“...ซึ่งการจะแก้ไขปัญหาหรือเข้าช่วยเหลือได้อย่างตรงจุด คงปฏิเสธไม่ได้ว่าต้องมีความเข้าใจในวิถีชีวิตของชนพื้นเมืองก่อน และการได้เข้าไปสัมผัส หรือเรียนรู้วัฒนธรรม จะเปลี่ยนเป็น 'ความเข้าใจ' และ 'ยอมรับ' ความมีตัวตน ที่จะช่วยให้พวกเขาอยู่ร่วมกันในฐานะประชาชนไทยได้อย่างสันติสุขยั่งยืน...”
..........................................................................
หลังจาก 'พิมรี่พาย' หรือ น.ส.พิมรดาภรณ์ เบญจวัฒนะพัชร์ ยูทูปเบอร์ชื่อดัง นำเสนอคลิป 'สุขสันต์วันเด็ก พิมรี่พายจัดใหญ่ให้น้องบนดอยสูง' เมื่อวันที่ 8 ม.ค.2564 ที่ได้นำข้าวของเครื่องใช้ไปมอบให้กับเด็กที่หมู่บ้านแม่เกิบ ต.นาเกียน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ พร้อมใช้เงินกว่า 5 แสนบาท นำแผงโซลาร์เซลล์เข้าไปติดตั้งในพื้นที่ จนทำให้เรื่องชนพื้นเมือง-กลุ่มชาติพันธุ์ ถูกนำกลับมาพูดกันอีกครั้ง
ข้อถกเถียง-เสียงวิพากษ์วิจารณ์ มีทั้งในทางบวกทางลบ ไม่ว่าจะเป็นการหาคำตอบให้กับปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม ปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าของกลุ่มชาติพันธุ์ รวมถึงสิทธิการเข้าถึงการศึกษา ไฟฟ้า หรือแม้กระทั่งเครื่องอุปโภคบริโภค
ในมุมมองของ ‘ทรงพลศักดิ์ รัตนวิไลลักษณ์’ ชนพื้นเมืองที่รับหน้าที่เป็นผู้จัดการสมาคมปกาเกอญอเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน และนักสิทธิมนุษยชนผู้ปกป้องชนพื้นเมืองบ้านแม่เกิบ กล่าวว่า เดิมชนพื้นเมืองบ้านแม่เกิบอาศัยอยู่บริเวณนั้น (ต.นาเกียน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่) มานานกว่า 100 ปีแล้ว ซึ่งอยู่มาก่อนที่จะมีกฎหมายเกี่ยวกับป่าไม้ จนทำให้เกิดการขยายเขตป่าอนุรักษ์มาทับซ้อนที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน ซึ่งหากมองในแง่ของกฎหมาย ชาวบ้านก็จะกลายเป็น 'ผู้บุกรุก' แต่ถ้าหากมองถึงความเป็นธรรม ชาวบ้านก็คือคนหนึ่งที่มีสิทธิเหมือนประชาชนทั่วไป
นายทรงพลศักดิ์ เล่าว่า ปกติแล้วชาวบ้านจะใช้ชีวิตด้วยการพึ่งพาธรรมชาติเป็นหลัก เนื่องจากระบบสาธารณูปโภคยังเข้าไม่ถึง ทำให้การจะใช้ไฟในยามค่ำคืน ต้องจุดสนเกี๊ยะหรือเทียนไข หรืออาจต้องหาเงิน 13,500 บาท เพื่อซื้อแผงโซลาร์เซลล์ แบตเตอร์รี่ มาเก็บสำรองไฟฟ้าเพื่อไว้ใช้ในครัว ทำให้การจะใช้ชีวิตในยามค่ำคืนไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก
ส่วนในเรื่องระบบการศึกษานั้น เนื่องจากชาวบ้านอยู่ในพื้นที่ห่างไกลและขาดแคลนคุณครู จึงทำให้การเรียน-การสอนเกิดขึ้นแบบที่เรียกว่า ‘เรียนตามอัตภาพ’ กล่าวคือแค่พอ 'อ่านออกเขียนได้' เท่านั้น
(ทรงพลศักดิ์ รัตนวิไลลักษณ์)
ขณะที่การประกอบอาชีพของชนพื้นเมืองที่ทำไร่หมุนเวียน เลี้ยงสัตว์ และเก็บของป่าเพื่อการยังชีพในบางฤดู เช่น เห็ดถอบ หรือเห็ดเผาะ มักถูกภาครัฐมองว่าเป็นการทำไร่เลื่อนลอยหรือทำลายการอนุรักษ์ผืนป่า ทำให้ชนพื้นเมืองถูกจับกุมอยู่บ่อยครั้ง
“ยกตัวอย่างกรณีไฟไหม้ป่าสงวนใกล้แหล่งที่อยู่อาศัยบ้านแม่เกิบ ด้วยความที่ชาวบ้านพยายามจะช่วยดับไฟป่า จึงเข้าไปอยู่ในพื้นที่ แต่พกไฟแช็กติดตัวไปด้วย เมื่อเจ้าหน้าที่เห็น จึงเข้าจับกุมชาวบ้านข้อหาพกไฟแช็ก โดยไม่ได้สืบหาสาเหตุของไฟป่า ขณะเดียวกันก็เพิ่มข้อกฎหมายเข้าควบคุมชาวบ้านด้วยข้อจำกัดที่ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิต เช่น การห้ามเข้าป่า หรือห้ามเก็บของป่าอย่างเห็ดเผาะเกิน 3 กิโลกรัม กลายเป็นความเหลื่อมล้ำทั้งในด้านการใช้ชีวิต และยังถูกควบคุมวิถีการดำเนินชีวิตอีกด้วย” นายทรงพลศักดิ์ กล่าว
ขณะที่ นายสุรพงษ์ กองจันทึก อดีตประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติ และผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ กล่าวถึงการถูกละเลยเรื่องสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์ภายในประเทศ พบว่า กลุ่มชาติพันธุ์ถูกละเลยการยอมรับแม้กระทั่งว่าเป็นชนพื้นเมือง หรือละเลยความเป็นมนุษย์ ทำให้ไม่ได้รับใบอนุญาต ไม่มีบัตรประชาชน หรือ 'บัตรความเป็นคน' (Human Card) เพราะถูกภาครัฐมองว่า 'ไม่ใช่พลเมืองไทย' ทำให้เข้าไม่ถึงสัญชาติและไม่ได้รับสิทธิคุ้มครองจากรัฐธรรมนูญว่าด้วยการส่งเสริม คุ้มครอง ดูแล และปกป้องสิทธิของชนพื้นเมือง ทั้งหมดล้วนสร้างความยากลำบากในการดำเนินชีวิต
"การไม่มีสัญชาติไทย ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์จะทำเอกสารก่อสร้างสิ่งปลูกสร้าง เช่น ขอไฟฟ้า หรือสร้างสถานศึกษา ก็ทำได้ยาก แม้แต่จะได้รับหลักประกันสุขภาพ หรือการเยียวยาจากภาครัฐในช่วงการระบาดของโควิด ไม่ว่าจะโครงการเที่ยวด้วยกันและคนละครึ่ง ก็ไม่สามารถรับสิทธิได้ เพราะเขายังไม่ได้รับการยอมรับว่าเขาเป็นคนไทย" นายสุรพงษ์ กล่าว
นอกจากนั้นยังมีปัญหาที่ถูกละเลยอีก คือกฎหมายของกรมป่าไม้ที่เขียนขึ้นมาภายหลังการตั้งถิ่นฐานของชาวบ้าน ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ ชนพื้นเมือง กลายเป็น 'ผู้บุกรุก' ส่งผลให้การประกอบอาชีพหรือก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างนั้น ต้องปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครอง-อนุรักษ์พื้นที่ป่าด้วย ซึ่งไม่สามารใช้ชีวิตได้อย่างอิสระเหมือนคนทั่วไป
ด้าน นายกิตติศักดิ์ รัตนกระจ่างศรี ประธานสภาชนพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ผู้คลุกคลีและทำงานด้านสิทธิมนุษยชนให้กับกลุ่มชาติพันธุ์โดยตรง อธิบายเพิ่มเติมว่า ทั้งหมดเป็นปัญหาที่มีอย่างยาวนาน และไม่เคยได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม เพราะกฎหมายและนโยบายที่มีนั้นไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตดั้งเดิม
โดยเฉพาะการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับป่าไม้-ป่าสงวนฯ ขาดการชี้แจงทำความเข้าใจ หรือแม้แต่จะประกาศให้ชนพื้นเมืองได้รับรู้ ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลไม่รู้ว่าชุมชนตัวเองกลายเป็นป่าสงวนไปแล้ว ปัญหาทับซ้อนทางที่ดินจึงเกิดขึ้น และกลุ่มชาติพันธุ์ก็กลายเป็น ‘ผู้บุกรุก’ และถูกฟ้องดำเนินคดีไปเป็นจำนวนมาก
"ขณะเดียวกันในเรื่องของการศึกษาและระบบสาธารณสุขที่เข้าไม่ถึงนั้น มีสาเหตุจากที่พักอาศัยของชนพื้นเมืองอยู่ในพื้นที่ห่างไกลจากตัวอำเภอมาก การเดินทางลำบากต้องใช้ระยะเวลามากประมาณ 1-2 วันเลยก็มี ด้วยพื้นที่ของเรามักจะอยู่ภายในอาณาเขตที่กรมป่าไม้ดูแล การจะสร้างถนนหนทางก็ลำบาก แม้การศึกษาของเราจะมีการเรียนการสอน แต่ถ้าหากถามถึงคุณภาพ ก็คงสู้กับสังคมเมืองไม่ได้ เราแค่พออ่านออกเขียนได้เท่านั้น ส่วนการจะมาเรียนต่อในสังคมเมือง เราก็ยังไม่มีเงินทุน " นายกิตติศักดิ์ กล่าว
(สุรพงษ์ กองจันทึก และ กิตติศักดิ์ รัตนกระจ่างศรี)
อย่างไรก็ดี จากการเรียกร้องและพยายามต่อสู้ของชนพื้นเมืองและนักสิทธิมนุษยชนมาอย่างเนิ่นนาน นายกิตติศักดิ์ เล่าว่า หลายอย่างเกิดการเปลี่ยนแปลงในการทำงานของภาครัฐ เริ่มมีการยอมรับในความเป็นชนพื้นเมืองเพิ่มขึ้น และเริ่มคลี่คลายกฎหมายให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ โดยให้สัญชาติไทย และให้สิทธิใช้พื้นทีในการหาเลี้ยงชีพและใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันบนผืนป่าตลอด 20 ปี แต่ทั้งนี้ก็ต้องนำเอกสารพิสูจน์ตัวตนมายื่นและต้องต่ออายุการขอใช้พื้นที่ดังกล่าวทุก ๆ 20 ปี
“สิ่งที่ภาครัฐได้ทำให้เกิดขึ้นนั้น ถูกพัฒนาไปในแนวทางที่ดีขึ้นแล้ว แต่ยังมีกลุ่มชาติพันธุ์อีกหลายกลุ่มที่ไม่ได้รับสัญชาติ และอยากได้รับการยอมรับว่าเป็นพลเมืองไทยเช่นกัน อาทิ กลุ่มมอร์แกน ที่เขามีวิถีชีวิตอยู่ในท้องทะเล ไม่ได้ตั้งถิ่นฐานบนพื้นดินเป็นหลัก ทำให้ถูกมองว่าไม่ใช่พลเมืองไทย และยังมีปัจจัยอื่นๆ ประกอบด้วย การกลัวถูกจำกัดสิทธิ์เดิมที่มีออกไปจากวิถีชีวิตของเขา และการต้องเอกสารทางราชการที่มีความยุ่งยากซับซ้อนเพื่อพิสูจน์ตัวตน จึงกลายเป็นอุปสรรคสำคัญในการขอสัญชาติ” นายกิตติศักดิ์ กล่าว
ดังนั้นชนพืนเมืองและนักสิทธิมนุษยชนจึงได้พยายามเรียกร้องถึงความชอบธรรมในสิทธิของชนพื้นเมืองที่ยังถูกเหลื่อมล้ำ ปัจจุบันจึงมีการยกร่างกฎหมายออกมา 3 ฉบับ ประกอบด้วย พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ , พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ และ พ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย เพื่อให้สิทธิชนพื้นเมืองถูกรับรองอย่างเป็นทางการและมีโอกาสแก้ไขปัญหาด้วยตนเองให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต
"การบูรณาการทัศนคติระหว่างภาครัฐ ประชาชน และกลุ่มชาติพันธุ์ให้อยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข เริ่มต้นได้ด้วยการผลักดันให้กฎหมายสำหรับชนพื้นเมืองโดยเฉพาะ ที่ขณะนี้กำลังยกร่างและเสนอผ่านมติของคณะรัฐมนตรี ให้ได้ออกมาเป็นรูปธรรม" นายกิตติศักดิ์ กล่าว
ซึ่งการจะแก้ไขปัญหาหรือเข้าช่วยเหลือได้อย่างตรงจุด คงปฏิเสธไม่ได้ว่าต้องมีความเข้าใจในวิถีชีวิตของชนพื้นเมืองก่อน และการได้เข้าไปสัมผัส หรือเรียนรู้วัฒนธรรม จะเปลี่ยนเป็น 'ความเข้าใจ' และ 'ยอมรับ' ความมีตัวตน ที่จะช่วยให้พวกเขาอยู่ร่วมกันในฐานะประชาชนไทยได้อย่างสันติสุขยั่งยืน
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage