"...ปัญหาความล่าช้านี้นั้นเกิดขึ้นจากการขาดการสื่อสารระหว่างรัฐบาลกลาง รัฐบาลท้องถิ่นและหน่วยงานสาธารณสุขประจำท้องที่ต่างๆ ปัญหาการไม่มีเงินสนับสนุนที่เพียงพอจะรองรับการฉีดวัคซีนที่ใหญ่ขนาดนี้ และปัญหาด้านความสับสนเกี่ยวกับแนวทางของรัฐบาลกลางในการแจกจ่ายวัคซีน..."
......................
สืบเนื่องจากการเข้ารับตำแหน่งของนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 20 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยสิ่งแรกหลังจากที่นายไบเดนเข้ารับตำแหน่งก็คือการเซ็นคำสั่งต่างๆรวมไปถึงคำสั่งที่เกี่ยวกับการรับมือสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 หรือโคโรน่าไวรัส รวมไปถึงการประกาศว่าภายใน 100 วันนับจากวันที่ได้เข้าดำรงตำแหน่ง ชาวสหรัฐฯจะต้องได้รับการฉีดวัคซีนเป็นจำนวน 100 ล้านโดส
อย่างไรก็ตาม เว็บไซต์ www.scientificamerican.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์รายงานข่าวด้านแวดวงวิทยาศาสตร์ของสหรัฐอเมริกาได้อ้างอิงรายงานจากมูลนิธิ Kaiser Family Foundation ที่ระบุว่าภารกิจการฉีดวัคซีนของนายไบเดนนั้นถือว่าไม่ใช่เรื่องง่าย
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เรียบเรียงข้อมูลมานำเสนอ ณ ที่นี้
ในประวัติศาสตร์การดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯที่ผ่านมานั้น ประธานาธิบดีสหรัฐฯ มักจะมีคำสัญญาเรื่องสำคัญตามมาหลังจากการดำรงตำแหน่ง อาทิ ประธานาธิบดีจอห์น เอฟ เคนเนดี้ก็มีคำสัญญาว่าจะไปดวงจันทร์ หลังจากเข้ารับตำแหน่งได้ไม่กี่เดือน แต่ก็มีประธานาธิบดีบางคนที่ไม่สามารถทำตามคำสัญญานั้นได้ อาทิ ประธานาธิบดีบิล คลินตัน ที่ไม่สามารถจะดำเนินการนโยบายระบบประกันสุขภาพได้อย่างครอบคลุม หรือประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิล ยู บุช ที่ไม่สามารถจะทำตามสัญญาเรื่องการไม่เพิ่มภาษีได้
ณ เวลานี้ มีการระบาดในระดับศตวรรษเกิดขึ้น นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯก็ได้รับปากว่าจะดำเนินการให้มีการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ในระดับศตวรรษเกิดขึ้นในช่วงระยะเวลา 100 วันแรก ที่ดำรงตำแหน่ง
“ทีมนี้จะดำเนินการช่วยเหลือ จะต้องมีการฉีดวัคซีนเป็นจำนวน 100 ล้านครั้ง เข้าสู่แขนของประชาชนอเมริกัน ในช่วงเวลา 100 วันแรก” นายไบเดนกล่าวเมื่อวันที่ 8 ธ.ค. ในงานแถลงข่าวเพื่อเปิดตัวทีมงานที่จะรับผิดชอบด้านสาธารณสุข
เมื่อถูกถามย้ำเกี่ยวกับคำมั่นสัญญาดังกล่าว ทีมงานของนายไบเดนกล่าวว่า คำสัญญาของประธานาธิบดีนั้นหมายความว่าชาวอเมริกันจำนวน 50 ล้านคนจะได้รับการฉีดวัคซีนจำนวน 2 โดส โดยทีมผู้บริหารซึ่งจะรับตำแหน่งหลังจากนี้จะชี้แจงรายละเอียดอีกทีหนึ่ง แต่ขอยืนยันจะไม่มีการกักวัคซีนในโดสที่ 2 อย่างแน่นอน
อ้างอิงวิดีโอจาก Bloomberg Quick News
อย่างไรก็ตาม พญ.แคลร์ แฮนนาน ผู้บริหารสมาคมการจัดการการฉีดวัคซีนกล่าวว่า เป้าหมายของนายไบเดนนั้นถือว่าเป็นเรื่องยากมาก และเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างยิ่ง
ขณะที่ นพ.แลร์รี่ เลวิทท์ รองประธานนโยบายด้านสุขภาพที่มูลนิธิ Kaiser Family Foundation ได้กล่าวว่า การเพิ่มจำนวนการฉีดวัคซีนให้ได้ 1 ล้านโดสต่อวันนั้นถือเป็นการเพิ่มจำนวนจากสิ่งที่เราได้ดำเนินการอยู่แล้ว โดยจะเป็นการเพิ่มอัตราการฉีดวัคซีนเป็นจำนวนที่มหาศาลเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งแม้ว่าทีมงานของนายไบเดนจะมีแผนการสำหรับการปันส่วน กระจายวัคซีน แต่การเพิ่มอัตราการแจกจ่ายวัคซีนในช่วงเวลาที่รวดเร็วแบบนี้ถือเป็นภารกิจที่ยากเป็นอย่างยิ่ง
ย้อนไปในช่วงของการบริหารของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ การดำเนินการแจกวัคซีนนั้นเป็นไปโดยล่าช้ากว่าแผนของนายไบเดนมาก
โดยข้อมูลจากศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐฯ (ซีดีซี)ระบุว่ากระบวนการแจกจ่ายนั้นเริ่มต้นเมื่อประมาณวันที่ 14 ธ.ค. และหลังจากนั้นก็มีการฉีดวัคซีนจำนวน 12 ล้านโดส และมีการขนส่งวัคซีนอีกเป็นจำนวนทั้งสิ้น 31 ล้านโดส
ปัญหาความล่าช้านี้เกิดขึ้นจากการขาดการสื่อสารระหว่างรัฐบาลกลาง รัฐบาลท้องถิ่นและหน่วยงานสาธารณสุขประจำท้องที่ต่างๆ ปัญหาการไม่มีเงินสนับสนุนที่เพียงพอจะรองรับการฉีดวัคซีนที่ใหญ่ขนาดนี้ และปัญหาด้านความสับสนเกี่ยวกับแนวทางของรัฐบาลกลางในการแจกจ่ายวัคซีน
โดยผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ปัญหาที่ว่านี้ก็อาจจะทำให้ทีมบริหารงานของนายไบเดนอาจต้องพบกับหายนะเช่นเดียวกัน
ขณะที่ทางด้านของ นพ.มาร์คัส พเลสเซีย หัวหน้าเจ้าหน้าที่ทีมแพทย์จากสมาคมบุคลากรการแพทย์ท้องถิ่นในระดับรัฐ กล่าวว่า รัฐแต่ละรัฐนั้นยังมีความไม่มั่นใจว่าเขาจะได้รับวัคซีนเท่าไร จะมีจำนวนวัคซีนที่เพียงพอไหม
“เราได้รับข้อมูลที่น้อยมากเกี่ยวกับจำนวนของวัคซีนที่แต่ละรัฐจะได้รับในอนาคตอันใกล้นี้ และไม่แน่ใจว่าการฉีดวัคซีนจำนวนมากกว่า 1 ล้านโดสต่อวันจะเป็นเรื่องที่เป็นไปได้หรือไม่หรือก็คือไม่แน่ใจเลยว่าในระยะเวลาเบื้องต้นในช่วง 100 วันแรกนั้นจะสามารถดำเนินการฉีดวัคซีนวันละ 1 ล้านโดสได้” นพ.พเลสเซียกล่าว
อ้างอิงวิดีโอจาก CNBC
ความท้าทายอีกประการหนึ่งก็คือการขาดเงินสนับสนุน หน่วยงานด้านสาธารสุขสาธารณะนั้นจะต้องมีภารกิจหลายด้านรวมไปถึงการดำเนินแคมเปญฉีดวัคซีน พร้อมกับการดำเนินการศูนย์ตรวจโรคโควิด-19 การติดตามตัวผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 ด้วยสภาพงบการเงินที่มีปัญหา และถูกละเลยความสำคัญด้านงบประมาณมาเป็นเวลานานหลายปี
ขณะที่ พญ.เจนนิเฟอร์ เคทส์ ผู้อำนวยการนโยบายสุขภาพในระดับโลกและนโยบายด้าน HIV ที่มูลนิธิ Kaiser Family Foundation กล่าวว่า รัฐนั้นเป็นผู้ที่ต้องจ่ายเงินเพื่อที่จะสร้างระบบ การระบุตัวตน การฝึกสอนบุคลากร รวมไปถึงการสร้างระบบการให้ข้อมูลผู้ที่จะได้รับการฉีดวัคซีน หรือสรุปก็คือพวกเขาต้องสร้างโครงข่ายการฉีดวัคซีนขนาดใหญ่ในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน บนรากฐานของระบบสุขภาพที่มีความสั่นคลอนนั่นเอง
โดยแพคเกจความช่วยเหลือด้านโควิด-19 ล่าสุดที่ได้มีการอนุมัติเป็นกฎหมายงบประมาณในช่วงเดือน ธ.ค. มีการจัดสรรงบประมาณไปแล้ว 9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (269,959,500,000 บาท) ให้กับซีดีซีเพื่อจะดำเนินการฉีดวัคซีน ซึ่งงบประมาณจำนวนกว่า 4.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (135,000,000,000 บาท) ควรจะลงมาที่รัฐ หน่วยงานย่อยในระดับต่างๆ และงบประมาณอีก 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (90,006,000,000 บาท) ควรจะมาถึงในอีกไม่นานนี้
แต่ ณ เวลานี้ก็ยังไม่ชัดเจนว่าระดับการจ่ายเงินสนับสนุนเท่าไรถึงจะเพียงพอกับการฉีดวัคซีนจำนวนมากให้กับกลุ่มคนซึ่งจะมีสิทธิเข้ารับการฉีดวัคซีนมากขึ้นเรื่อยๆ
ขณะที่นายไบเดน ได้เปิดเผยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาถึงแผนการเงินกว่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (57 ล้านล้านบาท) เพื่อรับมือกับทั้งสถานการณ์โควิดและช่วยเหลือทางด้านเศรษฐกิจเอาไว้
โดยแผนการเงินที่ว่านี้นั้นจะรวมถึง การจัดสรรงบประมาณกว่า 1.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (4.8 ล้านล้านบาท) ในการสร้างแผนการฉีดวัคซีนและการตรวจโควิดในระดับชาติ
ซึ่งแม้ว่ากระบวนการผ่านกฎหมายงบประมาณช่วยเหลือโควิดฉบับที่ผ่านมาจะต้องใช้เวลาในรัฐสภานานเกือบ 8 เดือน หลังจากที่พรรครีพับลิกันที่มีการคัดค้านร่างกฎหมาย เพราะมองว่ามีค่าใช้จ่ายที่สูงเกินไป
แต่ ณ เวลานี้ นายไบเดนยังคงมองโลกในแง่ดี และเชื่อว่าพรรครีพับลิกันในครั้งนี้น่าจะเห็นชอบกับแผนการช่วยเหลือ
อย่างไรก็ตาม มีอีกประเด็นก็คือกระบวนการถอดถอนอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่กำลังดำเนินการอยู่ในรัฐสภานั้นอาจจะขัดขวางกระบวนการอนุมัติแผนการช่วยเหลือของนายไบเด้นได้
นอกจากนี้ รัฐต่างๆยังได้ร้องเรียนเกี่ยวกับกรณีการขาดคําแนะนํา และการให้คำแนะนำที่สับสนว่ากลุ่มใดควรได้รับสถานะลําดับความสําคัญสําหรับการฉีดวัคซีนเป็นลำดับแรกๆ ซึ่งนี่ก็เป็นอีกปัญหาที่ทีมบริหารของนายไบเดนจำเป็นต้องแก้ไข
ย้อนไปเมื่อวันที่ 3 ธ.ค. ซีดีซีได้แนะนําว่าบุคลากรด้านการดูแลสุขภาพ,ผู้เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลระยะยาว, ผู้ที่มีอายุ 75 ปีขึ้นไปและผู้ที่อยู่ในแนวหน้าเพื่อรับมือกับโรคระบาดควรได้รับการฉีดวัคซีนก่อน
แต่ในวันที่ 12 ม.ค. ซีดีซี ได้มีการเปลี่ยนแปลง โดยออกคำแนะนําให้ทุกคนที่มีอายุมากกว่า 65 ปีควรได้รับการฉีดวัคซีน
ขณะที่ในการกล่าวสุนทรพจน์ของนายไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯได้ให้รายละเอียดแผนการฉีดวัคซีนว่า เขาจะปฏิบัติตามคําแนะนําของซีดีซีซึ่งแนะนำให้จัดลำดับความสําคัญการฉีดวัคซีนให้กับผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี
ส่วนทางด้านของนายอเล็ก อาซาร์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในสมัยรัฐบาลของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้เคยออกคำแนะนำในช่วงวันที่ 12 ม.ค. ว่า รัฐใดที่มีศักยภาพในการดำเนินการแจกวัคซีนได้อย่างรวดเร็วจะถูกเน้นให้ความสำคัญ และจะได้รับวัคซีนมากขึ้น ซึ่งก็ไม่รู้ว่า ณ เวลานี้นั้น ซีดีซี ภายใต้การทำงานของรัฐบาลนายไบเดนจะดำเนินการตามคำแนะนำนี้หรือไม่
อย่างไรก็ตาม นักวิจารณ์ได้กล่าวว่าแนวทางการแจกวัคซีนเช่นนี้จะเป็นการลดโอกาสการเข้าถึงวัคซีนอย่างเท่าเทียมลงไปอีก
ขณะที่ พญ.แคลร์ แฮนนาน ผู้บริหารสมาคมการจัดการการฉีดวัคซีน กล่าวว่า การแก้ปัญหาเรื่องเหล่านี้นั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีแผนการอันมีวิสัยทัศน์และการสื่อสารที่ชัดเจน ถึงจะสามารถเพิ่มโอกาสการเข้าถึงวัคซีนในหมู่ประชาชนสหรัฐฯได้
“ทุกคนจำเป็นต้องไดัรับการสื่อสารที่ชัดเจน มีความเข้าใจว่าอะไรคือเป้าหมาย และจะบรรลุเป้าหมายการฉีดวัคซีนได้อย่างไร” พญ.แฮนนานกระบุ
เรียบเรียงจาก:https://www.scientificamerican.com/article/biden-aims-for-100-million-covid-vaccinations-in-first-100-days/
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/