"...การจัดระบบบริการที่ดีที่มีความรวดเร็วครอบคลุมประชาชนให้ได้เร็วที่สุด เราตั้งความหวังเอาไว้จะพยายามทำให้ได้หลังจากที่ได้รับวัคซีนมาเป็นจำนวนมาก ต้องฉีดให้ได้ครอบคลุมให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือนทั่วประเทศ 1 เดือนเราตั้งใจจะฉีดให้ได้ 10 ล้านโดสขึ้นไป..."
………………………………………………
นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยนโยบายการให้วัคซีนภายในประเทศว่า จะให้วัคซีนกับประชาชนทุกคนภายในประเทศไทย ซึ่งรวมถึงชาวไทยและแรงงานข้ามชาติที่อาศัยอยู่ภายในประเทศด้วย ให้สามารถเข้าถึงวัคซีนที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคโควิด โดยมีเป้าหมาย ดังนี้
1.เพื่อลดอัตราการป่วยและตาย มีกลุ่มเป้าหมาย คือ ประชากรกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงที่จะป่วยรุนแรงและเสียชีวิต ได้แก่ ประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปี และผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง
2.เพื่อปกป้องระบบสุขภาพของประเทศ มีกลุ่มเป้าหมาย คือ บุคลากรทางการแพทย์ สาธารณสุขด่านหน้า และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรค ทั้งภาครัฐและเอกชน
3.เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ มีกลุ่มเป้าหมาย คือ แรงงานในภาคธุรกิจบริการ อุตสาหกรรม และประชาชนทั่วไป อย่างไรก็ตามกรณีเป็นแรงงานต่างชาติ จะเป็นการร่วมจ่ายโดยเจ้าของกิจการ
ทั้งนี้กลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับวัคซีนโควิด จะถูกแบ่งออกเป็น 2 ระยะ
ระยะที่ 1 เมื่อมีวัคซีนปริมาณจำกัด กลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับวัคซีนจะอาศัยอยู่ในเขตที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ จังหวัดสมุทรสาคร กทม. จังหวัดตาก และพื้นที่เขตปริมณฑล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดการป่วยรุนแรงและเสียชีวิตจากโรคโควิด และเพื่อรักษาระบบสุขภาพของประเทศ
“เมื่อได้รับวัคซีนซิโนแวค 200,000 โดส ภายในเดือนกุมภาพันธ์ จะมีการกระจายไปใน 3 จังหวัดก่อน ได้แก่ สมุทรสาคร กทม. และตาก เพื่อควบคุมการระบาดในพื้นที่” นพ.โสภณ กล่าว
กลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย บุคลากรทางการแพทย์ สาธารณสุขด่านหน้า ทั้งภาครัฐและเอกชน, บุคคลที่มีโรคประจำวัน เช่น โรคทางเดินหายใจเรื้อรังรุนแรง เช่น ปอดอุดกั้นเรื้อรัง และโรคหอบหืดที่ควบคุมได้ไม่ดี เป็นต้น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตเรื้อรังที่อยู่ระยะ 5 ขึ้นไป (ไตวายเรื้อรัง) โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็งทุกชนิดที่อยู่ระหว่างเคมีบำบัด รังสีบำบัด และภูมิคุ้มกันบำบัด โรคเบาหวาน โรคอ้วนที่มีน้ำหนักมากกว่า 100 กิโลกรัม หรือ BMI มากกว่า 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร, ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไป และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคโควิด
ระยะที่ 2 เมื่อวัคซีนมากขึ้น และเพียงพอ เป็นระยะที่สามารถควบคุมโรคได้ และเป็นช่วงที่มีวัคซีนเพียงพอ คาดว่าจะอยู่ในช่วง มิ.ย. 2564 ซึ่งจะต้องขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศ และเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในระดับประชากรและฟื้นฟูให้ประเทศกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
กลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย กลุ่มเป้าหมายในระยะที่ 1 , บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขอื่นๆ ที่นอกเหนือจากด่านหน้าม ผู้ประกอบอาชีพด้านการท่องเที่ยว เช่น พนักงานโรงแรม สถานบันเทิง มัคคุเทศก์, ผู้เดินทางระหว่างประเทศ เช่น นักบิน ลูกเรือ นักธุรกิจระหว่างประเทศ, ประชาชนทั่วไป , นักการทูตและเจ้าหน้าที่องค์กรระหว่างประเทศ และแรงงานในภาคอุตสาหกรรม
ส่วนกลยุทธ์ที่จะใช้ในการบริหารจัดการการให้วัคซีนภายในประเทศ มีข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้
กลยุทธ์ที่ 1 : สื่อสารสาธารณะ สร้างความรู้ ความเข้าใจให้กับระชาชน จัดทำสาระการสื่อสารที่ถูกต้องและทันสมัย เผยแพร่ข้อมูลในรูปแบบที่เหมาะสมผ่านช่องทางสื่อต่างๆ และเฝ้าระวังและชี้แจงแก้ไขข่าวที่ไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะการนำเสนอวัคซีนสามารถป้องกันอะไรได้บ้าง และการนำเสนอประโยชน์ของวัคซีน
กลยุทธ์ที่ 2 : จัดบริการที่มีคุณภาพครอบคลุมประชาชนเป้าหมาย อย่างรวดเร็ว ฝึกอบรมบุคลากร และจัดระบบ Cold chain ในระบบขนส่งและระบบจัดเก็บวัคซีนให้อยู่ในระดับ 2-8 องศาเซลเซียส เพื่อให้วัคซีนคงคุณภาพไว้ และจะสามารถกระจายวัคซีนให้ทั่วถึงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
"การจัดระบบบริการที่ดีที่มีความรวดเร็วครอบคลุมประชาชนให้ได้เร็วที่สุด เราตั้งความหวังเอาไว้จะพยายามทำให้ได้หลังจากที่ได้รับวัคซีนมาเป็นจำนวนมาก ต้องฉีดให้ได้ครอบคลุมให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือนทั่วประเทศ 1 เดือนเราตั้งใจจะฉีดให้ได้ 10 ล้านโดสขึ้นไป" นพ.โสภณ
กลยุทธ์ที่ 3 : ประกันคุณภาพวัคซีนและติดตามอาการข้างเคียง เป็นเรื่องของผลข้างเคียงในการรับวัคซีน รัฐเตรียมจุดเฝ้ารอไว้ให้ ณ จุดฉีดวัคซีน ให้ประชาชนที่มารับวัคซีนรอเป็นเวลา 30 นาที ขณะเดียวกันรัฐจะมีระบบติดตามที่ 1 วัน 7 วัน และ 30 วัน โดยอาจจะติดตามผ่าน Line Official Account อาสาสมัคร หรือพยาบาลโทรไปติดตาม
กลยุทธ์ที่ 4 : พัฒนาระบบข้อมูล ช่วยการบริหารจัดการ เป็นเรื่องของระบบข้อมูลที่จะต้องใช้ระบบดิจิทัลเข้ามาช่วย ยกตัวอย่างเช่น จะฉีดวัคซีน 50 ล้านคน จะต้องฉีดทั้งหมด 100 ล้านเข็ม หากไม่มีระบบดิจิทัลเข้ามาช่วยในการติดตามประชาชน อาจทำให้เกิดเรื่องยุ่งยากและอาจจะทำได้ไม่สำเร็จ จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาระบบ Line Official Account ในชื่อ ‘หมอพร้อม’ เพื่อให้เป็นช่องทางการรายงานและติดต่อสื่อสารระหว่างกันได้
กลยุทธ์ที่ 5 : จัดการองค์ความรู้ เพื่อการพัฒนาบริการให้วัคซีน การจัดการองค์ความรู้ โดยจะจัดทำข้อมูลวิชาการติดตามว่า ประชาชนมีภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้นหรือไม่ สามารถป้องกันโรคไม่ป่วยได้มากน้อยเพียงใด และสามารถลดการแพร่โรคได้หรือไม่
อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะมีคณะผู้เชี่ยวชาญให้ข้อคิดเห็นและข้อสรุปแนวทางการให้วัคซีนแล้ว อีกสิ่งสำคัญที่จะต้องคำนึงถือคือ ‘ทัศนคติและความเห็นของประชาชน’
โดย นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ปฏิบัติการหน้าที่รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยผลสำรวจจากกรมควบคุมโรคโพล (DDC Poll) โดยสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จากประชาชนจำนวน 2,879 ตัวอย่าง มีประชาชน 70% อยากให้บุคลากรทางการแพทย์เป็นกลุ่มเป้าหมายที่ควรได้รับวัคซีนก่อน ในลำดับรองลงมา อยากให้ทุกคนได้รับวัคซีน ตามมาด้วยกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และเด็กเล็ก-หญิงตั้งครรภ์
นพ.โสภณ กล่าวเน้นย้ำว่า กลุ่ม ‘เด็กเล็ก-หญิงตั้งครรภ์’ จะยังไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายในขณะนี้ เนื่องจากวัคซีนที่มีอยู่เป็นวัคซีนที่ใช้ในภาวะฉุกเฉิน ซึ่งไม่ได้ทดลองในกลุ่มอายุน้อยกว่า 18 ปี และหญิงตั้งครรภ์
สำหรับข้อคิดเห็นความต้องการของประชาชน หากไม่มีรายงานการติดเชื้อ ป่วย และเสียชีวิตจากโรคโควิด พบว่า ประชาชนยังคงต้องการฉีดวัคซีนถึง 70% ถือว่าเป็นเปอร์เซ็นต์ที่ค่อนข้างสูง โดยจะมีเพียง 18% ไม่ต้องการวัคซีน และอีก 12.1% ยังไม่แน่ใจ
สำหรับ พื้นที่เป้าหมายที่จะฉีดวัคซีนโควิดในระยะเร่งด่วน เดือน ก.พ. - พ.ค.2564 ในระยะแรก จะเริ่มจากสมุทรสาคร กทม. สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี ระยอง ชลบุรี จันทบุรี ตราด และตาก ตามลำดับ ซึ่งพิจารณาตามความสำคัญของการระบาด โดยมีแผนการกระจายวัคซีนเบื้องต้น จำนวน 2 ล้านโดส ดังนี้
สมุทรสาคร จะได้รับวัคซีน 820,000 โดส หรือ 410,000 ราย แบ่งให้กับ บุคลากรทางการแพทย์ 16,000 โดส หรือ 8,000 ราย เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสป่วย 12,000 โดส หรือ 6,000 ราย ผู้มีโรคประจำตัว 72,000 โดส หรือ 36,000 ราย ผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 300,000 โดส หรือ 150,000 ราย และประชาชนทั่วไป 420,000 โดส หรือ 210,000 ราย
กทม. จะได้รับวัคซีน 800,000 โดส หรือ 400,000 ราย แบ่งให้กับ บุคลากรทางการแพทย์ 64,000 โดส หรือ 400,000 ราย เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 16,000 โดสหรือ 8,000 ราย ผู้มีโรคประจำตัว 200,000 โดส หรือ 100,000 ราย ผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 200,000 โดส หรือ 100,000 ราย และประชาชนทั่วไป 320,000 โดส หรือ 160,000 ราย
นนทบุรี และปทุมธานี จะได้รับพื้นที่ละ 26,000 โดส หรือ 13,000 ราย แบ่งให้กับ บุคลากรการแพทย์ 26,000 โดส หรือ 13,000 ราย และเจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 8,000 โดส หรือ 4,000 ราย
สมุทรปราการ จะได้รับพื้นที่ละ 28,000 โดส หรือ 14,000 ราย แบ่งให้กับ บุคลากรการแพทย์ 18,000 โดส หรือ 9,000 ราย และเจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 10,000 โดส หรือ 5,000 ราย
ระยอง จะได้รับพื้นที่ละ 18,000 โดส หรือ 9,000 ราย แบ่งให้กับ บุคลากรการแพทย์ 10,000 โดส หรือ 5,000 ราย และเจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 8,000 โดส หรือ 4,000 ราย
ชลบุรี จะได้รับพื้นที่ละ 28,000 โดส หรือ 14,000 ราย แบ่งให้กับ บุคลากรการแพทย์ 20,000 โดส หรือ 10,000 ราย และเจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 8,000 โดส หรือ 4,000 ราย
จันทบุรี จะได้รับพื้นที่ละ 16,000 โดส หรือ 8,000 ราย แบ่งให้กับ บุคลากรการแพทย์ 12,000 โดส หรือ 6,000 ราย และเจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 4,000 โดส หรือ 2,000 ราย
ตราด จะได้รับพื้นที่ละ 12,000 โดส หรือ 6,000 ราย แบ่งให้กับ บุคลากรการแพทย์ 10,000 โดส หรือ 5,000 ราย และเจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 2,000 โดส หรือ 1,000 ราย
ตาก จะได้รับวัคซีน 160,000 โดส หรือ 80,000 ราย แบ่งให้กับ บุคลากรทางการแพทย์ 16,000 โดส หรือ 8,000 ราย เจ้าหน้าที่ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 4,000 โดสหรือ 2,000 ราย ผู้มีโรคประจำตัว 20,000 โดส หรือ 10,000 ราย ผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 20,000 โดส หรือ 10,000 ราย และประชาชนทั่วไป 100,000 โดส หรือ 50,000 ราย
นพ.โสภณ กล่าวถึงความพร้อมในพื้นที่ทั้ง 10 จังหวัดที่จะได้รับวัคซีนระยะแรกอีกว่า จากการสำรวจโรงพยาบาลในพื้นที่ดังกล่าว มีโรงพยาบาลรัฐและเอกชนรวมกันเพียงพอต่อการให้บริการฉีดวัคซีน โดยทั้งหมดล้วนเป็นโรงพยาบาลที่มีแพทย์และห้องฉุกเฉิน ซึ่งสามารถรองรับผู้ป่วยที่มีอาการผลค้างเคียงได้ ส่วนโรงพยาบาลขนาดเล็กที่ไม่มีห้องฉุกเฉิน จะยังไม่ใช่โรงพยาบาลกลุ่มเป้าหมายในการให้วัคซีนในระยะแรก
"สำหรับพื้นที่อื่นๆ นอกเหนือจาก 10 จังหวัดข้างต้น รัฐเตรียมแผนให้วัคซีนในเดือน มิ.ย. - ธ.ค.2564 จำนวน 61 ล้านโดส และวางแผนการให้บริการฉีดวัคซีนที่โรงพยาบาล 1,000 แห่ง แห่งละ 500 โดสต่อวัน เป็นเวลา 20 วันวันทำการต่อเดือน คิดเฉลี่ยต่อเดือนจะได้ 10 ล้านโดส ทั้งนี้หากขยายการดำเนินงานในช่วงวันหยุด หรือขยายการให้บริการไปยังโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลขนาดใหญ่ที่มีระบบฟื้นคืนชีพในกรณีฉุกเฉิน รวม 10,000 แห่ง จะเพิ่มความสะดวกและลดเวลาในการฉีดวัคซีนด้วย" นพ.โสภณ กล่าว
รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวย้ำว่า คุณลักษณะของผู้ที่ได้รับวัคซีน จะต้องเป็นผู้ไม่มีอาการเจ็บป่วยอยู่ ยกตัวอย่างเช่น หากเป็นหวัด ควรรอให้หายก่อน ดังนั้นจึงขอให้ประชากรดูแลร่างกายให้แข็งแรง เพื่อให้ร่างกายมีความพร้อมในการสร้างภูมิคุ้มกันโรคหลังจากได้รับวัคซีน
ทั้งนี้ในระหว่างการรับวัคซีนจะมีการซักถามประวัติการแพ้วัคซีนหรืออาหารต่างๆ ที่เคยมีมาก่อนในอดีต ประกอบกับการวัดความดัน และตรวจสอบความผิดปกติต่างๆ ขอให้ประชาชนตอบตามความเป็นจริง อย่างไรก็ตามเมื่อได้รับวัคซีนแล้ว ขอให้อยู่รอดูอาการในความดูแลของแพทย์ต่ออีก 30 นาที เนื่องจากผู้ที่แพ้วัคซีนจะมีปฏิกิริยาในช่วงเวลาดังกล่าว หลังจากนั้น ในระยะเวลา 1 วัน 7 วัน และ 30 วัน หลังได้รับวัคซีน จะมีการสอบถามติดตามอาการ ขอให้ประชาชนร่วมมือกับบุคลากรทางการแพทย์ด้วยเช่นเดียวกัน เพื่อให้บุคลากรทาแพทย์ได้มั่นใจว่าปลอดภัยและนำไปเป้นข้อมูลนการให้ความรู้กับประชาชนต่อไป
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage