"...ต้องยอมรับว่าการระบาดของไวรัสโควิด-19 นั้น แม้จะเป็นสิ่งที่ทำลายอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว แต่ในอีกแง่มุมหนึ่งก็ทำให้หลายภาคส่วนได้มีโอกาสร่วมกันพัฒนาแนวทางการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและเหมาะสมเพื่อที่จะรองรับกับปัญหาทั้งทางด้านวิกฤติความเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ วิกฤติสิ่งแวดล้อม และวิกฤติทางด้านสุขภาพด้วยเช่นกัน..."
..............................
วัคซีนโควิด จะสามารถช่วยพลิกฟื้นการท่องเที่ยวกลับมาได้หรือไม่?
เป็นหนึ่งในประเด็นที่ถูกพูดถึงกันอย่างมากในช่วงเวลานี้ หลังจากในช่วงปี 2563 ที่ผ่านมา การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 หรือโคโรน่าไวรัส ได้ส่งผลกระทำต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั่วโลกอย่างแสนสาหัส
เมื่อเร็วๆ นี้ เว็บไซต์ www.medicalxpress.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์ข่าวสารในแวดวงการแพทย์ ได้เผยแพร่บทความเกี่ยวกับรูปแบบการท่องเที่ยวที่จะเกิดขึ้นหลังจากหลังวัคซีนโควิดได้รับการอนุมัติและมีการใช้กันอย่างแพร่หลาย มีรายละเอียดดังนี้
จากการระบาดของไวรัสโควิด-19 หรือโคโรน่าไวรัสที่ลุกลามไปทั่วโลก ส่งผลทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวต้องหยุดชะงักลงในช่วงปี 2563 ที่ผ่านมา แต่ความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการอนุมัติวัคซีนนับตั้งแต่เดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา ทำให้เกิดความหวังว่า การเดินทางข้ามประเทศนั้นจะกลับมาพลิกฟื้นตัวในอีกไม่ช้า
แต่คำถามก็คือว่าเมื่อไร? และจะฟื้นตัวอย่างไร?
ในช่วงก่อนการระบาดของไวรัสโควิด-19 มีการแสดงความกังวลกันว่าการท่องเที่ยวนั้นเติบโตใหญ่มากเกินไปสำหรับโลกของเราจะรองรับได้ จึงมีการเรียกร้องให้ลดขนาดอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวลง และให้มีความยั่งยืน มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพื่อให้สถานที่ท่องเที่ยวบางแห่งนั้นได้ฟื้นตัวจากการที่มีนักท่องเที่ยวมากจนเกินไป
อย่างไรก็ตาม ผลจากการที่เกือบจะไม่มีการเดินทางระหว่างประเทศเลยในช่วงปี 2563 เนื่องจากปัญหาจากโรคระบาด ทำให้เกิดปรากฎปัญหาใหม่ขึ้นมาแทน ซึ่งก็คืออัตราการเดินทางท่องเที่ยวต้องหดตัวลงไปมากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ แค่ในช่วงระหว่างเดือน ม.ค.- ส.ค. 2563 เมื่อเทียบกับในปี 2562
โดยสถานที่ซึ่งเป็นแลนด์มาร์กสำคัญและเป็นเป้าหมายของนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศนั้นกลายเป็นจุดที่ได้รับผลกระทบใหญ่หลวงที่สุด โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาหลายๆประเทศ ซึ่งมีอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นแหล่งรายได้หลัก อาทิ ประเทศไทย ธนาคารโลกได้มีการประเมินเอาไว้ว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวนั้นมีมูลค่าสูงถึง 15 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศไทย (จีดีพี) นี่จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ประเทศไทยเลือกที่จะอนุมัติให้นักท่องเที่ยวซึ่งต้องการพำนักระยะยาวนั้นสามารถเข้ามาท่องเที่ยวประเทศไทยได้
อย่างไรก็ตาม ความพยายามที่จะรื้อฟื้นการเดินทางระหว่างประเทศให้กลับมานั้น ก็ประสบกับความล้มเหลวอันเนื่องมาจากการระบาดระลอกล่าสุดของไวรัสโควิด-19 และยิ่งไปกว่านั้น มีรายงานถึงการระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์จากทั้งประเทศอังกฤษ และประเทศแอฟริกาใต้ ซึ่งทั้ง 2 สายพันธุ์ต่างก็เป็นสายพันธุ์ที่ระบาดง่ายและยากต่อการควบคุม จึงเป็นเหตุให้หลายสิบประเทศทั่วโลกนั้นประกาศปิดพรมแดน ไม่ยอมรับผู้ที่เดินทางมาจากทั้ง 2 ประเทศอย่างสิ้นเชิง และบางประเทศ อาทิ ประเทศญี่ปุ่นและประเทศอิสราเอล ถึงขั้นออกประกาศว่าห้ามไม่ให้บุคคลที่มีสัญชาติอื่นๆเข้าประเทศตัวเองโดยเด็ดขาด
ทั้งนี้ ก่อนหน้าที่จะมีการระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่นั้น ได้เคยมีการเสนอสิ่งที่เรียกว่าการท่องเที่ยวแบบฟองสบู่ หรือที่เรียกกันว่าทราเวิลบับเบิล (Travel Bubble) ซึ่งเป็นการเดินทางระหว่าง 2 ประเทศที่มีความปลอดภัยจากไวรัสไปแล้วครั้งหนึ่ง แต่ก็ปรากฎว่ามีไม่กี่ประเทศเท่านั้นที่สามารถดำเนินการเรื่องนี้ได้ และบางประเทศ อาทิ ประเทศญี่ปุ่น และประเทศจีน ก็พยายามที่จะเน้นการโปรโมทการท่องเที่ยวภายในประเทศแทน ด้วยความหวังว่าจะพอช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยวในประเทศได้บ้าง
ดังนั้น ณ เวลานี้ ซึ่งมีการแจกวัคซีนต้านไวรัสสำหรับไวรัสโควิด-19 เกิดขึ้นแล้ว จึงมีการตั้งความหวังกันว่า การแจกวัคซีนดังกล่าวนี้จะเป็นเสมือนความหวังที่จะฟื้นการท่องเที่ยวให้กลับคืนมาอย่างรวดเร็ว
แต่การจะให้ผู้คนกลับมาท่องเที่ยว ด้วยสายการบินอีกครั้งหนึ่งนั้น จำเป็นต้องมี 3 องค์ประกอบที่สำคัญ
1.มาตรการการคัดกรองผู้เดินทางที่จะบังคับใช้อย่างมีประสิทธิภาพ
มีความเป็นไปได้สูงมากที่มาตรการและข้อกำหนดเกี่ยวกับสุขภาพก่อนจะมีการเดินทางนั้นจะกลับไปเหมือยกับในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 70 ซึ่งจะมีการกำหนดชัดเจนว่า ก่อนการเดินทางนั้นจะต้องมีการฉีดวัคซีนให้เหมาะสม และการสำแดงความโปร่งใสทางด้านข้อมูลทางสุขภาพนั้นก็จะกลายเป็นเงื่อนไขสำคัญสำหรับการเดินทางเข้าไปในหลายประเทศ การฉีดวัคซีนต้านไวรัสโคโรน่าจะกลายเป็นมาตรฐานสำคัญสำหรับการเดินทางด้วยเที่ยวบินระหว่างประเทศ
ซึ่งสิ่งนี้ควรเป็นนโยบายที่ทุกประเทศต้องนำไปบังคับใช้ รวมไปถึงสถานที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวต่างๆ เช่นโรงแรม ควรจะต้องใช้นโยบายนี้อย่างแพร่หลายเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนอย่างแพร่หลายนั้น จะต้องควบคู่ไปกับการที่ทางรัฐบาลออกกฎหมายและมาตรการเพื่อสนับสนันการผ่านแดนอย่างเข้มข้น อาทิ การมีบัตรผ่านแดนแบบดิจิทัลควบคู่ไปกับพาสปอร์ตการฉีดวัคซีนนั้นก็เป็นอีกหนึ่งวิธีการเช่นกัน แต่ถึงกระนั้น การจะทำให้วิธีผ่านแดนด้วยวัคซีนประสบความสำเร็จ รัฐบาลหลายๆรัฐบาลมีความจำเป็นที่จะต้องทำรูปแบบการคัดกรองผู้เดินทางข้ามแดนให้อยู่ในมาตรฐานและวิธีการปฏิบัติที่เหมือนๆกัน
ดังนั้น อีกวิธีการก็คือการมีสิ่งที่เรียกกันว่าคอมมอนพาส (CommonPass) ซึ่งจะเป็นพาสปอร์ตสุขภาพในเชิงดิจิทัลรูปแบบใหม่ที่มีความน่าเชื่อถือ โดยจะมาในรูปแบบของแอปพลิเคชันในโทรศัพท์ ซึ่งสามารถยืนยันข้อมูลไปทั่วโลกได้ว่า ผู้เดินทางคนนั้นปราศจากเชื้อไวรัสโควิด-19 หรือไม่
อ้างอิงวิดีโอจากช่อง Insider Travel Report
แต่ไม่ว่าจะใช้วิธีการใดเพื่อยืนยันข้อมูลการติดโควิดก็ตาม วิธีการป้องกันภัยทางสุขภาพก็ยังคงเป็นมาตรการป้องกันโรคที่สำคัญที่สุดอยู่ดี อาทิ การสวมใส่หน้ากากตลอดระยะเวลาเที่ยวบิน การตรวจเชื้อโควิด-19 เมื่อถึงประเทศที่หมายแล้ว การกักตัวตามข้อบังคับ และการเว้นระยะห่างทางสังคม เป็นต้น
ถ้าหากประเทศปลายทางที่ไปถึงนั้น มีอัตราการฉีดวัคซีนที่น้อยด้วยแล้ว ก็หมายความว่าการปฏิบัติตามวิธีการเพื่อป้องกันภัยทางสุขภาพนั้นจะมีความสำคัญยิ่งยวดขึ้นไปอีก
ขณะที่การสร้างระบบการท่องเที่ยวซึ่งไร้การสัมผัสนั้นก็ควรจะเป็นมาตรฐานซึ่งต้องมีการบังคับใช้กันในเกือบทุกสนามบินทั่วโลกเช่นกัน อาทิ การใช้ระบบเทคโนโลยีไบโอเมตริกเพื่อยืนยันตัวเอง ควบคู่ไปกับการที่ผู้โดยสารจะต้องมีการตรวจวัดอุณหภูมิ และการลดจำนวนพนักงานซึ่งให้บริการลง โดยจะถือว่าเป็นหลักปฏิบัติใหม่ หรือที่เรียกกันว่านิวนอร์มอลเลยก็ว่าได้
แต่ไม่ว่าจะมีมาตรการป้องกันใด ปัญหาที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งซึ่งส่งผลกระทบต่อการฟื้นฟูการท่องเที่ยวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือประเด็นเรื่องระยะเวลาการกักตัว เพราะต้องยอมรับว่าคงมีนักท่องเที่ยวแค่น้อยคนที่จะสามารถยอมรับการกักตัว 14 วันในโรงแรมได้ ถ้าหากต้องการจะเที่ยววันหยุด
ซึ่งจากปัญหาเรื่องการกักตัวดังกล่าวนั้น ทำให้มีหน่วยงานหลายแห่งอันเกี่ยวกับการท่องเที่ยวทั้งภาครัฐและเอกชนได้พยายามจะหาวิธีการที่จะแก้ปัญหาเรื่องนี้ โดยในช่วงก่อนการระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์จากแอฟริกาใต้และจากอังกฤษ ทางสายการบินบริติชแอร์เวย์ และสายการบินอเมริกันแอร์ไลน์ ก็ได้มีการนำร่องโปรแกรมการตรวจหาโควิดให้กับกลุ่มผู้โดยสาร เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงจากมาตรการการกักตัว 14 วัน ในประเทศอังกฤษ
ส่วนทางด้านของรัฐบาลอังกฤษเองก็ได้มีการเตรียมออกมาตรการที่เรียกกว่านโยบายการตรวจแล้วปล่อย ในช่วงกลางเดือน ธ.ค.เช่นกัน
โดยสาระสำคัญของนโยบายนี้ คือ พยายามที่จะลดมาตรการกักตัวผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศให้เหลือแค่ 5 วันเท่านั้น อย่างไรก็ตาม พอมีการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในระลอกใหม่ก็ทำให้การหารือในเรื่องนี้ต้องถูกพักเอาไว้ก่อน
2.สายการบินจะกลับมาฟื้นฟูกิจการได้อย่างไร
สมาคมการบินระหว่างประเทศเคยคาดการณ์เอาไว้ว่าธุรกิจสายการบินไม่มีทางกลับไปเป็นเหมือนก่อนที่จะเกิดโรคระบาดได้ในช่วงก่อนปี 2567 เป็นอย่างน้อย นั้นจึงหมายความว่าการเริ่มนับหนึ่งธุรกิจการท่องเที่ยวใดก็ตาม มีความจำเป็นจะต้องอาศัยโครงข่ายการคมนาคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทั้งทางอาการและทางน้ำ
แต่เครื่องบินหลายลำ ณ เวลานี้ถูกจอดทิ้งไว้ที่ทะเลทรายทั้งในประเทศสหรัฐอเมริกา และในประเทศออสเตรเลีย ซึ่งการนำเครื่องบินเหล่านี้กลับมาใช้งานก็จะต้องมีช่วงเวลาที่จะต้องดูแลรักษากันก่อนที่จะเริ่มเที่ยวบินจริงๆ เช่นเดียวกับลูกเรือก็จะต้องมีการจ้างงานกันใหม่ และฝึกงานกันใหม่เหมือนกัน
อย่างไรก็ตาม การมีเครื่องบินและลูกเรือที่พร้อมขึ้นบิน ก็ไม่ได้หมายความว่าสายการบินจะเปิดทำการบินได้ทันที เพราะยังความท้าทายถัดมา ซึ่งก็คือการกำหนดเส้นทางการบินกันใหม่หมดทั่วโลก ดังนั้นในช่วงเวลาที่สายการบินต่างๆ ได้พยายามที่จะกำหนดเส้นทางการบินกันใหม่อย่างล่าช้านั้น ผู้เดินทางอาจต้องเตรียมแผนการเดินทางที่นานขึ้น การท่องเที่ยวที่กินเวลานานขึ้น เพราะว่าช่องทางการเปลี่ยนเครื่องที่มีน้อยลงกว่าเดิมมาก
แต่ก็ยังคงมีข่าวดีอยู่บ้าง อาทิ ตั๋วเครื่องบินที่มีราคาถูกลง เพราะตารางเส้นทางการบินที่สุดลง และความต้องการที่น้อยลงก็เป็นสิ่งที่ทำให้ราคาลดลงไปด้วยเช่นกัน
ซึ่งในกรณีนี้นั้นสายการบินที่มีขนาดเล็กและคล่องตัวกว่าน่าจะสามารถปฏิบัติการณ์ได้ดีกว่า และมีการคาดการณ์ว่าการใช้งานเครื่องบินขนาดเล็กกว่า และมีประสิทธิภาพมากกว่านั้นน่าจะเป็นสิ่งที่แพร่หลายสำหรับสายการบินมากกว่า ในขณะที่ความต้องการเที่ยวบินระยะยาวก็คงจะต่ำไปอีกสักระยะหนึ่ง
ส่วนที่สนามบินก็คงจะต้องมีการกำหนดโครงร่างทั้งชั่วคราวและถาวร เพื่อที่จะรองรับการตรวจสอบสุขภาพในรูปแบบใหม่ ซึ่งแน่นอนว่าจะคงจะเป็นสิ่งที่จะทำให้ผู้เดินทางนั้นมีความรู้สึกไม่สบายใจที่จะดำเนินการมาตรการที่ว่ามานี้
ขณะที่การโดยสารด้วยเรือโดยสารและการขึ้นเรือที่ท่าเรือเองก็คงจะมีมาตรการการสกรีนสุขภาพที่มีลักษณะที่คล้ายกัน เช่นเดียวกับในโรงแรมและสถานที่พักแรมอื่นๆ
การเช็คอินที่สนามบินช่วงโควิด-19 (อ้างอิงวิดีโอจาก TGF The Guiding Factor)
3.ความมั่นใจของนักเดินทางจะกลับมาหรือไม่
สำหรับนักท่องเที่ยวนั้นความกลัวเรื่องการติดเชื้อไวรัสนั้นเป็นอุปสรรคสำคัญที่สุดที่จะต้องเอาชนะ อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ในช่วงวันขอบคุณพระเจ้า (25 พ.ย.) ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และในช่วงโกลเด้นวีค (1-7 ต.ค.) ที่ประเทศจีน ก็เป็นข้อบ่งชี้ที่ชัดเจนแล้วว่า ความต้องการที่จะเดินทางนั้นยังคงแข็งแกร่งอยู่ แม้ว่าจะมีโรคระบาดก็ตาม ทำให้มีนักวิเคราะห์หลายรายได้คาดการณ์เอาไว้ว่า การเดินทางเพื่อไปพักผ่อนหย่อนใจนั้นดูมีแนวโน้มว่าจะฟื้นตัวเร็วกว่าการเดินทางด้วยจุดประสงค์ทางธุรกิจ
แต่เพราะสถานการณ์การระบาด ณ เวลานี้ ทำให้ต้องจับตามองกันอย่างใกล้ชิดว่าผู้เดินทางนั้นจะยังคงมีความต้องการการท่องเที่ยวที่แข็งแกร่ง หรือจะปรับตัวเร็วแค่ไหนเพื่อปฏิบัติตามมาตรการความปลอดภัยด้านสุขภาพในรูปแบบใหม่ ที่คาดว่าจะเป็นมาตรฐานเดียวกันสำหรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั่วโลก
ซึ่งหนึ่งในแนวคิดอีกแนวคิดหนึ่งที่น่าจะฟื้นฟูความมั่นใจต่อนักท่องเที่ยวได้ดีที่สุด ก็คือการมีสิ่งที่เรียกว่าสแตมป์ท่องเที่ยวปลอดภัย ซึ่งจะเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวนั้นได้ดำเนินการตามระเบียบการด้านสุขภาพและความสะอาดอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19
@ เราจะทำให้การท่องเที่ยวกลับมาดีกว่าเดิมได้อย่างไร
ต้องยอมรับว่าการระบาดของไวรัสโควิด-19 นั้น แม้จะเป็นสิ่งที่ทำลายอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว แต่ในอีกแง่มุมหนึ่งก็ทำให้หลายภาคส่วนได้มีโอกาสร่วมกันพัฒนาแนวทางการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและเหมาะสมเพื่อที่จะรองรับกับปัญหาทั้งทางด้านวิกฤติความเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ วิกฤติสิ่งแวดล้อม และวิกฤติทางด้านสุขภาพด้วยเช่นกัน
ถ้าหากการท่องเที่ยวต่างประเทศนั้นจะกลับมา ในรูปแบบที่ดีขึ้นกว่าแต่ก่อน สาระสำคัญที่สุดก็คือ ทั้งรัฐบาลและภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว นั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดในการร่วมกันคิดแผนการท่องเที่ยวเพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของนักท่องเที่ยว เพราะไม่ว่าจะใช้วิธีการใดๆก็ตาม แต่ถ้าหากปราศจากการหารือร่วมกันที่ว่านี้แล้ว ก็คงจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเกิดการท่องเที่ยวในรูปแบบนิวนอร์มอลที่ว่านี้เพื่อจะรองรับกับวิกฤติสุขภาพที่จะเกิดขึ้นในอนาคตต่อไป
เรียบเรียงจาก:https://medicalxpress.com/news/2021-01-quickly-covid-vaccine.html
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage