“...เมื่อพิจารณาจากข้อความทั้งหมดแล้ว แม้ว่าผู้คัดค้านจะบรรยายว่า องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเป็นผู้ถือหุ้นของ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด แต่มิได้มีข้อความใดที่แสดงให้เห็นชัดเจนเป็นการกล่าวหา หรือตำหนิติเตียน หรือกล่าวให้สงสัยในความสุจริตต่อพระองค์ ไม่ว่าในทางใด ๆ จึงไม่มีลักษณะชัดเจน และเห็นได้ในทางภาวะวิสัยที่แสดงว่า ข้อความนี้อาจมีผลกระทบต่อความมั่นคง ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อันจะเป็นเหตุให้ศาลสั่งระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์แต่อย่างใด…”
..............................................
พ้นพงหนามแรกไปแล้ว!
สำหรับนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ภายหลังศาลอาญา มีคำสั่งยกเลิก คำสั่งที่ระงับการเผยแพร่ไลฟ์สดการจัดซื้อวัคซีนโควิด-19 เมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2564 ที่ผ่านมา
โดยศาลเห็นว่า คำสั่งศาลฉบับแรกที่ให้ระงับการเผยแพร่ไลฟ์สดดังกล่าวนั้น พิเคราะห์ข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงโดยละเอียดแล้วเห็นว่า คลิปไลฟ์สดดังกล่าวมุ่งเน้นกล่าวหารัฐบาลในประเด็นบกพร่องการบริหารจัดการโควิด-19 ส่วนเรื่องข้อมูลผู้ถือหุ้นในบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด เป็นเพียงส่วนน้อย จึงไม่กระทบต่อความมั่นคง (อ่านประกอบ : ไม่กระทบความมั่นคง! ศาลสั่งเลิกระงับไลฟ์สด‘ธนาธร’ชี้แค่วิจารณ์ รบ.ซื้อวัคซีนโควิดฯ)
มาดูคำสั่งฉบับเต็มของศาลอาญาในคดีนี้ดูว่า รายละเอียดเป็นอย่างไร?
เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2564 ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะก้าวหน้า เผยแพร่คำสั่งศาลอาญาฉบับเต็มกรณีดังกล่าว สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
คดีนี้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า เป็นจำเลย ที่ยื่นคัดค้านคำสั่งระงับการเผยแพร่ไลฟ์สดดังกล่าว
มีประเด็นสำคัญคือ ศาลต้องพิจารณาว่ามีเหตุสมควรระงับการเผยแพร่ข้อมูลคอมพิวเตอร์เรื่องนี้หรือไม่?
คดีนี้ผู้ร้อง (กระทรวงดีอีเอส) อ้างว่า เนื้อความที่เผยแพร่เข้าข่ายเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นความผิดตามมาตรา 14 (3) แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 เป็นเหตุให้ผู้ร้องขอให้ระงับการเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวตามมาตรา 20 แห่ง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ
สำหรับข้อมูลคอมพิวเตอร์ตามคำร้อง (คลิปไลฟ์สด) มีความยาวประมาณ 30 นาที ผู้คัดค้านนำเสนอเรื่องการจัดการวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เนื้อความระบุว่า รัฐบาลประมาทไม่เร่งรีบจัดหา ทำให้การจัดหาล่าช้า จัดหาน้อยเกินไป เพราะรัฐบาลมุ่งแสวงหาความนิยมมากเกินไป ผู้คัดค้านเปรียบเทียบการจัดหาวัคซีนของมาเลเซีย ไต้หวัน และฟิลิปปินส์ มีการเร่งจัดหาวัคซีนได้รวดเร็วกว่า จัดหาหลากหลายผู้ผลิตและครอบคลุมสัดส่วนของประชากรมากกว่า ขณะที่รัฐบาลฝากความหวังไว้กับบริษัทเดียวต่างจากประเทศอื่น
ผู้คัดค้าน (นายธนาธร) นำเสนอตัวเลือกวัคซีนจากผู้ผลิตอื่น แล้วนำเสนอโครงสร้างการบริหารการจัดหาวัคซีนจากผู้ผลิตอื่น แล้วนำเสนอโครงสร้างการบริหารการจัดการวัคซีนของรัฐ มีการกล่าวถึงบริษัทเอกชนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในการผลิต และจัดซื้อวัคซีนโควิด-19 รวมถึง บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ด้วย
@ข้อมูลเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ในการถือหุ้นเป็นส่วนน้อย-ไม่ใช่ประเด็นหลัก
ศาลเห็นว่า การพิจารณาว่าข้อความใดจะเป็นข้อความที่อาจเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จะต้องพิจารณาจากข้อความทั้งหมด มิใช่พิจารณาเฉพาะตอนหนึ่งตอนใด ดังจะเห็นจากข้อความที่ผู้คัดค้านนำเสนอนั้น เนื้อหาเกือบทั้งหมดมุ่งเน้นในเรื่องการกล่าวหา รัฐบาลว่าบกพร่องในการจัดหาวัคซีน โดยมีการนำข้อมูลหลายอย่างมาสนับสนุน มีการบรรยายถึงบริษัทที่เกี่ยวข้องหลายบริษัท รวมทั้งกล่าวถึงผู้ถือหุ้นของบริษัทนั้นด้วย ข้อมูลที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ ที่ระบุเกี่ยวกับการถือหุ้น เป็นเพียงข้อมูลส่วนน้อยและไม่ใช่ประเด็นหลักของการนำเสนอ
@เป็นข้อเท็จจริง มิได้ทำให้พระองค์เสื่อมเสีย
เมื่อพิจารณาถึงข้อความที่กล่าวถึงพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะเจาะจง สองช่วงสั้น ๆ คือนาทีที่ 15.05 และนาทีที่ 28.10 นั้น ในส่วนแรกเป็นการกล่าวถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า เป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดของบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ข้อความนี้ผู้คัดค้านนำสืบบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น ซึ่งเป็นเอกสารราชการ และผู้ร้องไม่ได้คัดค้าน จึงฟังว่าเป็นความจริงข้อเท็จจริงเพียงว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวถือหุ้นบริษัทดังกล่าว มิได้ทำให้พระองค์เสื่อมเสีย ถูกดูหมิ่นหรือเกลียดชัง หรือไม่เป็นที่เคารพสักการะแต่อย่างใด
สำหรับในส่วนที่สอง ระบุว่า “ทั้งหมดมันนำมาซึ่งคำถามสุดท้ายว่า ผู้ถือหุ้นของสยามไบโอไซเอนซ์ จำกัดคือในหลวงรัชกาลที่ 10 ถือหุ้นโดยตรง คุณประยุทธ์ในฐานะนายกรัฐมนตรีอนุมัติดีลอย่างนี้ขึ้น ถ้าดีลอย่างนี้มีอะไรผิดพลาด คุณประยุทธ์จะสามารถรับผิดชอบได้หรือไม่ ถ้าเกิดวัคซีนผลิตได้ช้ากว่ากำหนดเวลา ถ้าเกิดว่าการผลิตวัคซีนมีปัญหาในการแจกจ่ายกับประชาชนอย่างไม่เป็นธรรม ถ้าเกิดว่าประชาชนเกิดอาการแพ้วัคซีน หรือวัคซีนไม่ได้ประสิทธิภาพตามเป้าหมาย คุณประยุทธ์จะรับผิดชอบไหวหรือไม่ เพราะประชาชนจะตั้งคำถามกับบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด มีผู้ถือหุ้นคือในหลวงรัชกาลที่ 10”
ศาลเห็นว่า ข้อความนี้ไม่อาจแปลตามความลำพังแยกขาดจากเนื้อความส่วนใหญ่ได้ ส่วนนี้เป็นส่วนเสริมจากข้อมูลส่วนใหญ่ของการนำเสนอที่กล่าวหารัฐบาลว่าผิดพลาดในการให้วัคซีนเกือบทั้งหมดถูกผลิตในบริษัทเดียว การกล่าวอ้างถึงคำถามต่อประชาชนต่อสยามไบโอไซเอนซ์ อาจกระทบต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น ไม่ได้มีลักษณะเป็นการชักชวนให้ประชาชนกล่าวโทษพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่โดยลักษณะของข้อความที่สืบเนื่องกันมามีลักษณะเป็นการกล่าวหาว่า การกระทำของรัฐบาลจะกระทบถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อให้คนฟังรู้สึกว่า ความบกพร่องของรัฐบาลเป็นเรื่องร้ายแรง ด้วยลักษณะของการนำพระมหากษัตริย์มาอ้างเพื่อให้รัฐบาลรับผิดชอบมากขึ้น จึงไม่ได้มีการกล่าวถึงกรรมการผู้จัดการของบริษัท เพราะไม่ได้มุ่งเน้นความรับผิดชอบของบริษัทแต่อย่างใด
@ควรแปลในเชิงภาวะวิสัย ไม่นำแนวทางการเมือง‘ธนาธร’มาพิจารณา
ทั้งนี้ ดังที่กล่าวไว้แล้ว การแปลข้อความที่กล่าวไปว่าอาจกระทบต่อความมั่นคงอันอาจเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จนเป็นเหตุให้ระงับการแพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์นี้ เป็นการแปลความในเชิงภาวะวิสัย กล่าวคือ ตามความหมายเท่าที่ปรากฏตามตัวอักษรทั้งหมด ไม่พึงนำข้อมูลเฉพาะตัวของผู้คัดค้านซึ่งรวมถึงประวัติหรือแนวทางทางการเมืองมาพิจารณา เพราะคดีนี้มิใช่การพิจารณาความผิดของผู้คัดค้าน และจักต้องพิจารณาอย่างเคร่งครัด หรือข้อความที่สมควรถูกห้ามนั้นต้องมีความชัดแจ้งที่จะเป็นความผิด
@ไม่สามารถเห็นได้กระจ่างชัดว่าผู้ฟังรู้สึกดูหมิ่นเกลียดชังองค์พระมหากษัตริย์
เมื่อพิจารณาแต่เฉพาะถ้อยคำตามตัวอักษร ข้อความที่ผู้คัดค้านกล่าวสืบเนื่องมาทั้งหมดของเรื่องยังไม่สามารถเห็นได้อย่างกระจ่างชัดว่า จะทำให้ผู้ฟังรู้สึกดูหมิ่นเกลียดชังองค์พระมหากษัตริย์แต่อย่างใด
นอกจากนี้ในส่วนการนำเสนอของผู้คัดค้าน ยังมีข้อความหัวเรื่องว่า “วัคซีนพระราชทาน ใครได้ ใครเสีย” อาจเป็นเนื้อความประกอบนั้น เรื่องนี้ผู้คัดค้านอ้างว่า เป็นคำพูดที่นายกรัฐมนตรีเคยพูดทำนองนี้ และหน่วยงานของรัฐบาลเคยใช้คำนี้ ข้อเท็จจริงในส่วนนี้ผู้ร้องมิได้โต้แย้งข้อเท็จจริง จึงฟังข้อเท็จจริงได้ตามที่ผู้คัดค้านนำสืบ แม้ว่าถ้อยคำอาจไม่ตรงกันทั้งหมด แต่น่าจะแสดงว่าก่อนหน้านี้รัฐบาลมีการใช้ถ้อยคำที่แสดงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประกอบการจัดหาวัคซีนแล้ว การที่ผู้คัดค้านนำข้อความดังกล่าวมานำเสนอจึงมิใช่ความเท็จ และลำพังข้อความดังกล่าวหากมิใช่ความเท็จ ก็ไม่ทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อพระองค์ จึงไม่ใช่การใส่ความ
@ไม่เข้าข่ายกระทบความมั่นคงตาม ม.112-ยกคำร้อง
เมื่อพิจารณาจากข้อความทั้งหมดแล้ว แม้ว่าผู้คัดค้านจะบรรยายว่า องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเป็นผู้ถือหุ้นของ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด แต่มิได้มีข้อความใดที่แสดงให้เห็นชัดเจนเป็นการกล่าวหา หรือตำหนิติเตียน หรือกล่าวให้สงสัยในความสุจริตต่อพระองค์ ไม่ว่าในทางใด ๆ จึงไม่มีลักษณะชัดเจน และเห็นได้ในทางภาวะวิสัยที่แสดงว่า ข้อความนี้อาจมีผลกระทบต่อความมั่นคง ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อันจะเป็นเหตุให้ศาลสั่งระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์แต่อย่างใด
อาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 วรรคหนึ่งให้เพิกถอนกระบวนการพิจารณาตั้งแต่การไต่สวน และมีคำสั่งของศาล ย่อมมีผลให้คำสั่งศาลในวันที่ 29 ม.ค. 2564 เป็นอันสิ้นผล และมีคำสั่งยกคำร้อง
อ่านประกอบ :
ไม่กระทบความมั่นคง! ศาลสั่งเลิกระงับไลฟ์สด‘ธนาธร’ชี้แค่วิจารณ์ รบ.ซื้อวัคซีนโควิดฯ
ชี้นำ ปชช.ตั้งคำถามกับสถาบันฯ! ‘ธนาธร-ดีอีเอส’เบิกความคดีไลฟ์สดวัคซีน-ฟังคำสั่ง 8 ก.พ.
กระเทือนความมั่นคง! ศาลสั่งลบไลฟ์สด‘ธนาธร’ปมวัคซีนโควิดฯทุกช่องทางของ‘คณะก้าวหน้า’
‘ธนาธร’ถึง‘พล.อ.ประยุทธ์’: หยุดบิดเบือนความผิดพลาดด้วยการอ้างสถาบันฯ
‘ธนาธร’จี้ รบ.เปิด 3 หลักฐานสำคัญจัดซื้อวัคซีนโควิดฯ หลังถูกแจ้ง บก.ปอท.เอาผิด ม.112
บิดเบือนทุกเรื่อง!'บิ๊กตู่'สวน'ธนาธร'โยงนำเข้าวัคซีนกับ'สยามไบโอไซเอนซ์'
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage