"...มาตรการล็อกดาวน์กลายเป็นว่าคนดีๆ ที่ต้องเดือดร้อน ลำบากกันทั้งหมด จึงต้องขอความร่วมมือกันจะดีที่สุด ส่วนการใช้กฎหมายหรือยาแรง ไม่เป็นผลบวกกับเรา โดยเฉพาะกับภาพรวมทางเศรษฐกิจที่มีผลกระทบมากมาย ตอนนี้เจ็บไข้ที่ไหน จะใช้ยาแรงแก้ปัญหาตรงนั้น น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด นพ.ทวีศิลป์ กล่าว..."
........................................................
หมายเหตุสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เมื่อวันที่ 2 ม.ค.2564 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมเตรียมเสนอการยกระดับมาตรการควบคุมโควิด พร้อมประกาศพื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง) รวม 28 จังหวัด โดยจะเสนอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณา ก่อนที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 4 ม.ค. - 1 ก.พ.2564
ศบค.ระบุว่า สถานการณ์ปัจจุบัน พบว่าการคัดกรองแรงงานต่างด้าวยังพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การระบาดรอบใหม่ที่น่าจับตามองคือกลุ่มในกรุงเทพฯ ที่กระจายหลายพื้นที่และเริ่มมีผู้เสียชีวิต โดยไม่สามารถหาความเชื่อมโยงจากการระบาดเดิมได้ ทำให้การควบคุมโรคยากขึ้นกว่าเดิม และคาดว่าจะมีการแพร่กระจายโรคเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัวและไปยังทุกจังหวัดทั่วประเทศ จึงจำเป็นต้องมีมาตรการป้องกันควบคุมโรคที่เข้มข้น จึงจะมีประสิทธิภาพเพียงพอ
โดยรูปแบบการแพร่ระบาดที่ต้องเฝ้าระวังเข้มข้น มี 2 รูปแบบ คือ 1.ผู้ติดเชื้อหลายคน ทราบดีว่าตนเองได้เดินทางเข้าไปในพื้นที่เสี่ยงหรือร่วมกิจกรรมที่เสี่ยงการติดเชื้อ ‘แต่ไม่ยอมกักกันตนเอง’ หรือไม่หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้อื่นหรือไม่เข้าไปปรึกษาแพทย์ ทำให้เกิดการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นในสถานที่ต่างๆ
2.ยังมีกิจกรรมลักลอบมั่วสุมโดยผิดกฎหมาย โดยเฉพาะการพนันเกิดขึ้นโดยทั่วไป ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เป็นต้นเหตุให้เกิดการแพร่ระบาด นอกจากนั้นยังมีการมั่วสุมแบบเคลื่อนที่จากที่หนึ่งไปยังที่หนึ่งอีกด้วย
ขณะที่ จำนวนผู้ติดเชื้อและมีอาการ ต้องเข้ารับการรักษาพยาบาล มีจำนวนมากขึ้น และจะมีผู้เสียชีวิตจำนวนมากขึ้น มีความจำเป็นต้องทบทวนมาตรการป้องกันโรคโควิดในภาพรวม
ภาครัฐ ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม มีความตระหนักรู้ถึงผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคโควิด และให้ความร่วมมือกับมาตรการป้องกันโรคเป็นอย่างดี แต่ยังมีอีกส่วนหนึ่งยังขาดความระมัดระวังในมาตรการที่ ศบค. ขอความร่วมมือ จึงมีความจำเป็นต้องบูรณาการการดำเนินมาตรการป้องกันโรคโควิดเป็นภาพรวม
สถานการณ์ทั้งหมดทำให้ ศบค.ตัดสินใจเสนอนายกรัฐมนตรี ยกระดับ-ประกาศใช้มาตรการควบคุมโรคแบบบูรณาการ ที่มีพื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง) รวม 28 จังหวัด พื้นที่ควบคุม (สีส้ม) 11 จังหวัด และพื้นที่เฝ้าระวังสูงสุด (สีเหลือง) 38 จังหวัด
สำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง) ประกอบด้วย ตาก , นนทบุรี , ปทุมธานี , พระนครศรีอยุธยา , สระบุรี , ลพบุรี , สิงห์บุรี , อ่างทอง , นครนายก , กาญจนบุรี , นครปฐม , ราชบุรี , สุพรรณบุรี , ประจวบคีรีขันธ์ , เพชรบุรี , สมุทรสงคราม , สมุทรสาคร , ฉะเชิงเทรา , ปราจีนบุรี , สระแก้ว , สมุทรปราการ , จันทบุรี , ชลบุรี , ตราด , ระยอง , ชุมพร , ระนอง , กรุงเทพฯ
พื้นที่ควบคุม (สีส้ม) ประกอบด้วย สุโขทัย , กำแพงเพชร , นครสวรรค์ , อุทัยธานี , ชัยนาท , เพชรบูรณ์ , ชัยภูมิ , บุรีรัมย์ นครราชสีมา , สุราษฎร์ธานี , พังงา
พื้นที่เฝ้าระวัง (สีเหลือง) คือจังหวัดที่เหลือของประเทศไทยอีก 38 จังหวัด
โดยมาตรการที่จะถูกยกระดับ หลังจากที่นายกรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในห้วงเวลา 1 เดือน ตั้งแต่ 4 ม.ค. – 1 ก.พ. ภายใต้ชื่อภารกิจ ‘รวมใจไทย ต้านภัยโควิด-19’ ซึ่งเป็นการเพิ่มความเข้มข้นการควบคุมโรคในพื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง) แบ่งเป็น 2 ขั้น 2 ระยะ ดังนี้
ขั้นที่ 1 ให้นำมาตรการที่เคยถูกใช้ช่วง มิ.ย.2563 ที่อยู่ในช่วง ‘คลายล็อก’ นำกลับมาบังคับใช้ใหม่ อาทิ ข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 5 และ 6 , คำสั่ง ศบค.ที่ 2/2563 และ 3/2563 (ฉบับที่ 1) โดยมีรายละเอียด ดังนี้
จำกัดเวลาเปิด-ปิดสถานประกอบการ, ปิดสถานประกอบการที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด, ค้นหาและจับกุมกลุ่มบุคคลที่มั่วสุมทาผิดกฎหมาย, หลีกเลี่ยงการจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก, ขอความร่วมมือไม่เดินทางข้ามจังหวัด, สถานการศึกษาหยุดการเรียนการสอนหรือใช้รูปแบบออนไลน์, ให้มีการทำงานแบบ Work from Home ทั่วทั้งพื้นที่, ควบคุมการเดินทางของบุคคลที่เดินทางจากพื้นที่ควบคุมสูงสุด, เร่งการตรวจค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกและการสอบสวนโรคในพื้นที่ที่มีผู้ติดเชื้อและพื้นที่เชื่อมโยงที่ได้ข้อมูลจากการสอบสวนโรคของสาธารณสุข
ขั้นที่ 2 ที่ถือว่าเป็น ‘ยาแรง’ จะถูกหยิบมาใช้ทันที หากห้วงเวลา 1 เดือนจากนี้ สถานการณ์การควบคุมโรคยังไม่ได้ผล นั่นคือการย้อนกลับไปใช้มาตรการที่เข้มข้นช่วงที่มีการระบาดหนักก่อนหน้านี้ อาทิ การบังคับใช้ข้อกำหนด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับที่ 1 , 2 และ 3 ที่มีความหมายว่า ‘ล็อกดาวน์’ อีกครั้งหนึ่ง โดยมีรายละเอียด ดังนี้
จำกัดเวลาเปิด-ปิดสถานประกอบการเพิ่มมากขึ้น (รวมทั้งจำกัดการเปิดกิจการบางประเภทด้วย ปิดสถานประกอบการที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด, เพิ่มความเข้มข้นในการเร่งค้นหาและจับกุมกลุ่มบุคคลที่มั่วสุมทำผิดกฎหมาย งดจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก เพิ่มความเข้มข้นในมาตรการควบคุมการเดินทางข้ามจังหวัด สถานศึกษายังคงหยุดการเรียนการสอนเว้นกิจกรรมที่มีความจำเป็น เร่งรัดและเพิ่มการทำงานแบบ Work from Home อย่างเต็มขีดความสามารถ เร่งรัดการตรวจค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกและการสอบสวนโรคในพื้นที่ที่เสี่ยง, กิจกรรม/กิจการที่เสี่ยง, กลุ่มบุคคลที่เสี่ยง, จำกัดเวลาออกนอกเคหะสถานในพื้นที่ที่ ศปก.จังหวัด กาหนด
ส่วนนอกพื้นที่อื่น ศบค.จะขอความร่วมมือให้ผู้ที่เดินทางเข้าไปในพื้นที่ที่มีการติดเชื้อจำนวนมาก กักตัวเอง 14 วัน หากพบว่ามีอาการผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์
สำหรับจังหวัดที่ไม่ได้ถูกกำหนดเป็นกลุ่มที่ต้องใช้มาตรการควบคุมแบบบูรณาการ แต่อยู่ในกลุ่มพื้นที่ควบคุม (สีส้ม) และพื้นที่เฝ้าระวังสูง (สีเหลือง) ให้เร่งรัดดำเนินการตามคำสั่งก่อนหน้านี้ คือ เร่งรัดการตรวจหาเชื้อ , จำกัดเวลาเปิด-ปิดสถานประกอบการที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด , ค้นหาและจับกุมกลุ่มบุคคลที่มั่วสุมทำผิดกฎหมาย ซึ่งจะมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด กำหนดมาตรการควบคุมแรงงานต่างด้าวไม่ให้เคลื่อนย้าย หลีกเลี่ยงทำกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มจำนวนมาก และให้มีการ Work From Home อย่างเต็มขีดความสามารถ
ส่วนเหตุผลที่ยังไม่ใช้ ‘ล็อกดาวน์’ ในทันที นพ.ทวีศิลป์ กล่าวย้ำว่า ในห้วงเวลาก่อนหน้านี้การล็อกดาวน์และเคอร์ฟิว ยังพบว่ามีคนฝ่าฝืนมาตรการ ถูกจับเพราะเล่นการพนัน ออกนอกเคหะสถานโดยไม่มีธุระ เราเห็นตัวเลขนี้ตลอดเวลา ต่อให้มียาแรงมากมาย แต่ไม่สามารถจัดการกับคนเหล่านี้ได้ จึงอาศัยการใช้ความร่วมมือน่าจะดีที่สุด
"มาตรการดังกล่าวกลายเป็นว่าคนดีๆ ที่ต้องเดือดร้อน ลำบากกันทั้งหมด จึงต้องขอความร่วมมือกันจะดีที่สุด ส่วนการใช้กฎหมายหรือยาแรง ไม่เป็นผลบวกกับเรา โดยเฉพาะกับภาพรวมทางเศรษฐกิจที่มีผลกระทบมากมาย ตอนนี้เจ็บไข้ที่ไหน จะใช้ยาแรงแก้ปัญหาตรงนั้น น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด" นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage