“...สำหรับข้อมูลงบประมาณการวงเงินสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นตามข้อบัญญัติหรือเทศบัญญัติ งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ของเทศบาล อบต. และเมืองพัทยา เป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 8,657,849,146 บาท สำหรับ กทม. ตั้งงบประมาณไว้ที่ 331,902,000 บาท (ข้อมูล ณ วันที่ 16 ธ.ค. 2563) ...”
.......................
เป็นอันว่าในช่วงต้นปี 2564 จะมีการจัดเลือกตั้งท้องถิ่นระดับเทศบาลเกิดขึ้นแน่นอนแล้ว!
เพราะเมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2564 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่ พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. รายงานถึงความพร้อมในการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นอีกประเภทหนึ่ง หลังมีการจัดการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ไปแล้วเมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2563 ที่ผ่านมา
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติให้จัดการเลือกตั้งท้องถิ่นระดับเทศบาล และนายกเทศมนตรี เป็นลำดับถัดไป โดยแบ่งเป็น 2 แผนคือให้ กกต. พิจารณากำหนดวันเลือกตั้งในวันที่ 21 มี.ค. 2564 และแผนสำรองคือกำหนดวันเลือกตั้งในวันที่ 28 มี.ค. 2564
มีรายงานว่า กกต. เตรียมจะแถลงผลการพิจารณาภายหลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอนุมัติในช่วงเย็นวันนี้ (อ่านประกอบ : ครม.ไฟเขียวเลือกตั้งเทศบาล-รอ กกต.คอนเฟิร์ม 21 หรือ 28 มี.ค.64)
มาดูการเตรียมความพร้อมของหน่วยงานหลักในการจัดเลือกตั้งท้องถิ่นทั้ง กกต. และกระทรวงมหาดไทย กันบ้าง?
ก่อนหน้านี้ช่วงเดือน ธ.ค. 2563 พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. เคยให้สัมภาษณ์พิเศษสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ถึงการจัดเลือกตั้งท้องถิ่นประเภทอื่น ภายหลังจัดเลือกตั้ง อบจ. เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2563 สรุปปัจจัยสำคัญในการจัดเลือกตั้งท้องถิ่นประเภทอื่นคือ สถานการณ์โควิด-19 และเรื่องงบประมาณ
พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ระบุว่า กกต. มีความพร้อมในการจัดเลือกตั้งท้องถิ่นที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างแน่นอน แต่ต้องดูงบประมาณก่อนว่าจำเป็นต้องขอเพิ่มเติมหรือไม่ เพราะการเลือกตั้งกระทบกระเทือนเรื่องงบประมาณ แม้ระยะนี้จะฝืดเคืองแต่ถ้ามีการจัดการเลือกตั้ง ก็ต้องขอ
พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ระบุด้วยว่า ก่อนหน้านี้เคยหารือกับรัฐบาลนานมาแล้วว่า หากมีการจัดการเลือกตั้งแล้วเสร็จ ให้เว้นระยะห่างคราวละ 3 เดือนแล้วจัดเลือกตั้งประเภทอื่น ๆ ได้ แต่ขณะนี้มีสถานการณ์โควิด-19 กลับมาระบาดอีกครั้ง ถ้ามีการล็อกดาวน์ จะเป็นปัญหาหรือไม่ ต้องวิเคราะห์ดูอีกที ประเด็นการหาเสียงของผู้สมัครก็สำคัญ จะทำได้หรือไม่ในสถานการณ์แบบนี้ ต้องเว้นระยะห่างผู้มารับชมการปราศรัยอย่างไร เป็นต้น (อ่านประกอบ : บทเรียนเลือกตั้ง อบจ.?อนาคต-บทบาท สนง.กกต.ปี64 ใต้บังเหียน‘พ.ต.อ.จรุงวิทย์-ภุมมา’)
คราวนี้มาดูไทม์ไลน์การจัดเลือกตั้งท้องถิ่นระดับเทศบาล ที่คณะรัฐมนตรีเพิ่งไฟเขียวกันไปบ้าง?
เอกสารที่นำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ระบุว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เห็นชอบให้กระทรวงมหาดไทย นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นสมควรให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดังนี้ 1.เทศบาล 2.องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) 3.กรุงเทพมหานคร (กทม.) 4.เมืองพัทยา
โดยกระทรวงมหาดไทย นำเสนอข้อเท็จจริงว่า ปัจจุบันสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ เทศบาล อบต. กทม. และเมืองพัทยา ได้คราบวาระการดำรงตำแหน่งทั่วประเทศแล้ว ในเดือน พ.ค. 2561 โดยที่สมาชิกหรือผู้บริหารท้องถิ่นดังกล่าวยังคงปฏิบัติหน้าที่อยู่ต่อไปตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และประกาศ คสช. ที่เกี่ยวข้อง ต่อมาคณะรัฐมนตรีมีมติให้มีการเลือกตั้ง อบจ. ก่อน โดย กกต. จัดให้มีการเลือกตั้งไปแล้วเมื่อ 20 ธ.ค. 2563
คณะกรรมการประสานงานและสนับสนุนการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ที่มีรองปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน มีการประชุมครั้งที่ 2/2563 เมื่อ 21 ธ.ค. 2563 เตรียมความพร้อมในการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบอื่นต่อไป สรุปผลการประชุมได้ว่า
1.ข้อมูลจำนวนราษฎรที่ใช้ในการแบ่งเขตเลือกตั้ง มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปแล้วเมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2563
2.การรวมหมู่บ้านเป็นเขตเลือกตั้งสำหรับการเลือกตั้งของ อบต. กรมการปกครองดำเนินการสำรวจและประกาศรวมหมู่บ้านที่มีราษฎรตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรไม่ถึง 25 คน กับหมู่บ้านอื่นที่มีพื้นที่ติดต่อกันเป็นเขตเลือกตั้ง รวม 41 จังหวัด 109 อำเภอ 128 ตำบล 203 หมู่บ้าน รวม 150 เขตเลือกตั้ง โดยปี 2563 ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว และในปี 2564 จะดำเนินการต่อเนื่องภายในวันที่ 31 ม.ค. 2564
3.การเตรียมความพร้อมด้านงบประมาณค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้แจ้งจังหวัดกำชับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดทำข้อบัญญัติหรือเทศบัญญัติ งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นไว้เป็นการล่วงหน้า โดยเฉพาะการจัดเตรียมงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อรองรับการจัดการเลือกตั้งภายใต้สถานการณ์โควิด-19 และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ตั้งงบประมาณสำหรับการเลือกตั้งท้องถิ่นในปี 2564 ไว้พร้อมแล้ว
สำหรับข้อมูลงบประมาณการวงเงินสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นตามข้อบัญญัติหรือเทศบัญญัติ งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ของเทศบาล อบต. และเมืองพัทยา เป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 8,657,849,146 บาท สำหรับ กทม. ตั้งงบประมาณไว้ที่ 331,902,000 บาท (ข้อมูล ณ วันที่ 16 ธ.ค. 2563)
ในส่วนข้อมูลจากสำนักงาน กกต. ระบุถึงความพร้อมในการเตรียมการเลือกตั้งท้องถิ่นประเภทอื่นว่า ดำเนินการออกระเบียบและประกาศ กกต. ที่เกี่ยวข้องเสร็จสิ้นแล้ว รวมถึงดำเนินการสรรหา กกต.ประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นครบทุกองค์กรแล้ว และ กกต. สามารถประกาศแต่งตั้งได้ทันทีที่มีการประกาศกำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
นอกจากนี้ กกต. ยังดำเนินการอบรมผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำจังหวัด และระดับอำเภอ ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว สำหรับการอบรมกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง จะดำเนินการเมื่อมีการประกาศให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น
โดยร่างแผนจัดการเลือกตั้งของ กกต. แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ
1.ร่างแผนการจัดการเลือกตั้ง โดยวันที่ 12 ม.ค. 2564 คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ วันที่ 25 ม.ค. 2564 สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คาดว่าจะประกาศกำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลและนายกเทศมนตรี และวันที่ 21 มี.ค. 2564 เป็นวันเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลและนายกเทศมนตรี
2.ร่างแผนการจัดการเลือกตั้ง (สำรอง) โดยวันที่ 19 ม.ค. 2564 คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ วันที่ 1 ก.พ. 2564 สำนักงาน กกต.คาดว่าจะประกาศกำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลและนายกเทศมนตรี และวันที่ 28 มี.ค. 2564 เป็นวันเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลและนายกเทศมนตรี
โดยความพร้อมของกระทรวงมหาดไทย และสำนักงาน กกต. ทั้งสองฝ่ายมีวามพร้อมในการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว โดยสำนักงาน กกต. กำหนดแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ไว้แล้ว
ทั้งหมดคือไทม์ไลน์ในการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นของ กกต. ภายหลังเลือกตั้ง อบจ. ไปเมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2563 และคาดว่าจะมีการจัดการเลือกตั้งระดับเทศบาล ในวันที่ 21 หรือ 28 มี.ค. 2564
หลังจากนั้นคงต้องรอดูว่าเลือกตั้งระดับ อบต. กทม. และเมืองพัทยา จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ต่อไป?
หมายเหตุ : ภาพประกอบคูหาเลือกตั้งจาก https://www.thaipost.net/
อ่านประกอบ :
ครม.ไฟเขียวเลือกตั้งเทศบาล-รอ กกต.คอนเฟิร์ม 21 หรือ 28 มี.ค.64
บทเรียนเลือกตั้ง อบจ.?อนาคต-บทบาท สนง.กกต.ปี64 ใต้บังเหียน‘พ.ต.อ.จรุงวิทย์-ภุมมา’
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage