"...เป็นเสียงสะท้อนของ ‘หน่วยรักษาความสะอาด’ ที่ต้องรับมือกับขยะติดเชื้อของประชาชน แต่ปัญหาเหล่านี้จะลดลงได้ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากประชาชนทุกคน แม้การทิ้งหน้ากากอนามัยใช้แล้วจะเป็นเรื่องพื้นฐานที่เริ่มทำได้ด้วยตัวเราเอง แต่ความร่วมมือร่วมใจก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยลดความเสี่ยงการระบาดของโควิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ..."
..............................................
ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดของโควิด ปฏิเสธไม่ได้ว่าหน้ากากอนามัยกลายเป็นสิ่งของที่ทุกคนต้องพกติดตัวก่อนออกจากบ้านทุกครั้ง
แม้ว่าทางหนึ่งจะถือว่าเป็นปัจจัยพื้นฐานในการป้องกันโรค แต่อีกทางหนึ่งยังมีคำถามตามมาด้วยว่า หน้ากากอนามัยควรทิ้งอย่างไรให้ถูกวิธี
เพราะหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว นับเป็นขยะติดเชื้อ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการจัดการอย่างถูกวิธี เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อผู้ที่ต้องสัมผัสต่อหรือสิ่งแวดล้อม
เพื่อไขข้อสงสัยเรื่องนี้ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ลงพื้นที่สำนักงานเขตห้วยขวาง หาตอบว่าคนทั่วไป ควรจัดการหน้ากากอนามัย - ขยะติดเชื้อเหล่านี้อย่างไรให้ถูกวิธี
นายพิเชฐ อึ่งป่อง หัวหน้าฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะ สำนักงานเขตห้วยขวาง ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักสิ่งแวดล้อม บอกว่า วิธีการที่ถูกต้องที่สุดสำหรับการทิ้งหน้ากากอนามัย คือการแยกบรรจุภัณฑ์ ทำสัญลักษณ์ให้ชัดเจน เพื่อให้เจ้าหน้าที่รับทราบว่าสิ่งนี้คือขยะติดเชื้อ และต้องใช้ความระมัดระวังในการจัดเก็บ ส่วนทางหน่วยงานสามารถรับทิ้งหน้ากากอนามัยใช้แล้วที่จัดเก็บในขวดพลาสติก หรือถุงขยะสีต่าง ๆ ของประชาชนได้ทั้งหมด เพราะสุดท้ายแล้วต้องคำนึงถึงประชาชนเป็นหลัก
นอกจากการจัดหาบรรจุภัณฑ์แยกทิ้งแล้ว การพับหน้ากากอนามัยที่ใช้แล้ว ก็ช่วยลดปัญหาเรื่องการแพร่กระจายเชื้อได้ด้วย ทั้งนี้ประชาชนควรนำหน้ากากอนามั้ยที่ใช้แล้วทิ้งไว้ในขวดของตัวเองจนเต็ม ก่อนนำมาทิ้ง ณ จุดบริการ หรือหากไม่สะดวก ก็สามารถคัดแยกวางไว้ในจุดที่เห็นได้ชัดเจน และไม่เสี่ยงต่อการรั่วไหล เนื่องจากฝ่ายรักษาความสะอาดฯ ได้มีการเตรียมความพร้อมของพนักงานขนย้ายขยะ รถ และอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้สามารถรองรับการจัดเก็บขยะติดเชื้อไว้อย่างมีมาตรฐาน ในช่วงการระบาดของโควิด พร้อมขอความร่วมมือไม่นำขยะทิ้งตามข้างทาง หรือพื้นที่รกร้าง เนื่องจากหากเกิดการรั่วไหลของเชื้อโรค อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของผู้เก็บขนหรือผู้ที่อาศัยในบริเวณใกล้เคียง ซึ่งมีโทษปรับตาม พ.ร.บ. รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 มาตรา 31(2) และ (54) และพ.ร.บ. การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 มาตรา 25 (4) โดยปรับไม่เกิน 2,000 บาท
สำหรับประชาชนที่สะดวกใส่หน้ากากอนามัยใช้แล้วในถุงขยะสีต่าง ๆ เช่น สีแดง สีใส และสีดำ ก่อนจะมัดด้วยเชือกหรือเทปกาวสีแดงเพื่อปิดปากถุงให้มิดชิด กรณีที่ใช้ถุงขยะเป็นสีดำควรเขียนกำกับเพิ่มเติมด้วยว่าเป็นหน้ากากอนามัยใช้แล้ว ซึ่งวิธีนี้สามารถนำไปใช้กับขยะติดเชื้ออื่นๆ เช่น เข็มฉีดยา ถุงมือทางการแพทย์ได้ด้วย
ส่วนประเด็นที่ว่า บรรจุภัณฑ์แบบไหนมีประสิทธิภาพในการจัดเก็บขยะติดเชื้อมากที่สุด ? เรื่องนี้นางกุสุมา พ่วงธานี พนักงานประศูนย์สาธารณสุข 25 ห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร ให้ข้อมูลว่า ไม่ว่าจะเป็นขวดพลาสติกหรือถุงขยะที่ถูกมัดแน่นมีประสิทธิภาพในการจัดเก็บขยะติดเชื้อได้หมด เพียงแต่มีข้อควรระวังที่แตกต่างกัน โดยขวดพลาสติกควรระมัดระวังการนำขวดกลับไปรียูส (Reuse) หรือรีไซเคิล (Recycle) ที่มีโอกาสเสี่ยงที่จะไม่ผ่านการกำจัดเชื้อโรคอย่างถูกวิธี ส่วนกรณีถุงขยะควรระมัดเรื่องการทิ้งวางบนพื้นที่เสี่ยงต่อการรั่วไหล หรือการถูกรื้อค้น อันเป็นความเสี่ยงต่อการระบาดของโควิดได้
ซึ่งข้อควรระวังในการจัดเก็บขยะติดเชื้อดังกล่าว สอคล้องกับประสบการณ์ของนางกุหลาบ คำประวัติ พนักงานรักษาความสะอาด ผู้กวาดและขนย้ายขยะมูลฝอย เล่าว่า มีบางครั้งที่ตนเองจะพบผู้รื้อค้นขวดพลาสติก หรือรื้อค้นถุงขยะ จนทำให้ขยะติดเชื้อที่ไม่ได้เขียนป้ายกำกับไว้อย่างชัดเจน ถูกทิ้งไว้ตามพื้นถนน หากตนเองเจอจะรีบจัดการตามระเบียบการจัดเก็บขยะติดเชื้อในทันที แต่ก็อดที่จะกังวลไม่ได้ว่า กรณีที่ตนเองไม่ได้พบเห็น หน้ากากอนามัยที่ใช้แล้วถูกทิ้งไว้บนถนน อาจเกิดให้เกิดปัญหาได้ จึงอยากให้เกิดความร่วมมือกันในทุกภาคส่วนให้ช่วยกันสอดส่องดูแลเรื่องนี้
สำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร ยังเผยแพร่ชุดข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับวิธีจัดการขยะช่วงโควิดระบาดสำหรับประชาชน เพื่อลดการแพร่เชื้อโควิดสู่สาธารณะ ดังนี้
1.แยกขยะทั่วไปออกเป็น 3 ประเภท คือขยะทั่วไป ขยะรีไซเคิล และขยะที่เป็นพิษหรืออันตราย
2.สำหรับผู้ที่แยกสังเกตอาการที่บ้าน มีขยะที่เสี่ยงติดเชื้อ คือ หน้ากากอนามัย ถุงมือที่ปนเปื้อนสารคัดกลั่ง กระดาษชำระ ขอให้แยกเป็นขยะเฉพาะ โดยเก็บรวบรวมใส่ถุงขยะ 2 ชั้น โดยถุงขยะใบแรกที่บรรจุขยะแล้วให้ทำลายเชื้อด้วยน้ำยาฟอกขาว (โซเดียมไฮโปคลอไรท์ 5%) มัดปากถุงให้แน่น แล้วซ้อนด้วย ถุงขยะอีก 1 ชั้นมัดปากถุงให้แน่นอีกครั้ง
3.ลดการเสี่ยงติดเชื้อโดยการพับหรือมัดส่วนที่ติดเชื้อให้อยู่ด้านใน
4.นำขยะไปทิ้งในจุดที่เจ้าหน้าที่จัดรวบรวมไว้
5.ปิดหรือมัดถุงขยะให้สนิท
6.ล้างมือด้วยสบู่ เจลแอลกอฮอล์ทุกครั้งหลังทิ้งหน้ากากอนามัย
ทั้งหมดเป็นเสียงสะท้อนของ ‘หน่วยรักษาความสะอาด’ ที่ต้องรับมือกับขยะติดเชื้อของประชาชน แต่ปัญหาเหล่านี้จะลดลงได้ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากประชาชนทุกคน แม้การทิ้งหน้ากากอนามัยใช้แล้วจะเป็นเรื่องพื้นฐานที่เริ่มทำได้ด้วยตัวเราเอง แต่ความร่วมมือร่วมใจก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยลดความเสี่ยงการระบาดของโควิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage