"...นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการวิจัยเพื่อสืบถึงข้อมูลการกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด-19ด้วยวิธีการเดียวกับที่ใช้ในการตรวจสอบไวรัสสายพันธุ์ D614G ซึ่งจากการตรวจสอบข้อมูลทั้งในเซลล์และในสัตว์ก็พบข้อมูลว่า ไวรัสสายพันธุ์เหล่านี้ นั้นมีการระบาดได้ง่ายกว่าไวรัสสายพันธุ์ก่อนหน้านี้มาก และไวรัส D614G ก็ยังเป็นไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่พบว่ามีการระบาดในประเทศพม่า และมีความเป็นไปได้สูงมากที่ไวรัสสายพันธุ์ D614G นี้กำลังระบาดในประเทศไทยใน จ.สมุทรสาคร..."
...............
กรณีการระบาดของไวรัสโคโรน่า หรือโควิด-19 ทั่วโลก ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หนึ่งในประเด็นที่น่าสนใจและเป็นถูกกล่าวถึงอย่างมาก คือ การค้นพบไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งเป็นสายพันธุ์ย่อยที่ประเทศอังกฤษ ที่มีอัตราการแพร่ระบาดสูงกว่าไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ก่อนหน้านี้ จนเป็นเหตุทำให้ นายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ต้องออกคำสั่งให้มีมาตรการจำกัดการแพร่เชื้ออย่างเข้มข้นตลอดช่วงเทศกาลคริสต์มาสนี้ ขณะที่ประเทศในทวีปยุโรปอื่นๆ ได้ประกาศงดรับผู้เดินทางมาจากประเทศอังกฤษเช่นกัน
จากกรณีดังกล่าว สำนักข่าวนิวยอร์กไทม์ของสหรัฐอเมริกา ได้จัดทำรายงานข่าวในรูปแบบถามตอบทุกข้อสงสัยเกี่ยวกับไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ที่ว่านี้ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) แปลและเรียบเรียงข้อมูลมานำเสนอ ณ ที่นี้
@ไวรัสสายพันธุ์ย่อยที่อังกฤษถือว่าเป็นซุปเปอร์ไวรัสตัวใหม่หรือไม่
คำตอบ - ไม่ใช่ ไวรัสนี้ถือว่าเป็นหนึ่งในหลายสายพันธุ์ที่เกิดขึ้นควบคู่ไปกับไวรัสโควิด-19 SARS CoV-2 ที่มีการแพร่ระบาดไปทั่วโลก ซึ่งการกลายพันธุ์นั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ เมื่อไวรัสมีการแบ่งจำนวน และสายพันธุ์ย่อยที่ว่านี้ซึ่งมีชื่อว่า B.1.1.7 ก็เป็นหนึ่งในสายพันธุ์หลากหลายสายพันธุ์ของไวรัสโควิด-19 ที่เกิดการกลายพันธุ์
@ แล้วอะไรที่ผิดปกติสำหรับไวรัสตัวนี้
คำตอบ - ไวรัสสายพันธุ์ย่อยนี้กลายเป็นที่สนใจของนักวิทยาศาสตร์ในช่วงเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา เมื่อถูกตรวจพบมากขึ้นเรื่อยๆ ในพื้นที่ทางตอนใต้ของประเทศอังกฤษ โดยกลุ่มคนไข้กลุ่มแรกที่ถูกตรวจพบว่า มีไวรัสสายพันธุ์ที่ว่านี้ได้แก่คนไข้ซึ่งมีอาการป่วยในช่วงต้นเดือน ก.ย.
ขณะที่นักวิทยาศาสตร์กำลังศึกษาอย่างใกล้ชิดเกี่ยวกับข้อมูลพันธุกรรมของไวรัสตัวนี้ ก็พบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการกลายพันธุ์ครั้งใหญ่ ซึ่งแตกต่างจากการกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด-19 ครั้งที่ผ่าน ๆ มา ที่มักจะเป็นการกลายพันธุ์ที่กลายเป็นโทษต่อตัวไวรัสเอง หรือไม่ก็เป็นการกลายพันธุ์ที่ไม่ส่งผลกระทบสำคัญเท่าไรนัก
อย่างไรก็ตาม การกลายพันธุ์ในไวรัสโควิดสายพันธุ์ย่อย B.1.1.7 นั้น กลับเป็นการกลายพันธุ์ซึ่งส่งผลกระทบต่อวิธีการระบาดของไวรัส
@ไวรัสสายพันธุ์ย่อยนี้ระบาดหนักกว่าไวรัสสายพันธุ์อื่นๆใช่หรือไม่
คำตอบ - ดูเหมือนว่าจะเป็นเช่นนั้น ในกระบวนการศึกษาขั้นต้น นักวิจัยที่ประเทศอังกฤษได้ตรวจพบว่าไวรัสนั้นมีการแพร่พันธุ์รวดเร็วมากในพื้นที่อังกฤษทางตอนใต้ และไวรัสสายพันธุ์นี้กำลังแทนที่ไวรัสโควิดสายพันธุ์อื่นๆ หลายพื้นที่ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม การที่ไวรัสสายพันธุ์นี้แพร่หลายมากขึ้นก็ไม่ใช่ข้อบ่งชี้ว่าไวรัสนี้มีการแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วเหนือไวรัสสายพันธุ์อื่นๆ เพราะที่ผ่านมามีความเป็นไปได้ที่ปัจจัยเรื่องความบังเอิญนั้นอาจจะส่งผลต่อการระบาดของไวรัส อาทิ การระบาดของไวรัสครั้งแรกอาจเกิดขึ้นกลายเมืองใหญ่ จนเป็นเหตุทำให้ไวรัสกระจายตัวไปอย่างรวดเร็ว
แต่ทั้งนี้หลักฐานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการระบาดวิทยาซึ่งมีการรวบรวมจากประเทศอังกฤษ ให้ข้อบ่งชี้ว่าไวรัสสายพันธุ์ย่อยที่ว่านี้มีการระบาดค่อนข้างดี โดยเฉพาะในพื้นที่ที่พบการระบาดครั้งแรก เนื่องจากตัวเลขการระบาดโดยทั่วไปของไวรัสโคโรน่านั้นกำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โดยนายนีล เฟอร์กูสัน นักวิชาการด้านการระบาดวิทยาที่วิทยาลัยอิมพีเรียลคอลเลจ ลอนดอนได้ประเมินเอาไว้ว่าไวรัสสายพันธุ์ย่อยนี้นั้นมีประสิทธิภาพในด้านอัตราการแพร่เชื้อที่เพิ่มขึ้นประมาณ 50 ถึง 70 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์อื่นๆที่ระบาดทั่วสหราชอาณาจักร ณ เวลานี้
นักวิทยาศาสตร์บางกลุ่มยังได้ตั้งข้อสมมติฐานถึงความเป็นไปได้ว่าการเพิ่มอัตราการแพร่เชื้อดังกล่าวนั้น เป็นสิ่งที่ส่งผลทำให้เกิดการระบาดในหมู่เด็กเล็กมากขึ้นไปอีก
“โดยปกติแล้วเด็กเล็กนั้นจะมีโอกาสน้อยมากเมื่อเทียบกับวัยรุ่นและผู้ใหญ่ ในแง่ของการรับและแพร่เชื้อไวรัสออกไป แต่ว่าไวรัสสายพันธุ์ย่อยที่ว่ามานี้ มีอัตราการติดเชื้อในเด็กได้ไวเทียบเท่ากับผู้ใหญ่เลยด้วยซ้ำ” นางเวนดี้ บาร์คเลย์ ที่ปรึกษารัฐบาลและนักไวรัสวิทยาที่วิทยาลัยอิมพีเรียลคอลเลจ ลอนดอนกล่าว
โดยนักวิทยาศาสตร์ได้ทำการวิจัยเพื่อสืบถึงข้อมูลการกลายพันธุ์ของไวรัสโควิด-19ด้วยวิธีการเดียวกับที่ใช้ในการตรวจสอบไวรัสสายพันธุ์ D614G ซึ่งจากการตรวจสอบข้อมูลทั้งในเซลล์และในสัตว์ก็พบข้อมูลว่า ไวรัสสายพันธุ์เหล่านี้ นั้นมีการระบาดได้ง่ายกว่าไวรัสสายพันธุ์ก่อนหน้านี้มาก และไวรัส D614G ก็ยังเป็นไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่พบว่ามีการระบาดในประเทศพม่า และมีความเป็นไปได้สูงมากที่ไวรัสสายพันธุ์ D614G นี้กำลังระบาดในประเทศไทยใน จ.สมุทรสาคร
*หมายเหตุ:สำนักข่าวอิศรารายงานข้อมูลเพิ่มเติมว่าในการแถลงข่าวของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้แถลงข่าวตอนหนึ่งว่าสายพันธุ์ที่ระบาดที่สมุทรสาคร ไม่มีความเกี่ยวพันธุ์กับที่ระบาดในอินโดนีเซีย (D614G) แต่สายพันธุ์ GH มีต้นตอวิวัฒนาการมาจากอินเดีย (ระบาดในรัฐยะไข่) ขณะที่ก่อนหน้านี้นั้น มีรายงานจากผลการวิจัยในประเทศจีน ระบุว่า D614G mutation เป็นการเปลี่ยนโปรตีนที่หนาม จากเดิม ที่สายพันธ์ุ L ระบาดในจีน ข้ามฝั่งไปอเมริกา และยุโรป กลายพันธ์ด้วยวิธีการนี้ เกิดเป็นสายพันธ์ GH และ GR ซึ่งพบว่า ก่อให้เกิดการระบาดง่ายกว่าเดิม เพราะเชื้อมาอยู่บริเวณทางเดินหายใจส่วนบนมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม มาตรการการใช้วินัยเพื่อควบคุมโรคนั้นก็ถือเป็นสิ่งที่ได้ผลดีที่สุดในการรับมือกับไวรัส D614G เช่นเดียวกับไวรัสสายพันธุ์ B.1.1.7.
นพ.มิวก์ เควิก ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดต่อที่มหาวิทยาลัยเซนต์แอนดรูวส์ ได้กล่าวในทวิตเตอร์ว่า เท่าที่เรารู้เบื้องต้นเกี่ยวกับไวรัส B.1.1.7. ก็คือ มันยังไม่ส่งผลกระทบกับประสิทธิภาพของการป้องกันโรคด้วยมาตรการเว้นระยะทางสังคม การสวมใส่หน้ากากอนามัย การล้างมือ และการมีระบบระบายอากาศที่เหมาะสม
@ไวรัสสายพันธุ์ย่อยนี้จะส่งผลทำให้โรคติดต่อมีความรุนแรงขึ้นหรือไม่
คำตอบ - ณ เวลานี้ยังไม่มีหลักฐานที่มีความชัดเจนว่าไวรัสสายพันธุ์ย่อย B.1.1.7. จะส่งผลทำให้เกิดโรคระบาดที่รุนแรง แต่ก็มีเหตุผลบางประการที่ต้องนำมาพิจารณาถึงความเป็นไปได้ด้วยเช่นกัน โดยที่ประเทศแอฟริกาใต้เองก็พบว่ามีการระบาดของไวรัสโคโรน่าอีกสายพันธุ์หนึ่ง ซึ่งมีรูปแบบและลักษณะการกลายพันธุ์ที่ถูกพบได้ในไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ B.1.1.7. และไวรัสนี้ก็กำลังมีการระบาดอย่างรุนแรงในพื้นที่ชายฝั่งของประเทศแอฟริกาใต้
โดยการศึกษาเบื้องต้นเกี่ยวกับไวรัสที่แอฟริกาใต้ แพทย์ที่ทำการรักษาได้ตรวจพบผู้ที่ติดไวรัสสายพันธุ์นี้นั้นจะได้รับจำนวนไวรัสเพิ่มเป็นจำนวนค่อนข้างมาก ซึ่งการพบไวรัสเป็นจำนวนมากในระบบทางเดินหายใจส่วนบนนั้นย่อมหมายความถึงอาการโรคที่รุนแรงมากขึ้นตามมานั่นเอง
@ไวรัสสายพันธุ์ที่ไม่ปกตินี้มาจากไหน
คำตอบ - นี่เป็นคำถามซึ่งนำไปสู่การถกเถียงกันเป็นอย่างยิ่ง โดยความเป็นไปได้หนึ่งก็คือว่า สายพันธุ์ที่เกิดการกลายพันธุ์นั้นเข้าไปติดเชื้ออยู่ในพาหะนำโรคที่มีความพิเศษ และเมื่อพาหะนั้นส่งต่อเชื้อก็กลายเป็นเชื้อที่เกิดการกลายพันธุ์แล้ว
เรื่องนี้ถือว่าปกติมาก ผู้ที่ติดเชื้อโคโรน่าไวรัสนั้นส่วนมากแล้วจะไม่แสดงอาการเป็นระยะเวลาประมาณ 2-3 วัน และหลังจากนั้นจำนวนไวรัสในร่างกายก็จะค่อยๆลดจำนวนลงเนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันได้เริ่มการทำงานแล้ว และในบางกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการของไวรัสโควิด-19 อย่างรุนแรง ก็อาจจะมีไวรัสอยู่กับตัวนานที่สุดเป็นระยะเวลาไม่กี่สัปดาห์ แต่จะไม่นานเกินกว่านั้น
แต่ในบางครั้งที่ไวรัสได้แพร่เชื้อไปยังผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแออยู่แล้ว ในร่างกายของคนกลุ่มนี้นั้น ไวรัสอาจจะอยู่ได้นานเป็นระยะเวลาหลายเดือน โดยกรณีศึกษาบางกรณีนั้นพบว่าผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่องนั้นเมื่อติดเชื้อแล้ว ไวรัสจะมีการเพิ่มจำนวนจนทำให้เกิดการกลายพันธุ์ได้หลากหลายมากขึ้น เนื่องจากมีการแบ่งตัวอยู่ในร่างกายเป็นระยะเวลาที่ยาวนานขึ้นตามไปด้วย
ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์พบข้อมูลว่า การคัดสรรของธรรมชาตินั้นเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดไวรัสกลายพันธุ์เกิดขึ้น ซึ่งการกลายพันธุ์นั้นจะเพิ่มคุณสมบัติการหลบหลีกภูมิคุ้มกันให้กับไวรัสได้ และนักวิทยาศาสตร์ยังได้ให้ความเห็นอีกว่าวิวัฒนาการของสายพันธุ์ไวรัสนั้นอาจเกิดขึ้นได้จากยารักษาโรคที่ถูกสั่งจ่ายให้กับคนไข้ด้วยเช่นกัน
โดยการกลายพันธุ์ในบางกรณีนั้น อาจทำให้ไวรัสเกิดอาการดื้อยาบางชนิดก็เป็นได้
นอกจากนี้ยังมีการให้ความเห็นว่าไวรัสอาจจะเกิดกลายพันธุ์ได้อีกเช่นกัน ถ้าหากมีการแพร่เชื้อไปยังกลุ่มสัตว์เช่นตัวมิงก์ ก่อนที่จะมาติดเชื้อสู่มนุษย์ ดังนั้น ณ เวลานี้จึงเริ่มมีการตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับการติดเชื้อในสัตว์มากขึ้นเช่นกัน
โครงสร้างไวรัสโคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ B.1.1.7.
@ไวรัสสายพันธุ์ให้จะทำให้วัคซีนไร้ประสิทธิภาพหรือไม่
คำตอบ - ณ เวลานี้คือไม่ ผู้เชี่ยวชาญส่วนมากนั้นยังคงมีความกังขาว่าการกลายพันธุ์นั้นจะส่งผลต่อวัคซีนหรือไม่ ซึ่ง ณ เวลานี้ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนออกมา โดยที่ผ่านมามีวัคซีนได้รับการอนุมัติฉุกเฉินจากองค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกาหรือเอฟดีเอแล้วจำนวน 2 ชนิดได้แก่ วัคซีนจากบริษัทมอร์เดอนา และวัคซีนจากบริษัทไฟเซอร์และบริษัทไบโอเอ็นเทค โดยวัคซีนทั้ง 2 ชนิดที่ว่ามานั้นมีหลักการทำงานที่เหมือนกันก็คือการสร้างภูมิคุ้มกันไวรัสโควิดด้วยการสอนระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายให้สร้างสารภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันโปรตีนที่ปกคลุมอยู่บนผิวไวรัสหรือที่เรียกกันว่าโปรตีนหนามบนไวรัสนั่นเอง ซึ่งโปรตีนหนามดังกล่าวถือว่าเป็นส่วนเชื่อมต่อสำคัญที่จะเข้าไปยังเซลลืในร่างกายมนุษย์
แต่ว่าสารภูมิคุ้มกันที่ถูกผลิตจากเซลล์ในร่างกายมนุษย์นั้นจะไปทำหน้าที่ปกคลุมอยู่บนโปรตีนหนามของไวรัส ทำให้ไวรัสไม่สามารถเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ได้
ทั้งนี้ มีความเป็นได้ที่การกลายพันธุ์ที่เกิดกับไวรัสโคโรน่านั้นอาจจะไปส่งผลต่อรูปลักษณ์ขอโปรตีนหนาม ทำให้ยากต่อการที่สารภูมิคุ้มกันจะไปเกาะติดอยู่บนโปรตีนหนามดังกล่าว ซึ่งแน่นอนว่าการกลายพันธุ์ของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ B.1.1.7. ก็มีการกลายพันธุ์ในส่วนของโปรตีนหนามรวมอยู่ด้วย
อย่างไรก็ตาม สารภูมิคุ้มกันซึ่งผลิตจากเซลล์ร่างกายมนุษย์นั้นเป็นสารภูมิคุ้มกันที่มีความหลากหลายสำหรับโปรตีนไวรัสแค่ 1 ชนิด จึงเป็นการยากที่ไวรัสเหล่านี้จะหลบหนีจากระบบภูมิคุ้มกันได้ หรือก็คือผู้เชี่ยวชาญได้สรุปว่าไวรัสโควิดสายพันธุ์ย่อยที่ว่ามานี้ยังคงไม่ส่งผลกระทบต่อการฉีดวัคซีน ณ เวลานี้นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม เพื่อจะยืนยันข้อสมมติฐานให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ทำให้ ณ เวลานี้ นักวิทยาศาสตร์ศูนย์การแพทย์ทหารแห่งชาติวอลเทอร์ รีด จึงได้ดำเนินการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงโปรตีนหนามของไวรัสที่กลายพันธุ์เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้นไปอีก
อ้างอิงวิดีโอจากช่อง Medical My Life
ขณะที่ นพ.มอนเซฟ สลาอุย หัวหน้าทีมนักวิทยาศาสตร์ที่ปรึกษาปฏิบัติการณ์วาร์ปสปีด ซึ่งเป็นโครงการของรัฐบาลในการจัดหาวัคซีนให้กับชาวอเมริกัน กล่าวว่า ไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่พบในประเทศอังกฤษนั้นดูเหมือนว่าจะไม่กระทบกับประสิทธิภาพของวัคซีน
อย่างไรก็ตาม เขาได้เตือนว่าในวันหนึ่งสายพันธุ์ของไวรัสอาจจะกลายพันธุ์จนกระทั่วทำให้วัคซีนที่มีอยู่ตอนนี้ไม่มีประสิทธิภาพก็ได้ ซึ่งแม้ว่าจะมีโอกาสเกิดเรื่องแบบนี้ได้น้อยมากแต่ก็ควรต้องเฝ้าระวังไว้ให้ดี
แต่ด้าน นพ.คริสเตียน แอนเดอร์สัน นักไวรัสวิทยาที่สถาบันวิจัยสคริปส์ กลับคิดว่า ณ เวลานี้ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่าการกลายพันธุ์ของไวรัสไม่มีความเสี่ยงต่อประสิทธิภาพของวัคซีน
"ถ้าหากสายพันธุ์ที่ประเทศอังกฤษนั้นมีการพัฒนาเพื่อจะหลบเลี่ยงระบบภูมิคุ้มกันจากผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องอยู่แล้ว การปรับตัว กลายพันธุ์ดังกล่าวนั้นอาจจะช่วยให้ไวรัสสามารถหลบหลีกวัคซีนด้วยเช่นกัน โดยถ้าหากเกิดกรณีแบบนี้ แม้วัคซีนจะไม่ไร้ประโยชน์สำหรับการป้องกันไวรัสก็ตาม แต่ก็ถือว่าการกลายพันธุ์นั้นได้ลดประสิทธิภาพของวัคซีนไปพอสมควรเลยทีเดียว"
นพ.แอนเดอร์สัน ยังยืนยันว่า ณ เวลานี้ถือว่าโชคดีที่กำลังมีการทดลองเกิดขึ้นเพื่อทดสอบความเป็นไปได้ที่ว่า ซึ่งเขาเชื่อว่า คงจะได้รู้กันในอีกไม่นานนี้
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/