"...เราพบว่า ทุกคนมองว่าตัวสำคัญที่ช่วยให้เรามีพลังต่อสู้กับสถานการณ์ คือการได้คุยคนใกล้ชิด การเอาใจใส่กันและกัน จะเป็นพลังใจสำหรับทุกคน อยากเชิญชวนทุกคน เราเข้าสู่สถานการณ์ที่อาจทำให้มีความกังวลใจ เราต้องเตรียมร่างกายและจิตใจให้พร้อม ต้องเตรียมวัคซีนใจ ที่จะช่วยให้เราเผชิญสถานการณ์เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงในชีวิต วัคซีนใจฉีดตัวเราได้ และแจกจ่ายให้คนรอบข้างได้ พญ.พรรณพิมล กล่าว..."
..................................................
สถานการณ์ของเชื้อโควิดที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2563 เรื่อยมาจนมาถึงปี 2564 ที่กลายเป็นการระบาดลอกใหม่ ปฏิเสธไม่ได้ว่าย่อมสร้างความรู้สึกกังวล และทำให้หลายคนตกอยู่ในภาวะความเครียด
โดยการระบาดระลอกใหม่ที่เริ่มตั้งแต่ 15 ธ.ค.2563 จนถึง 8 ม.ค.2564 มีผู้ติดเชื้อทั้งหมด 5,604 ราย พบมากที่สุดจาก สมุทรสาคร 2,981 ราย ภาคตะวันออก 1,597 ราย กทม. 519 ราย ภาคกลางอื่น ๆ 221 ราย ภาคตะวันตก (ไม่รวมสมุทรสาคร) 146 ราย และภาคอื่นๆ 140 ราย
ซึ่งผู้ป่วย 5,604 ราย เสียชีวิต 7 ราย อยู่ระหว่างรักษาตัวในโรงพยาบาล 2,599 ราย ในจำนวนนี้มีอาการหนักต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ 8 ราย อยู่โรงพยาบาลสนาม 1,703 ราย อยู่ในโรงพยาบาลเฉพาะผู้ป่วยอาการน้อย 81 ราย และรักษาหายแล้ว 1,306 ราย
ตัวเลขดังกล่าวปฏิเสธได้ยากว่า ประชาชนจะเกิดความกลัวที่ตนเองจะเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ความวิตกกังวลต่อสถานการณ์เศรษฐกิจ เพราะมีผลโดยตรงถึงรายได้ของตัวเอง ทั้งหมดล้วนแต่เป็นสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อถึงสุขภาพจิตของประชาชนด้วยกันทั้งสิ้น
(สถานการณ์โรค ณ วันที่ 8 ม.ค.2564)
ในการแถลงข่าวของกรมควบคุมโรค เมื่อวันที่ 7 ม.ค.2564 พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยผลสำรวจสุขภาพจิตของไทยตั้งแต่ปี 2563-2564 พบว่า ส่วนใหญ่มีภาวะความเครียดมากเกินกว่าระดับปกติ
โดยช่วงที่ประชาชนมีภาวะความเครียดมากที่สุดถึงระดับ 4 คือเดือน มี.ค.2563 ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศไทยเจอการระบาดในรอบแรกกับกรณีสนามมวยลุมพินี และในเวลาต่อมาไม่นาน ก็มีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯเป็นครั้งแรก และใช้มาตรการล็อกดาวน์ในวันที่ 22 มี.ค.2563
"เป็นที่น่าสนใจว่า ในช่วงปี 2563 ภาวะสุขภาพจิตของประชาชนจะกลับมาอยู่ในระดับสูงทุกครั้งที่มีการต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กระทั่งช่วงครึ่งปีหลัง สถานการณ์สุขภาพจิตของคนไทยอยู่ในระดับค่อนข้างพอใจ" พญ.พรรณิมล กล่าว
พญ.พรรณพิมล กล่าวอีกว่า เมื่อเข้าสู่ปี 2564 ภาวะความเครียดของประชาชนเป็นไปตามสถานการณ์การระบาด คือ ความเครียดกลับมาอยู่ที่ระดับ 4 อีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้เมื่อสำรวจเกี่ยวกับความตื่นตระหนกของคนไทย พบว่า 2 สัปดาห์ที่ผ่านมานี้ ส่วนใหญ่มีความรู้สึกกลัว กังวล หรือตื่นตระหนก เมื่อติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโควิด
วันที่ 23-28 ธ.ค. ความตื่นตระหนกยังพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และไม่ได้กระจุกตัวอยู่เฉพาะในพื้นที่เชียงใหม่หรือเชียงราย แต่พบว่า ในพื้นที่ กทม. และ สมุทรสาคร มีตัวเลขที่พุ่งสูงขึ้น หลังจากพบการระบาดที่ตลาดกลางกุ้ง จ.สมุทรสาคร
พญ.พรรณิมล กล่าวด้วยว่า เมื่อวิเคราะห์ดูความวิตกกังวลของประชาชน พบว่าสาเหตุหลัก มาจากการที่กลัวว่าตนเองจะติดเชื้อ โดยเฉพาะเมื่อได้ข่าวว่ามีผู้ป่วยอยู่ในพื้นที่ของตนเอง และเกิดความกังวลทุกครั้งที่ออกนอกบ้าน กังวลว่าเตรียมอุปกรณ์รับมือโควิดดีพอหรือไม่ ทั้งหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม เมื่อสำรวจ ‘พลังใจ’ พบว่า 1 ปีที่ผ่านมา ประชาชนโดยภาพรวมมีมุมมองว่า ‘อยากเอาชนะอุปสรรค’ ครั้งนี้ไปให้ได้
"เราพบว่า ทุกคนมองว่าตัวสำคัญที่ช่วยให้เรามีพลังต่อสู้กับสถานการณ์ คือการได้คุยคนใกล้ชิด การเอาใจใส่กันและกัน จะเป็นพลังใจสำหรับทุกคน อยากเชิญชวนทุกคน เราเข้าสู่สถานการณ์ที่อาจทำให้มีความกังวลใจ เราต้องเตรียมร่างกายและจิตใจให้พร้อม ต้องเตรียมวัคซีนใจ ที่จะช่วยให้เราเผชิญสถานการณ์เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงในชีวิต วัคซีนใจฉีดตัวเราได้ และแจกจ่ายให้คนรอบข้างได้" พญ.พรรณพิมล กล่าว
เมื่อวิเคราะห์ต่อไปว่า ภายใต้สถานการณ์เหล่านี้ ประชาชนมี 3 ความรู้สึกที่เกิดขึ้น คือ ‘กลัว ตื่นตระหนก อ่อนล้า’ อย่างไรก็ตามความรู้สึกเหล่านี้สามารถแก้ไขได้ด้วยการฉีด ‘วัคซีนใจ’ ให้กับตนเองและผู้อื่น ดังนี้
‘ความรู้สึกกลัว’ ซึ่งเกิดจากการกลัวที่จะติดโรค สิ่งที่จะช่วยได้คือสร้างความรู้สึก ‘ปลอดภัย’ ให้เกิดขึ้น เช่น หาวิธีลดความเสี่ยงการติดเชื้อของตนเอง โดยการติดตั้งแอปพลิเคชันหมอชนะ หรือเตรียมความพร้อมด้วยการสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา และล้างมือให้บ่อยขึ้น
‘ความรู้สึกตื่นตระหนก’ เกิดจากการรับและส่งต่อข้อมูลข่าวสารปริมาณมาก ซึ่งอาจได้รับรู้ทั้งข้อเท็จ ข้อจริง บางครั้งคนที่อยู่ในครอบครัวโดยเฉพาะผู้สูงอายุรับข่าวสารหลายทางทำให้เกิดความวุ่นวายใจ กรณีนี้แก้ไขได้ด้วยการสร้าง ‘ความสงบ’ ต้องค่อยๆกลั่นกรองข้อมูลข่าวสาร อย่าสนใจข้อมูลจากแหล่งที่ไม่น่าเชื่อถือ และไม่ส่งต่อข้อมูลที่ไม่น่าเชื่อให้บุคคลอื่น
‘ความรู้สึกอ่อนล้า’ เกิดขึ้นหลังจากต้องเผชิญสถานการณ์โควิดกันมาต่อเนื่อง สิ่งที่จะช่วยได้คือ ‘ความหวัง’ ซึ่งจะเติมพลังใจให้กับตัวเอง เริ่มด้วยการพูดคุยกับหรือสื่อสารทางบวกกับคนใกล้ชิด พูดคุยกันเป็นกลุ่มด้วยข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ซึ่งจะดีกว่าการส่งต่อข้อความที่เป็นลบใส่กัน ทั้งนี้ยังสามารถส่งต่อวัคซีนใจให้ผู้อื่นได้ด้วย ‘ความเห็นใจ’ ที่จะช่วยให้ทุกคนก้าวข้ามปัญหาไปได้
ทั้งนี้ประชาชนยังสามารถตรวจเช็คสุขภาพใจผ่านเว็บไซต์ http://Checkin.dmh.go.th หรือ โทรสายส่วนสุขภาพจิต 1323 เพื่อขอรับคำแนะนำเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต
สำหรับเว็บไซต์ดังกล่าว เป็นแบบทดสอบ ประเมินสุขภาพจิตเบื้องต้น และคัดกรองความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิตจากสถานการณ์โควิด ซึ่งพัฒนาขึ้นเพื่อช่วยให้เจ้าหน้าที่ค้นหากลุ่มเสี่ยงต่อปัญหา มาดูแลสุขภาพจิต ตลอดจนประชาชนและผู้มีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิตสามารถประเมินตนเองและเข้าถึงบริการได้อย่างรวดเร็ว
ซึ่งเริ่มต้นจากการคำตอบคำถามไม่กี่ข้อที่เกี่ยวกับสถานการณ์โควิดโดยเฉพาะในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อประเมินพลังใจของตนเอง อาทิ การเอาชนะอุปสรรคปัญหา , การจัดการความเครียด , การลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น รวมถึงการมีกำลังใจและได้รับการสนับสนุนจากคนรอบข้าง เป็นต้น
และตอบคำถามเสร็จสิ้นแล้ว จะมีผลประเมิน พร้อมคำแนะนำเบื้องต้นด้วยให้เราสามารถจัดการกับตนเองได้อีกด้วย เช่น กรณีที่ผลประเมินว่า อยู่ในความเสี่ยงที่ไม่มีพลังใจ ก็จะมีการแนะนำให้เติมพลัง ‘อึด ฮึด สู้’ เช่น พูดกับตนเองในด้านบวก , ทำจิตใจให้สงบ , เสริมคุณค่า ความดี ความภูมิใจในตนเอง และค้นหาศักยภาพตนเอง และนำมาใช้ เป็นต้น
ทั้งหมดเป็นสถานการณ์สุขภาพจิต ท่ามกลางภาวะวิกฤติโควิดที่เกิดขึ้น และเป็นเรื่องที่ประชาชนทุกคนต้องช่วยกันส่งต่อพลังบวกให้กัน เพื่อให้คนไทยร่วมกันฝ่าฟันอุปสรรคครั้งนี้ไปได้สำเร็จ
(หมายเหตุ : ภาพหน้าปกจาก freepik.com)
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage