"...สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับความคืบหน้าในด้านการปราบปรามการทุจริตของพม่า ก็คือว่า ในปีที่ผ่านๆมานั้นมีการสืบสวนและสอบสวนเจ้าหน้าที่ระดับสูงหลายราย รวมไปถึงการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายและสถาบันต่างๆในประเทศ ซึ่งจุดนี้นั้นแสดงให้เห็นเด่นชัดว่าฝ่ายการเมืองมีความมุ่งมั่นอย่างจริงจังว่าจะดำเนินการปราบปรามการทุจริต มีรายงานล่าสุดจาก Global Corruption Barometer ซึ่งเป็นหน่วยงานวัดการทุจริตพบว่ามีประชาชนพม่าจำนวนมากคิดว่ารัฐบาลสามารถทำหน้าที่ได้ดีในการปราบปรามการทุจริต และเชื่อว่าแม้แต่บุคคลธรรมดาก็สามารถจะสร้างความเปลี่ยนแปลงในการต่อสู้กับการทุจริตได้..."
....................
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2564 ที่ผ่านมา องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) ได้ประกาศ ค่าคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index - CPI) ค.ศ. 2020 (พ.ศ. 2563) ปรากฏว่า ประเทศไทย ได้อันดับที่ 104 จาก 180 ประเทศทั่วโลก ตกลงมา 3 อันดับ (ได้อันดับ 101 เมื่อ ค.ศ. 2019) โดยมีคะแนน 36 คะแนน จาก 100 คะแนน (เท่ากับ ค.ศ. 2019 และ ค.ศ. 2018) ส่วนอันดับในอาเซียน ไทยอยู่ที่ 5 เท่ากับประเทศเวียดนาม
สำหรับประเทศไทยได้ 36 คะแนนมา 3 ปีติดต่อกัน ตั้งแต่ปี 2561-2563 โดยเบื้องหลังไทยตก 3 อันดับ เหตุมีปัญหารับให้สินบนทั้งบ่อนพนัน-แรงงานลักลอบเข้าเมือง (อ่านประกอบ : เบื้องหลัง! ไทยร่วง 3 อันดับ CPI 2020 ได้ 36 คะแนน มีปัญหาสินบนบ่อนพนัน-ลักลอบขนแรงงาน)
จากกรณีดังกล่าว เว็บไซต์องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ได้จัดทำภาพรวมการทุจริตของประเทศต่างๆในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเอาไว้
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) แปล/เรียบเรียงมานำเสนอ ณ ที่นี้
ด้วยคะแนนCPI ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 45 คะแนน นี่ถือเป็นข้อบ่งชี้สำคัญว่าภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกยังคงต้องต่อสู้ต่อไปกับการแก้ปัญหาการทุจริต ควบคู่ไปกับการรับมือกับผลกระทบต่อทั้งทางเศรษฐกิจและสาธารณสุขอันเกิดจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 หรือโคโรน่าไวรัสในปี 2563 ที่ผ่านมา
สำหรับประเทศที่ยังคงได้คะแนนสูงอย่างคะแนนสม่ำเสมอก็คือประเทศนิวซีแลนด์ที่ได้รับคะแนน CPI ในอันดับต้นๆของทั้งภูมิภาคและของโลกโดยมีคะแนนที่ 88 คะแนน ตามมาด้วยประเทศสิงคโปร์ได้ 85 คะแนน ประเทศออสเตรเลียและฮ่องกงได้ 77 คะแนนเท่ากัน ส่วนประเทศที่ได้คะแนนต่ำที่สุดในภูมิภาคได้แก่ประเทศกัมพูชาได้ 21 คะแนน ประเทศอัฟกานิสถานได้ 19 คะแนน และประเทศเกาหลีเหนือได้ 18 คะแนน
@ ความสำเร็จของภูมิภาค
ประเทศในเอเชียแปซิฟิกมีความหลากหลายทั้งขนาดและจำนวนประชากร แต่ประเทศเหล่านี้ส่วนใหญ่ยังคงดิ้นรนเพื่อปรับปรุงความพยายามต่อต้านการทุจริต ดังนั้น จึงมีบางประเทศที่มีความคืบหน้าในเรื่องเหล่านี้ และมีบางประเทศที่สามารถเสริมสร้างระบบธรรมาภิบาลได้อย่างมีนัยยะสำคัญ
อาทิ ปาปัวนิวกินีที่พยายามจะส่งเสริมด้านการต่อต้านการทุจริต จนได้รับคะแนน 27 คะแนน ล่าสุดในปีที่ผ่านมา ประเทศนี้ก็สามารถผ่านร่างกฎหมายเพื่อที่จะจัดตั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุตริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)ของตัวเองได้เป็นผลสำเร็จ
เช่นเดียวกับหมู่เกาะโซโลมอนซึ่งได้รับ 42 คะแนน ก็มีการแต่ตั้งผู้อำนวยการ ป.ป.ช. ของประเทศตัวเองเป็นครั้งแรก ซึ่งจะทำหน้าที่ในด้านการว่าจ้างและฝึกฝนบุคลากรเพื่อรับมือกับการทุจริต
@ ปัญหาความท้าทายกับการทุจริตอันเกี่ยวกับไวรัสโควิด-19
ในประเทศแปซิฟิกบางแห่ง ปัญหาด้านไวรัสโควิด-19 และปัญหาพายุไซโคลนแฮโรลด์ ได้เปิดโปงให้เห็นถึงช่องโหว่ในระบบธรรมาภิบาลที่มีความอ่อนแออยู่แล้ว
ยกตัวอย่างเช่นภาคประชาสังคมในประเทศวานูอาตู (43 คะแนน),ปาปัวนิวกินี และหมู่เกาะโซโลมอนก็ได้มีการออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลนั้นมีความโปร่งใสและมีความรับผิดชอบในการรับมือต่อสถานการณ์โรคระบาดมากกว่านี้
อ้างอิงวิดีโอจากอัลจาซีร่า
@ ความคืบหน้าที่น้อยเกินไป
ประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในเอเชียอย่างอินเดีย (40 คะแนน) ประเทศอินโดนีเซีย (37 คะแนน) และประเทศบังกลาเทศ (26 คะแนน) ต่างก็เจอกับภาวการณ์พัฒนาที่เล็กน้อยมาก ในกระบวนการต่อต้านการทุจริต ในภูมิภาคเอเชียนั้นมีหลายรัฐบาลที่ให้คำมั่นว่าจะปฏิรูปกระบวนการปราบปรามการทุจริต
อย่างไรก็ตาม ประเทศเหล่านี้กลับไม่สามารถจะนำการปฏิรูปที่ว่านั้นให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แต่ก็มีบางประเทศ อาทิ ประเทศมัลดีฟส์ (43 คะแนน) ที่สามารถไต่ขึ้นได้ถึง 14 จุดเมื่อเทียบกับดัชนีในปีที่ผ่านมา อันแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มในทางที่ดีขึ้นในการปราบการทุจริต ความก้าวหน้าในระบอบประชาธิปไตย และการกำจัดกฎหมายซึ่งมีลักษณะกดขี่หลายฉบับ
@ ความเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะสำคัญ
ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนนั้น ประเทศอย่างพม่า (28 คะแนน) และติมอร์เลสเต (40 คะแนน) ยังคงเดินหน้าเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบธรรมาภิบาลอย่างต่อเนื่อง
โดยประเทศพม่ามีการพัฒนาคะแนน CPI ถึง 13 จุดนับตั้งแต่ปี 2555 ขณะที่ติมอร์เลสเต ก็มีคะแนนเพิ่มขึ้น 10 จุดนับตั้งแต่ปี 2556
สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับความคืบหน้าในด้านการปราบปรามการทุจริตของพม่า ก็คือว่า ในปีที่ผ่านๆมานั้นมีการสืบสวนและสอบสวนเจ้าหน้าที่ระดับสูงหลายราย รวมไปถึงการดำเนินการปฏิรูปกฎหมายและสถาบันต่างๆในประเทศ
ซึ่งจุดนี้นั้นแสดงให้เห็นเด่นชัดว่าฝ่ายการเมืองมีความมุ่งมั่นอย่างจริงจังว่าจะดำเนินการปราบปรามการทุจริต
มีรายงานล่าสุดจาก Global Corruption Barometer ซึ่งเป็นหน่วยงานวัดการทุจริตพบว่ามีประชาชนพม่าจำนวนมากคิดว่ารัฐบาลสามารถทำหน้าที่ได้ดีในการปราบปรามการทุจริต และเชื่อว่าแม้แต่บุคคลธรรมดาก็สามารถจะสร้างความเปลี่ยนแปลงในการต่อสู้กับการทุจริตได้
วิดีโอสอบถามประชาชนพม่าเรื่องการต่อต้านการทุจริต (จัดทำโดย UNDP Myanmar)
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการพัฒนา แต่ประเทศพม่าก็ยังคงมีปัญหาทั้งช่องว่างทางกฎหมายและช่องว่างทางโครงสร้างที่ไปขัดขวางกระบวนการปราบปรามการทุจริต และยิ่งไปกว่านั้นกองทัพพม่าก็ยังคงได้รับอภิสิทธิ์ไม่ต้องถูกลงโทษจากพฤติกรรมอันไม่ชอบธรรม
ขณะที่รัฐบาลพม่าเองก็ได้ดำเนินการเพียงเล็กน้อยเท่านั้นเพื่อที่จะปกป้องสิทธิมนุษยชน สิทธิในการแสดงความเห็น และสิทธิในการรวมกลุ่มต่างๆ
เรียบเรียงจาก:https://www.transparency.org/en/news/cpi-2020-asia-pacific
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage