"...คุณต้องเข้าใจเสียก่อนว่าเมียนมานั้นมองบทบาทในประเทศตัวเองไว้อย่างไร สื่อต่างประเทศชอบเปรียบเปรยว่านางอองซานซูจีเป็นแม่ของประเทศ ขณะที่กองทัพก็มองตัวเองว่าเป็นพ่อของประเทศ ผลก็คือความรู้สึกถึงความผูกพันและการให้สิทธิ์ต่างๆ เมื่อมาถึงประเด็นในด้านการปกครองประเทศ และตลอดหลายปีที่ผ่านมานั้น ประเทศนี้ก็เริ่มที่จะเปิดประตูต้อนรับการค้าจากต่างประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ แต่อย่างไรก็ตาม มันกลับไม่ได้เป็นเหมือนดั่งที่เห็น..."
.....................
สืบเนื่องจากเกิดข่าวการรัฐประหารในประเทศเมียนมา ซึ่งมีการควบคุมตัวสมาชิกพรรคเอ็นแอลดีหลายราย รวมไปถึงนางอองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ ในช่วงเช้าวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา โดยกองทัพเมียนมา อ้างเหตุผลการยึดอำนาจว่า มีฉ้อโกงการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2563 พร้อมประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วประเทศเป็นเวลา 1 ปี และแต่งตั้ง พล.อ. มิน ส่วย รองประธานาธิบดี พันธมิตรคนสำคัญของ พล.อ.อาวุโส ตาน ฉ่วย อดีตผู้นำรัฐบาลเผด็จการทหารเมียนมา เป็นประธานาธิบดีชั่วคราว
กรณีดังกล่าวสร้างความสนใจให้กับทั่วโลก โดยเฉพาะเหตุผลที่แท้จริงของการทำรัฐประหารครั้งนี้ ว่ามีที่ไปที่มาอย่างไร?
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ประมวลสรุปรายงานข่าวจากสื่อต่างประเทศ มานำเสนอ ณ ที่นี้
@บทบาทของกองทัพกับการเมืองเมียนมา
กองทัพเมียนมามีบทบาทในการปกครองประเทศมายาวนานถึง 50 ปี นับตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อปี 2505 โดยกองทัพเมียนมามักจะมองบทบาทตัวเองว่าเป็นผู้ที่รักษาความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของประเทศมาโดยตลอด
ทั้งนี้ ในเวลาต่อมากองทัพเมียนมาก็ได้มีส่วนร่วมออกแบบรัฐธรรมนูญในปี 2551 โดยรายละเอียดของรัฐธรรมนูญได้ระบุบทบาทของกองทัพในการเมืองเมียนมาเอาไว้ว่า จะสามารถแต่งตั้งสมาชิกรัฐสภาจำนวนร้อยละ 25 และสามารถแต่งตั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม,รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงชายแดนด้วย ซึ่งเหตุผลที่ต้องมีการกำหนดองค์ประกอบเช่นนั้นก็เพื่อที่จะสร้างความมั่นคงในทางการเมือง
อย่างไรก็ตาม ด้วยรัฐธรรมนูญที่มีลักษณะดังกล่าว จึงทำให้โครงสร้างทางการเมืองของเมียนมามีลักษณะที่แปลกประหลาดก็คือพรรคเอ็นแอลดีที่ชนะการเลือกตั้งจะต้องแบ่งอำนาจให้กับกองทัพเมียน มาปกครองประเทศด้วยเช่นกัน
ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ผู้นำพรรคระดับสูงรวมไปถึงนางอองซานซูจีต่างก็ถูกดำเนินคดีจากอดีตเผด็จการทหาร
จนกระทั่งพรรคเอ็นแอลดีได้รับการเลือกตั้งในปี 2558 ซึ่งถือว่าเป็นการเลือกตั้งที่มีความเป็นอิสระและมีความยุติธรรมมากที่สุดครั้งหนึ่งในรอบ 25 ปี ของประเทศเมียนมา และในวันที่ 1 ก.พ. 2564 ก็ควรจะเป็นวันแรกในสมัยที่ 2 ของการบริหารประเทศของพรรคเอ็นแอลดี
แต่อย่างไรก็ตาม กองทัพเมียนมายังคงมีบทบาทหลังฉากค่อนข้างแน่นแฟ้นเนื่องจากลักษณะของรัฐธรรมนูญที่ออกแบบไว้ดังกล่าว และยังสามารถเข้าควบคุมกระทรวงที่มีอำนาจมากที่สุดของประเทศได้ด้วย
@ข้อกล่าวหาแบบทรัมป์เปียนว่ามีการฉ้อโกงการเลือกตั้ง
การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 8 พ.ย.ที่ผ่านมานั้น พรรคเอ็นแอลดี สามารถเอาชนะการเลือกตั้งไปได้มากถึง 80 เปอร์เซ็นต์ของคะแนนเสียงทั้งหมด
แม้ว่า พรรคจะต้องเผชิญกับข้อกล่าวหาสนับสนุนการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮีนจาในประเทศก็ตามที โดยหลังจากการเลือกตั้ง พรรคฝ่ายค้านที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพก็เริ่มการกล่าวหาว่ามีการฉ้อโกงการเลือกตั้ง
จากกระทั่งในวันที่ 1 ก.พ. พล.อ.มิ้นต์ส่วย อดีตรองประธานาธิบดี ที่ได้ขึ้นเป็นรักษาการประธานาธิบดีเมียนมาในช่วงเวลาที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินนาน 1 ปี ก็ได้ออกมาย้ำประเด็นการฉ้อโกงการเลือกตั้ง
โดยระบุว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งของเมียนมาหรือที่เรียกว่า UEC ล้มเหลวในการจัดการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 8 พ.ย. เนื่องจากไม่สามารถจัดการกับข้อผิดปกติในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงได้
พล.อ.มิ้นต์ส่วย อดีตรองประธานาธิบดีที่ได้ขึ้นเป็นรักษาการประธานาธิบดีเมียนมา (อ้างอิงรูปภาพจาก https://www.mdn.gov.mm/index.php/en/vice-president-u-myint-swe-attends-climate-change-meeting-online)
แต่เหตุผลดังกล่าว ก็มีหลักฐานน้อยมากที่จะสนับสนุนข้อกล่าวหานี้
"เห็นได้ชัดว่าอองซานซูจีได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งสะท้อนเสียงของประชาชน ข้อกล่าวหาเรื่องการทุจริตการเลือกตั้งที่ว่ามานั้น มันค่อนข้างทรัมป์เปียน* หรือก็คือข้อกล่าวหาทั้งหมดของการฉ้อโกงที่ไม่มีหลักฐาน"" นายฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อํานวยการฮิวแมนไรท์วอทช์ (HRW) ในเอเชีย ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบีบีซี
นายโรเบิร์ตสัน ยังกล่าวด้วยว่า เขาไม่มีคำอธิบายที่จะพูดได้เกี่ยวกับการยึดอำนาจในครั้งนี้ การเลือกตั้งในครั้งนี้หมายความว่ากองทัพจะเสียอำนาจไปหรือไม่ ความจริงแล้วก็ไม่แต่อย่างใด
*หมายเหตุ:คำว่าทรัมป์เปียน (Trumpian) เป็นศัพท์แสลงทางการเมืองของต่างประเทศ เป็นคำวิจารณ์ที่มีความหมายว่าพฤติกรรมทางการเมือง และนโยบายต่างๆที่มีลักษณะเหมือนการดำเนินงานของนายโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา
@ความอับอายของบิดาแห่งชาติ
การลงคะแนนเสียงในเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา พรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (USDP) แม้จะได้รับชัยชนะเพียงแค่เล็กน้อยเท่านั้น แต่ทว่ากองทัพก็ยังคงครอบครองอำนาจเหนือรัฐบาล เพราะเนื่องจากรัฐธรรมนูญปี 2551 ที่ได้กำหนดบทบาทของทหารเอาไว้ให้สามารถแต่งตั้งสมาชิกรัฐสภาและรัฐมนตรีกระทรวงสำคัญต่างๆเอาไว้ ดังนั้นถ้าหากรัฐธรรมนูญยังคงมีองค์ประกอบเช่นเดิมแล้ว กองทัพก็ยังจะคงมีบทบาทอยู่บ้าง
ที่ผ่านมาจึงมีการตั้งคำถามสำคัญว่าพรรคเอ็นแอลดีที่ชนะการเลือกตั้งเป็นจำนวนมากจะสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้หรือไม่
ทางด้านของนายโจนาธาน เฮดส์ ผู้สื่อข่าวบีบีซีประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ระบุว่า ไม่น่าที่จะเป็นไปได้ เพราะว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นมีความจำเป็นต้องให้ได้คะแนนเสียงถึง 75 เปอร์เซ็นต์ของรัฐสภา
ในขณะที่กองทัพเมียนมาก็มีสัดส่วนในรัฐสภาไปแล้วถึง 25 เปอร์เซ็นต์
ผลการเลือกตั้งประเทศเมียนมาเมื่อเดือน พ.ย. 2563 (อ้างอิงรูปภาพจาก Myanmar Times)
ขณะที่นาง Aye Min Thant อดีตผู้สื่อข่าวและอาจารย์สอนทางด้านเทคโนโลยีได้ให้ความเห็นว่า เหตุผลหนึ่งของการยึดอำนาจนั้นก็อาจเป็นเพราะว่ากองทัพเมียนมารู้สึกเสียหน้าและอับอาย
“พวกเขาไม่ได้คาดคิดว่าจะแพ้ ประชาชนหลายคนซึ่งมีครอบครัวเป็นทหารอยู่ในกองทัพ กลับมีการลงคะแนนเสียงต่อต้านกองทัพเสียเอง แต่แน่นอนมันมีเรื่องมากกว่านี้อีก” นาง Aye Min Thant ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบีบีซีในเมืองย่างกุ้ง
อดีตผู้สื่อข่าวกล่าวต่อไปว่า “คุณต้องเข้าใจเสียก่อนว่าเมียนมานั้นมองบทบาทในประเทศตัวเองไว้อย่างไร สื่อต่างประเทศชอบเปรียบเปรยว่านางอองซานซูจีเป็นแม่ของประเทศ ขณะที่กองทัพก็มองตัวเองว่าเป็นพ่อของประเทศ ผลก็คือความรู้สึกถึงความผูกพันและการให้สิทธิ์ต่างๆ เมื่อมาถึงประเด็นในด้านการปกครองประเทศ และตลอดหลายปีที่ผ่านมานั้น ประเทศนี้ก็เริ่มที่จะเปิดประตูต้อนรับการค้าจากต่างประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ แต่อย่างไรก็ตาม มันกลับไม่ได้เป็นเหมือนดั่งที่เห็น”
นาง Aye Min Thant กล่าวต่อไปว่า กองทัพเมียนมายังคงมองว่าบุคคลภายนอกเป็นสิ่งที่อันตรายเสมอ นับตั้งแต่การระบาดของไวรัสโควิด-19 ประเด็นเรื่องนานาชาติที่แสดงความเป็นห่วงกรณีชาวโรฮีนจาที่ถูกเพิกถอนสิทธิพลเมือง รวมไปถึงการเลือกตั้งในช่วงเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้กองทัพกล้าที่จะออกมามีพฤติกรรมแบบนี้ แต่อย่างไรก็ตาม การยึดอำนาจนั้นก็ยังคงเป็นเรื่องที่แปลกใจสำหรับเธออยู่ดี
@อนาคตจะเป็นอย่างไร
แน่นอนว่าผู้เชี่ยวชาญหลายคนยังมีความสงสัยและไม่มั่นใจว่าทำไมกองทัพเมียนมาถึงได้ดำเนินการยึดอำนาจ ณ เวลานี้
ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้ มีการประเมินว่ามีโอกาสการยึดอำนาจที่น้อยมาก
“ต้องตระหนักไว้อย่างหนึ่งว่าภายใต้ระบบที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้นั้นได้มอบประโยชน์อันมหาศาลให้กับกองทัพ โดยกองทัพนั้นมีทั้งความเป็นอิสระในสายการบังคับบัญชา ผลประโยชน์จากการลงทุนขนาดใหญ่จากต่างชาติ และการคุ้มครองจากรัฐบาลพลเรือน ในข้อหาอาชญากรรมสงคราม”นายเจอร์ราด แมคคาธีย์ ศาสตราจารย์สถาบันการวิจัยเอเชีย มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ให้สัมภาษณ์กับทางสำนักข่าวบีบีซี
นายแมคคาธีย์ กล่าวอีกว่า การถือครองอำนาจต่อไปอีก 1 ปี ตามที่ได้มีการประกาศเอาไว้นั้นจะเป็นการแบ่งแยกกลุ่มทุนจากต่างประเทศที่ไม่ได้มาจากประเทศจีนออกไป ทำร้ายผลประโยชน์ทางธุรกิจการค้าของกองทัพ และจะเป็นการปลุกระดมให้เกิดการต่อต้านจากมวลชนเป็นล้านๆคนที่ลงคะแนนเสียงเลือกนางซูจีและพรรคเอ็นแอลดีให้เป็นรัฐบาลอีกสมัยหนึ่ง
ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ประการหนึ่งว่าการยึดอำนาจนั้นอาจจะเพื่อต้องการที่จะปรับปรุงภาพพจน์และจุดยืนของพรรค USDP สำหรับการเลือกตั้งในอนาคตต่อไป แต่อย่างไรก็ตาม ก็มีความเสี่ยงอันมีนัยยะสำคัญ จากการเดินหมากในลักษณะแบบนี้
ขณะที่นายฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อํานวยการฮิวแมนไรท์วอทช์ (HRW) ได้กล่าวว่าการเดินเกมแบบนี้ของกองทัพนั้นจะก้าวย่างที่อันตรายที่จะทำให้รัฐบาลเมียนมากลับไปสู่ความเป็นรัฐที่ไม่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติอีกครั้งหนึ่ง และทำให้ชาวเมียนมาจำนวนมากรู้สึกโกรธแค้น
“ผมไม่คิดว่าชาวเมียนมาจะมองผ่านเรื่องนี้ไปได้ พวกเขาไม่ต้องการที่จะมีอนาคตภายใต้ระบอบการปกครองของทหารอีกแล้ว พวกเขามองว่านางซูจีนั้นเป็นเสมือนขวากหนามอันสำคัญที่จะต่อต้านอำนาจทหาร” นายโรเบิร์ตสันกล่าว
รองผู้อำนวยการ HRW กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า หนทางที่จะแก้ไขเรื่องนี้ได้ดีที่สุดก็คือผ่านการเจรจาเท่านั้น
แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าหากมีการประท้วงครั้งใหญ่ตามมาอีกไม่นานหลังจากนี้ แน่นอนว่าประเทศเมียนมาก็จะไปสู่สภาวะวิกฤติครั้งใหญ่เหมือนดังที่เคยเป็นมา
เรียบเรียงจาก:https://www.bbc.com/news/world-asia-55882938,https://www.reuters.com/article/us-myanmar-politics-min-aung-hlaing-expl-idUSKBN2A119W
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage