“...อยากฝากเตือนใจถึงทุกคน สถานการณ์เวลานี้ที่ทุกคนลำบากจากผลกระทบของโควิด ขออย่าประมาท หยุดเอาตัวเองไปอยู่ในพื้นที่เสี่ยง โดยเฉพาะสถานที่ปิดหรือสถานที่แอบซ่อน หยุดการรวมกลุ่ม มั่วสุม เหล้า บุหรี่ พร้อมใช้โอกาสนี้ในการเลิกสูบบุรี่ เลิกดื่มสุรา และเลิกเสพยาด้วย...”
........................................
เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า หนึ่งในเหตุผลที่ทำให้เกิดการระบาดระลอกใหม่ของเชื้อโควิด มีความเชื่อมโยงกับสถานบันเทิง-บ่อนพนัน ที่นอกจากจะทำให้พบผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก สถานการณ์ครั้งนี้ยังส่งผลให้ไปถึงการใช้มาตรการที่เข้มข้น และต้องสะเทือนถึงภาพรวมทางเศรษฐกิจอีกครั้งหนึ่ง
บ่อนพนัน – สถานบันเทิงกลายเป็นแหล่งแพร่เชื้อได้อย่างไร ? เป็นหนึ่งในคำถาม ซึ่งเป็นที่มาของการเสวนา 'อบายมุข (เหล้า บุหรี่ พนัน ยาเสพติด) VS โควิด-19 ความเสี่ยงที่เลี่ยงได้' ที่จัดขึ้นโดย เครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง ร่วมกับศูนย์วิจัยปัญหาสุรา ศูนย์ศึกษาปัญหายาเสพติด (ศศก.) มูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
หนึ่งในกิจกรรมสำคัญในเวทีนี้ คือการจำลองสถานการณ์การติดเชื้อโควิดในสถานบันเทิง ที่นำเสนอโดย กลุ่มจิตอาสาพัฒนาเยาวชน เพื่อสะท้อนให้เห็นภาพว่า เชื้อโควิดเดินทางอย่างรวดเร็วในวงอบายมุขอย่างไร
การจำลองเหตุการณ์นี้ เริ่มจากการพบปะของผู้คนในครั้งแรกจะสวมหน้ากากอนามัยป้องกันเชื้อโควิดเป็นอย่างดี แต่เมื่อเวลาผ่านไป ความสนุกสนานจากการดื่มสุรา มักทำให้ขาดสติ จนละเลยการป้องกันตนเอง
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการสัมผัส-ส่งต่อเชื้อโดยไม่รู้ตัว คือการใช้สิ่งของร่วมกัน เช่น บุหรี่ แก้ว หรือแม้กระทั่งจานชามที่เคยเป็นของเพื่อนก็กลายเป็นของตนเอง ส่วนของตนเองก็กลายเป็นของเพื่อน ทั้งหลายเหล่านี้เป็นเหตุที่ทำให้ผู้ที่ติดโควิด มีความสามารถในการแพร่กระจายเชื้อได้อย่างรวดเร็ว
นายเอ (นามสมมติ) หนึ่งในผู้ร่วมเสวนาครั้งนี้ เล่าว่า ตนเองเคยเป็นทั้ง นักสูบ นักดื่ม และนักเสพ มีพฤติกรรมเหล่านี้ตั้งอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จากผู้เสพ ก็เคยเปลี่ยนเป็นผู้ค้า จนชีวิตแย่ลงเรื่อยๆ กว่าจะละเลิกอบายมุขได้นั้น ชีวิตครอบครัวเกือบพัง
นายเอ บอกว่า พฤติกรรมของการเสพอบายมุขต่างๆ โดยเฉพาะยาเสพติด มักจะทำให้ต้องเจอคนแปลกหน้าบ่อยครั้ง ต้องใช้อุปกรณ์ร่วมกัน และต้องทำกิจกรรมในพื้นที่ลับตาคน ซึ่งส่วนใหญ่อากาศไม่ถ่ายเทและแออัด ทั้งหมดล้วนเป็น 'พฤติกรรมเสี่ยง' ที่นำไปสู่การติดเชื้อโควิดด้วยกันทั้งสิ้น
“อยากฝากเตือนใจถึงทุกคน สถานการณ์เวลานี้ที่ทุกคนลำบากจากผลกระทบของโควิด ขออย่าประมาท หยุดเอาตัวเองไปอยู่ในพื้นที่เสี่ยง โดยเฉพาะสถานที่ปิดหรือสถานที่แอบซ่อน หยุดการรวมกลุ่ม มั่วสุม เหล้า บุหรี่ พร้อมใช้โอกาสนี้ในการเลิกสูบบุรี่ เลิกดื่มสุรา และเลิกเสพยาด้วย” นายเอ กล่าว
ด้าน พญ.รัศมน กัลยาศิริ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้จัดการศูนย์ปัญหายาเสพติด นักวิชาการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา กล่าวว่า ความเสี่ยงของคนใช้สารเสพติด เสี่ยงที่จะติดเชื้อโควิดมากกว่าคนปกติถึง 10 เท่า โดยปัจจัยสำคัญดังนี้
1.ภาวะมึนเมา ที่ทำให้ขาดสติ ละเลยการป้องกันตนเอง
2.การใช้อุปกรณ์ร่วมกัน จากความเชื่อว่า 'ถ้าไม่สูบหรือดื่มแก้วเดียวกัน แสดงว่าไม่รักกัน-รังเกลียดกัน'
3.การปาร์ตี้-ใกล้ชิดกัน จากความเชื่อว่าเราสนิทกันและคิดว่าคงไม่มีใครติดโควิด
4.ภาวะขาดการยับยั้งตน ซึ่งทุกคนรู้ว่าไม่ดี แต่เหมือนมีแรงอะไรบางอย่างที่ทำให้ละเลยการป้องกันตนเองไป
5.ภาวะความเป็นอยู่ เช่น เพราะการไร้บ้าน ทำให้ขาดสุขอนามัยที่ดี
“สำหรับผู้ที่ขาดภาวะการยับยั้งตนเอง เราจะต้องช่วยเขา โดยอาจมีมาตรการเพื่อลดการเข้าถึงหรือทำให้การไป สูบ ดื่ม เสพ ยากขึ้น เพื่อให้คนที่อยู่ในภาวะความเสี่ยงยับยั้งตัวเองได้ โดยต้องไม่มีสิ่งแวดล้อมมาทำให้เขาต้องเข้าไปถึงอบายมุขเหล่านั้น รวมถึงภาครัฐควรมีมาตรการเข้าถึงนักเสพติดเหล่านี้ด้วยความเข้าใจและมองว่าเป็นปัญหาสุขภาพ ไม่ควรมองแบบจับผิด เพราะจะทำให้กลุ่มเหล่านี้ยิ่งปิดบัง” พญ.รัศมน กล่าว
นายธนกร คมกฤส เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน อธิบายถึงอาการของคนติดพนัน ว่า เมื่อได้เล่น จะทำให้สารความสุขหลั่งออกมา เหมือนกับคนที่เล่นกีฬาบ่อยๆ นอกจากนั้นการพนันเป็นกิจกรรมที่ถูกกระตุ้น-ปลุกเร้า ทำให้ส่วนใหญ่มักละเลยการป้องกันตนเอง
"คนเล่นพนันเขาจะแตกต่างจากคนดื่มสุรา เนื่องจากการพนันเขาผู้ถูกเป็นผู้กระทำที่มีสิ่งแวดล้อมต่างๆที่อยู่เบื้องหลัง ทำให้เขาต้องเล่นต่อ เช่น คนหน้าใหม่เข้ามา เขาจะทำให้คุณได้จนถึงจุดนึงเขาถึงจะทำให้คุณเสียมากขึ้นๆจนทำให้คุณไม่เหลืออะไรเลย ขณะที่การดื่มสุรานั้นเราสามารถบังคับตนเองให้ดื่มหรือไม่ดื่มได้ การพนันนั้นเราจะถูกกระทำด้วยสถานการณ์ เราจะถูกกระตุ้น-ปลุกเร้าด้วยบรรยากาศ กล่าวคือคนทำธุรกิจเขาวางแผนทุกอย่างไว้แล้ว เพื่อให้เขาอยู่เหนือผู้เล่น" นายธนกร กล่าว
นายธนกร กล่าวต่อว่า วิถีชีวิตของนักพนันมักทำหลายอย่างคือเป็นทั้ง 'นักสูบ-นักดื่ม-นักเสพ' และยังเป็น 'นักเล่น' ที่ต้องเดินสายไปบ่อนพนันหลายแห่ง 'นักพนัน' จึงกลายเป็นผู้พาเชื้อโควิดไปยังสถานที่ต่างๆ จนทำให้นักพนันกลายเป็นผู้กระจายเชื้อโควิดที่มีความเชื่อมโยงกับบ่อนภาคตะวันออกกว่า 1,000 คน
อย่างไรก็ตาม นายธนกร กล่าวย้ำว่า "ในสถานการณ์การที่มีความเสี่ยงสูงในทุกด้านขณะนี้ ผมเชื่อว่าทุกคนรับรู้ถึงความเสี่ยงสูง แต่ยังมีบางคนกล้าเสี่ยงไปเล่นพนัน ทำให้กลายเป็นซูเปอร์สเปรดเดอร์ให้เราได้เห็นกันในปัจจุบัน ซึ่งเป็นที่เรื่องที่น่าแปลก และผมยังคงสงสัย จึงอยากให้ภาครัฐได้ร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข ในกระบวนการสอบสวนโรค อยากให้เก็บข้อมูลถึงสาเหตุของการเข้าไปเล่นด้วย เนื่องจากอาจจะทำให้สังคมเข้าใจและทำงานกับพวกเขา แก้ปัญหาได้ตรงจุดมากขึ้น"
นางนัยนา ยลจอหอ ประธานชุมชนวัดสวัสดิ์วารีสีมาราม เขตดุสิต กทม. กล่าวว่า จากประสบการณ์ที่เคยเข้าไปคลุกคลี ซึ่งตนเองทราบดีว่าพฤติกรรมการสูบบุหรี่ เสพยา ดื่มสุรา หรือเล่นพนัน ในพื้นที่ต่างๆ จะเกิดการสัมผัสใช้อุปกรณ์ร่วมกัน เช่น ดื่มสุราหรือสูบบุหรี่ด้วยกัน และการเบียดเสียดภายในห้องพื้นที่ปิด ลับสายตาคน เนื่องจากเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย หากยังไปมั่วสุมทำพฤติกรรมแบบเดิมก็ยังถือว่ามีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อสูง
“อยากขอให้นักสูบ นักดื่ม นักเสพ คิดเสมอว่าอาจมีคนติดเชื้ออยู่ใกล้ตัวเรา เพื่อให้เราตื่นตัว และป้องกันตัวเองให้ดีที่สุด หยุดกิจกรรมเหล่านี้ อยู่บ้านพักผ่อนดูแลตัวเอง และถือโอกาสนี้ในการ ลด ละ เลิก ก็จะดีที่สุด” นางนัยนา กล่าว
ทั้งหมดเป็นการฉายภาพให้เห็นแล้วว่า 'สูบ - ดื่ม - เสพ' เป็นต้นเหตุของการแพร่เชื้อโควิดได้อย่างไร และด้วยพฤติกรรมเหล่านี้ จึงกลายเป็นเหตุผลให้บ่อนพนัน-สถานบันเทิง เป็นสถานที่เสี่ยงที่ถูกจับตามองในขณะนี้
(นางนัยนา ยลจอหอ พญ.รัศมน กัลยาศิริ และนายธนกร คมกฤส)
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage