"...มาตรการจำกัดการเดินทางที่เกิดขึ้นพร้อมๆกันนั้น ทำให้แรงงานข้ามชาตินับล้านชีวิตที่อยู่ในประเทศอื่นๆ ต้องตกงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยภาพปัญหาของแรงงานข้ามชาติที่ว่ามานั้นยังได้ถูกเผยแพร่ไปตามสื่อกระแสหลักและสื่อโซเชียลมีเดีย ซึ่งถือว่าเป็นการเกิดโปงทั้งความเปราะบางของกลุ่มประชากรแรงงานข้ามชาติในอาเซียนนับล้านๆชีวิต และเปิดโปงความอ่อนแอของระบบซึ่งควรจะให้ความช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติเหล่านี้ด้วย..."
............................
สืบเนื่องจากการตรวจพบผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 หรือโคโรน่าไวรัส ในจังหวัดสมุทรสาคร ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมมากกว่า 1,308 ราย และแพร่กระจายไปในหลายพื้นที่ โดยจุดเริ่มต้นการแพร่ระบาดคาดว่าจะมาจากแรงงานต่างชาติ ทำให้เกิดความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสจากแรงงานต่างชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นอย่างมาก
เมื่อเร็วๆ นี้ นายจอฟฟรีย์ ดูคาเนส ผู้ช่วยศาสตราจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัย Ateneo De Manila ประเทศฟิลิปปินส์ นาย Puja Dutta ผู้เชี่ยวชาญด้านการคุ้มครองสังคม และนายนิโคลา นิกสัน ผู้อำนวยการด้านธรรมาภิบาล มูลนิธิ The Asia Foundation ได้ร่วมกันเขียนบทความวิพากษ์สถานการณ์เกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนเอาไว้อย่างน่าสนใจในสื่อ Diplomat ของสหรัฐอเมริกา
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) แปลและเรียบเรียงมาเสนอ ณ ที่นี้
นับตั้งแต่เดือน มี.ค.2563 โรคระบาดทำให้การเดินทางต่างๆ ทั่วภูมิภาคอาเซียนต้องหยุดชะงักลง และด้วยความพยายามที่จะควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด-19 รัฐบาลหลายประเทศ รวมไปถึงในประเทศอาเซียนได้ออกกฎบังคับใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมเป็นวงกว้าง
แน่นอนว่ามาตรการจำกัดการเดินทางที่เกิดขึ้นพร้อมๆกันนั้น ทำให้แรงงานข้ามชาตินับล้านชีวิตที่อยู่ในประเทศอื่นๆ ต้องตกงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
โดยภาพปัญหาของแรงงานข้ามชาติที่ว่ามานั้นยังได้ถูกเผยแพร่ไปตามสื่อกระแสหลักและสื่อโซเชียลมีเดีย ซึ่งถือว่าเป็นการเปิดโปงทั้งความเปราะบางของกลุ่มประชากรแรงงานข้ามชาติในอาเซียนนับล้านๆชีวิต และเปิดโปงความอ่อนแอของระบบซึ่งควรจะให้ความช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติเหล่านี้ด้วย
ซึ่งนับตั้งแต่มีการจำกัดการเคลื่อนย้ายของกลุ่มประชากรในช่วงเดือน มี.ค.-พ.ค. มีการประมาณการณ์ว่า มีแรงงานข้ามชาติจำนวนกว่า 150,000 รายจากประเทศพม่า 50,000 ราย จากประเทศกัมพูชา และอีก 60,000 ราย จากประเทศลาว ต้องเดินทางกลับประเทศต้นทางของตัวเอง หลังจากที่ตกงานในประเทศไทย และเหตุการณ์ที่คล้ายๆกันก็เกิดขึ้นกับประเทศอื่นๆ เช่น มีแรงงานข้ามชาติชาวไทยจำนวนกว่า 40,000 ราย และแรงงานข้ามชาติชาวอินโดนีเซียจำนวน 12,000 ราย ต้องตกงานที่ประเทศมาเลเซีย และเดินทางกลับไปยังประเทศต้นทางของตัวเองเช่นกัน
อ้างอิงวิดีโอจากสำนักข่าวไทย TNA Mcot
ในส่วนประเทศฟิลิปปินส์เอง พบว่ามีแรงงานข้ามชาติชาวฟิลิปปินส์จำนวนมากกว่าครึ่งล้านคนที่อยู่ในต่างประเทศต้องตกงาน โดยในจำนวนที่ว่ามานั้น พบว่ามีมากกว่า 300,000 ชีวิต ได้ตัดสินใจเดินทางกลับฟิลิปปินส์ ขณะที่อีกหลายชีวิตซึ่งตกงานกลับต้องติดค้างในประเทศปลายทางนานนับเดือน
ซึ่งสภาพการณ์ดังกล่าวนี้ทำให้เกิดกรณีการอพยพย้ายถิ่นในรูปแบบที่ผิดปกติและไม่เป็นระเบียบไปทั่วภูมิภาคอาเซียน และเนื่องจากการปัญหาขาดเอกสารรับรองทำให้แรงงานเหล่านี้ไม่ได้รับความช่วยเหลือเท่าที่ควรในประเทศปลายทาง
ขณะที่ตัวแรงงานข้ามชาติเอง เมื่อกลับไปถึงประเทศต้นทางของตัวเองแล้วก็ต้องเจอกับภาวะความยากลำบากในการได้รับการว่าจ้างเช่นกัน เนื่องจากวิกฤติไวรัสนั้นส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงานในประเทศ รวมไปถึงปัญหาแรงงานข้ามชาติที่ขาดแคลกทักษะ มาตรการห้ามไม่ให้สัมผัสกัน ปัญหาการใช้แรงงานนอกระบบ อาทิ การมีสัดส่วนผู้หญิงที่ค่อนข้างมากในแรงงานนอกระบบ และการมีแรงงานซึ่งแข่งขันกันมากในตลาดแรงงานนอกระบบ
ทั้งหมดนี้ ทำให้เกิดปัญหาในเรื่องความเปราะบางและความยากลำบากของแรงงานข้ามชาติ ที่เดินทางกลับมายังประเทศของตัวเอง
@ ความท้าทายจำเพาะของอาเซียน
ก่อนเกิดโรคระบาด สหประชาชาติหรือยูเอ็น ได้ประเมินไว้ว่ามีแรงงานข้ามชาติจำนวนกว่า 10 ล้านคนอยู่ในประเทศอาเซียน หมายความว่า ประเทศส่วนมากในอาเซียนนั้น แท้จริงแล้วแรงงานข้ามชาติส่วนมากที่หมุนเวียนกันก็มาจากในอาเซียนด้วยกันเองมากกว่าจะมาจากประเทศในมุมอื่นๆ ของโลก
แรงงานข้ามชาตินั้นถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของเศรษฐกิจให้ประเทศอาเซียนหลายๆประเทศ โดยในช่วงปี 2560 มีข้อมูลจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labor Organization) ระบุว่าที่ประเทศบรูไนนั้นมีแรงงานข้ามชาติอยู่ในสัดส่วนของแรงงานทั้งประเทศถึง 24 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ประเทศมาเลเซียมี 15 เปอร์เซ็นต์ ประเทศสิงค์โปร์มี 37 เปอร์เซ็นต์ และประเทศไทยมี 11 เปอร์เซ็นต์ และมีรายงานว่าในปี 2561 จำนวนเงินที่มีการส่งกลับประเทศต้นทางของตัวเองอันเกิดจากแรงงานข้ามชาติในประเทศอาเซียนซึ่งยังไม่นับรวมประเทศสิงคโปร์และประเทศบรูไนนั้นจะอยู่ที่ 7.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (2,256,000,000,000 บาท) และเงินที่ถูกส่งมาจากแรงงานข้ามชาตินั้นก็ถือเป็นรายได้หลักของครัวเรือนของแรงงานที่อยู่ในประเทศต้นทาง
ด้วยสัดส่วนการเคลื่อนไหวของแรงงานข้ามชาติที่มีจำนวนมากนั้น เป็นอีกหนึ่งข้อท้าทายสำหรับประชาคมอาเซียนในการจัดการกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับกลุ่มแรงงานข้ามชาติและครอบครัว เช่นเดียวกับการแก้ไขปัญหาในเรื่องเศรษฐกิจอันเกิดจากโรคระบาดนี้
อย่างไรก็ตาม วิกฤติดังกล่าวนี้ ก็ยังถือเป็นโอกาสอันดีด้วยเช่นกันที่ทั้งประชาคมอาเซียนจะมีความร่วมมือกันในระดับภูมิภาคเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว
ในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา สำนักเลขาธิการอาเซียนได้ประเมินสภาพความเป็นอยู่ของกลุ่มประชากรทั่วอาเซียนหรือที่เรียกว่า Rapid Assessment of Livelihoods across ASEAN เพื่อตรวจสอบนโยบายที่ยังขาดแคลนในประเทศต่างๆในภูมิภาคอาเซียน รวมไปถึงตรวจสอบการปฏิบัตินโยบายการพัฒนาให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ (Build Back Better)
โดยเฉพาะในช่วงหลังจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ผ่านพ้นไปแล้ว เพื่อที่จะรองรับกลุ่มแรงงานชาวต่างชาติซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางที่ถูกแทนที่ในประเทศ ว่าจะทำอย่างไร แรงงานต่างชาติพวกนี้จึงจะกลับมาได้
การประเมินดังกล่าวนั้นได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ของสหรัฐอเมริกา และกระทรวงการต่างประเทศและการค้าของประเทศออสเตรเลีย โดยในเอกสารการประเมินระบุตัวอย่างในแง่บวกสำหรับประเทศในอาเซียนที่มีความพยายามในการจะช่วยเหลือแรงงานต่างชาติซึ่งเป็นพลเมืองของประเทศตัวเองในต่างแดน อาทิ ประเทศไทยและประเทศฟิลิปปินส์มีการส่งเงินสนับสนุนด้วยการจ่ายเพียงครั้งเดียวไปให้กับแรงงานต่างชาติที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 และมีการส่งเที่ยวบินเพื่อรับตัวแรงงานเหล่านี้กลับจากต่างประเทศ
ในบางกรณีประเทศปลายทางต่างๆก็พยายามที่จะออกมาตรการเพื่อจะช่วยเหลือแรงงานต่างชาติซึ่งอาศัยอยู่ในประเทศ เช่น ไทยได้มีการขยายใบอนุญาตสำหรับแรงงานพม่าและกัมพูชา และยังอนุญาตให้แรงงานเหล่านี้ได้เข้าถึงสิทธิของการประกันสังคมกรณีว่างงานตามแรงงานในระบบและการได้รับการจ่ายเงินเยียวยา โดยจำนวนเงินที่จ่ายนั้นจะขึ้นอยู่กับระยะเวลาการจ้างงานแรงงานต่างชาติ
ส่วนที่ประเทศสิงคโปร์เองก็มีการให้บริการด้านคำปรึกษา ละเว้นค่าใช้จ่ายการตรวจและการรักษาไวรัสโควิด-19 สำหรับแรงงานต่างชาติเช่นกัน
ขณะที่ประเทศมาเลเซียเองก็ได้มีการมอบเงินอุดหนุนสำหรับนายจ้างในการคัดกรองแรงงานต่างชาติด้วย
อ้างอิงวิดีโอจากช่อง CNA
อย่างไรก็ตาม แม้ประเทศเหล่านี้จะพยายามออกมาตรการในระดับชาติเพื่อแก้ปัญหาแรงงานต่างชาติที่ว่ามานี้ แต่สิ่งที่ยังขาดอยู่ก็คือเรื่องของการตอบสนองต่อสถานการณ์อย่างเป็นระบบ ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็น
เพราะท้ายที่สุดแล้วปัญหานี้ ถือเป็นปัญหาระหว่าง 2 ประเทศขึ้นไป และการขับเคลื่อนเชิงนโยบายในระดับภูมิภาคนั้น ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งในการแก้ปัญหาแรงงานดังกล่าวนี้
อันที่จริงแล้วสัดส่วนของการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างชาติในอาเซียนนั้นถือเป็นการมอบโอกาสที่ดีที่จะมีความร่วมมือกันในระดับระหว่างทวิภาคี เพื่อที่จะสร้างระบบรองรับสำหรับภูมิภาคอาเซียน ในการอำนวยความสะดวกสำหรับแรงงานต่างชาติเหล่านี้เพื่อเดินทางกลับไปยังประเทศต้นทางของตัวเอง และสร้างความมั่นใจว่าจะไม่มีเหตุแรงงานต่างชาติที่ตกงานถูกทิ้งตกค้างอยู่ในประเทศปลายทางเมื่อเกิดภาวะวิกฤติในอนาคตขึ้นมาอีก
ซึ่งระบบที่ว่ามานี้นั้นควรจะดูแลแรงงานต่างชาติและรองรับความท้าทายต่างๆในการผ่านข้ามดินแดนของแต่ละประเทศผ่านความร่วมมือด้านนโยบายระหว่างรัฐบาลได้ร่วมกันร่างขึ้นมา อาทิ การเสริมสร้างให้แรงงานเหล่านั้นได้รับความคุ้มครองทางสังคม การบริการด้านสุขภาพและการรักษาโรค การเข้าถึงบริการฉุกเฉินในประเทศปลายทาง ในกรณีที่แรงงานไม่สามารถกลับประเทศต้นทางได้ ถ้าหากประเทศอาเซียนสามารถบรรลุข้อตกลงให้มีนโยบายเหล่านี้ได้ร่วมกันแล้ว ก็จะถือว่าเป็นประโยชน์สำหรับทั้งด้านสุขภาพและด้านเศรษฐกิจสำหรับประเทศซึ่งเป็นปลายทางของแรงงานต่างชาติด้วยเช่นกัน
เพราะต้องเข้าใจว่า ณ เวลานี้ แรงงานต่างชาติถือเป็นกระดูกสันหลังที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งสำหรับภาคเศรษฐกิจในอาเซียน ทั้งสำหรับประเทศปลายทางและประเทศต้นทาง
จึงถึงเวลาแล้วที่ประชาคมอาเซียนเองจะต้องร่วมกันออกนโยบายช่วยเหลือแรงงานต่างชาติที่มีความสำคัญเทียบเท่ากับมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ได้รับจากแรงงานต่างชาติด้วย
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage