หญิงและแพทย์ไม่มีความผิด เช่น การตั้งครรภ์ที่เสี่ยงได้รับอันตรายต่อสุขภาพกายและใจ หรือจำเป็นต้องกระทำเนื่องจากมีความเสี่ยงอย่างมากหรือมีเหตุผลทางการแพทย์อันควรเชื่อได้ว่าหากทารกคลอดมาจะทุพพลภาพอย่างร้ายแรง โดยรวมถึงทุพพลภาพทางร่างกายและทางสมองด้วย หรือกรณีหญิงยืนยันว่าตั้งครรภ์เนื่องจากมีการกระทำผิดทางเพศ เป็นต้น
ส่วนการทำแท้งที่เป็นความผิดกฎหมายตามประมวลกฎหมายอาญาแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 28) ได้แก่
1.หญิงมีอายุครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ ทำแท้งด้วยตนเอง หรือยอมให้ผู้อื่นทำแท้งให้ เป็นกรณีไม่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 305 ไม่ได้รับยกเว้นความผิดตามมาตรา 301
2.ผู้อื่นที่ไม่ใช่แพทย์ ทำแท้งให้หญิงนั้นยินยอม ไม่ว่าหญิงนั้นอายุครรภ์เท่าใดก็ตาม เช่น สถานพยาบาลที่ไม่ถูกกฎหมาย ตามมาตรา 302
มีข้อสังเกตว่า หญิงที่ยินยอมให้ทำแท้งทั้งที่อายุครรภ์ไม่ถึง 12 สัปดาห์ หญิงนั้นไม่มีความผิด แต่ผู้อื่นที่ไม่ใช่แพทย์ยังคงมีความผิด ซึ่งกรณีนี้ไม่มีข้อยกเว้นความผิดใด ๆ
3.แพทย์ที่ทำแท้งให้หญิง โดยไม่เป็นไปตามเงื่อนไขตมมาตรา 305 มีความผิดตามมาตรา 302
4.ผู้ที่ทำให้หญิงแท้งลูกโดยไม่ยินยอม มีความผิดทุกกรณีโดยไม่มีข้อยกเว้นตามมาตรา 303
ทั้งนี้หญิงหรือผู้อื่นที่พยายามกระทำผิดตามมาตรา 301 และมาตรา 302 ที่ไม่ทำให้หญิงได้รับอันตรายสาหัส หรือถึงแก่ความตาย หญิงและผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 304
ทั้งหมดคือรายละเอียดข้อกฎหมายเกี่ยวกับประมวลกฎหมายอาญาที่แก้ไขประเด็นการทำแท้งใหม่ และมีผลบังคับใช้แล้วในปัจจุบัน
นับเป็นอีกก้าวสำคัญทางกฎหมายที่ยกระดับใกล้เคียงสากล!
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/