"...หากสุดท้ายผู้สมัครไม่ผ่านเงื่อนไขข้างต้น กฎหมายกำหนดให้ผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำจังหวัด ประกาศให้มีการเลือกตั้งใหม่ และดำเนินการให้มีการรับสมัครรับเลือกตั้งใหม่ โดยผู้สมัครรายเดิมทุกรายซึ่งไม่ได้คะแนนมากกว่าโหวตโน ไม่มีสิทธิรับสมัครรับเลือกตั้งที่จะจัดขึ้นใหม่..."
---------------------------------------------------------------------
ผู้สมัครในหลายจังหวัด ทั้งกลุ่มอิสระและสังกัดพรรคการเมือง ยังคงระวิงอยู่กับการปราศรัยหาเสียง 2 วันสุดท้าย ก่อนถึงวันชี้ชะตาเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวะ (อบจ.) และสมาชิก อบจ.รวม 76 จังหวัด ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 20 ธ.ค.นี้
แต่การเลือกตั้งครั้งนี้มี 3 จังหวัด ที่มีผู้สมัครนายก อบจ. เพียง 1 คน เรียกได้ว่าไร้คู่ต่อสู้ และต้องแข่งขันกับความนิยมของตัวเองเพียงอย่างเดียว
และเป็น 3 จังหวัดที่ผู้สมัครต่างก็เป็น ‘แชมป์เก่า’ ครองตำแหน่งนายก อบจ.มาแล้วหลายสมัย
จ.อุทัยธานี มีผู้สมัครดีกรีอดีตนายก อบจ. 3 สมัย ชื่อ ‘เผด็จ นุ้ยปรี’ พี่ชาย ‘ศิลป์ชัย เชษฐ์ศิลป์’ หรือ ‘ศิลป์ชัย นุ้ยปรี’ อดีต ส.ส.อุทัยธานี 4 สมัย ช่วงปี 2519-2538
ไม่ใช่ครั้งแรกที่ ‘เผด็จ’ ต้องลงแข่งขันแบบไร้คู่แข่ง เพราะการเลือกตั้งนายก อบจ. เมื่อปี 2555 เขาก็เป็นผู้สมัครรายเดียวของ จ.อุทัยธานี เช่นกัน ซึ่งผลการเลือกตั้งในปีนั้น มีผู้ออกมาใช้สิทธิ์ 124,944 คน คิดเป็น 51.21% ของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง และเขาได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่ง 110,701 คะแนน ไม่ประสงค์ลงคะแนน 7,916 คะแนน บัตรเสีย 6,327 คะแนน
ทั้งนี้ ‘เผด็จ’ อยู่ในตำแหน่งนายก อบจ.มาตั้งแต่ปี 2547 และยังได้รับการสนับสนุน-ผลักดันจาก ‘บ้านดอนหมื่นแสน’ บ้านใหญ่ของตระกูล ‘ไทยเศรษฐ์’ ที่มีผู้นำคนปัจจุบันคือ ‘ชาดา ไทยเศรษฐ์’ ผู้มากบารมีในจังหวัดอีกด้วย
(เผด็จ นุ้ยปรี และ ชาดา ไทยเศรษฐ์ , ที่มา : นายก องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุทัยธานี)
จ.กระบี่ สนามนี้มีแชมป์เก่า 6 สมัย ‘โกหงวน-สมศักดิ์ กิตติธรกุล’ ลงสมัครเพียงรายเดียว
‘โกหงวน’ เป็นพี่เขยของ ‘สฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง’ ส.ส.กระบี่ พรรคภูมิใจไทย ซึ่งมีศักดิ์เป็นลูกพี่ลูกน้องกับ ‘สาคร เกี่ยวข้อง’ ส.ส.กระบี่ 3 สมัยของพรรคประชาธิปัตย์
อย่างไรก็ตาม ‘โกหงวน’ มีบทบาทสำคัญในการช่วยพรรคภูมิใจไทย เจาะฐานเสียงพรรคประชาธิปัตย์ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด
ในวัย 74 ปี ‘โกหงวน’ ยังนำทีม ‘กลุ่มรักษ์กระบี่’ ช่วยผู้สมัครสมาชิก อบจ. ลงพื้นที่ปราศรัยหาเสียงกับชาวบ้านทั้ง 24 เขตเลือกตั้ง 8 อำเภอ ชูนโยบาย ‘มั่นคง จริงใจ โปร่งใส และติดดิน’ เนื่องจากมีการแข่งขันในเวที ส.อบจ. รวมทั้งหมด 59 คน
(สมศักดิ์ กิตติธรกุล ขณะช่วย ส.อบจ.หาเสียง , ที่มา : กลุ่มรักกระบี่ - Rakkrabi Group)
จ.เพชรบุรี มีผู้สมัครรายเดียว คือ ‘ชัยยะ อังกินันทน์’ อดีตนายก อบจ.เพชรบุรี และเป็นทราบกันว่าตระกูล ‘อังกินันทน์’ ถือเป็นตระกูลเก่าแก่ในเมืองเพชร มีเครือข่าย-ทายาททางการเมืองต่อเนื่องหลายยุคหลายสมัย
ตระกูล ‘อังกินันทน์’ แผ่บารมีครอบคลุมเมืองเพชรมายาวนานตั้งแต่ยุค ‘ผาด อังกินันทน์’ ที่เข้าสู่เวทีการเมืองท้องถิ่นตั้งแต่ปี 2491 ดำรงตำแหน่งตั้งแต่สมาชิกสภาเทศบาลเมืองเพชรบุรี จนถึงนายเทศมนตรีเมืองเพชรบุรี
‘ผาด’ มีบุตรชาย 2 คน คือ ‘ปิยะ อังกินันทน์’ อดีต ส.ส. 6 สมัยผู้ล่วงลับ และ ‘ยุทธ อังกินันทน์’ อดีต ส.ส. 7 สมัย และอดีตรัฐมนตรี 2 สมัย โดยปัจจุบันอำลาการเมืองระดับชาติ โลดแล่นอยู่ในการเมืองท้องถิ่น ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองเพชรบุรีจนถึงปัจจุบัน
ขณะที่ ‘ชัยยะ’ หรือ ‘นายกปราย’ ที่ลงสมัครนายก อบจ.อีกสมัย เป็นบุตรชายของ ‘ปิยะ’ ส่วนภรรยา ‘ธิวัลรัตน์ อังกินันทน์’ ยังเป็นที่ปรึกษา รมว.แรงงาน อย่างนายสุชาติ ชมกลิ่น อีกด้วย
(ชัยยะ อังกินันทน์ , ที่มา : สยามรัฐ)
อย่างไรก็ตามแม้ว่าทั้ง 3 จังหวัด จะมีผู้สมัครนายก อบจ.เพียงรายเดียว อาจเรียกได้ว่า ‘ไร้คู่แข่ง’ แต่ก็ใช่ว่าผู้สมัครเหล่านี้จะได้รับเลือกเป็น นายก อบจ.ในทันที
เนื่องจากพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 มาตรา 111 ระบุว่า ในกรณีที่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้บริหารท้องถิ่นเท่ากับจำนวนผู้บริหารท้องถิ่นที่จะพึงมีในเขตเลือกตั้งนั้น หรือในกรณีที่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นเท่ากับ หรือน้อยกว่าจำวนสมาชิกสภาท้องถิ่นที่จะพึงมีในเขตเลือกตั้งนั้น ผู้สมัครรับเลือกตั้งจะได้รับเลือกตั้งต่อเมื่อได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 10% ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้ง และมากกว่าคะแนนเสียงที่ไม่เลือกผู้ใด
นั่นหมายความว่า แม้จะเป็นผู้สมัครเพียงรายเดียว แต่ยังจำเป็นต้องมีประชาชนในเขตเลือกตั้งลงคะแนนเลือกตั้งให้ได้ 10% ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตดังกล่าว และต้องมีคะแนนมากกว่าโหวตโนด้วย
หากสุดท้ายผู้สมัครไม่ผ่านเงื่อนไขข้างต้น กฎหมายกำหนดให้ผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำจังหวัด ประกาศให้มีการเลือกตั้งใหม่ และดำเนินการให้มีการรับสมัครรับเลือกตั้งใหม่ โดยผู้สมัครรายเดิมที่ไม่ได้คะแนนมากกว่าโหวตโน จะไม่มีสิทธิรับสมัครรับเลือกตั้งที่จะจัดขึ้นใหม่อีกด้วย
(หมายเหตุ : ที่มาภาพ สมศักดิ์ กิตติธรกุล จากแนวหน้า)
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/