“...จำเลยกลับสั่งให้มีการแก้ไขรายงานการประชุม ทั้ง ๆ ที่จำเลยเป็นประธานที่ประชุม และรู้ว่าไม่ถูกต้องตรงกับความจริง และนำรายงานการประชุมที่จำเลยสั่งการให้แก้ไขดังกล่าว ไปแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่นายเรืองเดช ในข้อหาหมิ่นประมาท แสดงว่าจำเลยมีเจตนากลั่นแกล้งนายเรืองเดชให้รับโทษทางอาญา การกระทำของจำเลยจึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น…”
.......................................
มีความคืบหน้าแล้ว กรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิด นายสุนิตย์ ธรรมประพัทธ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง ผอ.วิทยาลัยสารพัดช่างนราธิวาส อ.เมือง จ.นราธิวาส สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ
โดยถูกกล่าวหาว่า ใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ สั่งการให้มีการแก้ไขรายงานประชุม เรื่อง การจัดซื้อครุภัณฑ์ชุดทดลองดิจิตอลลอจิกแบบเมนบอร์ดฯ ในการประชุมเมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2559 ไม่ตรงกับความจริง แล้วใช้รายงานการประชุมเท็จดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานในการแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สภ.โคกเคียน อ.เมือง จ.นราธิวาส ให้ดำเนินคดีแก่นายเรืองเดช ตันติวุฒิพงศ์ รอง ผอ.วิทยาลัยสารพัดช่างนราธิวาส ประธานกรรมการตรวจรับพัสดุครุภัณฑ์ชุดทดลองดิจิตอลลอจิกแบบเมนบอร์ดฯดังกล่าว พร้อมส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อฟ้องแก่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 9
เมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2561 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 9 มีคำพิพากษาว่า นายสุนิตย์ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 ว่า การกระทำของนายสุนิตย์ เป็นกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. มาตรา 123/1 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักสุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 2 ปี
ต่อมาจำเลยยื่นอุทธรณ์ โดยศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกฟ้อง ต่อมาพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปราบปรามการทุจริต 1 ภาค 9 โจทก์ยื่นฎีกา
ล่าสุดศาลฎีกา พิพากษากลับศาลอุทธรณ์ สั่งจำคุก 2 ปี นายสานิตย์ (อ่านประกอบ : ฎีกากลับสั่งคุก 2 ปี อดีต ผอ.วิทยาลัยสารพัดช่างนราธิวาส แก้บันทึกประชุมแกล้งลูกน้อง)
รายละเอียดคำพิพากษาเป็นอย่างไร?
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สรุปให้สาธารณชนรับทราบ ดังนี้
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นหรือไม่
เห็นว่า ตาม พ.ร.บ.พิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 มาตรา 22 บัญญัติให้ศาลนำรายงานและสำนวนการสอบสวนหรือสำนวนการไต่สวนของโจทก์มาเป็นหลักในการแสวงหาความจริง ดังนั้นการพิจารณาว่าจำเลยกระทำผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ ต้องยึดถือตามรายงานและสำวนการสอบสวนหรือสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงของโจทก์เป็นหลัก
สาระสำคัญเรื่องนี้คือการอ้างถึงบันทึกการประชุมของวิทยาลัยสารพัดช่างนราธิวาส ครั้งที่ 1/2559 2/2559 และ 3/2559 โดยนายเรืองเดชระบุว่า “หลังจากนี้บันทึกของผมไว้ด้วยนะครับ ด้วยนายเรืองเดช ตันติวุฒิพงศ์ รองผู้อำนวยการ นะฮะ ช่วยบันทึกไว้ด้วยนะครับ การบันทึกนะครับ ขอแจ้งว่า นายเรืองเดช ตันติวุฒิพงศ์ เนี่ย ไม่ชอบพฤติกรรมการจัดซื้อหรือจัดจ้างของที่นี่ตลอดมานะฮะ ช่วยแจ้งด้วยนะครับ ไม่สบายใจในทุก ๆ เรื่องครับ และพร้อมที่จะแฉทุกเรื่องที่เป็นเรื่องการลงทุน การผิดสเปกงาน โดยเอาตำแหน่งของราชการเป็นเดิมพัน ไม่เป็นไรครับ” โดยไม่มีเนื้อหาว่าจำเลยซึ่งเป็น ผอ.วิทยาลัยสารพัดช่างนราธิวาส ทุจริต คอร์รัปชั่น โดยมีพยานหลายรายในที่ประชุมเบิกความสอดคล้องกัน
อย่างไรก็ดีมีพยานหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า นายสุนิตย์ จำเลย ในฐานะผู้บังคับบัญชา มีคำสั่งให้ผู้บันทึกการประชุมแก้ไขบันทึกการประชุม โดยให้มีข้อความอ้างถึงตัวเอง และนำบันทึกดังกล่าวไปแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่นายเรืองเดช พฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าว
นอกจากนี้คำพูดของนายเรืองเดช ที่บันทึกในการประชุม และถอดคำสนทนาเป็นตัวอักษร คงได้ความแต่เพียงว่า นายเรืองเดช ไม่ชอบพฤติกรรมการจัดซื้อหรือจัดจ้างของที่นี่ตลอดมา ไม่สบายใจในทุกเรื่อง หาได้มีคำกล่าวหาว่าจำเลยดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างโดยทุจริต หรือคอร์รัปชั่นไม่ ทั้งไม่มีข้อความที่แสดงให้เข้าใจได้ว่านายเรืองเดชกล่าวหาว่าจำเลยซึ่งเป็น ผอ.วิทยาลัยสารพัดช่างนราธิวาส ดำเนินการจัดจ้างโดยทุจริต
การที่ที่ประชุม เรื่อง ครุภัณฑ์ทดลองดิจิตอลลอจิกแบบเมนบอร์ด ชนิดมีตัวแสดงสถานะลอจิกพร้อมแผงโมดูลต่างชนิดไม่น้อยกว่า 17 ชนิด จำนวน 1 ชุด ครั้งที่ 2/2559 รับรองรายงานการประชุมครั้งที่ 1/2559 ดังกล่าว จึงผิดไปจากความจริง ไม่มีผลทำให้บันทึกการประชุมเป็นบันทึกการประชุมที่ถูกต้องได้
จำเลย เป็นประธานที่ประชุมมีหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องของรายงานการประชุม ดังนั้น การตรวจสอบรายงานการประชุมให้ถูกต้องตรงกับข้อเท็จจริง ถือได้ว่า เป็นการปฏิบัติงานในหน้าที่อย่างหนึ่งของจำเลยในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย จำเลยต้องปฏิบัติงานดังกล่าวโดยชอบ
แต่จำเลยกลับสั่งให้มีการแก้ไขรายงานการประชุม ทั้ง ๆ ที่จำเลยเป็นประธานที่ประชุม และรู้ว่าไม่ถูกต้องตรงกับความจริง และนำรายงานการประชุมที่จำเลยสั่งการให้แก้ไขดังกล่าว ไปแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่นายเรืองเดช ในข้อหาหมิ่นประมาท แสดงว่าจำเลยมีเจตนากลั่นแกล้งนายเรืองเดชให้รับโทษทางอาญา การกระทำของจำเลยจึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
ส่วนฎีกาของจำเลยแก้ว่า การสั่งให้แก้ไขรายงานการประชุมดังกล่าวเป็นการปฏิบัติหน้าที่ทั่วไป จึงขาดองค์ประกอบความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ไม่เป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ไม่อยู่ในอำนาจการไต่สวนของ ป.ป.ช. โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง เห็นว่า เมื่อการกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีอำนาจไต่สวน โดยขณะเกิดเหตุโจทก์ดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐ
ทั้งนี้จำเลยฎีกาขอให้ศาลพิพากษารอลงโทษจำคุก ศาลฎีกาเห็นว่า แม้จำเลยจะไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน แต่จำเลยเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เป็นผู้บังคับบัญชานายเรืองเดช ควรที่จำเลยจะปกครองผู้ใต้บังคับบัญชาโดยมีคุณธรรม แต่ตามพฤติการณ์กระทำผิดของจำเลย กลับได้ความว่าจำเลยหาเรื่องกลั่นแกล้งนายเรืองเดชให้ได้รับโทษทางอาญาโดยไม่เป็นธรรม และไม่เป็นความจริง
เพียงแต่นายเรืองเดชไม่ชอบพฤติกรรมการจัดซื้อจัดจ้างและไม่สบายใจ เมื่อนายเรืองเดชท้วงติงให้แก้ไขรายงานการประชุมว่าบันทึกไม่ถูกต้อง จำเลยกลับดึงดันไม่ยอมแก้ไขให้ ทั้งที่ ๆ นายเรืองเดชพูดท้วงติง และจำเลยเองก็รู้ว่าข้อความดังกล่าวไม่เป็นความจริง ทั้งยังยึดถือรายงานการประชุมไม่ถูกต้องไปแจ้งความดำเนิคดีแก่นายเรืองเดชในข้อหาหมิ่นประมาทอีก ถือเป็นเรื่องร้ายแรงไม่น่าให้อภัย ดังนั้นเพื่อไม่ให้บุคคลอื่นยึดเป็นเยี่ยงอย่าง จึงไม่เห็นควรรอการลงโทษให้จำเลย
ศาลฎีกาพิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 ว่า การกระทำของนายสุนิตย์ เป็นกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. มาตรา 123/1 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักสุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 2 ปี
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage