"....เหตุผลหนึ่งที่ทำให้นักรณรงค์และนักวิทยาศาสตร์ได้ออกมาเตือนว่า โลกกำลังเข้าสู่ทิศทางของการแบ่งแยกด้วยวัคซีน โดยประชากรในกลุ่มซีกโลกใต้นั้นอาจจะได้รับการฉีดวัคซีนช้ากว่าประเทศในตะวันตก ซึ่งผลของความไม่เท่าเทียมของวัคซีนนี้จะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยมหาวิทยาลัยนอร์ธอีสเทิร์นของประเทศอังกฤษได้บ่งชี้ให้เห็นว่า ถ้าหากวัคซีน 2 พันล้านโดสแรกถูกแจกจ่ายออกไปตามสัดส่วนของประชากรในระดับประเทศอัตราการเสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกจะลดลงไปประมาณ 61 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าหากมีการผูกขาดวัคซีนโดย 47 ประเทศที่ร่ำรวย หมายความว่าจะลดการเสียชีวิตได้แค่ 33 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น..."
.................
ความเท่าเทียมกัน ระหว่างประเทศมหาอำนาจ และประเทศยากจน ในการได้รับการแจกจ่ายวัคซีนโควิด -19 ประชากรในกลุ่มซีกโลกใต้นั้นอาจจะได้รับการฉีดวัคซีนช้ากว่าประเทศในตะวันตก
เป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญเกี่ยวกับเรื่องวัคซีนโควิด ที่ถูกพูดถึงกันในสังคมโลกมาเป็นเวลานานแล้ว รวมถึงประเทศไทยด้วย
โดยล่าสุด นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ได้ออกมาเปิดเผยข้อมูลการเข้าร่วมโครงการโคแวกซ์ซึ่งเป็นโครงการการแจกวัคซีนอย่างเท่าเทียมของ WHO หรือองค์การอนามัยโลก ที่มีเป้าหมายแจกจ่ายวัคซีน โควิด-19 ให้กับประเทศยากจน ซึ่งประเทศในอาเซียนที่ได้รับวัคซีนฟรี ในเวลานี้ ได้แก่ กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว เมียนมา ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ส่วน ไทย บรูไน สิงคโปร์ และมาเลเซีย ไม่อยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับวัคซีนฟรี แต่หากจะเข้าร่วมโครงการต้องนำเงินไปร่วมลงขันในการจัดหาวัคซีน โควิด-19 ซึ่งไทยมีแผนร่วมจัดหาวัคซีน โควิด-19 กับโคแวกซ์ตั้งแต่ต้น และได้ส่งหนังสือแสดงเจตนารมณ์เข้าร่วมตั้งแต่ช่วงต้นของโครงการฯ โดยจัดตั้งคณะทำงานเฉพาะที่ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญทั้งด้านวิชาการ กฎหมาย การเงิน เพื่อพิจารณาเงื่อนไขการทำข้อตกลงกับโคแวกซ์ (อ้างอิงข่าวส่วนนี้จากสำนักข่าวไทยพีบีเอส)
ผลการเข้าร่วมโครงการนี้ของไทยเป็นอย่างไร คงต้องติดตามดูกันต่อไป
อย่างไรก็ดี เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักข่าว The Independent ของประเทศอังกฤษ ได้รายงานอ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์สำนักข่าวสืบสวนอิสระ หรือ The Bureau of Investigative Journalism (https://www.thebureauinvestigates.com/) ซึ่งเป็นเว็บไซต์ข่าวสืบสวน ระบุว่า ณ เวลานี้โลกกำลังเข้าสู่นโยบายการถูกแบ่งแยกด้วยวัคซีน
มีรายละเอียดดังนี้
ที่ผ่านมามีการคาดการณ์ว่าประเทศอย่างกานาจะได้รับวัคซีนในกลุ่มประชากรส่วนใหญ่โดยเร็วที่สุด คือไม่เกินปี 2566 และบางประเทศในทวีปแอฟริกอาจจะต้องรอจนถึงปี 2567 ถึงจะได้มีการฉีดวัคซีนจนครบกลุ่มประชากรส่วนใหญ่
อย่างไรก็ตาม ประเทศที่ยากจนไม่ได้ประสบปัญหาแค่ต้องรอวัคซีนเท่านั้น แต่หลายประเทศยังต้องถูกเรียกเก็บเงินวัคซีนด้วยราคาแพงกว่าประเทศอื่นๆ ด้วย อาทิ ประเทศอูกันดาได้ประกาศข้อตกลงการจัดหาวัคซีนจากบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า ด้วยราคาประมาณ 7 ดอลลาร์สหรัฐฯ(210 บาท) ต่อ 1 โดส
ในขณะที่ สหภาพยุโรปหรืออียูต้องจ่ายเงินค่าวัคซีนชนิดเดียวกันโดสละ 2.10 ดอลลาร์สหรัฐฯ (64.18 บาท) และถ้าหากรวมค่าขนส่งต่างๆด้วยแล้ว ก็หมายความว่าชาวอูกันดา 1 คนจะต้องใช้เงินในการฉีดวัคซีนถึง 17 ดอลลาร์สหรัฐฯ (510.65 บาท) ในการฉีดวัคซีน 1 โดส
นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้นักรณรงค์และนักวิทยาศาสตร์ได้ออกมาเตือนว่า โลกกำลังเข้าสู่ทิศทางของการแบ่งแยกด้วยวัคซีน โดยประชากรในกลุ่มซีกโลกใต้นั้นอาจจะได้รับการฉีดวัคซีนช้ากว่าประเทศในตะวันตก
ซึ่งผลของความไม่เท่าเทียมของวัคซีนนี้จะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยมหาวิทยาลัยนอร์ธอีสเทิร์นของประเทศอังกฤษได้บ่งชี้ให้เห็นว่า ถ้าหากวัคซีน 2 พันล้านโดสแรกถูกแจกจ่ายออกไปตามสัดส่วนของประชากรในระดับประเทศ
อัตราการเสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกจะลดลงไปประมาณ 61 เปอร์เซ็นต์
แต่ถ้าหากมีการผูกขาดวัคซีนโดย 47 ประเทศที่ร่ำรวย หมายความว่าจะลดการเสียชีวิตได้แค่ 33 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางอียูมีประเด็นโต้เถียงกับบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าในเรื่องของการจัดหาวัคซีน ซึ่งผู้นำประเทศต่างๆในอียูได้เน้นย้ำถึงคำพูดว่า “ไม่มีใครที่ปลอดภัยจนกว่าทุกคนจะปลอดภัย”
แต่ถ้าหากยังคงมีการแจกจ่ายวัคซีนอย่างไม่เท่าเทียมกันนั้นก็จะทำให้มีไวรัสโควิด-19 หลงเหลืออยู่ในพื้นที่บางแห่งของโลก และไวรัสที่หลงเหลืออยู่ที่ว่านั้นก็มีแนวโน้มที่จะเป็นไวรัสโควิดซึ่งกลายพันธุ์ใหม่ มีอัตราการระบาดที่มากขึ้น และมีความอันตรายมากกว่าเดิม
@ใครได้เร็วกว่า คนนั้นรอด
ณ เวลานี้ แต่ละประเทศได้ดำเนินการอย่างเร่งรีบเพื่อที่จะจัดหาวัคซีนให้กับประชากรของตัวเอง และก็มีอีกหลายประเทศที่ได้จัดหาวัคซีนไปแล้วเป็นจำนวนนับพันล้านโดส
ทั้งที่ ยังไม่รู้แน่ชัดเลยว่าวัคซีนใดจะมีประสิทธิภาพมากที่สุด
โดยมีข้อมูลปรากฏว่ามีการทำสัญญาจัดซื้อวัคซีนโควิดหลายชนิดจำนวนกว่า 1.27 หมื่นล้านโดสไปแล้ว ซึ่งจำนวนที่ว่ามานี้ก็เพียงพอที่จะฉีดวัคซีนให้กับประชากรจำนวนกว่า 6.6 พันล้านคน (ส่วนมากเป็นวัคซีนประเภท ฉีด 2 โดสต่อ 1 คน แต่ก็มีบางประเทศที่เริ่มจัดหาวัคซีนประเภทฉีด 1 โดสแล้ว ทั้งๆยังไม่มีการอนุมัติแต่อย่างใด)
และจำนวนครึ่งหนึ่งของของโดสวัคซีนทั้งหมดที่ว่ามานั้น ก็เป็นการจัดหาวัคซีนจำนวน 4.2 พันล้านโดส ที่พ่วงด้วยสัญญาจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมอีกจำนวน 2.5 พันล้านโดส
โดยมีผู้จัดหาก็คือประเทศร่ำรวยหลายๆประเทศ ที่มีประชากรรวมแค่ 1.2 พันล้านคนเท่านั้น
ยกตัวอย่างเช่นประเทศแคนาดาที่จัดหาวัคซีนไปแล้วคิดเป็นจำนวน 5 เท่าของประชากรของประเทศตัวเอง ขณะที่ประเทศสหรัฐอเมริกา,ประเทศอังกฤษ,อียู,ประเทศออสเตรเลีย,ประเทศนิวซีแลนด์ และประเทศชิลีก็ได้มีการทำสัญญาเพื่อหาวัคซีนในจำนวนมากกว่า 2 เท่าของจำนวนที่จะฉีดให้กับประชากรของตัวเอง และแน่นอนว่าวัคซีนบางชนิดที่มีการทำสัญญาไปนั้นก็ยังไม่ได้รับการอนุมัติแต่อย่างใด
ขณะที่ การทำสัญญาจัดซื้อวัคซีนจำนวนมากมายมหาศาลที่ว่ามานั้น ทำให้มีวัคซีนเพียงแค่ไม่กี่โดสเท่านั้นที่จะเหลือให้กับประเทศที่ยากจน จึงทำให้เกิดคำถามที่สำคัญตามมาว่าโครงการโคแวกซ์จะสามารถบรรลุเป้าหมายได้หรือไม่ โดยเฉพาะในเรื่องของการฉีดวัคซีนในพื้นที่เสี่ยงที่มีอยู่ทั่วโลก
ทำให้ประเทศที่ทั้งรายได้ต่ำและรายได้ปานกลางเลือกที่จะทำสัญญาโดยตรงไปเลยกับบริษัทยาหลายแห่ง อย่างไรก็ตาม การทำสัญญาวัคซีนโดยตรงก็ครอบคลุมแค่ 32 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น จากความต้องการวัคซีน 84 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนประชากรโลกที่มีทั้งหมด
@จะทำอย่างไรถึงจะได้วัคซีนเป็นคิวแรกๆ
1.ต้องจ่ายเงินสนับสนุนและเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของวัคซีน
ประเทศสหรัฐฯ,อียู และประเทศอังกฤษถือเป็นประเทศหลักๆที่มีการลงทุนวัคซีนจากบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าเป็นจำนวนนับพันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ประเทศเยอรมนีเองก็มีการลงทุนวัคซีนของบริษัทไฟเซอร์และบริษัทไบโอเอ็นเทคไปเป็นจำนวน 445 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (13,369,135,000 บาท) ขณะที่รัฐบาลสหรัฐฯก็มีการจ่ายเงินสนับสนุนวัคซีนของบริษัทโมเดอร์นาเกือบทั้งกระบวนการ
2.การสั่งจองล่วงหน้า
ดังที่ปรากฎข้อมูลไปแล้วว่า ทั้งสหรัฐฯ อียู และอังกฤษ ได้ซื้อวัคซีนก่อนการอนุมัติไปแล้วนับพันล้านโดส โดยประเทศเหล่านี้ไม่ใช่แค่ประเทศที่จ่ายเงินสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเท่านั้น แต่ยังเป็นประเทศที่มีการสั่งจองล่วงหน้าหรือที่เรียกว่าการพรีออเดอร์วัคซีนเป็นรายแรกๆเช่นกัน
“ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลว่าประเทศเหล่านี้จะสามารถเข้าถึงวัคซีนได้เป็นรายแรกๆด้วยเช่นกัน” นายอชาล ประภาลา นักวิเคราะห์จากโครงการ Access IBSA ซึ่งเป็นโครงการวิเคราะห์ข้อมูลจากมูลนิธิ Shuttleworth กล่าว
3.จ่ายเงินต่อโดสแพงกว่าคนอื่น
ประเทศอย่างอิสราเอลนั้นมีการจัดทำสัญญาจัดหาวัคซีนจำนวนกว่า 10 ล้านโดส รวมทั้งรวมไปถึงการจัดทำสัญญากับบริษัทไฟเซอร์ว่าจะให้มีการส่งวัคซีนอย่างไม่ขาดช่วงโดยแลกกับการส่งข้อมูลของผู้รับวัคซีน ซึ่งผลก็คือว่าประเทศอิสราเอลต้องจ่ายค่าวัคซีนไปแล้วจำนวน 30 ดอลลาร์สหรัฐฯ (901.40 บาท) ต่อวัคซีน 1 โดส ซึ่งถือว่าแพงกว่าที่อียูจ่ายถึง 2 เท่า
4.สามารถผลิตวัคซีนได้ด้วยตัวเอง
ประเทศอินเดียสามารถจัดหาวัคซีนได้เพียงพอกับจำนวนประชากร 1.4 พันล้านคน เนื่องจากประเทศอินเดียถือว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีสัดส่วนการผลิตวัคซีนสูงที่สุดในโลก โดยสถาบันเซรุ่มของอินเดียนั้นกำลังผลิตวัคซีนจากบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า และจากบริษัทโนวาแวกซ์ พร้อมด้วยการผลิตวัคซีนจากบริษัทแอสตร้าเซเนก้าในเวอร์ชั่นของประเทศอินเดียเองที่ชื่อว่าโควิชิลด์ (Covishield)
นอกจากนี้บริษัท Dr Reddy ของประเทศอินเดียเองก็มีการทำสัญญาที่จะผลิตวัคซีนสปุตนิค 5 ของรัสเซียในประเทศอินเดียเองด้วย
@การพึ่งพาโคแวกซ์
ความยากลำบากในการจัดหาวัคซีนนั้นทำให้หลายประเทศที่ยากจนต้องพึ่งพาโคแวกซ์ ที่เป็นโครงการของ WHO โดยโคแวกซ์ได้มีการตั้งเป้าเอาไว้แล้วว่าจะแจกวัคซีนจำนวน 2 พันล้านโดสทั่วโลก
แบ่งออกเป็นวัคซีนจำนวน 1.3 พันล้านโดสสำหรับประเทศรายได้ต่ำและรายได้ปานกลางจำนวน 92 ประเทศทั่วโลกภายในปี 2564 ซึ่งจะทำให้แต่ละประเทศได้รับวัคซีนเป็นจำนวนอย่างน้อย 20 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากร
โดยผู้ที่รับวัคซีนเป็นรายแรกๆนั้นจะเป็นบุคลากรทางการแพทย์ ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพ
แต่อย่างไรก็ตาม มีการวิจารณ์ว่าเป้าหมายของโคแวกซ์นั้นยังไม่เพียงพอจะรับมือกับโรคระบาด
ที่มหาวิทยาลัยดุ๊กของสหรัฐฯ ได้มีการวิเคราะห์ว่า ในปี 2564 จะมีการจัดส่งวัคซีนได้ตามแผนของโคแวกซ์ก็ต่อเมื่อสถาบันเซรุ่มของอินเดียสามารถผลิตวัคซีนทางเลือกเพิ่มเติมได้อีก 900 ล้านโดส
ซึ่งดูท่าทีว่าจะเป็นเรื่องยาก เพราะว่าขีดความสามารถของสถาบันและคำสั่งซื้ออื่นๆที่เข้ามามากขึ้นเรื่อยๆ จึงทำให้นักวิเคราะห์ของมหาวิทยาลัยได้คาดการณ์กันว่าโคแวกซ์น่าจะมีขีดความสามารถในการแจกวัคซีนในปี 2564 ได้แค่ 650-950 ล้านโดสเท่านั้น และจะต้องมีการแบ่งวัคซีนจำนวนนี้ไปให้กับประเทศต่างๆอีก 145 ประเทศทั่วโลกด้วยเช่นกัน
ข้อมูลการเข้าถึงวัคซีนของประเทศที่ร่ำรวย ประเทศรายได้ปานกลางค่อนไปทางสูง ประเทศรายได้ปานกลางค่อนไปทางต่ำ ประเทศรายได้ต่ำ และโคแวกซ์ (หน่วยเป็น 500 ล้านโดส) โดยสีแดงนั้นเป็นจำนวนวัคซีนที่มีการยืนยันว่าได้แน่นอนแล้ว และสีฟ้าเป็นจำนวนวัคซีนที่คาดว่าน่าจะได้เพิ่มเติม
อย่างไรก็ตาม มีประเด็นที่น่าสนใจก็คือบางประเทศที่อยู่ในกลุ่ม 145 ประเทศทั่วโลก ได้ทำสัญญาวัคซีนไปแล้วคิดเป็นจำนวนมากกว่าหลายเท่าของประชากรในประเทศนั้นๆเอง
“ปัญหาก็คือกลุ่มพันธมิตรวัคซีนกาวี ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการโคแวกซ์ไม่เคยต้องทำงานในสถานการณ์ที่ต้องแข่งขันกับกลุ่มประเทศที่ร่ำรวยในด้านการจัดหาวัคซีน พวกเขาไม่เคยอยู่ในสถานการณ์ที่จะต้องพยายามจัดส่งวัคซีนให้กับประเทศที่ต้องการวัคซีนเป็นอย่างยิ่ง ทั้งในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและในกลุ่มประเทศตะวันตก” นายประภาลากล่าว
อนึ่ง การทำหน้าที่ของโคแวกซ์นั้นมีความผูกพันทางข้อกฎหมายกับสถาบันเซรุ่มของประเทศอินเดียภายใต้ข้อตกลงว่าสถาบันเซรุ่มจะต้องมีการจัดส่งวัคซีนทางเลือกทั้งหมดให้กับทางโคแวกซ์ และก็จะมีการบริจาควัคซีนจากประเทศอื่นๆให้กับทางโคแวกซ์ด้วยเช่นกัน
โดยหลายประเทศที่มีการลงชื่อมีสิทธิ์ได้รับวัคซีนกับโคแวกซ์ แม้จะเป็นประเทศที่มีการทำสัญญาเพื่อจัดหาวัคซีนเป็นจำนวนเพียงพอต่อประชากรแล้วก็ตาม แต่ปัญหาความไม่แน่นอนที่จะส่งผลทำให้วัคซีนถูกจัดส่งล่าช้าก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เสมอ
ซึ่งนี่หมายความว่าประเทศที่ร่ำรวย อาทิ ประเทศแคนาดา และนิวซีแลนด์ก็มีสิทธิ์ที่จะได้รับการเข้าถึงวัคซีนจากโคแวกซ์เป็นรายแรกๆอยู่ดี
ถ้าหากประเทศร่ำรวยเหล่านี้ประสบกับความล่าช้าจากสัญญาโดยตรงกับบริษัทในด้านการจัดส่งวัคซีน และนี่ก็จะส่งผลทำให้ประเทศรายได้น้อยอื่นๆที่อยู่ในโคแวกซ์ได้รับวัคซีนล่าช้าตามไปด้วย
สถานะของประเทศต่างๆทั่วโลกที่มีต่อโครงการโคแวกซ์ โดยประเทศที่อยู่ในสีฟ้าอ่อนจะเป็นประเทศที่พันธะผูกพันว่าจะต้องมีการจ่ายเงินสนับสนุนโคแวกซ์ ส่วนประเทศสีแดงจะเป็นประเทศที่มีสิทธิ์ได้รับความช่วยเหลือด้านวัคซีนจากโคแวกซ์ ขณะที่ประเทศสีส้มเป็นกลุ่มประเทศที่มีข้อตกลงอันไม่มีผลพูกพันเรื่องการให้เงินสนับสนุนกับโคแวกซ์ และประเทศสีเทายังไม่มีความเกี่ยวข้องกับโคแวกซ์ โดย ณ เวลานี้ ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประเทศสีส้มร่วมกับประเทศคิวบา ประเทศตุรกี ประเทศเติร์กเมนิสถานและประเทศกาบอง
ขณะที่ทางโคแวกซ์ ก็ได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว The Bureau ว่า ความพยายามแจกวัคซีนทั่วโลกแบบโคแวกซ์นั้นเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แต่ถ้าหากไม่มีสิ่งที่เรียกว่าโคแวกซ์แล้ว ก็จะเกิดเหตุการณ์แบบการระบาดของไวรัส H1N1 ในปี 2552 ที่ประเทศซึ่งไม่มีความสามารถในการจ่ายเงินถูกทิ้งไว้และไม่มีวัคซีน และสำหรับการระบาดในครั้งนี้รูปแบบการได้รับวัคซีนก็คือว่าประเทศยากจนอื่นๆจะได้รับวัคซีนช้ากว่าประเทศร่ำรวยที่ได้รับไปแล้วก่อนหน้านี้ เป็นระยะเวลาอย่างน้อยก็ 1 ปี หรือมากกว่านั้น
แต่ ณ เวลานี้ถือว่าโคแวกซ์มาถูกทางแล้ว ในการทำให้ระยะเวลาการรับวัคซีนที่ต้องล่าช้ากว่าประเทศร่ำรวยลดลงเหลือแค่เพียงไม่กี่เดือนเท่านั้นเอง
โครงการสนับสนุนวัคซีนของสถาบันเซรุ่มของอินเดีย (อ้างอิงวิดีโอจาก Hindustan Times)
@หนทางที่ยุติธรรมกว่านี้
ผู้เชี่ยวชาญได้พยายามเสนอวิธีการที่แตกต่างกันออกไปเพื่อรับมือกับวิกฤติการขาดแคลนวัคซีนในครั้งนี้
โดย WHO ได้ขอให้ทางผู้ผลิตวัคซีนได้มุ่งเน้นการส่งมอบวัคซีนให้กับโคแวกซ์และเรียกร้องให้ประเทศซึ่งจัดซื้อวัคซีนมากกว่าจำนวนประชากรได้ร่วมกันบริจาคผ่านทางกลไกการรับบริจาคของตัวเอง
แต่ว่ามีประเด็นความไม่พอใจทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้นเรื่อยๆ อันเนื่องมาจากความล่าช้าในการจัดส่งวัคซีน
โดยบางประเทศ อาทิ ประเทศนอร์เวย์ ที่มีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ต่ำกว่า 600 ราย ได้ตกลงจะมีการจัดส่งวัคซีนให้ ควบคู่ไปกับการดำเนินแผนการฉีดวัคซีนในประเทศของตัวเอง
หรืออย่างที่อียูเองก็มีความพยายามที่จะบริจาควัคซีนไปให้กับุคลากรทางการแพทย์ในแอฟริกา และในบอลข่านตะวันตก ขณะที่ประเทศออสเตรเลียและประเทศนิวซีแลนด์ก็มีแผนที่จะบริจาคให้กับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือในอาเซียนและในหมู่เกาะแปซิฟิกเช่นกัน
แต่ทางด้านของนายประภาลากล่าวว่า เขาคิดว่า WHO นั้นไม่ฉลาด และนี่ไม่ใช่วิธีที่ดีเลยที่จะมาขอประเทศต่างๆให้บริจาควัคซีนส่วนเกินเข้าโคแวกซ์
“ผมคิดอย่างตรงไปตรงมาเลยนะว่านี่มันตลกมาก และไม่น่าจะได้ผลด้วยซ้ำ"
"นี่เป็นวิธีการที่ดูว่าน่าจะมีปัญหาที่สุดเท่าที่ผมเคยเห็นมาเลย ผมแค่ไม่เข้าใจว่าเมื่อทุกคน ณ เวลานี้จะทิ้งโอกาสเรื่องการมีวัคซีนที่เป็นโอกาสของตัวเองไปทำไม” นายประภาลาระบุ
เรียบเรียงจาก:https://www.independent.co.uk/news/health/coronavirus-crisis-vaccine-apartheid-b1798326.html,https://www.thebureauinvestigates.com/stories/2021-02-06/the-next-covid-crisis-a-vaccine-apartheid-endangering-us-all
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage