ณ เวลานี้ยังคงไม่มีคำตอบที่ชัดเจนสำหรับคำถามนี้ และตามตัวบทของรัฐธรรมนูญเองก็ไม่ได้ให้คำจำกัดความเรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจนเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ไม่เคยมีประธานาธิบดีคนใดที่พยายามจะอภัยโทษให้ตัวเองมาก่อน ดังนั้นก็เลยไม่จำเป็นที่จะต้องไปถึงศาลเพื่อให้ดำเนินการตัดสิน แต่ในกรณีของนายทรัมป์ได้มีการทวีตข้อความบนทวิตเตอร์ไว้ชัดเจนในปี 2561 ว่าตัวเขามีสิทธิเต็มรูปแบบในการให้อภัยโทษแก่ตัวเอง ขณะที่ทางโฆษกทำเนียบขาวเองก็ออกมาปฏิเสธถึงความเป็นไปได้ในการอภัยโทษตัวเองของนายทรัมป์
.....................
สืบเนื่องจากที่ปรากฎเป็นข่าวไปทั่วโลกว่านายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเตรียมออกกฎหมายอภัยโทษและลดโทษประมาณ 100 ฉบับ ในวันที่ 19 ม.ค. ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่นายทรัมป์จะทำงานในตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ
โดยมีรายงานระบุว่า การอภัยโทษและลดโทษนี้จะมีผลกับอาชญากรคอปกขาว (ผู้กระทำผิดที่เคยเป็นคนที่มีการงานดีหรือหน้าตาในสังคม) แร็ปเปอร์ที่มีชื่อเสียง และผู้กระทำผิดคนอื่นๆ แต่ขณะนี้ยังคาดว่าอภัยโทษจะไม่รวมตัวนายทรัมป์เอง
จากกรณีดังกล่าวนั้นทางด้านของสำนักข่าวรอยเตอร์ได้เขียนบทวิเคราะห์เอาไว้ว่าการที่นายทรัมป์จะอภัยโทษตัวเองนั้นค่อนข้างมีอุปสรรคอยู่ และถ้าหากทำได้ก็ยังคงไม่ช่วยเหลือนายทรัมป์ในประเด็นการต่อสู้ทางกฎหมายในหลายคดี โดยสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้นำเอารายงานดังกล่าวมานำเสนอดังนี้
@การอภัยโทษตัวเองเป็นการผิดรัฐธรรมนูญหรือไม่?
ณ เวลานี้ยังคงไม่มีคำตอบที่ชัดเจนสำหรับคำถามนี้ และตามตัวบทของรัฐธรรมนูญเองก็ไม่ได้ให้คำจำกัดความเรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจนเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ไม่เคยมีประธานาธิบดีคนใดที่พยายามจะอภัยโทษให้ตัวเองมาก่อน ดังนั้นก็เลยไม่จำเป็นที่จะต้องไปถึงศาลเพื่อให้ดำเนินการตัดสิน แต่ในกรณีของนายทรัมป์ได้มีการทวีตข้อความบนทวิตเตอร์ไว้ชัดเจนในปี 2561 ว่าตัวเขามีสิทธิเต็มรูปแบบในการให้อภัยโทษแก่ตัวเอง ขณะที่ทางโฆษกทำเนียบขาวเองก็ออกมาปฏิเสธถึงความเป็นไปได้ในการอภัยโทษตัวเองของนายทรัมป์
ส่วนนักวิชาการหลายรายได้ออกมาให้ความเห็นเช่นกันว่าการอภัยโทษตัวเองนั้นถือเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ ในหลักการพื้นฐานว่าไม่ควรมีใครเป็นผู้ตัดสินคดีของตัวเอง
แต่ก็นักวิชาการบางรายบอกว่าการอภัยโทษตัวเองนั้นชอบแล้วตามรัฐธรรมนูญ เพราะว่าอำนาจการอภัยโทษนั้นเป็นสิ่งที่ระบุไว้โดยทั่วไปในรัฐธรรมนูญ ซึ่งจากบันทึกทางประวัติศาสตร์ก็ได้มีการระบุว่าเคยมีการหารือเรื่องการอภัยโทษตัวเองในช่วงคริสศตวรรษที่ 18 แต่ก็ไม่ได้มีการกำหนดขอบเขตที่ชัดเจนของอำนาจการอภัยโทษของประธานาธิบดีเอาไว้
ขณะที่นายแฟรงค์ โบว์แมน ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายมหาวิทยาลัยมิสซูรี่กล่าวว่าในรัฐธรรมนูญได้ระบุเอาไว้ว่าประธานาธิบดีนั้นจะมีอำนาจในการพักการลงโทษและการอภัยโทษต่อความผิดซึ่งได้กระทำต่อประเทศสหรัฐอเมริกา ยกเว้นว่าก็แต่กรณีการถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง ซึ่งจากคำว่าพักการลงโทษและการอภัยโทษนั้นก็เป็นการสื่อสารอย่างเป็นนัยอยู่แล้วว่าอำนาจของประธานาธิบดีในการอภัยโทษนั้นถูกจำกัดได้เช่นกัน
อ้างอิงวิดีโอจาก NBC New York
โดยครั้งสุดท้ายที่กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯต้องประสบปัญหาต่อการตีความข้อกฎหมายนี้ก็คือในปี 2517 ซึ่งมีการสรุปข้อสรุปว่ามันจะเป็นการผิดรัฐธรรมนญถ้าหากอดีตประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน จะนิรโทษตัวเอง ซึ่งในปีดังกล่าวประธานาธิบดีนิกสันก็ได้ลาออกหลังจากเผชิญข้อครหาคดีวอเตอร์เกต
"ตามหลักการพื้นฐานของกฎหมาย ไม่ควรมีใครเป็นผู้ที่ตัดสินคดีของตัวเอง ดังนั้นประธานาธิบดีก็ไม่ควรจะนิรโทษตัวเอง" ฝ่ายกฎหมายกระทรวงยุติธรรมระบุในบันทึก
แต่ในบันทึกดังกล่าวก็ได้ระบุว่าประธานาธิบดีสหรัฐฯนั้นสามารถลงจากตำแหน่งเป็นการชั่วคราว ได้รับการอภัยโทษจากรองประธานาธิบดีและสามารถกลับมาดำรงตำแหน่งได้เช่นกัน
โดยอำนาจการอภัยโทษจากประธานาธิบดีนั้นจะครอบคลุมแค่ความผิดอาญาที่กำหนดโดยกฎหมายสหรัฐฯเท่านั้น แต่จะไม่ไปครอบคลุมถึงความผิดในระดับรัฐ
@การอภัยโทษตัวเองจะถูกตีความในชั้นศาลในรูปแบบไหน?
ที่ผ่านมามีผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายระบุว่าภายใต้กฎหมายสหรัฐฯนั้น ศาลไม่มีอำนาจในการออกข้อคิดเห็น ในกรณีที่ศาลจะพิจารณาถึงความชอบธรรมของการนิรโทษกรรมตัวเองได้นั้น กระทรวงยุติธรรมจำเป็นต้องดำเนินคดีกับนายทรัมป์ในข้อหาทางอาญา และหลังจากนั้นนายทรัมป์จึงจะออกกฎหมายอภัยโทษตัวเองเท่านั้น
ส่วนทางด้านของนายเจสสิก้า เลวินสัน ศาสตราจารย์จากวิทยาลัยกฎหมายโลโยล่าในแคลิฟอร์เนียกล่าวว่าการนิรโทษกรรมตัวเองนั้นอาจจะเป็นการเรียกแขก ดึงให้อัยการเข้ามาดำเนินคดีกับนายทรัมป์ก็ได้ ด้วยข้อสงสัยว่านายทรัมป์ปิดบังอะไรอยู่จึงต้องออกกฎหมายอภัยโทษตัวเอง
@ทำไมนายทรัมป์ต้องอภัยโทษตัวเอง?
ต้องยอมรับว่าหลังจากนี้นายทรัมป์อาจต้องเจอกับศึกหนักทางกฎหมายในหลายด้าน โดยผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายบางรายชี้ให้เห็นว่าอย่างกรณีที่ในวันที่ 2 ม.ค.ที่ผ่านมาที่นายทรัม์ได้พยายามจะกดดันให้เจ้าหน้าที่ด้านการเลือกตั้งระดับสูงแห่งรัฐจอร์เจียหาคะแนนโหวตให้เพียงพอเพื่อจะพลิกผลการเลือกตั้งในวันที่ 3 พ.ย. ซึ่งกรณีนี้นั้นถือว่าเป็นความผิดทั้งต่อกฎหมายของสหรัฐฯและความผิดต่อกฎหมายในระดับรัฐ
โดยกฎหมายของรัฐจอร์เจียนั้นระบุชัดเจนเกี่ยวกับข้อหาในเรื่องความผิดฐานพยายามชักชวนให้เกิดการโกงการเลือกตั้งขึ้น ในขณะที่กฎหมายของสหรัฐฯระบุถึงฐานความผิดในข้อหาการกีดกันหรือฉ้อโกงไม่ให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งทำหน้าที่กำกับดูแลการเลือกตั้งได้อย่างยุติธรรม
ซึ่งข้อกล่าวหาดังกล่าวนั้น นายทรัมป์อาจจะตอบโต้ได้ว่าเป็นแค่ความเห็นของเขาที่ส่งไปถึงเจ้าหน้าที่ที่กำกับดูแลการเลือกตั้งเท่านั้น แต่เขาไม่ได้ไปออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่คนนั้นไปแทรกแซงการเลือกตั้งแต่อย่างใด
ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายอีกส่วนหนึ่งกล่าวว่านายทรัมป์อาจเจอความเสี่ยงทางกฎหมายจากกรณีการใช้คำพูดปลุกระดมที่รุนแรงต่อกลุ่มผู้สนับสนุนนับพันคนในวันที่ 6 ม.ค. ก่อนที่กลุ่มผู้ชุมนุมเหล่านี้จะเข้ายึดอาคารแคปิตัล (อาคารรัฐสภา) เพื่อขัดขวางกระบวนการทางสภาเพื่อรับรองนายโจ ไบเด้นขึ้นเป็นประธานาธิบดี ซึ่งนี่เป็นเหตุทำให้มีผู้เสียชีวิตจากเหตุความวุ่นวายเป็นจำนวน 5 ราย
อย่างไรก็ตาม นักกฎหมายได้ให้ความเห็นเอาไว้ว่านายทรัมป์อาจจะออกมาอ้างได้เช่นกันว่าการกระทำของเขานั้นถูกปกป้องโดยรัฐธรรมนูญไว้แล้ว ในส่วนของเสรีภาพในด้านการพุดในที่สาธารณะ
นายโดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวกับผู้ชุมนุมที่หน้าทำเนียบขาวก่อนที่จะมีการเข้ายึดอาคารแคปิตัล (อ้างอิงวิดีโอจาก BBC News)
ข้อหาความผิดในระดับรัฐอีกข้อหาหนึ่งที่นายทรัมป์ต้องเผชิญ ก็คือกรณีที่นายไซรัส แวนซ์ อัยการเขตแมนฮัตตันได้เป็นผู้ดำเนินการสอบสวนธุรกิจของนายทรัมป์ว่ามีกลไกการเลี่ยงภาษีหรือไม่ ซึ่งแม้เวลานี้จะไม่มีการตั้งข้อหาแต่อย่างใด แต่ทางนายทรัมป์ก็ได้กล่าวหาว่าการสอบสวนนี้นั้นมีเหตุจูงใจทางการเมือง
@คำว่าอภัยโทษตัวเองนั้นกว้างแค่ไหน?
ที่ผ่านมามีประวัติการใช้คำว่าอภัยโทษค่อนข้างกว้างมาก อดีตประธานาธิบดีนิกสันเคยได้รับสิ่งที่เรียกว่าการอภัยโทษอย่างเต็มที่และไม่มีรูปแบบจากประธานาธิบดีเจอรัลด์ ฟอร์ด โดยประธานาธิบดีเจอรัลด์ ฟอร์ดได้มีการอภัยโทษให้กับความผิดของประธานาธิบดีนิกสันด้วยนิยามคำว่า "ในทุกๆความผิดที่เขาอาจจะได้กระทำต่อสหรัฐอเมริกาในช่วงเวลาที่ยังดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี"
ขณะที่ศาลสูงสุดสหรัฐฯเองก็ไม่เคยมีคำตัดสินว่าการอภัยโทษอย่างกว้างที่ว่ามานี้ชอบธรรมด้วยกฎหมายหรือไม่ จึงทำให้จนถึงปัจจุบัน ก็มีผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายถกเถียงกันอยู่ว่าเจตนาของผู้ร่างกฎหมายในส่วนของอำนาจของการอภัยโทษของประธานาธิบดีนั้นควรจะมีการเจาะจงกันให้ชัดเจน ทั้งในประเด็นเรื่องข้อจำกัดและขอบเขตของการอภัยโทษ
@การอภัยโทษสามารถออกล่วงหน้าได้หรือไม่?
คำว่าอภัยโทษนั้นไม่สามารถครอบคลุมและคุ้มครองไปถีงความผิดที่ได้มีการกระทำในอนาคตหลังจากการออกกฎหมายอภัยโทษแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม การอภัยโทษนั้นจะครอบคลุมไปถึงการกระทำความผิดซึ่งยังไม่ได้ถูกตัดสินและเสร็จสิ้นกระบวนการทางยุติธรรม
ยกตัวอย่างเช่นกรณีการอภัยโทษอดีตประธานาธิบดีนิกสันเป็นต้น หรืออย่างกรณีที่ในช่วงปี 2520 ที่ประธานาธิบดีจิมมี่ คาร์เตอร์ได้ใช้อำนาจอภัยโทษช่วงหน้ากับชาวอเมริกันนับพันคนที่หนีหมายเกณฑ์ทหารไปรบในสงครามเวียดนามเป็นต้น
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage