"...อุปกรณ์ที่ใช้แต่งหน้าควรแยกชุดกันของแต่ละบุคคล ไม่ใช้อุปกรณ์ร่วมกัน กรณีการใช้อุปกรณ์ร่วมกันเคยพบการระบาดของโรคตาแดง ซึ่งเป็นลักษณะการระบาดของเชื้อไวรัส ดังนั้นการใช้อุปกรณ์ เช่น แปรง พู่กัน จึงเป็นความเสี่ยงในการติดต่อ เป็นไปได้ต้องแยกอุปกรณ์เหล่านี้ ห้ามใช้ร่วมกัน..."
................................................................
การติดเชื้อโควิดของ 'ดีเจมะตูม' หรือ นายเตชินท์ พลอยเพชร ดีเจชื่อดัง ทำให้กระทรวงสาธาณณสุขให้ความสนใจเกี่ยวกับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด ในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับวงการ โดยเฉพาะช่างแต่งหน้า-ช่างเสริมสวย ซึ่งในการแถลงสถานการณ์ความคืบหน้าของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ของกระทรวงสาธารณสุข ประจำวันที่ 22 ม.ค. 2564 นพ.เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทน ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉินกรมควบคุมโรค แนะนำมาตรการที่น่าสนใจไ้ว้ ดังนี้
1.ช่างแต่งหน้าจะต้องสวมหน้ากาตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย สามารถช่วยลดการฟุ้งจายได้เป็นอย่างดี
2.พื้นที่แต่งหน้า ควรจัดในที่อากาศถ่ายเทสะดวก ในอดีตก่อนการแพร่ระบาดของโควิด สถานที่แต่งหน้ามักจะเป็นห้องที่มีขนาดเล็ก อากาศไม่ค่อยถ่ายเท
3.อุปกรณ์ที่ใช้แต่งหน้าควรแยกชุดกันของแต่ละบุคคล ไม่ใช้อุปกรณ์ร่วมกัน กรณีการใช้อุปกรณ์ร่วมกันเคยพบการระบาดของโรคตาแดง ซึ่งเป็นลักษณะการระบาดของเชื้อไวรัส ดังนั้นการใช้อุปกรณ์ เช่น แปรง พู่กัน จึงเป็นความเสี่ยงในการติดต่อ เป็นไปได้ต้องแยกอุปกรณ์เหล่านี้ ห้ามใช้ร่วมกัน
นพ.เฉวตสรร เน้นย้ำมาตราการในการจัดการควบคุมและป้องกันโรคระบาดในองค์กรหรือสถานประกอบการต่างๆ คือ องค์กรควรให้สมาชิกในองค์กรโหลดแอปพลิเคชั่น 'หมอชนะ' ซึ่งมีการใช้งานที่ง่าย สะดวก อีกทั้งเก็บรักษาข้อมูลเก็บเป็นความลับ ไม่มีการนำข้อมูลมาใช้เพื่อจุดประสงค์อื่น นอกจากวิเคราะห์ความเสี่ยงที่มีความเชื่อมโยงเท่านั้น อีกทั้งเป็นช่องทางในการสื่อสารแนะนำว่าข้อปฏิบัติติตัวให้ได้อย่างถูกต้อง
นอกจากนั้นองค์กรจำเป็นจะต้องมีการประเมินความเสี่ยงตัวบุคคล ถ้าหากมีประวัติการเดินทางไปสถานที่เสี่ยงให้รายงานและปฏิบัติติตามมาตราการควบคุมโรค รวมถึงเน้นมาตราการ เว้นระยะห่าง ล้างมือ สวมหน้ากาก
@วัคซีนช่วยให้สถานการณ์เพลาลง-ไม่ใช่ยารักษา
นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ กล่าวถึงสถานการณ์วัคซีนโควิด-19 ที่กำลังจะนำเข้ามาฉีดในประเทศไทย ว่า วัคซีนเป็นเพียงเครื่องมือเสริมที่มีประสิทธิภาพมากในการป้องกันหรือควบคุมโรค โดยระยะเวลาหลังจากการฉีดไม่ใช่เพียงระยะแค่ 1-2 สัปดาห์แล้วเห็นผล แต่อาจจะต้องรอเป็นเดือน เพราะฉะนั้นวัคซีนไม่ใช่สูตรสำเร็จ ถึงว่าจะได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว ก็ยังจำเป็นจะต้องเข้าสู่มาตราการเดิม คือ การป้องกันตัวเอง โดยมาตราการก็อาจจะเพลาลงบ้างตามสถานการณ์
นพ.ทวี กล่าวด้วยว่า วัคซีนที่ทั่วโลกยอมรับในขณะนี้ คือวัคซีนที่ใช้ในภาวะฉุกเฉิน ไม่ใช่ในภาวะปกติ เพราะยังอยู่ระหว่างศึกษา โดยหลักการเลือกวัคซีนโควิดที่จะนำมาใช้ ในฐานะที่เป็นหมอเด็ก และเป็นบุคคลที่ใช้และศึกษาวิจัยวัคซีนในระยะเวลา 30-40 ปี ถือว่าวัคซีนเป็นชีววัตถุที่ฉีดเข้าสู่ร่างกาย เพราะฉะนั้นความปลอดภัยจะต้องเป็นสิ่งที่คำนึงถึงเป็นอันดับที่หนึ่ง อันดับที่สองคือระดับการมีประสิทธิภาพที่รับได้ ยกตัวอย่างเช่น กรมอนามัยโลกบอกว่า วัคซีนโควิด-19 อย่างน้อยจะต้องมีประสิทธิภาพร้อยละ 50 ขึ้นไป หรือวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ฉีดกันประจำทุกปีนั้น ก็มีประสิทธิภาพอยู่ระหว่างร้อยละ 40-70 แตกต่างกันตามแต่ละปี และอันดับที่สาม คือ ราคา เนื่องจากตอนนี้ผู้ผลิตวัคซีนหรือผลิตสินค้านี้เป็นฝ่ายมีอำนาจมากกว่า ทำให้ราคาค่อนข้างสูงมาก แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเป็นความจำเป็นของประเทศก็จะมีการจัดซื้อเพื่อแจกจ่ายให้กับประชาชน
ส่วนเรื่องผลสำเร็จของวัคซีนนั้นไม่สามารถตอบได้ เพราะอยู่ในช่วงของการศึกษาเพราะสถาการณ์โควิดเป็นภาวะฉุกเฉินทำให้ไม่สามารถรอได้ แต่จะคำนึงถึงแง่ของความปลอดภัยเป็นที่สุด ทั้งนี้หน่วยงานภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานทางการเมือง หรือทางการแพทย์ ได้ติดตามข่าวสารของวัคซีน และพูดคุยเพื่อการนำเข้ามาในประเทศมาตั้งแต่ต้น แต่เนื่องจากติดปัญหาหลายด้าน หนึ่งในนั้นคือปัญหาทางด้านกฎหมาย อีกปัญหาคือการสั่งจองวัคซีน โดยเป็นการจองวัคซีนในช่วงระหว่างการวิจัย หากวิจัยล้มเหลวก็ไม่ได้เงินคืน ทำให้ติดขัดเรื่อยมา
@วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าผ่าน อย.-ยันมีความปลอดภัย
นพ.ทวี กล่าวต่อไปว่า วัคซีนโควิด-19 ตัวแรกในประเทศไทย คือ ของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า รับผิดชอบโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แต่กว่าจะอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนได้นั้น จะมีคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายเป็นผู้พิจารณา เช่น ฝ่ายคุณภาพ ที่จะต้องดูแม้กระทั่งว่าโรงงานที่สร้างถูกหลักเกณฑ์หรือไม่ วัคซีนที่ผลิตออกมาใน 3-4 ล็อตต้องเหมือนกัน ฝ่ายดูในสัตว์ พิจารณาเรื่องความเป็นพิษ และฝ่ายทางการแพทย์ ซึ่งตนเองอยู่ในชุดนี้ โดยเอกสารที่บริษัทแอสตร้าเซนเนก้า ส่งมาขึ้นทะเบียนเมื่อช่วงปลายปี 2563 นั้นมีประมาณ 18,000 หน้า แต่ถามว่าคณะกรรมการแต่ละท่านแต่ละฝ่ายอ่านทุกหน้าหรือไม่ คำตอบคือไม่ ในส่วนอื่นๆ จะอ่านเฉพาะที่สรุป แต่ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับด้านการแพมย์ที่ตนรับผิดชอบจะต้องอ่านทุกหน้าอย่างละเอียด ซึ่งจะบ่งบอกถึงความปลอดภัยและประสิทธิภาพ
"ขอให้สบายใจว่า วัคซีนที่ผ่านอย. ย่อมมีความปลอดภัย แต่ไม่ 100% และไม่มีวัคซีนตัวไหนที่ฉีดหรือใช้อยู่ปลอดภัย 100% มีแต่มากหรือน้อยแตกต่างกันไป แต่ต้องเป็นผลข้างเคียงอยู่ในระดับยอมรับได้ เมื่อเทียบกับวัคซีนอื่นๆ ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยวัคซีนล็อตแรกที่จะเข้ามา 50,000 โดส จะใช้ในจังหวัดที่ระบาดรุนแรง และกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ฝ่ายอื่นๆที่ทำงานด่านหน้าในพื้นที่เสี่ยงก่อน จ.สมุทรสาคร อ.แม่สอด จ.ตาก และชายแดนใต้ จากนั้นจะเป็นผู้สูงอายุ" นพ.ทวี กล่าว
นพ.ทวี กล่าวย้ำว่า สาเหตุที่ต้องเป็นบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ส่วนหนึ่งเพราะบริษัทนี้มีสิ่งสำคัญที่มีนโยบายไม่เอากำไร แต่ก็ไม่ควรขาดทุน เพราะต้องการผลิตวัคซีนช่วยชาวโลก บริษัทจึงต้องการขยายฐานการผลิตไปในภูมิภาคต่างๆของโลก และมองหาบริษัทที่จะมาเป็นฐานการผลิต โดยในโซนภูมิภาคอาเซียน มีบริษัทเอกชนในไทยและประเทศข้างเคียงหลายแห่งเสนอตัว แต่บริษัทมีเกณฑ์พิจารณาในการเลือก และที่สุดบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า ก็เป็นผู้คัดเลือก บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ของประเทศไทย และเมื่อผลิตวัคซีนออกมาแล้ว ก็จะต้องส่งให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจสอบคุณภาพก่อนที่จะนำมาใช้จริง บ่งบอกให้เห็นว่าในเกณฑ์วิทยาศาสตร์ บริษัทนี้เข้าขั้นมาตรฐาน ไม่เช่นนั้นบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าคงไม่เลือก เพราะฉะนั้นเป็นสิ่งที่คนไทยต้องภาคภูมิใจ
ในเบื้องต้นจะฉีดให้กับหน้าด่านหรือผู้ปฎิบัติงานที่มีความเสี่ยงสูง เช่น บุคลากรทางการแพทย์ และต่อไปเป้าหมายคือ ร้อยละ 50 - 70 ของประชากร ยกเว้น เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ไม่สามารถฉีดได้ โดยลำดับการฉีดให้ผู้สูงอายุก่อน
@ซิโนแวคอยู่ในกระบวนการขึ้นทะเบียน อย.แล้ว
นพ.ทวี กล่าวถึง วัคซีนโควิด-19 ของบริษัทซิโนแวค ว่า เป็นการผลิตโดยเทคโนโลยีเชื้อตายหรือการทำให้เชื้ออ่อนกำลังลง มีการใช้มานานหลาย 10 ปี เพราะฉะนั้น จึงมั่นใจว่ามีความปลอดภัยค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับวัคซีนที่เป็นแพลตฟอร์มใหม่ๆที่เพิ่งวิจัย ซึ่งผลการศึกษาวัคซีนนี้ในประเทศบราซิล ก็พบว่าป้องกันกลุ่มที่อาการรุนแรงร้อยละ 100 ป้องกันกลุ่มอาการรุนแรง ปานกลาง และน้อย ร้อยละ 70 และป้องกันกลุ่มอาการรุนแรง ปานกลาง น้อย และไม่มีอาการได้ราว ร้อยละ 50 นิดๆ ซึ่งส่วนตัวรับได้เพราะผ่านเกณฑ์ขององค์กรอนามัยโลก
อย่างไรก็ตามมีบางคนที่ติดใจและกังขาในประเทศผู้ผลิต แต่วัคซีนในปัจจุบันที่ใช้อยู่ เช่น วัคซีนพิษสุนัขบ้า วัคซีนไข้สมองอักเสบเจอี วัคซีนไวรัสตับอักเสบเอ หรือวัคซีนไวรัสตับอักเสบบี ก็ล้วนผลิตมาจากประเทศจีนทั้งสิ้น ซึ่งเทคโนโลยีของจีนในปัจจุบันไปไกลมาก และที่สำคัญ ก่อนจะนำวัคซีนมาใช้ในประเทศไทย จำเป็นจะต้องผ่านการขึ้นทะเบียนกับ อย. และมีคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญพิจารณาอย่างหนักก่อน เพราะชีวิตคนไทยสำคัญกว่าวัคซีน ซึ่งในขณนี้วัคซีนของซิโนแวคอยู่ในกระบวนการขึ้นทะเบียน อย.แล้ว
นพ. ทวี กล่าวทิ้งท้ายว่า "ยอมรับสถานการณ์การเมืองที่แสดงความคิดเห็น คัดค้านและโจมตีต่างๆ ครั้งนี้หนักที่สุด แต่ในฐานะหมอโรคติดเชื้อ ขอยืนยันว่า วิทยาศาสตร์ไม่เคยเปลี่ยนแปลง และไม่เข้าข้างการเมือง ขอให้ใจร่มๆ โดยจะพยายามเอาข้อมูลมาให้เห็นและ เป็นที่ประจักษ์ คณะกรรมการวิชาการ ของสาธารณสุข ไม่ยุ่งเกี่ยวการเมือง มีจุดยืน และยึดประโยชน์ประชาชนเป็นหลัก"