"...สำหรับสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุช่วงเทศกาลปีใหม่ 2563 สาเหตุของการเสียชีวิต อันดับหนึ่ง คือ ขับรถเร็วเกินกำหนด 42.86% เมาสุรา 28.29% ตัดหน้ากระชั้นชิด 22.86% ... ในทางกลับกันกรณีอุบัติเหตุทำให้เกิดการบาดเจ็บนั้น สาเหตุหลักอันดับหนึ่ง คือ เมาสุรา 32.90% ขับรถเร็วเกินกำหนด 27.61% และ ตัดหน้ากระชั้นชิด 17.21%..."
.........................................................
เริ่มนับหนึ่งช่วง 7 วันอันตราย เทศกาลปีใหม่ ระหว่างวันที่ 29 ธ.ค.2563 – 4 ม.ค.2564
ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน (ศปถ.) รายงานสถิติวันแรก เกิดอุบัติเหตุ 414 ครั้ง บาดเจ็บ 438 ราย เสียชีวิต 43 ราย โดยมีสาเหตุหลักมาจากขับรถเร็ว 32.85% ดื่มแล้วขับ 24.88% และตัดหน้ากระชั้นชิด 22.46% และยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดคือ รถจักรยานยนต์ 81.11% รถกระบะ 5.53% และรถยนต์ 3.46%
ทั้งนี้ข้อมูลอุบัติเหตุรายจังหวัด เกิดขึ้นสูงสุดที่ มหาสารคาม 15 ครั้ง บาดเจ็บสูงสุดที่เชียงใหม่ 17 ราย และเสียชีวิตสูงสุดที่ ชลบุรี บุรีรัมย์ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ อุดรธานี จังหวัดละ 3 ราย
แม้ว่าสถิติวันแรกจะมีตัวเลขผู้เสียชีวิตสูงถึง 43 ราย แต่หากเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน ก็ยังมีสถิติที่ใกล้เคียงกัน เนื่องจากปี 2562 การรายงานวันแรกของช่วง 7 วันอันตรายก็พบผู้เสียชีวิต 49 รายเลยทีเดียว
สำหรับสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 3 ปีย้อนหลังระหว่างปี 2561 – 2563 พบว่า มีค่าเฉลี่ยการเกิดอุบัติเหตุอยู่ที่ 3,684 ครั้ง จำนวนผู้บาดเจ็บ 3,799 ราย และจำนวนผู้เสียชีวิต 420 ราย
(สถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนนย้อนหลัง 3 ปีของ ศปถ.)
เป็นที่น่าสนใจว่า ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด ทั้งกรณีบาดเจ็บและเสียชีวิต คือ รถจักรยานยนต์ รถปิคอัพ และรถเก๋ง ตามลำดับ
เฉพาะปีใหม่ 2563 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุจนมีผู้เสียชีวิต รถจักรยานยนต์ 74.08% รถปิคอัพ 8.73% และรถเก๋ง 7.04% ส่วนกรณีผู้บาดเจ็บ เกิดจาก รถจักรยานยนต์ 80.09% รถปิคอัพ 6.76% และรถเก๋ง 3.86%
ทั้งนี้ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุ แต่ไม่มีผู้เสียชีวิตเลยในช่วงปีใหม่ที่แล้ว คือ รถอเนกประสงค์แบบสปอร์ตยกสูง (SUV – Sport Utility Vehicle) , รถแท็กซี่ , รถโดยสารสามล้อ , รถโดยสาร 4 ล้อ และรถเพื่อการเกษตร
นอกจากนั้นสถิติยังบอกด้วยว่า การเกิดอุบัติเหตุจนมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตส่วนใหญ่ เกิดกับคนในพื้นที่ ซึ่งอาศัยอยู่ในตำบลหรือแขวงนั้นอยู่แล้ว รองลงมาคือ คนนอกพื้นที่แต่ยังเป็นคนในจังหวัด และเกิดน้อยที่สุดกับคนนอกเขตจังหวัด
เฉพาะปี 2563 การเกิดอุบัติเหตุจนทำให้มีผู้เสียชีวิต ส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่ 59.25% คนนอกพื้นที่ (ในจังหวัด) 21.72% และคนนอกเขตจังหวัด 19.03% ส่วนกรณีบาดเจ็บ เกิดกับคนในพื้นที่ 65.48% คนนอกพื้นที่ (ในจังหวัด) 21.38% และคนนอกเขตจังหวัด 13.15%
ช่วงอายุของผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บมากที่สุด คือ ผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป รองลงมาเป็น ผู้ที่มีอายุ 30-39 ปี และผู้ที่มีอายุ 15-19 ปี ตามลำดับ
ทั้งนี้ ผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ ส่วนใหญ่เป็นผู้ขับขี่ ผู้โดยสาร และคนเดินถนน ตามลำดับ
(ที่อยู่และอายุของผู้เสียชีวิต-บาดเจ็บ ช่วง 7 วันอันตราย ศปถ.)
สำหรับสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุช่วงเทศกาลปีใหม่ 2563 สาเหตุของการเสียชีวิต อันดับหนึ่ง คือ ขับรถเร็วเกินกำหนด 42.86% เมาสุรา 28.29% ตัดหน้ากระชั้นชิด 22.86%
ในทางกลับกันกรณีอุบัติเหตุทำให้เกิดการบาดเจ็บนั้น สาเหตุหลักอันดับหนึ่ง คือ เมาสุรา 32.90% ขับรถเร็วเกินกำหนด 27.61% และ ตัดหน้ากระชั้นชิด 17.21%
สอดคล้องกับสถิติบริเวณจุดเกิดเหตุส่วนใหญ่ เกิดขึ้นใน ทางตรง 68% ทางโค้ง 18.86% ทางแยก 11.43%
ขณะที่ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติหตุจนมีผู้เสียชีวิตมากที่สุด คือ ช่วง 16.01-20.00 น. จำนวน 23.14% ช่วง 00.01-04.00 น. จำนวน 22.86% ช่วง 20.01-24.00 น. จำนวน 17.71%
(สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุช่วงปีใหม่ย้อนหลัง 3 ปี ของ ศปถ.)
สำหรับมาตรการเพื่อป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนปีนี้ แบ่งการคุมเข้มเป็น 3 ระยะ คือ ก่อนควบคุมเข้มข้น 22-28 ธ.ค.2563 ช่วงควบคุมเข้มข้น 29 ธ.ค.2563 – 4 ม.ค.2564 และช่วงหลังควบคุมเข้มข้น 5-11 ม.ค.2564 โดยมีมาตรการที่สำคัญ ดังนี้
1.ด้านการบริหารจัดการ อาทิ จัดตั้งศูนย์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2564 ตั้งแต่ส่วนกลางจนถึงระดับย่อยในอำเภอ ทั้งนี้ให้จัดทำแผนปฏิบัติการที่ต้องคำนึงถึงสถานการณ์โควิดก จัดตั้งคณะทำงานบูรณาการจุดตรวจจุดบริการ รวมถึงให้ดำเนินมาตรการเชิงรุก ‘เคาะประตูบ้าน’ เพื่อสอดส่องตักเตือนผู้มีพฤติกรรมเสี่ยง รวมถึงอาศัยกลไกตั้ง ‘ด่านครอบครัว – ด่านชุมชน’ คอยเฝ้าระวังคนที่อยู่รอบข้าง
2.ด้านลดปัจจัยเสี่ยงด้านถนนและสภาพแวดล้อม ตรวจสอบลักษณะกายภาพถนน จุดเสี่ยง จุดอันตราย จุดที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง จุดที่เกิดอุบัติเหตุใหญ่ และให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) นำข้อมูลมาวิเคราะห์ กำหนดถนนปลอดภัย ‘1 ท้องถิ่น 1 ถนนปลอดภัย’ รวมถึงกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาจุดตัดทางรถไฟให้มีความปลอดภัยในการสัญจร เป็นต้น
3.ด้านลดปัจจัยเสี่ยงด้านยานพาหนะ ให้กระทรวงคมนาคมร่วมกับจังหวัด กำกับ ควบคุม ดูแลรถโดยสารสาธารณะ รถโดยสารไม่ประจำทาง พนักงานขับรถ และพนักงานประจำรถ ถือปฏิบัติตามระเบียบ กฎหมายอย่างเคร่งครัด และขอความร่วมมือกลุ่มผู้ประกอบการขนส่งด้วยรถบรรทุกหยุดประกอบกิจการหรือหลีกเลี่ยงการใช้รถบรรทุกในการประกอบกิจการช่วงเทศกาลปีใหม่
4.ด้านผู้ใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย เน้นการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์อย่างเข้มข้น ภายใต้มาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข
5.ด้านการช่วยเหลือหลังเกิดอุบัติเหตุ โดยจัดเตรียมความพร้อมโรงพยาบาล แพทย์ พยาบาล หน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉิน หน่วยกู้ชีพ กู้ภัย และแบ่งมอบพื้นที่ความรับผิดชอบ การติดต่อประสานงาน ให้พร้อมช่วยเหลือประชาชนทันที
ทั้งหมดเป็นมาตรการลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วง 7 วันอันตรายประจำปีใหม่ 2564 ซึ่งเป็นที่น่าสนใจว่า การตั้งเป้าหมายให้ลดจำนวนการเกิดอุบัติเหตุ จำนวนผู้บาดเจ็บ และผู้เสียชีวิต ให้น้อยกว่าค่าเฉลี่ย 3 ปีย้อนหลัง
เป็นเรื่องที่ต้องติดตามต่อไปว่า การบังคับใช้กฎหมายและควบคุมดูแลความปลอดภัยช่วง 7 วันอันตรายนี้จะเป็นอย่างไร โดยเฉพาะสถานการณ์ปีนี้ ไม่เหมือนปีก่อนๆ เพราะต้องเผชิญกับวิกฤติโรคระบาดจากโควิดไปพร้อมกัน
(หมายเหตุ : ที่มาภาพ freepik)
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage