"...หากได้รับเงินเยียวยาจากภาครัฐ 5,000 บาท เหมือนเดิมกับการระบาดระลอกแรกก็คงดี แต่ก็แล้วแต่กรณีของแต่ละร้านด้วย เนื่องจากหากเป็นร้านอาหารยามค่ำที่ได้รับผลกระทบจากมาตราการห้ามนั่งรับประทานอาหารหลัง 21.00 น. เราเองคิดว่า 5,000 บาท ก็อาจไม่เพียงพอ..."
.....................................................
ประชาชนผู้มีรายได้น้อย ถือเป็นอีกกลุ่มที่ได้รับความเดือดร้อนจากการสถานการณ์โควิด โดยในการระบาดระลอกแรกเมื่อมีมาตราการ 'ล็อกดาวน์' นั้น ภาครัฐได้มีมาตรการเยียวยากลุ่มผู้มีรายได้น้อยมีจำนวนกว่า 15 ล้านราย ผ่านโครงการ 'เราไม่ทิ้งกัน' เช่นเดียวกับเกษตรกรที่ได้รับการเยียวยาจาก www.เยียวยาเกษตรกร.com ซึ่งเป็นจ่ายเงินช่วยเหลือคนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน รวม 15,000 บาท
ขณะที่การระบาดระลอกสองนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม สั่งการให้ทีมเศรษฐกิจจัดทำโครงการ 'เราชนะ' เพื่อเยียวยากลุ่มผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน ประกอบด้วย ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐหรือบัตรคนจน ผู้มีรายได้น้อยจากโครงการคนละครึ่ง กลุ่มเกษตรกร และผู้ประกอบอาชีพอิสระที่มีรายได้น้อย ประมาณ 30-35 ล้านราย ด้วยการจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับผู้ที่ได้รับสิทธิคนละ 3,500 บาท เป็นเวลา 2 เดือน รวม 7,000 บาท ซึ่งจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนรี (ครม.) พิจารณาในวันที่ 19 ม.ค.2564 และคาดว่าจะมีใช้ช่องทางการลงทะเบียนผ่าน www.เราชนะ.com หลังจากนี้
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ลงพื้นที่สำรวจเสียงสะท้อนจากภาคประชาชนถึงมาตรการเยียวยาครั้งใหม่ พบว่า ประชาชนผู้เคยได้รับสิทธิ 'เราไม่ทิ้งกัน' ที่กำลังตั้งตารอคอยมาตราการโครงการ 'เราชนะ' ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า "แม้เงินเยียวยาจะไม่เพียงพอต่อความต้องการ แต่ก็ยังดีกว่าไม่ได้อะไรเลย"
(นายปัณณวิชญ์ ศรีสุวรรณ)
นายปัณณวิชญ์ ศรีสุวรรณ พนักงานขับรถแท็กซี่ กล่าวว่า ตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด รายได้ก็หายไปเยอะมาก เพราะคนไม่ค่อยออกจากบ้าน จึงไม่โดยสารรถแท็กซี่กัน
จากเดิมเคยมีรายได้วันละ 1,200-1,500 บาท ปัจจุบันเหลือรายได้วันละ 400-600 บาท หรือบางวันแม้แต่ 50 บาท ก็ยังหาไม่ได้ เพราะไม่มีผู้โดยสาร ทำให้ช่วงที่ผ่านมาต้องค้างค่าเช่ารถ ค่าแก๊ส และค่าเช่าบ้าน แม้ว่าอู่แท็กซี่จะมีมาตรการช่วยเหลือ ลดค่าเช่าให้แล้วก็ตาม แต่ถึงที่สุดก็ยังไม่มีรายได้เพียงพอที่จะครอบคลุมถึงรายจ่าย
"ขนาดในช่วงล็อกดาวน์ ได้มา 5,000 บาท ก็ยังไม่พอ ช่วงนี้ก็ยังแย่ เราก็พูดไม่ออก เศรษฐกิจแบบนี้มันก็แย่เหมือนกัน บางคนได้ บางคนไม่ได้ ยอมรับตรงๆ ว่ารอบนี้ 3,500 บาท ก็คงไม่พอ แต่ดีกว่าไม่ได้อะไรเลย" นายปัณณวิชญ์ กล่าว
ทั้งนี้ นายปัณณวิชญ์ กล่าวอีกว่า หากได้รับเงินเยียวยาครั้งนี้จะสำรองไว้จ่ายค่าเช่าบ้าน ค่าแก๊สก่อน อย่างไรก็ตามหากภาครัฐสามารถจ่ายเงินเยียวยาเพิ่มเป็นเดือนละ 5,000 บาทได้ก็คงดี
(นางสุนีย์ โคตรศรีเมือง)
สอดคล้องกับ นางสุนีย์ โคตรศรีเมือง แม่ค้าหาบเร่ เล่าให้ฟังว่า ถึงแม้ว่าเราจะเคยได้รับเงินเยียวยาครั้งที่แล้ว แต่ต้องยอมรับว่า ช่วงที่มีการล็อกดาวน์ขายของไม่ได้ แต่ละวันไม่เคยคุ้มต้นทุน เราตัดสินใจเดินทางกลับต่างจังหวัด หลังจากนั้นนั้นก็ต้องใช้วิถีพอเพียง คือมีอะไรที่บ้านเราก็ต้องกิน เช่น ในน้ำมีปลา เราก็ต้องกินปลา จะเลือกซื้ออาหารเหมือนเดิมก็คงไม่ได้ เนื่องจากเราต้องเลี้ยงดูคนทั้งครอบครัว
นางสุนีย์ กล่าวต่อว่า ตอนนี้แม้ภาครัฐจะไม่มีประกาศล็อกดาวน์แล้ว แต่รายได้ก็ลดลงจากเดิมไปกว่าครึ่ง จากเดิมที่เคยขายของได้กำไร 1,000-1,500 บาท มาถึงตอนนี้บางวันมีรายได้ไม่ถึงค่าแรงขั้นต่ำด้วยซ้ำ เนื่องจากลูกค้ากลับต่างจังหวัดกันไปหมด ทำให้เราต้องสร้างฐานลูกค้าใหม่อีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม นางสุนีย์เปิดใจว่า "หากได้รับ 3,500 บาท ยอมรับว่าก็คงไม่เพียงพอที่จะนำไปใช้จ่าย ในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ แต่อย่างน้อยเราก็ยังมีรายได้เก็บไว้ส่งให้ลูกเรียน แล้วก็เอาไปใช้ภายในครอบครัวได้บ้าง" นางสุนีย์ กล่าว
(นายสุพัฒน์ จันท่าม่วง)
ขณะที่พ่อค้าร้านขนมจีบ นายสุพัฒน์ จันท่าม่วง ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโควิดเช่นเดียวกัน เปิดใจว่า ตนเองตกงาน ตั้งแต่เกิดการระบาดครั้งแรก ก่อนผันตัวมาเปิดร้านขายขนมจีบเพื่อหาเลี้ยงชีพ อย่างไรก็ตามช่วงที่มีล็อกดาวน์ ก็ต้องปิดร้าน ขายของไม่ได้ และต้องเดินทางกลับภูมิลำเนา เพราะไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพมหานครได้ เนื่องจากมีค่าครองชีพสูง
อย่างไรก็ตาม เมื่อสถานการณ์การระบาดภายในกรุงเทพมหานครเริ่มดีขึ้น ตนเองจึงกลับมาทำงานต่อ และใช้โอกาสตระเวนขายตามพื้นที่ที่มีการชุมนุม ซึ่งทำให้ร้านตนเองขายดีมาก แต่ในปัจจุบันเนื่องจากมีมาตรการคุมเข้มป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด ไม่มีการชุมนุมและประชาชนไม่ค่อยออกมาข้างนอก จึงขายได้เพียงวันละ 700-800 บาท แต่ต้นทุนก็ 1,800-2,000 บาทแล้ว
"ในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ ตนเองก็เข้าใจภาครัฐ แม้ว่า 3,500 บาทจะไม่เพียงพอในการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน แต่ก็ยังดีกว่าไม่ได้รับมาตรการเยียวยาเลย มันก็พอจะนำไปเป็นเงินสำรองเป็นต้นทุนการค้าหรือค่าใช้จ่ายส่วนตัวได้บ้าง" นายสุพัฒน์ กล่าว
(นางสาวพิมนิภา พงษ์รี)
ด้าน นางสาวพิมนิภา พงษ์รี แม่ค้าร้านเมี่ยงปลาเผา กล่าวว่า เวลานี้รายได้ลดลงไปครึ่งหนึ่ง ตั้งแต่มีโควิด ก็ขายปลาได้วันละ 20 ตัว จากเมื่อก่อนขายได้ไม่ต่ำกว่า 50 ตัว ทั้งนี้หากได้รับ 3,500 บาทก็คงไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน แต่ว่ามันก็ยังดีที่มีรายได้มาช่วยส่วนหนึ่งเข้ามาจุนเจือต้นทุนของร้าน
"หากได้รับเงินเยียวยาจากภาครัฐ 5,000 บาท เหมือนเดิมกับการระบาดระลอกแรกก็คงดี แต่ก็แล้วแต่กรณีของแต่ละร้านด้วย เนื่องจากหากเป็นร้านอาหารยามค่ำที่ได้รับผลกระทบจากมาตราการห้ามนั่งรับประทานอาหารหลัง 21.00 น. เราเองคิดว่า 5,000 บาท ก็อาจไม่เพียงพอ"
นอกจากนั้นผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ไปสอบถามแรงงานที่ได้รับสิทธิจากประกันสังคม ซึ่งคาดว่าจะเป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับสิทธิ 'เราชนะ' ต่างพบว่า ทุกคนอยากให้ภาครัฐเข้าใจและหันมาช่วยเหลือด้วยเช่นกัน เนื่องจากพิษของโควิดที่ทำให้เศรษฐกินซบเซา ทำให้กลุ่มแรงงานได้รับเงินเดือนลดลง เพราะไม่ได้รับค่าคอมมิชชันและต้องสลับกันหยุด
นางสาวฐิติมา ญาณฐิติกุล บาริสตาแห่งหนึ่ง เปิดใจว่า ตั้งแต่ช่วงโควิดที่ผ่านมาก็ได้รับผลกระทบจากลูกค้าลดลงกว่าครึ่ง ทำให้ไม่ได้รับค่าคอมมิสชัน ซึ่งถือว่าเป็นรายได้เสริมที่ทำให้เรามีเงินออมได้ แม้ที่ผ่านมาจะมีการปรับลดอัตราเงินสมทบประกันสังคมเข้ามาช่วยเหลือ แต่ตนเองก็ไม่รู้จะพูดว่าอย่างไร เข้าใจว่าทุกคนต่างได้รับผลกระทบ แต่อยากให้ภาครัฐหันกลับมามองที่กลุ่มพนักงานผู้ที่จะไม่ได้รับสิทธิบ้าง อยากให้มีมาตราการอื่นเพิ่มขึ้นมาด้วย เพราะตนเองมองว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับสิทธิก็ยังไม่ได้รับมาตราการเยียวยาจากภาครัฐมากเท่าที่ควร อยากให้ภาครัฐเห็นใจด้วยเช่นเดียวกัน
สอดคล้องกับ นางสุนีย์ โคตรศรีเมือง พนักงานบริษัทแห่งหนึ่ง ที่ได้รับผลกระทบรายได้ลดลงกว่าครึ่งเช่นกัน เพราะบริษัทให้สลับวันหยุด ส่วนตัวก็ไม่รู้ชะตาชีวิตว่านายจ้างจะเลิกจ้างเมื่อไร ทุกวันนี้ต้องใช้ชีวิตแบบพอเพียง ซื้อแต่ของที่จำเป็นเท่านั้น เพราะเงินออมตั้งแต่มีการระบาดของโควิดก็ไม่เหลือ
นางสุนีย์ กล่าวอีกว่า ตนเองอายุ 52 ปีแล้ว จะสมัครใช้ 'คนละครึ่ง' หรือ 'เราเที่ยวด้วยกัน' ก็ทำไม่เป็นและทำไม่ทัน จึงได้รับสิทธิประโยชน์เพียงอัตราเงินสมทบจากประกันสังคมเท่านั้น จึงอยากวอนให้ภาครัฐเข้าใจและมีมาตรการช่วยเหลือในส่วนนี้บ้าง
ทั้งหมดเป็นเสียงสะท้อนของประชาชนถึงโครงการ 'เราชนะ' ที่ต่างก็ตั้งหน้าตั้งตารอคอย และเชื่อว่ามั่นว่าจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายจากพิษของโควิดในปัจจุบันได้บ้าง
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage