"...เหตุการณ์ดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่าการมีกิจกรรมภายนอกบ้านสามารถส่งผ่านไปยังบุคคลที่อยู่ภายในบ้านได้ เนื่องจากบุคคลที่บ้านมักคิดว่าอยู่ด้วยกันมักไม่มีความเสี่ยง จึงไม่เน้นการเว้นระยะห่างหรือสวมหน้ากากอนามัย ซึ่งในความเป็นจริงนั้นแต่ละคนไม่ได้อยู่ด้วยกันตลอดเวลา เมื่อไปมีกิจกรรมนอกบ้าน ไปร่วมโต๊ะแชร์ ไปร่วมรับประทานอาหารจะรับเชื้อมา แล้วก็นำมาแพร่..."
..................................................................................
‘งานเลี้ยงโต๊ะแชร์’ ที่ จ.มหาสารคาม กลายเป็นกลุ่มคลัสเตอร์ใหม่ที่ถูกจับตามองในขณะนี้
หลังจากช่วง 2 วันที่ผ่านมา พบผู้ป่วยโควิด รวม 16 คน และมีคนใกล้ชิด – คนในครอบครัว ที่ตกเป็นกลุ่มสัมผัสเสี่ยงอีกกว่า 110 ราย แบ่งเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 78 ราย และเสี่ยงต่ำ 32 ราย
โดยการแถลงสถานการณ์โควิด ของกระทรวงสาธารณสุข ประจำวันที่ 1 ก.พ.2564 ให้ข้อมูลเรื่องนี้ไว้อย่างน่าสนใจ
นพ.เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทน ผอ.กองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กล่าวว่า การติดเชื้อของกลุ่มคลัสเตอร์ใหม่ ที่เกิดจาก ‘งานเลี้ยงโต๊ะแชร์’ จ.มหาสารคาม อาจจะมีต้นเหตุมาจากผู้ป่วยรายที่ 2 ในเหตุการณ์นี้ เนื่องจากมีประวัติเดินทางไป กทม.ในช่วงปลายเดือน ธ.ค.2563 ต่อเนื่อง ม.ค.2564
ผู้ป่วยรายนี้ เป็นชาย อายุ 46 ปี ประกอบอาชีพธุรกิจส่วนตัวเปิดร้านคอมพิวเตอร์ ซึ่งการใช้ชีวิตประจำโดยปกติ ไม่สวมหน้ากากอนามัย ยกเว้นเมื่อต้องพบเจอกับลูกค้า
สำหรับไทม์ไลน์ของผู้ป่วยโควิดรายนี้ เดินทางเข้าพื้นที่ กทม.เมื่อปลายปี 2563 และเดินทางกลับภูมิลำเนา คือ มหาสารคาม โดยใช้รถยนต์ส่วนตัว เมื่อวันที่ 3 ม.ค.2564
ระหว่างทางแวะรับประทานอาหารร่วมกับแม่ และญาติที่นครราชสีมา ทำให้มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 8 ราย
(ข่าวประกอบ : ป่วยโควิด 836'งานเลี้ยงโต๊ะแชร์'มหาสารคามทำเสี่ยงสูงร้อยราย-เด็ก 4 เดือนติดด้วย)
ต่อมาในวันที่ 4-9 ม.ค.2564 ผู้ป่วยคนดังกล่าวซึ่งเปิดร้านคอมพิวเตอร์ที่มหาสารคาม มีประวัติเดินทางไปร้านข้าวต้ม ร้านสะดวกซื้อ แต่สวมหน้ากากอนามัยตลอด
10 ม.ค.2564 เริ่มมีอาการไข้เล็กน้อย ดังนั้นคาดว่า เชื้อโควิดอยู่ในระยะฟักตัว ช่วงวันที่ 3-10 ม.ค.2564
หลังจากนั้น พบประวัติเดินสายร่วมงานเลี้ยงที่จัดขึ้นในลักษณะ ‘งานเลี้ยงโต๊ะแชร์’ รวมทั้งหมด 6 งาน ประกอบด้วย วันที่ 11 , 12 , 14 , 14 , 17 และ 18 ม.ค.2564
กระทั่งวันที่ 23 และ 25 ม.ค.2564 เดินทางไปพบแพทย์ และเข้ารับการรักษาภายในโรงพยาบาลมหาสารคามในวันที่ 27 ม.ค.2564 จากกรณีดังกล่าวทำให้มีกลุ่มสัมผัสเสี่ยง 110 ราย
“ช่วงที่ผ่านมา กทม.เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด ความเสี่ยงจากการเข้ามาในพื้นที่ จึงเป็นจุดที่ยังตั้งข้อสงสัยว่าเป็นพื้นที่ในการรับเชื้อ อย่างไรก็ตามการเดินทางกลับด้วยรถยนต์ส่วนตัว เป็นการไม่สร้างความเสี่ยงให้กับการเดินทางด้วยรถสาธารณะแต่อย่างใด” นพ.เฉวตสรร กล่าว
นพ.เฉวตสรร ฉายภาพการแพร่กระจายเชื้อโควิดจากผู้ป่วยรายนี้ เมื่อเดินทางไปร่วมงานเลี้ยง 1 แห่ง พบว่าผู้สัมผัสเสี่ยงสูงใน ‘กลุ่มงานเลี้ยงโต๊ะแชร์’ จำนวน 11 ราย
ระหว่างที่มีการรับประทานอาหาร อาจมีการพูดคุยกัน และหัวเราะกันเสียงดัง ทำให้มีโอกาสหรือความเสี่ยงสูงในการแพร่กระจายเชื้อ ซึ่งมี 7 รายจาก 11 ราย ที่เมื่อเดินทางกลับบ้าน เกิดการแพร่เชื้อให้คนในครอบครัวที่ส่วนใหญ่เป็นภรรยาและบุตร ขณะเดียวกันคนในครอบครัวได้นำเชื้อไปแพร่อื่นในพื้นที่อื่น ทำให้กลุ่มผู้สัมเสี่ยงกรณีดังกล่าวสูงกว่า 100 ราย
"เหตุการณ์ดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่าการมีกิจกรรมภายนอกบ้านสามารถส่งผ่านไปยังบุคคลที่อยู่ภายในบ้านได้ เนื่องจากบุคคลที่บ้านมักคิดว่าอยู่ด้วยกันไม่มีความเสี่ยง จึงไม่เน้นการเว้นระยะห่างหรือสวมหน้ากากอนามัย ซึ่งในความเป็นจริงนั้นแต่ละคนไม่ได้อยู่ด้วยกันตลอดเวลา เมื่อไปมีกิจกรรมนอกบ้าน ไปร่วมโต๊ะแชร์ ไปร่วมรับประทานอาหารจะรับเชื้อมา แล้วก็นำมาแพร่" นพ.เฉวตสรร กล่าว
นพ.เฉวตสรร กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า ในช่วงเวลานี้หากเป็นไปได้ควรหลีกเลี่ยงการจัดงานเลี้ยงไม่ว่าจะกรณีใดๆ ออกไปก่อน เนื่องจากบรรยากาศภายในงานอาจทำให้เกิดการแพร่เชื้อได้ จากกรณีนี้ที่เกิดแพร่เชื้อในร้านอาหารที่เปิด-ปิดตามเวลาที่กำหนด ทั้งนี้เมื่อเริ่มมาตรการผ่อนคลายแล้ว มีการอนุญาตให้ดื่มสุราภายในร้านได้ ซึ่งสุราอาจทำให้ลดการป้องกันลง ดังนั้นหากเป็นไปได้จึงอยากให้เลื่อนการจัดงานเลี้ยงออกไปก่อน เพื่อให้สถานการณ์ทั้งหมดคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น
“ช่วงกลางเดือนจะมีการฉีดวัคซีนอยู่แล้วในพื้นที่ที่มีความเสี่ยง อย่างไรก็ตามส่วนพื้นที่อื่นๆ ก็มีวัคซีนเช่นเดียวกัน แต่เป็นมาตรการป้องกันโรค คือให้เว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือ และสแกนหมอชนะและไทยชนะ” นพ.เฉวตสรร กล่าว
ขณะที่กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เขียนแนวทางปฏิบัติเพื่อการป้องกันการระบาดของโควิด สำหรับการจัดกิจกรรมที่มีการรวมตัวกัน โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วนดังนี้
1.การประเมินความเสี่ยงของการจัดกิจกรรม ให้พิจารณาเลือกสถานที่ในการจัดงานที่มีความปลอดภัยในช่วงเวลา 14 วันก่อนจะใช้บริการว่า เคยมีประวัติการพบผู้ป่วยโควิดหรือไม่ และให้ปฏิบัติตามมาตราการตามพื้นที่เฝ้าระวัง ซึ่งควรปรึกษาคณะกรรมการโรคติดต่อก่อน
2.แนวทางปฏิบัติสำหรับผู้จัดกิจกรรม ให้มีระบบการคัดกรองผู้เข้าร่วมกิจกรรม กำหนดให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา จัดให้มีอุปกรณ์ป้องกันตนเองสำหรับเจ้าหน้าที่หรือพนักงานภายในร้าน จัดให้มีเจลแอลกอฮอล์สำหรับทำความสะอาดมือ จัดให้มีการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลอย่างน้อย 1 เมตร จำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมไม่ให้แออัด ปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดกิจกรรมแบบนอกอาคารและกระชับเวลาการจัดกิจกรรมให้สั้นที่สุด จัดให้มีจุดยืน-นั่งกันอย่างชัดเจน กำหนดตารางานการเข้าใช้งานพื้นที่ ทางเข้า และเส้นทางการขนส่งสินค้า กรณีการจัดการในสถานที่เดียวกันต้องมีมาตราการกั้นแยกแต่ละกลุ่มเป็นสัดส่วน จัดเลี้ยงอาหารแบบชุดเดียวหรือแบบกล่อง ทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสร่วม และมีมาตราการติดตามข้อมูลของผู้เข้าร่วมกิจกรรม เช่น การใช้แอปพลิเคชันหมอชนะ-ไทยชนะ และสมุดลงทะเบียน
3.แนวทางปฏิบัติสำหรับผู้เข้าร่วมกิจกรรม ให้สังเกตอาการตนเองอย่างสม่ำเสมอ หากเพิ่งเดินทางกลับจากพื้นที่เสี่ยงในช่วง 14 วัน หรือมีอาการไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ ลิ้นไม่รับรส จมูกไม่ได้กลิ่น หายใจเหนื่อย หรือหายใจลำบากให้งดการร่วมกิจกรรมและพบแพทย์ทันที
ขณะเดียวกันให้สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างระหว่างบุคคลอย่างน้อย 1 เมตร ลดการพูดคุย ตะโกน หรือเสียงดังขณะทำกิจกรรม และล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์บ่อยๆทั้งก่อนและหลังใช้บริการ
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage