"...ผมขอดูวันนี้ และดูอีก 7 วันข้างหน้าว่าจะมีอะไรขึ้น นั่นแหละจะตามมาว่าปีใหม่ จะทำอย่างไรกันดี วันนี้ยังไม่ได้พูดไปถึงล็อกดาวน์ อย่าเพิ่งตื่นตระหนกแล้วกัน หวังอย่างยิ่งว่าภายใน 7 วันทุกอย่างจะคลี่คลายลง วันนี้ตรวจสอบยังไงต้องพบมากขึ้น ... คนไทยต้องช่วยกันดูแล เจ้าหน้าที่ก็มีจำนวนเท่าที่มี คนที่จะรู้จริง ๆ คือคนในพื้นที่ เจ้าของโรงงาน วันนี้ผมได้กำหนดมาตรการไปแล้ว จะต้องมีมาตรการติดตามตัวแรงงานทุกคน ถ้าเจอแรงงานผิดกฎหมายจะต้องปิดโรงงาน ใครมีข้อมูลขอให้บอกมา...พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว..."
-------------------------------------------------
1 สัปดาห์จากผู้ป่วยรายแรกที่ ‘ตลาดกลางกุ้ง’ ส่งผลให้ จ.สมุทรสาคร มีผู้ป่วยยืนยันมากกว่า 800 ราย โดยส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา
หลายจังหวัดที่มีพื้นที่ใกล้เคียง โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร เป็นหนึ่งในพิกัดที่ได้รับผลกระทบทันที รวมไปถึง สมุทรปราการ สระบุรี และนครปฐม
ส่วนหนึ่งเพราะ กทม.เป็นเมืองหลวง-ศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ และเป็นหนึ่งในพื้นที่สำคัญจะมีการกิจกรรมมากมายในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่จะถึงนี้
ทำให้ตลอดหลายวันที่ผ่านมา มาตรการควบคุมโรคจากเบาไปหาหนัก ถูกนำออกมาใช้อย่างต่อเนื่อง แม้จะยังไม่มีคำสั่ง ‘ล็อกดาวน์’ ที่เปรียบเป็น ‘ยาแรง’ ในการต่อสู้กับโควิด
10 มาตรการแรก ที่ถูกนำออกมาใช้ทันที โดยคณะกรรมการป้องกันและควบคุมโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร คือ ปิดสถานที่เสี่ยง ตั้งด่านคัดกรอง ส่งทีมตรวจตลาด 472 แห่งทั่ว กทม. และขอความร่วมมืองดจัดกิจกรรมงานเลี้ยงปีใหม่ รวมไปถึงสวดมนต์ข้ามปี
ล่าสุดเมื่อวันที่ 21 ธ.ค.ที่ผ่านมา พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม. ลงนามในประกาศเพิ่มเติม เพิ่มความเข้มข้นในการเฝ้าระวังและป้องกันโควิดในพื้นที่สถานประกอบการทางธุรกิจคมนาคม มหรสพ สนามกีฬา ที่สาธารณะ หรือแหล่งอื่นๆ ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มหรือร่วมกิจกรรมลักษณะที่เสี่ยงต่อการใกล้ชิด ต้องจัดให้มีบริการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย หรือคัดกรองอาการป่วย ให้สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างระหว่างบุคคลอย่างน้อย 1 เมตร และจำกัด จำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมไม่ให้แออัด
ส่วนการจัดกิจกรรมขนาดใหญ่ที่มีการชุมนุมคนในพื้นที่ตั้งแต่ 300 คนขึ้นไป ต้องยื่นแผนการจัดงานและมาตรการควบคุมโรคต่อสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ก่อนจัดงาน
ขณะที่สถานที่สำคัญ 4 ประเภท ประกอบด้วย ตลาด สวนสาธารณะ ศาสนสถาน และสถานบันเทิง ให้มีมาตรการเฉพาะ เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของโรค โดยทุกพื้นที่ให้ตรวจคัดกรอง ‘แรงงานต่างด้าว’ เป็นพิเศษด้วย
เริ่มที่ ตลาด ตลาดน้ำ และตลาดนัด ให้ดำเนิน 8 มาตรการสำคัญ ดังนี้
1.ให้มีการควบคุมทางเข้าออก คัดกรองอาการป่วย ไข้ ไอจาม หรือเป็นหวัด สำหรับผู้ประกอบการและผู้ใช้บริการตามขีดความสามารถ
2.เพิ่มมาตรการใช้แอปพลิเคชั่นติดตามตัวทางโทรศัพท์ หรือควบคุมด้วยการบันทึกข้อมูลและรายงานในบางพื้นที่
3.ไม่อนุญาตให้บริการเครื่องเล่นสำหรับเด็ก
4.ทำความสะอาดพื้น พื้นผิวสัมผัส ทั้งก่อนและหลังการให้บริการ และให้กำจัดขยะมูลฝอยทุกวัน
5.ให้ผู้ประกอบการ ผู้ใช้บริการ สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าเสมอ
6.ให้มีจุดบริการล้างมือด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์เจล
7.ให้เว้นระยะห่างของแผง หรือระยะที่นั่งหรือยืน หรือระยะห่างในการเลือกสินค้า หรือการชำระราคา ห่างกันอย่างน้อย 1 เมตร
8.ให้ควบคุมจำนวนผู้ร่วมกิจกรรมไม่ให้แออัดหรือลดเวลาในการทำกิจกรรมให้สั้นลงเท่าที่จำเป็น
สำหรับสวนสาธารณะ ให้ดำเนินมาตรการเช่นเดียวกับตลาด แต่ให้จำกัดการรวมกลุ่มกันไม่เกิน 50 คน เน้นย้ำให้ระหว่างการออกกำลังกายต้องเว้นระยะห่างอย่างน้อย 2 เมตร ทั้งนี้ให้เพิ่มระบบคิว และมีพื้นที่รอคิวห่างกันอย่างน้อย 1 เมตร และต้องมีระบบเก็บข้อมูลและติดตามผู้ใช้บริการสวนสาธารณะ ลานกิจกรรมได้ทุกคน รวมถึงต้องมีระบบระบายอากาศภายในอาคารที่ดี ทั้งบริเวณห้องสุขาและห้องอาบน้ำ
ส่วนวัด มัสยิด หรือสถานที่จัดพิธีกรรมทางศาสนา ให้ปฏิบัติตามมติมหาเถรสมาคม ประกาศจุฬาราชมนตรี หรือแนวทางการปฏิบัติเพื่อการเข้าร่วมพิธีกรรมของคริสต์ศาสนิกชนคาทอลิก
ขณะที่สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ ที่ถือเป็นสถานที่รวมตัวของคนจำนวนมาก ส่งผลให้ต้องมีมาตรการที่เข้มงวดมากกว่าพื้นที่อื่น อาทิ ควบคุมจำนวนผู้ใช้บริการ เกณฑ์ไม่น้อยกว่า 4 ตารางเมตรต่อผู้ใช้บริการ 1 คน หรือเป็นกลุ่มได้ไม่เกิน 5 คน ทั้งนี้ต้องเว้นระยะที่นั่งหรือยืนอย่างน้อย 1 เมตร และระยะห่างระหว่างโต๊ะอย่างน้อย 2 เมตร หรือมีฉากกั้นระหว่างโต๊ะ งดจัดโปรโมชั่นหรือกิจกรรมส่งเสริมการขาย งดจำหน่ายสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แบบเหยือก ถ้วยหรือใส่ในภาชนะที่มีโอกาสจับหรือใช้ร่วมกัน
นอกจากนั้นยังให้พิจารณาติดตั้งกล้องวงจรปิด เพื่อบันทึกภาพการใช้บริการให้ครอบคลุมพื้นที่สถานประกอบการ และมีข้อมูลจัดเก็บไว้ไม่น้อยกว่า 1 เดือน นอกจากนั้นให้พัฒนาระบบการลงทะเบียนก่อนเข้าและออกจากงาน และระบบจองคิวแบบออนไลน์เพื่อให้บริการรูปแบบใหม่ในระยะยาวต่อไป
ทั้งนี้ผู้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามอาจมีความผิดตามมาตรา 18 แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2558 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจถูกสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราวอีกด้วย
ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ยืนยันว่า มาตรการควบคุมโรคของไทยยังทำได้ครบถ้วน เพียงแต่ต้องแสวงหาข้อมูลให้มากขึ้นจากภาคเอกชน ในกรณีที่รับแรงงานต่างด้าวไม่ถูกต้องตามกฎหมายเข้ามาทำงาน และคิดว่าน่าจะเป็นรูรั่วตรงนี้ ดังนั้นขอให้สังคมช่วยกัน หากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น จะต้องนำไปสู่การใช้มาตรการล็อกดาวน์
"ผมขอดูวันนี้ และดูอีก 7 วันข้างหน้าว่าจะมีอะไรขึ้น นั่นแหละจะตามมาว่าปีใหม่ จะทำอย่างไรกันดี วันนี้ยังไม่ได้พูดไปถึงล็อกดาวน์ อย่าเพิ่งตื่นตระหนกแล้วกัน หวังอย่างยิ่งว่าภายใน 7 วันทุกอย่างจะคลี่คลายลง วันนี้ตรวจสอบยังไงต้องพบมากขึ้น เพราะตรวจสอบในพื้นที่คนงานต่างๆ เหล่านี้ นี่คือปัญหาของเรา การเล็ดลอดแต่ก่อนนี้ปลอดภัยมานาน เพราะคนเหล่านี้อยู่ในประเทศ แต่ปรากฏว่าลักลอบหนีกลับไปแล้วกลับเข้ามาใหม่ ตรงนี้ทำอย่างไร คนไทยต้องช่วยกันดูแล เจ้าหน้าที่ก็มีจำนวนเท่าที่มี คนที่จะรู้จริง ๆ คือคนในพื้นที่ เจ้าของโรงงาน วันนี้ผมได้กำหนดมาตรการไปแล้ว จะต้องมีมาตรการติดตามตัวแรงงานทุกคน ถ้าเจอแรงงานผิดกฎหมายจะต้องปิดโรงงาน ใครมีข้อมูลขอให้บอกมา" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/