"....“วิมายปุระ” ใช่เพียงทับหลัง หน้าบัน รอยสลักเสลาของประติมาแห่งเชิงช่างชั้นครู หากแทบทุกรอยย่างก้าวบนผืนดิน แทบทุกตารางเมตร ยังทับซ้อนไปด้วยคติความเชื่อแห่งพราหมณ์-พุทธ และประวัติศาสตร์แต่ละยุคสมัย ..."
.........................
อินทรชิตผู้เร้นกายในม่านเมฆ ถูกสลักไว้อย่างจงใจแอบซ่อน ณ มุมเล็กๆ แห่งทับหลังที่บอกเล่าเรื่องราวรามายณะ ในคราวที่รามและลักษมันถูกพิษจากศรนาคบาศของบุตรแห่งจอมรากษจนคล้ายวายชีวา
ดวงหน้าสีดาที่แม้นถูกคมมีดของบางมือตัดเฉือนทำลาย ยังไม่อาจกลบความอาดูรอันบรมครูผู้สลักทับหลังจำหลักดวงใจแตกสลายของนางไว้ขณะโอบกอด ช้อนพระเศียรภัสดาและอนุชาไว้แนบตัก
เผ่าพันธุ์วานรผู้ร่วมรบเคียงบ่าไหล่ในมหาสงครามต่างโศกสลด ศึกยังมิจบ ทว่า จอมทัพคล้ายลาลับ จึงย่อมมิเพียงระส่ำระสาย หากยังหมดสิ้นซึ่งความหวังที่จักนำพาให้คว้าชัยในศึกนี้
ความละเอียดลออที่แฝงไว้ทั่วทับหลัง ทั้งในเชิงประติมาและการถ่ายทอดสภาวะอารมณ์ของบทตอนสำคัญแห่งมหากาพย์รามายณะ นับเป็นหนึ่งในความงามอันเปี่ยมความหมายทั้งในทางธรรมและทางโลกย์
ทว่า “วิมายปุระ” ใช่มีเพียงนั้น ใช่เพียงทับหลัง หน้าบัน รอยสลักเสลาของประติมาแห่งเชิงช่างชั้นครู หากแทบทุกรอยย่างก้าวบนผืนดิน แทบทุกตารางเมตร ยังทับซ้อนไปด้วยคติความเชื่อแห่งพราหมณ์-พุทธ และประวัติศาสตร์แต่ละยุคสมัย
แม้เมื่อเลยพ้นออกมานอกอาณาบริเวณปราสาท การทับซ้อนของประวัติศาสตร์และวิถีชีวิตปัจจุบันยังคงดำรงอยู่คู่กันอย่างไม่อาจแยกจาก ไม่ต่างจากวิถีชีวิตของชาวเมืองพิมายนับแต่อดีตกาลที่เคลื่อนไหว วิวัฒน์ พัฒนาและก่อร่างสร้างอารยธรรมอันรุ่งเรืองบนเมืองที่โอบล้อมไปด้วยลำน้ำอันอุดมไม่น้อยกว่า 3,000 ปีที่ล่วงมา
( 1 ) ที่แห่งนี้มีตำนาน : เรื่องราวเล่าขานจากปราชญ์ชาวบ้าน
ลี้ลับคีตกาล
บัวสีงามชูช่อพ้นน้ำในยามบ่ายอันเงียบสงัด เชื้อชวนให้ผู้ที่เคยได้ยินได้ฟังเรื่องราวเล่าขานเกี่ยวกับ “นาม” ของสระแห่งนี้ คาดหวังว่าอาจได้รับสิทธิ์บางประการเช่นเดียวกับชาวเมืองพิมายเมื่อครั้งอดีตอันยาวนาน สิทธ์ที่ว่านั้น คือแว่วเสียงคีตกาลลี้ลับที่ขับคลอให้ได้ยินทุกคืนวันพระ ราวกับเจตจำนงของผู้บรรเลงเป็นไปเพื่อมุ่งบูชาพระธรรม ท่วงทำนองบรรพกาลถูกขับขานผ่านเสียงปี่พาทย์ ระนาด ขลุ่ย ตะโพน โทน และอีกหลากหลายเครื่องดนตรีอันไร้ที่มาและไม่ปรากฏว่าใครคือผู้รังสรรค์ทำนองที่มักบรรเลงคลอเคล้าในทุกค่ำคืนอันศักดิ์สิทธิ์
คือเรื่องราวเล่าขานสืบมาของสระน้ำโบราณแห่งนี้…สระเพลง
เจ้าต่างเมืองล่มปราสาท ชิงดวงแก้ว
ก่อนการเข้ามาบูรณะปราสาทพิมายโดยกรมศิลปากรในปี พ.ศ. 2494
ปราสาทพิมายแลคล้ายซากปรักที่…ยอดด้วน ก่อเกิดอีกตำนานบอกกล่าวเล่าสู่ถึงที่มาของสภาพอันพังทลายนั้นว่า เดิมที มีดวงแก้วมณีสวยงามล้ำค่ำอยู่ที่ยอดปราสาท แสงแวววับงดงามนั้นล้วนจับตาจับใจผู้พบเห็นโดยเฉพาะในยามที่ราตรีห่มคลุม แสงเจิดจ้าของดวงแก้วยิ่งทอประกายเจิดจ้าราวขวัญเมือง ทำให้กษัตริย์ผู้ครองนครใหญ่แห่งหนึ่งที่อยู่ห่างออกไปไกลแสนไกลยังสามารถแลเห็นและหลงใหลในความงดงามของรัศมีแห่งดวงแก้ว กลายเป็นความปรารถนาอยากได้มาไว้ในครอบครอง นำไปสู่การจัดกระบวนทัพยาตราสู่เมืองพิมายเพื่อล่มปราสาทชิงเอาดวงแก้วนั่นคือที่มาของซากปรักแห่งปราสาทที่ส่วนยอดหักพังกลายเป็นเศษซากกลาดเกลื่อนอยู่โดยรอบ
สู่ขวัญเจ้าดวงแก้ว
แม้ยอดมณฑปแห่งปราสาทจะพังทลายย่อยยับแต่กษัตริย์ต่างเมืองผู้นั้นมิอาจไขว่คว้าดวงแก้วเป็นของตน ปราสาทพังทลาย กระบวนทัพจึงยอมล่าถอยด้วยไม่เป็นดังหวัง กษัตริย์ต่างเมืองยินยอมจากลาคืนมาตุภูมิ ทว่า แก้วศักดิ์สิทธิ์ดวงนั้นยังคงหลบลี้หนีหาย
นำมาสู่ตำนานบทใหม่“สู่ขวัญดวงแก้ว” เล่าขานที่มาของ “นาม” แห่งสระโบราณอีก 3 แห่ง คือ สระแก้ว สระพลุ่งและสระขวัญ
“ลูกแก้วบนยอดปราสาทตกใจก็หนีไปตกที่สระขวัญ ชาวบ้านในตอนนั้นก็ช่วยกันทำบายศรี ทำพิธีสู่ขวัญลูกแก้วให้กลับคืนมา ในที่สุดลูกแก้วก็ยอมพุ่งขึ้นมาจากสระ สระนี้ก็เลยชื่อสระพุ่ง แล้วลูกแก้วก็ลอยไปตกที่สระแก้ว จนถึงทุกวันนี้ คนเฒ่าคนแก่ที่รู้จักตำนานนี้ก็เชื่อกันว่าลูกแก้วยังอยู่ในสระแก้ว”
เรื่องราวตำนานเหล่านั้น เป็นคำบอกเล่าของคุณยายทิม นุชกลาง หญิงชราวัยใกล้ 9 ทศวรรษ ชาวพิมายนับแต่กำเนิดที่บันทึกเรื่องราวตำนานอันเปี่ยมชีวิตชีวาไว้ในความทรงจำมากมาย ตำนานเก่าแก่ที่ลงลึกในรายละเอียดกระทั่งเสียงดนตรีลึกลับที่ขับกล่อมมาจากสระเพลงว่าประกอบด้วยเครื่องดนตรีอะไรบ้าง รวมถึงตำนานเก่าแก่อย่างกษัตริย์ต่างเมืองล่มปราสาท ทั้งสามตำนานที่ยากนักจะได้ยินได้ฟัง ล้วนเป็นคุณยายทิมผู้นี้เองที่ถ่ายทอดได้อย่างสนุก รวมถึงตำนานท้าวปาจิตต์กับนางอรพิมที่โด่งดังไปทั่วอีสานใต้ คุณยายก็ถ่ายทอดจากความทรงจำที่ได้ยินได้ฟังมานับแต่เด็กอย่างเห็นภาพการเดินทางของทั้งคู่ที่ขยายความ อธิบายที่มาของสถานที่ต่างๆ ตามสิ่งที่บรรพชนคนรุ่นนั้นพบเห็น แม้อาจไม่ตรงกับข้อมูลของนักวิชาการด้านโบราณคดีแต่เรื่องราวตำนานเหล่านี้ก็มีคุณค่าในแง่ของประวัติศาสตร์และอัตลักษณ์ชุมชนที่ถ่ายทอดต่อกันมาผ่านมุขปาฐะจากรุ่นสู่รุ่น
( 2 ) ประวัติศาสตร์ที่ซ้อนทับ
ฐานรากที่ค้ำจุนปราสาท จากยุคก่อนประวัติศาสตร์
จากตำนานเล่าขานของคนในพื้นที่เพื่ออธิบายที่มาต่างๆ ของหลักฐานทางโบราณคดีและโบราณสถานต่างๆ ที่พบเห็น นำมาสู่การสำรวจของนักโบราณคดีหลากหลายรุ่นหลายสำนักก่อเกิดสำนักคิดและการตีความมากมาย
แต่ความจริงหนึ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้คือ ปราสาทพิมายและเมืองพิมาย ได้กลายเป็นหมุดหมายสำคัญและกลับคืนสู่สถานะความเป็นศูนย์กลางเมืองอีกครั้ง
ดร.ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านโบราณคดี จ.นครราชสีมา อดีตทีมขุดค้นและบูรณะปราสาทพิมายในปี พ.ศ.2529รับหน้าที่เป็นผู้นำทางกิตติมศักดิ์พาเราสำรวจร่องรอยกาลเวลาของปราสาทพิมายและเมืองพิมาย เล่าว่าก่อนหน้ายุคของการเกิดปราสาทพิมาย จริงๆ แล้วที่เมืองพิมายนี้มีชุมชนก่อนประวัติศาสตร์อยู่คือบริเวณหัวมุมกำแพงด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ ที่เรียกว่า เนิน “บ้านส่วย”เนินนี้มีการอยู่อาศัยมาตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์อยู่แล้ว และเนินนี้กรมศิลปากรก็ได้ขุดค้น ศึกษาทางโบราณคดีแล้วพบว่ามีการอยู่อาศัยมาตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์แล้วก็มีพัฒนาการต่อเนื่อง สร้างเป็นคูน้ำ คันดิน เป็นเมืองสมัยทวารวดี ซึ่งก็ได้พบหลักฐานพระพุทธเจ้าประทับเหนือพนัสบดีสมัยทวารวดี อยู่ในกลุ่มบ้านส่วยนี่ด้วย
“ส่วนหนึ่งของพื้นที่ปราสาทพิมายคนโบราณเขาก็ขุดเอาดินจากเนินดินบริเวณบ้านส่วย และดินจากบริเวณที่ลุ่มริมแม่น้ำมูลนั่นแหละ มาก่อสร้างนำมาปรับพื้นที่แล้วก็ก่อสร้างตัวปราสาทขึ้นมา” ดร.ทนงศักดิ์ ระบุ
บริเวณบ้านส่วยที่ ดร.ทนงศักดิ์เอ่ยถึง คือบริเวณเดียวกับที่ในปี พ.ศ. 2509 นายแฮม ปาร์คเกอร์ ( Ham Parker ) นักโบราณคดีจากนิวซีแลนด์ได้ขุดตรวจแหล่งโบราณคดีบ้านส่วย ติดกับมุมกำแพงเมืองทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองพิมาย ได้พบภาชนะดินเผาแบบพิมายดำ เครื่องมือเครื่องใช้โลหะและตะกรันเหล็กกระจายอยู่ทั่วไป การขุดค้นในคราวนั้นมีทั้งสิ้น 9 หลุมขุด พบหลักฐานทางโบราณคดีตั้งแต่ชั้นดินล่างสุดจนถึงชั้นบน จากนั้นในเดือนธันวาคม ปี 2543-พฤษภาคม 2544 สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 9 นครราชสีมา ได้กำหนดจุดที่ชัดเจนตายตัวสำหรับหลุมขุดค้น คิดเป็นพื้นที่กว่า 48 ตารางเมตรจำนวน 4 หลุม
ในวันที่เราเดินทางกลับไปที่บริเวณหลุมขุดค้นในคราวนั้น หลุมถูกล้อมรั้วปิดกั้นมิดชิด ไม่สามารถเข้าไปได้ แต่กระนั้น บนถนนหนทางที่เราเดินผ่าน เมื่อใช้เวลาก้มมอง สำรวจดู สำหรับนักโบราณคดีผู้ชำนาญในการขุดค้นย่อมทราบว่า เครื่องปั้นดินเผาแบบพิมายดำและหลักฐานที่สะท้อนถึงอารยธรรมยุคชุมชนก่อนประวัติศาสตร์นั้น ยังคงปรากฏอย่างชัดเจน ขึ้นอยู่กับว่าใครจะมองเห็นหรือไม่
(3) ประวัติศาสตร์การบูรณะแต่ละยุคสมัย
แต่นอกจากพื้นที่บ้านส่วยแล้ว ปราสาทพิมายและเมืองพิมายยังมากด้วยประวัติศาสตร์แห่งการขุดค้น แม้เพียงแค่ประวัติศาสตร์การบูรณะปราสาทก็ทับซ้อนกันแล้วหลายต่อหลายชั้นนับตั้งแต่...
-ยุคเสียกรุงศรีฯ ครั้งที่ 2นำการบูรณะโดยกรมหมื่นเทพพิพิธ
นับตั้งแต่ครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาให้แก่พม่า กรมหมื่นเทพพิพิธพระราชโอรสในพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ได้หนีมาซ่องสุมกำลังผู้คนอยู่ที่นครราชสีมาและเมืองพิมาย แต่หลังจากนั้นเป็นต้นมา ปราสาทพิมายก็ถูกทิ้งร้างจนทรุดโทรม กล่าวได้ว่ากรมหมื่นเทพพิพิธ จึงเปรียบเสมือนผู้ที่บูรณะปราสาทพิมายรุ่นแรกๆ
-ปี พ.ศ. 2426-2427 เอเตียน เอโมนิแยร์ ( Etienne Aymonier ) พร้อมคณะสำรวจชาวฝรั่งเศส ได้เข้ามาสำรวจแหล่งโบราณสถานในที่ราบสูงโคราช ในการสำรวจครั้งนี้ เอโมนิเยร์ได้เขียนอธิบายลักษณะทั่วๆ ไป ของปราสาทพร้อมทั้งร่างแผนผังของตัวเมืองพิมาย แต่ผังนี้ยังไม่มีความถูกต้องมากนัก
-ปี พ.ศ. 2426 นายเจมส์ แมคคาร์ที ( James McCarthy ) ผู้อำนวยการคณะสำรวจของรัฐบาลอังกฤษ ได้เข้ามาสำรวจโบราณสถานวัตถุในแถบอิสานใต้ และกล่าวถึงปราสาทพิมายไว้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น
-ปี พ.ศ. 2433 นายลูเนท์ เดอ ลาฌองกิเยร์ ( Lunet de Lajoncquiere) ได้รวบรวมข้อมูลของเอโมนิเยร์ และข้อมูลอื่นๆ ที่มีอยู่ เพื่อทำการสำรวจแหล่งโบราณสถานในเขตภาคอิสาน โดยรวบรวมรายละเอียดให้ค่อนข้างมีความถูกต้องและมีความเป็นวิชาการมากที่สุด
ในขั้นนี้ลาฌองกิเยร์ ได้แก้แผนผังที่ เอโมนิแยร์ สำรวจไว้โดยระบุตำแหน่งใหม่ให้ถูกต้อง และเพิ่มตำแหน่งสระน้ำโบราณลงไป นอกจากนี้ ลาฌองกิเยร์ ยังเปรียบเทียบรูปแบบสถาปัตยกรรมและการก่อสร้างของปราสาทหินพิมายว่าคล้ายคลึงกับปราสาทนครวัดที่กัมพูชา
-ปี พ.ศ. 2462 อีริค ไซเดนฟาเดน ( Erik Seidenfaden ) นักชาติพันธุ์วิทยาชาวเดนมาร์ค ได้เดินทางไปพิมายและเขียนรายงานค่อนข้างละเอียดเกี่ยวกับปราสาทพิมาย เผยแพร่ในวารสารสยามสมาคม ในปี พ.ศ.2463
-ปี พ.ศ. 2465 อีริค ไซเดนฟาเดน ตีพิมพ์งานของ ลาฌองกิเยร์ และจากนั้นอีก 1 ปี ถัดมา ไซเดนฟาเดน ก็ตีพิมพ์หนังสือนำเที่ยวพิมายเป็นภาษาอังกฤษ โดยมีสาระสำคัญส่วนหนึ่งเน้นที่ความน่าสนใจของจารึกที่พบที่ปราสาทพิมาย ซึ่งเป็นจารึกที่ ศ.ยอร์ช เซเดส์ อ่านและถอดความไว้
-ปี พ.ศ. 2472 สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จทอดพระเนตรปราสาทหินพิมายซึ่งในขณะนั้นมีสภาพทรุดโทรมอย่างมาก ตัวปราสาทประธานปรากฏให้เห็นเพียงครึ่งองค์เท่านั้น
-ปี พ.ศ. 2479 กรมศิลปากรประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 53 ขึ้นทะเบียนให้ปราสาทพิมาย เป็นโบราณสถาน
-ปี พ.ศ. 2494 กรมศิลปากรมีความสนใจในงานโบราณคดีที่พิมาย เริ่มทำการขุดแต่งบูรณะอย่างจริงจัง
-ปี พ.ศ. 2497 กรมศิลปากรเริ่มทำการขุดค้นแต่งบูรณะอย่างจริงจัง ในราว พ.ศ. 2497 ได้ทำการขุดแต่งบริเวณ ใกล้กับปราสาทประธานโดยกรมศิลปากร ได้ทำการเสริมความมั่นคงด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ในส่วนที่มีความชำรุดผุพังอย่างมาก เช่น บริเวณมุขและประตูทางเข้า ทางด้านทิศตะวันออกและทิศใต้
-ปี พ.ศ. 2502 นายมานิตย์ วัลลิโภดม ขณะดำรงตำแหน่งภัณฑารักษ์เอก กรมศิลปากร ได้ทำการสำรวจและขุดแต่งโบราณสถานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และได้พบท่านางสระผม และแนวกำแพง
-ปี พ.ศ. 2505 นายธนิตย์ อยู่โพธิ์ ขณะดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปากร
เกิดโครงการ 3 โครงการ ได้แก่ บูรณะปราสาท ก่อสร้างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และขยายของเขตโบราณสถาน โดยรัฐบาลไทยได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลฝรั่งเศส ผ่าน องค์การสนธิสัญญาป้องกันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (สปอ. หรือ ซีโต้ Southeast Asia Treaty Organization - SEATO)
-ปี พ.ศ. 2509 นายแฮม ปาร์คเกอร์ ( Ham Parker ) ได้ขุดตรวจแหล่งโบราณคดีบ้านส่วย ติดกับมุมกำแพงเมืองทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองพิมาย ได้พบภาชนะดินเผาแบบพิมายดำ เครื่องมือเครื่องใช้โลหะและตะกรันเหล็กกระจายอยู่ทั่วไป
-ปี พ.ศ. 2510 รัฐบาลฝรั่งเศสได้ส่งนายปีแอร์ ปีชาร์ด ( Pierre Pichard ) สถาปนิกมาช่วยเหลืองานบูรณะด้านจัดทำแผนที่และแผนผังการบูรณะ
-ปี พ.ศ. 2511 เดือนกันยายน องค์ปราสาทประธาน ได้รับการบูรณะซ่อมแซมให้กลับสู่สภาพเดิม แต่ส่วนอื่นๆ ยังไม่ได้รับการบูรณะ
-ปี พ.ศ. 2512 กรมศิลปากรทำการสร้างเพดานปราสาทประธาน ปรับปรุงด้านหน้าสะพานนาค ติดตั้งไฟฟ้าตามเขตโบราณสถาน ขุดแต่งคลังเงินหรือธรรมศาลา มีนักศึกษาคณะโบราณคดีเข้ามาดำเนินการขุดค้นภายในบริเวณปราสาท
-ปี พ.ศ. 2519 กรมศิลปากรได้เสนอแผนอนุรักษ์ ส่งเสริมการศึกษาทางศิลปวัฒนธรรม
กระทั่งในปี พ.ศ. 2532 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ( ซึ่งยังดำรงพระยศในขณะนั้น ) เสด็จเป็นประธานในพิธีเปิดอุทยานประวัติศาสตร์พิมายอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2532
ข้อมูลอ้างอิง :
ปราสาทพิมาย เพชรน้ำเอกแห่งวิมายปุระเอกลักษณ์: รศ.ดร.สมมาตร์ ผลเกิด
รายงานการขุดค้นแหล่งโบราณคดีบ้านส่วย อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา : รัชนี คชรัตน์ และอำพัน กิจงาม
หนังสือนำชมอุทยานประวัติศาสตร์พิมาย
การศึกษาคติการออกแบบปราสาทหินพิมาย อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา : วิทยานิพนธ์หลักสูตรปริญญาศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม ภาควิชาศิลปะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย และปราสาทพิมาย : แนวทางใหม่ของการบริหารจัดการ: ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ ดุษฎีนิพนธ์บัณฑิต สาขาบริหารศิลปะและวัฒนธรรม คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
ขอขอบคุณเป็นพิเศษ ดร.ทนงศักดิ์ หาญวงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านโบราณคดี จ.นครราชสีมา
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/