ผู้เข้าทดสอบยังบอกอีกว่าผลข้างเคียงที่รุนแรงที่สุดที่ได้รับก็คือการมีไข้สูง ปวดเมื่อยตามร่างกาย อาการคลื่นไส้ อาการปวดหัวและเหนื่อยล้า แต่อย่างไรก็ตาม อาการเหล่านี้ก็ถือว่าคุ้มถ้าหากได้รับภูมิคุ้มกันจากโรคโควิด-19
.............
สืบเนื่องจากที่ปรากฎเป็นข่าวไปทั่วโลกเกี่ยวกับรายงานผลข้างเคียงวัคซีนรักษาไวรัสโควิด-19 หรือโคโรน่าไวรัส หลังจากที่มีการอนุมัติการใช้งานวัคซีนฉุกเฉินในหลายประเทศทั่วโลกล่าสุดเว็บไซต์https://medshadow.org/ซึ่งเป็นเว็บไซต์รายงานข่าวสารความเสี่ยงการใช้ยาในแวดวงทางการแพทย์ได้รวบรวมประเด็นเรื่องผลข้างเคียงของวัคซีนไวรัสโควิด-19 ที่ความก้าวหน้า และบางส่วนได้มีการอนุมัติการใช้งานไปแล้ว ณ เวลานี้
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้นำรายงานดังกล่าวมานำเสนอ มีรายละเอียดดังนี้
@วัคซีนจากโมเดอร์นา
บริษัทโมเดอร์นาได้มีการดำเนินการทดลองทางคลินิกกับวัคซีนในระยะ 3 นับตั้งแต่เดือน ก.ค. 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งผลการทดลองในระยะที่ 3 ในช่วงขั้นต้น ก็มีรายงานว่ากลุ่มทดลองเกือบครึ่งหนึ่งนั้นได้รับผลข้างเคียงในระดับปกติ อาทิ อาการปวดในบริเวณที่มีการฉีดวัคซีน,อาการผื่นคัน,อาการปวดหัว,อาการปวดกล้ามเนื้อ,อาการคลื่นไส้ และอาการเป็นไข้หลังจากการฉีดวัคซีนเป็นเข็มที่ 2 ซึ่งผลข้างเคียงเหล่านี้นั้นมักจะหายไปภายในระยะเวลา 2 วันหลังจากการฉีดวัคซีน
ทางสำนักข่าว CNBC ของสหรัฐอเมริกาได้มีการสัมภาษณ์ผู้ที่เป็นอาสาสมัครเข้าร่วมการทดลองจำนวนหนึ่ง ซึ่งผู้เข้าร่วมการทดลองบางส่วนของทั้งบริษัทโมเดอร์นาและจากบริษัทไฟเซอร์ต่างก็บะบุว่ามีอาการจากผลข้างเคียงของวัคซีนที่คล้ายคลึงกัน และผู้เข้าทดสอบยังบอกอีกว่าผลข้างเคียงที่รุนแรงที่สุดที่ได้รับก็คือการมีไข้สูง ปวดเมื่อยตามร่างกาย อาการคลื่นไส้ อาการปวดหัวและเหนื่อยล้า แต่อย่างไรก็ตาม อาการเหล่านี้ก็ถือว่าคุ้มถ้าหากได้รับภูมิคุ้มกันจากโรคโควิด-19
ขณะที่รายงานจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาหรือ FDA ได้ตีพิมพ์ผลการทดลองในเดือน ธ.ค.ระบุว่าอาการผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยที่สุดก็คืออาการปวดที่บริเวณที่ฉีด (91.6 เปอร์เซ็นต์),อาการอ่อนล้า (68.5 เปอร์เซ็นต์),อาการปวดหัว (63 เปอร์เซ็นต์), อาการปวดกล้ามเนื้อ (59.6 เปอร์เซ็นต์) อาการปวดข้อ (44.8 เปอร์เซ็นต์) และอาการหนาวสั่น (43.4 เปอร์เซ็นต์) โดยมีรายงานว่าผู้ป่วยจำนวน 3 รายนั้นมีอาการของโรคอัมพาตที่ใบหน้า
และมีรายงานด้วยว่ามีผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนซึ่งเคยฉีดฟิลเลอร์ศัลยกรรมใบหน้า มีอาการบวมที่ร่างกายหลังจากที่ได้รับการฉีดวัคซีน จึงต้องมีการรักษาด้วยการใช้ยาแก้ภูมิแพ้ประเภทแอนตี้ฮิสทามีนและยาเสตียรอยด์
นอกจากนี้ในประเทศสหรัฐฯยังพบว่ามีผู้ได้รับการฉีดวัคซีนจำนวน 29 รายมีการแพ้วัคซีนอย่างรุนแรงจากทั้งวัคซีนจากบริษัทไฟเซอร์ และวัคซีนจากบริษ้ทโมเดอร์นา ซึ่งวัคซีนทั้ง 2 บริษัทนั้นเป็นวัคซีนประเภท mRNA หรือวัคซีนที่ใช้รหัสพันธุกรรมเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายผลิตสารภูมิคุ้มกันไวรัสออกมา โดยผู้ที่มีอาการแพ้วัคซีนดังกล่าวนั้นก็ได้รับการรักษาโดยยาประเภทฮอร์โมนอะดรีนาลีน และไม่มีผู้ใดเสียชีวิตแต่อย่างใด
ทำให้ทางด้านของสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐอเมริกาได้เปิดการสืบสวนสอบสวนเพื่อจะระบุว่าส่วนประกอบใดของวัคซีนทั้งจากบริษัทโมเดอร์นาและจากบริษัทไฟเซอร์ มีส่วนก่อให้เกิดอาการแพ้ ขณะที่ทางด้านของศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐฯหรือ CDC ให้ผู้ที่เคยมีประวัติการแพ้การฉีดวัคซีนอย่างรุนแรงได้ระวังการฉีดวัคซีนสำหรับไวรัสโควิด-19 แต่ก็แนะนำด้วยเช่นกันว่าพวกเขานั้นสามารถฉีดวัคซีนได้ ตราบใดที่พวกเขาได้มีการป้องกันตัวเรื่องการแพ้ได้อย่างดีแล้ว โดย ณ เวลานี้ที่ประเทศสหรัฐฯนั้นมีการเฝ้าสังเกตุการณ์ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนเป็นระยะเวลา 15-30 นาที หลังจากได้รับการฉีดวัคซีน เพื่อจะเฝ้าดูสัญญาณของอาการแพ้อย่างรุนแรง
บริษัทโมเดอร์น่าเองก็ได้ระบุว่าจะเริ่มการทดสอบวัคซีนในกลุ่มเด็กและทารก ซึ่งพวกเขาเชื่อว่าเนื่องจากกลุ่มนี้มีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงกว่า ก็จะทำให้ผลข้างเคียง อาทิ อาการเป็นไข้ และอาการปวดรุนแรงมากขึ้นด้วยเช่นกัน
@วัคซีนจากไฟเซอร์และบริษัทไบโอเอ็นเทค
บริษัทไฟเซอร์เริ่มทดลองวัคซีนทางคลินิกในระยะ 3 นั้บตั้งแต่เดือน ก.ค.ซึ่งผลการทดลองก็มีความคล้ายคลึงกับของบริษัทโมเดอร์นา โดยผู้เข้าทดลองวัคซีนบางรายนั้นมีอาการคล้ายกับเมาค้างอย่างรุนแรง โดยมีนางพยาบาลรายหนึ่งซึ่งเข้ารับการทดลองทางคลินิกพบว่ามีอาการผลข้างเคียงเล็กน้อยหลังจากการได้รับวัคซีนโด๊สแรก แต่ปรากฎว่าพยาบาลคนดังกล่าวเมื่อได้รับวัคซีนโด๊สที่ 2 ก็มีอาการเป็นไข้สูงกว่า 40 องศาเซลเซียส พร้อมกับอาการหนาวสั่น ปวดหัว และอาการปวดรุนแรงในบริเวณที่ฉีดวัคซีน ซึ่งจากการตรวจสอบของนักวิจัยระบุว่าอาการของนางพยาบาลดังกล่าวที่มีด้วยกันนั้นถือว่าเป็นกรณีที่แปลกเป็นอย่างยิ่ง เพราะผู้เข้ารับการฉีดวัคซีนโดยทั่วไปนั้นจะมีอาการผลข้างเคียงแค่ 1-2 อย่างเท่านั้น
"ผู้เชี่ยวชาญการรักษาจะต้องมีการหารือกับผู้เข้ารับการฉีดวัคซีนว่า ทำไมพวกเขาจะยังคงเชื่อมั่นใจตัววัคซีนและผลข้างเคียงซึ่งมีความคล้ายคลึงเป็นอย่างยิ่งกับอาการของโรคโควิด-19" นางพยาบาลคนดังกล่าวเขียนเมื่อวันที่ 7 ธ.ค.
ขณะที่รายงานจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาหรือ FDA ได้ตีพิมพ์ผลการทดลองในเดือน ธ.ค.ระบุว่าอาการผลข้างเคียงที่พบได้บ่อยที่สุดก็คืออาการปวดที่บริเวณที่ฉีด (84.1 เปอร์เซ็นต์),อาการอ่อนล้า (62.9 เปอร์เซ็นต์),อาการปวดหัว (55.1 เปอร์เซ็นต์), อาการปวดกล้ามเนื้อ (38.3 เปอร์เซ็นต์),อาการหนาวสั่น (31.9 เปอร์เซ็นต์),อาการปวดข้อ (23.6 เปอร์เซ็นต์) และอาการเป็นไข้ 14.2 เปอร์เซ็นต์ โดยมีรายงานว่าผู้ป่วยจำนวน 2 รายนั้นมีอาการของโรคอัมพาตที่ใบหน้า
@วัคซีนคันซิโนจากประเทศจีน
มีรายงานว่าประเทศจีนได้มีการอนุมัติฉุกเฉินเพื่อใช้งานวัคซีนจากบริษัทคันซิโน ก่อนที่จะมีการเริ่มต้นการทดลองทางคลินิกกับวัคซีนในระยะที่ 3 ในช่วงเดือน ส.ค. 2563 ซึ่งในกระบวนการทดลองทางคลินิกในระยะที่ 2 ก็ปรากฎว่ามีรายงานว่าผู้เข้ารับการทดลองวัคซีนจำนวน 3 ใน 4 ของกลุ่มผู้เข้ารับการทดลองวัคซีนมีอาการผลข้างเคียงเพียงเล็กน้อย โดยอาการที่ว่ามานั้นก็ได้แก่อาการเจ็บบริเวณที่มีการฉีดวัคซีน,อาการผื่นขึ้น,อาการปวดหัว,อาการปวดกล้ามเนื้อ และมีไข้ และมีรายงานว่ามีผู้เข้ารับการทดลองจำนวน 5 รายมีอาการอาเจียน
@วัคซีนจากสถาบันกามาลายา ประเทศรัสเซีย
สถาบันกามาลายาของประเทศรัสเซียได้เริ่มกระบวนการทดลองทางคลินิกในระยะที่ 3 ในช่วงเดือน ส.ค. 2563 แต่ก่อนหน้าการทดลองระยะ 3 จะเริ่มต้น นายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซียได้ประกาศว่าวัคซีนถูกอนุมัติสำหรับการใช้งานแล้ว อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่การทดลองระยะ 3 ได้ดำเนินไปนั้น ในช่วงต้นของการทดลอง มีรายงานว่าอาสาสมัครทุกรายที่เข้ารับวัคซีนมีอาการไข้อ่อนๆ และมีอาสาสมัครจำนวนเล็กน้อยมีอาการการเต้นของหัวใจไม่สม่ำเสมอ ส่วนอาการผลข้างเคียงอื่นๆก็จะมีความเหมือนกับวัคซีนชนิดอื่นๆ อาทิ อาการเจ็บบริเวณที่ฉีดวัคซีน,ผื่นขึ้น,ปวดหัว และปวดกล้ามเนื้อ
@วัคซีนจากบริษัทจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน สหรัฐอเมริกา
บริษัทจอห์นสันแอนด์จอห์นสันได้เริ่มการทดลองวัคซีนทางคลินิกในระยะที่ 3 ในช่วงเดือน ก.ย. 2563 แต่มีการหยุดการทดลองวัคซีนในวันที่ 12 ต.ค. เนื่องจากพบอาการป่วยที่อธิบายไม่ได้ โดยบริษัทได้ประกาศว่าจะมีการเริ่มต้นการทดลองใหม่ในวันที่ 26 ต.ค. ซึ่งการหยุดพักการทดลองนั้นถือว่าเป็นเรื่องปกติในการทดลองทางคลินิก เพื่อที่จะประเมินถึงผลข้างเคียงของงวัคซีน แต่อย่างไรก็ตาม บริษัทไม่เคยเปิดเผยรายละเอียดการป่วยที่เกิดขึ้นกับอาสาสมัครทดลองอย่างน้อย 1 รายแต่อย่างใด ซึ่งในการทดลองทางคลินิกในขั้นต้นนั้นมีรายงานว่ามีอาสาสมัครผู้เข้าทดลองจำนวนกว่า 70 เปอร์เซ็นต์นั้นมีอาการผลข้างเคียงไม่รุนแรงเช่นเดียวกับวัคซีนชนิดอื่น อาทิ อาการเจ็บบริเวณที่ฉีดวัคซีน,ผื่นขึ้น,ปวดหัว,ปวดกล้ามเนื้อและเป็นไข้
@วัคซีนจากบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าและมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด
ในวันที่ 6 ก.ค. บริษัทแอสตร้าเซนเนก้าได้มีการหยุดการทดลองวัคซีนทางคลินิกในระยะ 3 เป็นการชั่วคราว เพื่อสืบสวนกรณีที่มีคนไข้มีอาการไขสันหลังอักเสบ ซึ่งถือว่ามีอันตราย ซึ่งจากการสืบสวน นักวิจัยก็ได้สรุปว่าอาการดังกล่าวนั้นไม่เกี่ยวกับการทดลองและได้มีการดำเนินการทดลองต่อไปในหลายประเทศ
อย่างไรก็ตาม ในประเทศสหรัฐฯนั้นได้มีการหยุดการทดลองไปจนถึงวันที่ 26 ต.ค. โดยเมื่อวันที่ 21 ต.ค. นักวิทยาศาสตร์ได้รายงานว่ามีผู้เข้ารับการทดลองเสียชีวิต 1 ราย แต่จากข้อมูลตามหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นระบุว่าผู้ที่เสียชีวิตคนดังกล่าวนั้นได้รับยาหลอกแทนวัคซีนจริง ดังนั้นการทดลองในประเทศสหรัฐฯเลยดำเนินต่อไป
โดยในช่วงต้นของการทดลอง มีรายงานว่ามีคนไข้หลายรายมีอาการผลข้างเคียงที่ไม่รุนแรง ซึ่งคล้ายกับอาการของวัคซีนตัวอื่นๆ โดยอาการที่ว่ามานั้นก็ได้แก่อาการเจ็บบริเวณที่ฉีดวัคซีน,ผื่นขึ้น,ปวดหัว,ปวดกล้ามเนื้อและเป็นไข้ ดังนั้นทีมที่ดำเนินการทดลองจึงได้มีการให้ยาอะซีตะมิโนเฟนเพื่อลดอาการเจ็บและอาการเป็นไข้
นอกจากนี้ก็มีรายงานว่ามีผู้ทดลองวัคซีนเกือบครึ่งหนึ่งนั้นมีอาการภาวะเม็ดเลือดขาวนิวโทรฟต่ำเป็นการชั่วคราว ซึ่งการลดลงของเซลล์เม็ดเลือดขาวนั้น อาจส่งผลทำให้บุคคลนั้นๆง่ายต่อการติดเชื้อเป็นการชั่วคราวได้เช่นกัน
@วัคซีนจากบริษัทโนวาแวกซ์ ประเทศอังกฤษ
บริษัทโนวาแวกซ์ได้มีการเริ่มต้นการทดลองทางคลินิกกับวัคซีนในระยะที่ 3 ในประเทศอังกฤษในเดือน ก.ย. และได้มีการวางแผนที่จะทดลองทางคลินิกในระยะที่ 3 ในประเทศสหรัฐฯในเดือน ต.ค. แต่กำหนดการทดลองก็มีความล่าช้าเรื่องจากปัญหาในสายการผลิตวัคซีน และในที่สุดก็มีการทดลองวัคซีนเริ่มต้นในวันที่ 28 ธ.ค. สำหรับผลข้างเคียงการทดลองวัคซีนทางคลินิกในระยะที่ 1 ควบคู่ระยะที่ 2 นั้น พบว่ามีผลข้างเคียงใกล้เคียงกับวัคซีนชนิดอื่นๆ อาทิ อาการเจ็บบริเวณที่ฉีดวัคซีน,ผื่นขึ้น,ปวดหัว,ปวดกล้ามเนื้อและเป็นไข้,อาการคลื่นไส้และอาเจียน
@วัคซีนจากรัฐวิสาหกิจซิโนฟาร์ม ประเทศจีน
ในเดือน ก.ค. รัฐวิสาหกิจซิโนฟาร์มได้เริ่มกระบวนการทดลองวัคซีนทางคลินิกในระยะที่ 3 ด้วยวัคซีน 2 ชนิดของรัฐวิสาหกิจ และมีการทดลองในประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์,ประเทศเปรู,ประเทศโมร็อกโก และประเทศอาร์เจนตินา และ ณ เวลานี้มีการอนุมัติการใช้งานวัคซีนแบบจำกัดวงในกลุ่มบุคลากรทางแพทย์ในประเทศจันและประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยในกระบวนการทดลองขั้นต้นของวัคซีนนั้นเป็นความร่วมมือกันกับสถาบันยาชีววัตถุอู่ฮั่น (Wuhan Institute of Biological Products) ซึ่งผลจากการทดลองการรักษามีรายงานเบื้องต้นว่า 15 เปอร์เซ็นต์ของอาสาสมัครทดลองวัคซีน มีอาการผลข้างเคียงไม่รุนแรงเช่นเดียวกับวัคซีนชนิดอื่นๆ โดยอาการที่ว่านั้นได้แก่ อาการเจ็บบริเวณที่ฉีดวัคซีน,ผื่นขึ้น,ปวดหัว,ปวดกล้ามเนื้อและเป็นไข้,อาการคลื่นไส้และอาเจียน แต่ ณ เวลานี้กลับมีข้อมูลน้อยมาก เกี่ยวกับวัคซีนชนิดที่ 2 ซึ่งรัฐวิสาหกิจซิโนฟาร์มได้ร่วมกันทดลองกับสถาบันยาชีววัตถุปักกิ่ง (Beijing Institute of Biological Products)
@วัคซีนจากบริษัทซิโนแวค ประเทศจีน
บริษัทซิโนแวคได้เริ่มการทดลองทางคลินิกวัคซีนในระยะที่ 3 ที่ชื่อว่าโคโรนาแวคในเดือน ก.ค. 2563 และตอนนี้ก็มีการอนุมัติใช้งานวัคซีนฉุกเฉินแล้วในประเทศจีน ซึ่งผลการทดลองขั้นต้นของวัคซีนระบุว่าอาสาสมัครจำนวน 3 ใน 4 มีอาการผลข้างเคียงไม่รุนแรงเช่นเดียวกับวัคซีนชนิดอื่นๆ โดยอาการที่ว่านั้นได้แก่ อาการเจ็บบริเวณที่ฉีดวัคซีน,เป็นไข้และอ่อนล้า แต่มีการศึกษาไม่ระบุรายละเอียดซึ่งลงลึกเกี่ยวกับอาการผลข้างเคียงอาทิ อาการคลื่นไส้,อาการปวดหัวและอาการอาเจียน
โดยในวันที่ 10 พ.ย. การทดลองในประเทศบราซิลต้องชะงักเป็นการชั่วคราว เพราะพบว่ามีอาสาสมัครรายหนึ่งเสียชีวิต อย่างไรก็ตาม นักวิจัยกล่าวว่าการเสียชีวิตนั้นไม่เกี่ยวกับวัคซีน และควรจะดำเนินการทดลองต่อไป ขณะที่การทดลองในประเทศอื่นๆยังคงดำเนินการต่อไป
เรียบเรียงจาก:https://medshadow.org/covid19-vaccine-side-effects/
อ้างอิงรูปภาพจาก:https://www.nytimes.com/interactive/2020/science/coronavirus-vaccine-tracker.html
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage