"...เป้าหมายใหญ่ของการฉีดวัคซีนคือการลดความรุนแรงของโรค ไม่ใช่ไม่ติดเชื้อ อย่างวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่เราฉีดกัน เมื่อเราฉีดแล้ว เราก็ยังคงเป็นไข้หวัดใหญ่ เพียงแต่ความรุนแรงนั้นลดลงและไม่เกิดการเสียชีวิต ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว ..."
.........................................................
ในการแถลงสถานการณ์โควิดของกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 26 ม.ค.ที่ผ่านมา ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงประโยชน์ของการฉีดวัคซีน เพื่อเชิญชวนคนไทยให้เตรียมความพร้อมในการเข้ารับวัคซีนที่จะทยอยนำเข้าสู่ประเทศไทยตลอดปี 2564 ว่า "ถ้าเราคนไทยช่วยกันฉีดวัคซีน เบ็ดเสร็จเราจะถือว่าได้ช่วยชาติ เพราะทันทีที่เรามีจำนวนประชากรที่มีภูมิคุ้มกันเยอะพอ โควิดก็จะอยู่ในประเทศไทยไม่ได้"
ศ.นพ.ประสิทธิ์ จำลอง 2 เหตุการณ์ เพื่อฉายภาพให้เห็นความแตกต่างระหว่างการสร้าง 'ภูมิคุ้มกันหมู่' ด้วยวัคซีน และการปล่อยให้เกิดการระบาดหลายระลอก ดังนี้
สถานการณ์แรก มีผู้อาศัยอยู่ 20 คน และมี 4 คนใส่หน้ากากอนามัย อีก 16 คนติดเชื้อโควิด โดยมี 2 คนป่วยหนักจนเสียชีวิต ถัดมาอีก 2 สัปดาห์ คนที่เคยติดเชื้อที่เหลือ 14 คน จะเริ่มมีภูมิคุ้มกันในตัวเอง และหาก 4 คนแรก เลิกใส่หน้ากากอนามัย 3 คน อาจทำให้เกิดการติดเชื้อในระลอกที่สอง มี 1 คนป่วยหนักจนเสียชีวิต ส่วนที่เหลือพอครบ 2 สัปดาห์ก็มีภูมิคุ้มกัน เท่ากับว่าผ่านเหตุการณ์ไปแล้วมีผู้เสียชีวิต 3 คน และมีผู้ที่มีภูมิคุ้มกัน 17 คน โดยสถานการณ์นี้จำลองให้เห็น การได้มาซึ่งภูมิคุ้มกันโควิดที่ต้องแลกมาด้วยชีวิต
สถานการณ์ที่สอง ให้ประเทศไทยเป็นชุมชนที่กำลังประสบปัญหาการระบาดของโควิดเช่นเดียวกัน แต่ให้ผู้อาศัยทั้ง 20 แบ่ง เป็นผู้ที่มีภูมิคุ้มกันจากวัคซีนแล้ว 15 คน ส่วนอีก 5 คน เป็นผู้ที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกัน โดยมี 1 ใส่หน้ากากอนามัย กรณีนี้เมื่อเกิดการระบาดของไวรัส จะมี 4 คนที่ไม่มีภูมิคุ้มกันและไม่สวมหน้ากากอนามัยติดเชื้อ โชคร้ายอาจมี 1 คนที่ป่วยหนักจนเสียชีวิต แต่ผ่านไป 2 สัปดาห์ อีก 19 คนจะมีภูมิคุ้มกันแทบทั้งหมด ไวรัสที่อยู่ในอากาศทั่วๆไปก็จะไม่สามารถอยู่ได้และสลายตัวไปในที่สุด
"เราสามารถสรุปได้ว่าการสร้างภูมิคุ้มกันสามารถทำได้ 2 วิธี วิธีแรกคือการปล่อยให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันเองด้วยการป่วยโควิด และวิธีที่สอง คือการฉีดวัคซีน ทั้งนี้หากสัดส่วนของประชากรมีภูมิคุ้มกันในประเทศมากพอ ก็จะทำให้ไวรัสไม่สามารถอยู่ต่อไปได้"
(ภาพการจำลองสถานการณ์แรกที่ประชาชนยังไม่มีภูมิคุ้มกัน)
@คุณภาพขึ้นอยู่กับ'ความเพียงพอ'ต่อการสร้างภูมิคุ้มกัน
ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวอีกว่า วัคซีนโควิดที่ผ่านการทดลองเฟส 3 มีอยู่ด้วยกัน 20 ยี่ห้อ จาก 20 บริษัท แต่วัคซีนที่ใช้กันเยอะๆ ประกอบด้วย วัคซีนไฟเซอร์ วัคซีนโมเดอร์นา วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า วัคซีนซิโนแวค และวัคซีนสปุกนิต 5 เป็นต้น ซึ่งใช้เทคโนโลยีในการผลิตอยู่ด้วยกัน 4 เทคโนโลยี โดยเทคโนโลยีที่สหรัฐอเมริกานำเข้ามา คือ mRNA ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ยังไม่เคยนำมาใช้ในการผลิตวัคซีนมาก่อน
"เป้าหมายใหญ่ของการฉีดวัคซีนคือการลดความรุนแรงของโรค ไม่ใช่ไม่ติดเชื้อ อย่างวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่เราฉีดกัน เมื่อเราฉีดแล้ว เราก็ยังคงเป็นไข้หวัดใหญ่ เพียงแต่ความรุนแรงนั้นลดลงและไม่เกิดการเสียชีวิต" ศ.นพ.ประสิทธิ์ ระบุ
โดย ศ.นพ.ประสิทธิ์ ยืนยันว่า ในการเลือกวัคซีนของประเทศไทย เน้นเรื่องความปลอดภัยเป็นสิ่งแรก ส่วนตามข่าวที่พบว่ามีคนเสียชีวิตจากเทคโนโลยี mRNA นั้น ไทยยังไม่ได้สั่งเข้ามา ทั้งนี้เทคโนโลยีดังกล่าวในทางทฤษฎีมีโอกาสก่อให้เกิดโรคแทรกซ้อนระยะยาว แต่ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานรองรับเรื่องนี้ จึงยังไม่ขอพูดถึงในรายละเอียด
ส่วนหลักการของวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่กำลังเข้ามานั้น คือการนำเอาเชื้อไวรัสตัวนึงที่ไม่ก่อโรคในคน แล้วนำเอาพันธุกรรมของโควิด โดยเฉพาะพันธุ์ที่สร้างโปรตีนทำให้เกิดการแพร่ระบาดเยอะๆ เข้าไปแตะกับไวรัสไม่ก่อโรค แล้วนำไปทำเป็นวัคซีน ด้วยเหตุดังกล่าววัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าจึงมีประสิทธิภาพสูงถึง 90% และมีราคาถูก โดยไทยเราได้รับมาในราคาเพียง 5 เหรียญสหรัฐฯต่อโดสเนื่องจากไม่ได้ใช้เชื้อโควิดในการผลิค
นอกจากนั้น เรายังสั่งวัคซีนจากซิโนแวคเข้ามา เนื่องจากวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ โดยวัคซีนซิโนแวคนั้น ใช้เทคโนโลยีเดิม เหมือนกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ซึ่งกระบวนการผลิตคือนำเชื้อโควิดมาทำให้อ่อนแอ จนไม่สามารถทำอันตรายได้ เมื่อฉีดเข้าไป ร่างกายก็จดจำสิ่งแปลกปลอม และสร้างภูมิคุ้มกันในที่สุด ด้วยเหตุที่ใช้เชื้อโควิดในกระบวนการผลิตซึ่งต้องใช้ห้องปฏิบัติการพิเศษด้วย ค่าใช้จ่ายจึงสูง ส่วนประสิทธิภาพนั้นได้ผลเพียง 50 % อย่างไรก็ตามขอประชาชนอย่าดูเพียงตัวเลข เพราะสิ่งที่สำคัญคือต้องดูว่ามันเพียงพอแล้ว สำหรับการกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกัน
"ถ้าไทยเรานำวัคซีนเข้ามา แล้วทุกคนฉีด ซึ่งจะครอบคลุม 50-60% จากจำนวนประชากรทั้งหมด รวมกับผู้ที่เคยป่วยแล้วมีภูมิคุ้มกันแล้วจำนวนหนึ่ง รวมแล้วจะได้ 60-70% ซึ่งน่าจะเป็นตัวเลขที่อาจจะทำให้โควิดถูกกำจัดไปโดยปริยาย ขณะเดียวกันตนเองถือว่าประเทศไทยโชคดีที่ไม่ได้นำวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ในกระบวนการผลิต เนื่องจากตอนนี้ก็มีหลายประเทศที่ประชากรเริ่มไม่มั่นใจในเทคโนโลยีดังกล่าว" ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว
@ไม่บังคับฉีด เพราะต้องเคารพสิทธิส่วนบุคคล
ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตามภูมิคุ้มกันนั้นอยู่กับตัวไม่ได้นาน โดยทั่วไปคาดการณ์ว่ามีแนวโน้มที่จะอยู่กับตัวไม่เกิน 1 ปี และอาจจะต้องฉีดวัคซีนปีละ 1 เข็ม ส่วนเหตุผลที่ไม่บังคับให้ทุกคนฉีดวัคซีน เนื่องจากในความคิดเห็นของตนเอง หากให้ยืนยันว่าวัคซีนจะปลอดภัย 100% คงไม่ใช่ ดังนั้นจะต้องถามความยินยอมจากคนไข้ก่อนเสมอ พร้อมกับอธิบายถึงประโยชน์และผลกระทบ
ทั้งนี้วัคซีนทั้ง 2 ตัวที่จะเข้าไทยนั้น ยืนยันว่าวัคซีนมีความจำเป็นและมีแนวโน้มปลอดภัยสูงมาก อาการแพ้อาจจะมีบ้าง แต่คาดว่าจะไม่รุนแรง เนื่องจากผลที่ออกมาขณะนี้ยังไม่พบ จึงอยากขอเชิญชวนให้ประชาชนฉีดวัคซีน
ส่วนการตัดสินใจเลือก 'ฉีด-ไม่ฉีด' นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อดีตรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เคยให้ข้อมูลที่น่าสนใจไว้ว่า เราสามารถพิจารณาได้จาก 2 ปัจจัย คือ 1.ประสิทธิผลของวัคซีน โดยการวัดการสร้างภูมิคุ้มกันโรคได้กี่เปอร์เซ็นต์ พร้อมทั้งคำนึงระยะเวลาในการป้องกัน แต่เบื้องต้นยังไม่มีบริษัทไหนรายงานเรื่องเวลา เพราะเป็นวัคซีนใหม่ ดังนั้นประชาชนสามารถคำนึงถึงการสร้างภูมิคุ้มกันได้ก่อน และ 2.ความปลอดภัย โดยวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าและซิโนแวค ที่ไทยจะนำเข้ามานั้น ใช้เทคโนโลยีในการผลิตด้วยการใช้ไวรัสเป็นพาหะนำปุ่มโปรตีนของเชื้อโรคโควิดเข้าไป และการทำเชื้อไวรัสให้อ่อนแอ ไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ หรือที่เรียกว่า เชื้อตาย ซึ่งต่างเป็นเทคโนโลยีที่คุ้นเคย จึงมั่นใจในความปลอดภัยพอควร
ขณะเดียวกัน ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงความเหมาะสมในการฉีดวัคซีนว่าให้พิจารณาถึงความเสี่ยงตามช่วงอายุ คือ อายุตั้งแต่ 50 ปี จะโอกาสจะเสียชีวิตอยู่ที่ 1% อายุตั้งแต่ 60 โอกาสจะเสียชีวิตอยู่ที่ 3-4 % อายุตั้งแต่ 70 ปี โอกาสจะเสียชีวิตอยู่ที่ 10 % และอายุตั้งแต่ 80 โอกาสจะเสียชีวิตอาจมากถึง 20% ส่วนในวัยตั้งแต่ 20 ปีนั้นแทบไม่มีโอกาสเสี่ยง โดยโอกาสจะเสียชีวิตอยู่ที่ 1 ต่อ 100 หรือ 1,000 คน
ขณะเดียวกันให้พิจารณาตามความเสี่ยงในการรับโรคจากการประกอบอาชีพ และความแข็งแรงด้วย โดยขอให้ประชาชนนำมาพิจารณาชั่งน้ำหนักกัน แล้วค่อยตัดสินใจจะฉีดหรือไม่ฉีดก็ได้ ในส่วนของกลยุทธ์ในการฉีดวัคซีนนั้น หากต้องคิดแทนครอบครัว ประชาชนสามารถเลือกได้เช่นกันว่า จะฉีดให้กับบุคคลที่เป็นกลุ่มเสี่ยงก่อน เช่น ผู้สูงอายุภายในบ้าน หรือจะฉีดให้กับกลุ่มที่แพร่เชื้อง่าย เช่น กลุ่มวัยทำงานที่ยังแข็งแรงอยู่ เพื่อป้องกันไม่ให้นำเชื้อเข้าสู่บุคคลภายในบ้านก็ได้
@ 8 เรื่องที่ควรรู้เกี่ยวกับวัคซีนโควิด
สำหรับ 8 ข้อควรรู้ก่อนฉีดวัคซีนโควิด ผู้สื่อข่าวแปลและเรียบเรียงมาจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค หรือ Centers for Disease Control and Prevention (CDC) มีข้อมูลที่น่าสนใจ ดังนี้
1.วัคซีนโควิดต่างคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญสูงสุด เนื่องจากก่อนวัคซีนจะได้รับการอนุมัติให้นำมาฉีดได้นั้น ล้วนต้องผ่านการทดลองในระยะที่ 3 ซึ่งผ่านการเน้นเรื่องความปลอดภัยมาตั้งแต่การประเมินครั้งที่ 1 แล้ว
2. วัคซีนโควิดจะช่วยลดความรุนแรงของโรค แต่ควรจะฉีดให้ครบ 2 เข็ม ทั้งนี้ระยะเวลาในการฉีดครั้งที่ 2 นั้น ขึ้นอยู่กับวัคซีนแต่ละชนิด โดยวัคซีนที่ไทยจะนำนั้น หากเป็นวัคซีนซิโนแวค ควรจะฉีดเข็มที่ 2 หลังครบ 14 วัน แต่วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ควรจะฉีดเข็มที่ 2 ห่างกัน 28 วัน
3.กระทรวงสาธารณสุขจะเป็นผู้วางแผนกลุ่มที่ควรได้รับวัคซีนก่อน เนื่องจากช่วงแรกวัคซีนมีจำกัด โดยในประเทศไทยถูกกำหนดกลุ่มเป้าหมายการรับวัคซีนกลุ่มแรก คือบุคลากรทางการแพทย์ สาธารณสุขด่านหน้า และเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการควบคุมโรควิด, บุคคลผู้มีอายุตั้งแต่ 60 ปี, กลุ่มบุคคลที่มีโรคประจำตัว ประกอบด้วย โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตเรื้อรังระยะ 5 ขึ้นไป โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็งทุกชนิด และโรคเบาหวาน โดยจะเริ่มดำเนินการใน 5 จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดก่อน
4.ขณะนี้วัคซีนในสหรัฐอเมริกามีจำกัด แต่จะเพิ่มขึ้นในสัปดาห์และเดือนถัดๆไป ซึ่งจะคล้ายกับสถานการณ์ภายในไทยที่ในช่วงแรกนั้นจะมีจำกัด โดยในช่วงเดือน ก.พ.2564 จะมีวัคซีนจากแอสตร้าเซนเนก้า 50,000 โดสและวัคซีนจากซิโนแวคอีก 200,000 โดส ส่วนเดือน มี.ค.2564 จะได้รับวัคซีนซิโนแวคเพิ่มอีก 800,000 โดส เดือนเม.ย.จะได้รับวัคซีนจากซิโนแวคเพิ่มอีก 1 ล้านโดส ทั้งนี้คาดว่าจะได้รับจากบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าเพิ่มอีก 26 ล้านโด๊ส และ 35 ล้าน ตามมา ทั้งนี้เนื่องจากข้อตกลงในการจองซื้อกับบริษัทแอสตร้าเซนเนก้านั้น ไทยจะได้รับการถ่ายทอดนวัตกรรมการผลิต ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถผลิตวัคซีนใช้เองได้ในอนาคต
5.หลังจากได้รับวัคซีนโควิดอาจมีผลข้างเคียง ซึ่งเป็นสัญญาณของการสร้างภูมิคุ้มกัน โดยผลข้างเคียงของวัคซีนที่ไทยนำเข้านั้น อาจมีอาการปวดบริเวณฉีด,อ่อนเพลีย,ปวดศีรษะ,เป็นไข้ หรือปวดกล้ามเนื้อ ทั้งนี้ยังไม่พบรายงานผลข้างเคียงที่รุนแรง
6.ราคาไม่ใช่อุปสรรคในการได้รับวัคซีน เนื่องจากคณะรัฐบาลไทยนั้นวางมาตราการฉีดวัคซีนฟรีไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของประชากร ซึ่งคิดเป็นวัคซีนเกือบ 70 ล้านโดส
7.วัคซีนได้รับการอนุมัติให้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน แต่ยังมีอีกหลายบริษัทอยู่ระหว่างการวิจัย ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุขชี้แจงว่าได้เลือกเจรจาวัคซีนหลายชนิด แต่ไม่เกิน 3 ชนิด เพื่อไม่ให้เกิดความซับซ้อนในการขนส่งและการฉีด ซึ่งทั้งหมดผ่านกลไกการพิจารณาอย่างรอบคอบผ่านคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ และคณะกรรมการขับเคลื่อนการจัดหาวัคซีนเพื่อคนไทย
8.วัคซีนเป็นเพียงเครื่องมือในการลดความรุนแรงของโรค ยังไม่มีผลการวิจัยออกมาว่าสามารถยับยั้งการติดเชื้อได้ ดังนั้นทุกคนยังต้องปฏิบัติตามมาตราการ "ใส่แมสก์ หมั่นล้างมือ เว้นระยะห่าง 1-2เมตร วัดอุณหภูมิ และแสกนหมอชนะ" เพราะแม้วัคซีนจะมีประสิทธิภาพ แต่ยังต้องใช้เวลาเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ 60-70% ของประเทศ
เรียบเรียงจาก :
https://www.cdc.gov/coronavirus/2019-ncov/vaccines/8-things.html
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage