"...นพ.บรัง อัง (Brang Aung) แพทย์ประจำโรงพยาบาลฮพาอันในพม่า ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากพรมแดนไทยเท่าไรนัก แสดงความมั่นใจออกมาชัดเจนว่า ประเทศไทยนั้นน่าจะมีผู้ติดเชื้อมากกว่าที่ได้ประกาศเอาไว้ แต่ยังตรวจไม่พบเจอเท่านั้นเอง โดยในเดือน ก.ย.ที่ผ่านมานั้น โรงพยาบาลแห่งนี้ยังได้รับผู้ป่วยโควิด-19 อีกจำนวน 4 ราย ซึ่งทั้งหมดนั้นเดินทางมาจากประเทศไทย..."
...........................................
สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หรือโคโรน่าไวรัส ในประเทศไทยตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นหลายสิบราย ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีประวัติลักลอบเดินทางเข้ามาในประเทศไทยผ่านช่องทางธรรมชาติจากชายแดนประเทศพม่า
ล่าสุด สำนักข่าวนิวยอร์กไทม์ ได้รายงานข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ตามแนวชายแดนของประเทศไทยและพม่า ซึ่งมีความเปราะบางและมีความเสี่ยงต่อการที่ผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จะสามารถเล็ดลอดผ่านเข้ามาในประเทศไทยได้
มีรายละเอียดสำคัญ ที่น่าสนใจดังต่อไปนี้
ชายแดนระหว่างประเทศไทยและประเทศพม่านั้นถือว่ามีระยะทางติดต่อกันยาวถึง 1,500 ไมล์ และพื้นที่ชายแดนส่วนมากของประเทศไทยนั้นก็เป็นป่าทึบ ขณะที่ประเทศพม่านั้นมีผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นจำนวนถึง 1 แสนคนเข้าไปแล้ว ส่วนประเทศไทยยังมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในจำนวนที่น้อยอยู่
อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมานั้น มีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 19 ราย ซึ่งทั้งหมดนั้นเกี่ยวข้องกับกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่ลักลอบเข้าประเทศโดยผิดกฎหมาย ซึ่งการติดเชื้อที่เกิดขึ้นนั้นทำให้ทางการไทยต้องกลับมาระมัดระวังกันอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศที่ประสบความสำเร็จในด้านกลยุทธ์การจัดการกับการระบาดของไวรัสมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
ขณะนี้ หน่วยงานสุขภาพในประเทศไทยต้องแข่งกับเวลาในการติดตามกลุ่มประชากรจำนวนหลายร้อยรายซึ่งกลายเป็นกลุ่มเสี่ยงว่าอาจจะติดเชื้อไวรัสโควิด-19
แน่นอนว่าเหตุการณ์ดังกล่าวนั้นทำให้เกิดคำถามตามมาด้วยว่า ประเทศหลายๆประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งต้องพึ่งพากิจกรรมทางเศรษฐกิจตามแนวชายแดน ซึ่งมีระยะยาวและมีช่องทางเข้าออกมากมายนั้นจะสามารถรับมือและป้องกันไม่ให้ไวรัสเข้าประเทศได้อย่างไร ควบคู่ไปกับการอนุญาตให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้
ถ้าหากย้อนไปดูข้อมูลนับตั้งแต่คนงานชาวเม็กซิโกในไร่ที่แคลิฟอร์เนีย คนงานก่อสร้างชาวเอธิโอเปียในอ่าวเปอร์เซีย และแรงงานชาวซิมบับเวในประเทศแอฟริกาใต้
จะเห็นได้ชัดเจนว่าแรงงานในภาคส่วนสำคัญๆหลายแห่งนั้นมีการต้องพึ่งพาบุคคลซึ่งหลบหนีเข้าประเทศมาโดยผิดกฎหมาย และในทางกลับกัน ประเทศเหล่านี้ก็กล่าวโทษไปยังประเทศต้นทางของแรงงานเช่นกัน ว่าปล่อยให้มีการลักลอบข้ามประเทศโดยผิดกฎหมาย จนทำให้เกิดการแพร่ระบาดของไวรัส
เช่นเดียวกัน ในประเทศอาเซียนนั้น ก็มีการกล่าวโทษกันไปมา นับตั้งแต่ที่ประเทศพม่าได้กล่าวโทษผู้คนจากประเทศบังกลาเทศ และประเทศไทยก็ไปกล่าวโทษประเทศพม่าอีกเช่นกัน ส่วนที่ประเทศเวียดนามเองก็มีการโทษประเทศจีนและประเทศจีนเองก็ไปโทษอาเซียนที่ทำให้ชายแดนด้านตะวันตกเฉียงใต้นั้นประสบกับปัญหา
แน่นอนว่าการที่ประเทศไทยและพม่ามีพรมแดนติดกันเป็นระยะทางที่ยาวซึ่งกั้นระหว่างประเทศหนึ่งที่สามารถจัดการกับไวรัสได้ และประเทศหนึ่งจัดการไม่ได้ ทำให้ต้องเกิดสภาวะการหลบหนีข้ามประเทศไปยังประเทศที่สถานการณ์มีความรุนแรงน้อยกว่าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้จะเป็นวิธีการที่ผิดกฎหมายก็ตาม ดังจะเห็นได้จากในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจไทย มีการจับกุมผู้ที่นำพาคนข้ามแดนโดยผิดกฎหมายได้หลายราย
และปัญหาอีกประการ ก็คือว่า คนงานที่เข้ามาในประเทศไทยโดยผิดกฎหมายนั้นมักจะเข้าไปทำงานกันในสถานที่ที่มีความแออัด และเนื่องจากสถานะที่ผิดกฎหมายในประเทศไทยนั้นทำให้แรงงานเหล่านี้ จะไม่มีทางยอมรับว่าตัวเองป่วย หรือจะยอมไปหาหมอโดยเด็ดขาด นั้นจึงมีความเสี่ยงเป็นอย่างยิ่งที่จะมีการแพร่ระบาดอันไม่สามารถระบุตัวตนได้ในกลุ่มแรงงานต่างชาติในประเทศไทย
ซึ่งที่ผ่านมานั้นมีตัวอย่างให้เห็นแล้วถึงปัญหาการละเลยการดูแลแรงงานต่างชาติรวมไปถึงแรงงานต่างชาติที่ถูกกฎหมาย ยกตัวอย่างเช่น ที่ประเทศสิงคโปร์ ที่ไวรัสโควิด-19 ได้แพร่ระบาดไปอย่างรวดเร็วในหอพักสำหรับคนงาน เพราะว่าทางประเทศสิงคโปร์นั้นมีระบบในการติดตามการแพร่ระบาดและควบคุมในกลุ่มประชากรของประเทศตัวเอง แต่กลุ่มแรงงานต่างชาติในหอพักกลับไม่ได้อยู่ในระบบที่ว่านี้ ทำให้กลุ่มแรงงานต่างชาติของสิงคโปร์นั้นกลายเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงเป็นอย่างยิ่ง
หรืออย่างที่ประเทศมาเลเซียก็พบว่ามีแรงงานต่างชาติในโรงงานผลิตถุงมือบริษัท Top Glove ซึ่งเป็นบริษัทถุงมือใช้แล้วทิ้งที่ใหญ่ที่สุดในโลก ถูกตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด-19 นับพันราย
โดยเรื่องดังกล่าวนั้นส่งผลลามไปถึงกระบวนการผลิตชุดป้องกันการติดเชื้อหรือชุด PPE และทำให้ทางการมาเลเซียต้องดำเนินการทางกฎหมายกับบริษัทดังกล่าวในข้อหาปล่อยให้มีการติดเชื้อในกลุ่มแรงงานของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ส่วนที่ประเทศซาอุดิอาระเบียเองก็เกิดกรณีการแพร่ระบาดของไวรัส ซึ่งถูกละเลยจากการตรวจสอบเช่นกัน โดยที่มาของปัญหานั้นมาจากเรื่องปัญหาด้านสุขอนามัยในศูนย์กักกักผู้เดินทางข้ามแดน ซึ่งศูนย์กักกันดังกล่าวนั้นเต็มไปด้วยแรงงานจากเอเชียและแอฟริกา ซึ่งแรงงานเหล่านี้มักจะประสบปัญหาด้านการทำร้ายร่างกายและถูกกีดกันค่าแรง โดยเมื่อแรงงานเหล่านี้ถูกส่งตัวกลับไปยังประเทศต้นกำเนิด พวกเขาบางคนก็นำเชื้อโคโรน่าไวรัสกลับประเทศไปด้วยเช่นกัน
สำหรับประเทศไทยนั้นแค่ที่ อ.แม่สอดซึ่งอยู่ตรงข้ามกับเมืองเมียวดีของพม่า มีรายงานว่าในช่วงก่อนการระบาดมีการข้ามพรมแดนของชาวพม่าเพื่อเข้ามาสู่ประเทศไทยเป็นจำนวนถึงปีละกว่าหลายแสนคน ทำให้ปีที่ผ่านมาทั่วประเทศไทยนั้นมีแรงงานต่างชาติรวมกว่า 5 ล้านคน โดยมีการประมาณการว่ากว่าครึ่งของแรงงานเหล่านี้นั้นเป็นแรงงานที่ผิดกฎหมายและไม่ได้อยู่ในสารบบการตรวจสอบข้อมูล
แรงงานพม่าในพื้นที่ อ.แม่สอด ซึ่งมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจในพื้นที่
แม้ว่าในปีนี้ทางการไทยจะเริ่มมีการกวดขันกับพื้นที่จุดผ่านแดน อ.แม่สอด แต่ก็เป็นการกวดขันสลับกับผ่อนปรนเป็นระยะๆ โดยเพิ่มจะมาเริ่มกวดขันกันอย่างจริงจังอีกครั้งในช่วงเดือน ส.ค.ที่ผ่านมานั้นเอง ซึ่งในช่วงเวลาก่อนหน้านี้นั้นก็เป็นเวลาที่พม่ามีผู้ติดเชื้อโควิด-19 พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้รัฐบาลไทยได้เริ่มมีการเสริมสร้างแนวรั้วเพื่อป้องกันตามชายแดนแล้ว แต่ก็เห็นเด่นชัดเลยว่ายังคงมีขบวนการลักลอบข้ามพรมแดนอยู่โดยตลอด ซึ่งผู้ที่ลักลอบข้ามแดนเข้ามายังประเทศไทยนั้นไม่ได้มีแค่ชาวพม่าที่ต้องการกลับมาทำงานในไทยเท่านั้น แต่ยังมีชาวไทยที่ไม่ต้องการจะถูกกักตัว 14 วัน ก็ใช้วิธีลักลอบข้ามแดนเช่นกัน ดังที่ปรากฎเป็นข่าว
โดยในพื้นที่ระหว่างชายแดนไทยและพม่านั้น จะมีการเปิดคลับและคาสิโนอยู่หลายแห่ง และจะไม่มีการเข้มงวดในเรื่องของการใช้มาตรการเพื่อป้องกันโควิด-19 ในคลับและคาสิโนเหล่านี้ ซึ่งนักท่องเที่ยวที่ต้องการจะไปเสี่ยงโชคยังคาสิโนเหล่านี้และกลับมายังประเทศไทย ก็สามารถทำได้ง่ายๆเช่นกันด้วยการจ้างคนขับเรือรับจ้าง ซึ่งจะรู้วิธีการในการขับเรือเพื่อหลบหลีกด่านตรวจของเจ้าหน้าที่ และหลังจากนั้นไม่กี่ชั่วโมง คนขับเรือก็จะขับเรือพานักท่องเที่ยวกลับมาส่งยังประเทศไทย
คาสิโนในฝั่งพม่า ซึ่งมีชาวไทยลักลอบไปเล่นอยู่เป็นประจำ
อีกหนึ่งตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนว่าประเทศไทยนั้นอาจจะไม่ได้มีการตรวจโควิด-19 ในกลุ่มประชากรที่อยู่ในพื้นที่ชายแดนมากเท่าที่ควรก็คือว่า เมื่อตอนเดือน ก.ย.ที่ผ่านมานั้น พบชาวพม่ารายหนึ่งชื่อว่านางมาวินวินมาว ซึ่งเป็นแรงงานก่อสร้างชาวพม่าใน อ.แม่สอด ได้ลักลอบข้ามแดนกลับไปยังประเทศพม่า โดยอาศัยรถบรรทุกข้ามแดนและต่อด้วยรถยนต์กลับไปยังหมู่บ้านของเธอในประเทศพม่า ซึ่งที่นั่นเธอได้ถูกกักตัวและถูกตรวจพบว่าติดโควิด-19
ขณะที่ชาวหมู่บ้านคนอื่นๆรวมไปถึงคนขับรถทั้ง 2 คนที่พาเธอมาส่งนั้นต่างก็ถูกตรวจพบว่ามีผลโควิด-19 เป็นลบ
ซึ่งจากกรณีดังกล่าวนั้นทำให้ทางด้านของ นพ.บรัง อัง (Brang Aung) แพทย์ประจำโรงพยาบาลฮพาอันในพม่า ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากพรมแดนไทยเท่าไรนัก แสดงความมั่นใจออกมาชัดเจนว่า ประเทศไทยนั้นน่าจะมีผู้ติดเชื้อมากกว่าที่ได้ประกาศเอาไว้ แต่ยังตรวจไม่พบเจอเท่านั้นเอง โดยในเดือน ก.ย.ที่ผ่านมานั้น โรงพยาบาลแห่งนี้ยังได้รับผู้ป่วยโควิด-19 อีกจำนวน 4 ราย ซึ่งทั้งหมดนั้นเดินทางมาจากประเทศไทย
โดยหลังจากที่มีกรณีการตรวจพบผู้ข้ามแดนจากพม่ามายังประเทศไทยอย่างผิดกฎหมายหลายสิบราย เมื่อช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ซึ่งเกือบทั้งหมดนั้นเป็นผู้หญิงที่มีความเกี่ยวข้องกับการทำงานในโรงแรม 1G1 ในพื้นที่เมืองท่าขี้เหล็กของพม่า และผู้ติดเชื้อทั้งหมดยังได้กระจายไปยังพื้นที่เสี่ยง 9 จังหวัดทั่วประเทศไทย ก็ทำให้ทางการไทยนั้นต้องกลับมาเข้มงวดกับมาตรการป้องกันเชื้อไวรัสอีกครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะที่พื้นที่ อ.แม่สอด ซึ่งมีการใช้งานกลุ่มอาสาสมัครเพื่อเฝ้าระวังกลุ่มคนแปลกหน้าที่อาจจะข้ามแดนโดยผิดกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าประเทศไทยนั้นจะมีระบบสาธารณสุขที่ดีสำหรับคนในประเทศ และมีการเฝ้าระวังอย่างเต็มที่แล้วก็ตาม แต่ก็ต้องอย่าลืมว่าที่ฝั่งตรงข้ามกับ อ.แม่สอดนั้นก็คือเมืองเมียวดี ซึ่ง ณ เวลานี้นั้นมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 มากกว่า 1,200 ราย จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างยิ่งกับหน่วยงานประเทศไทยที่จะเฝ้าระวังไม่ให้คนกลุ่มนี้เล็ดลอดเข้ามา
ถ้าหากประเทศไทยยังคงเลือกที่จะคงกิจกรรมทางเศรษฐกิจในพื้นที่ชายแดนอยู่
และความท้าทายประการสุดท้ายก็คือ แม้ว่าประเทศไทยจะมีรายงานว่ามีผู้ติดเชื้อในประเทศที่มีจำนวนน้อยมาก็ตาม
แต่จนถึง ณ เวลานี้กลับไม่มีความชัดเจนในเรื่องของการตรวจผู้ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งเป็นกลุ่มแรงงานข้ามชาติ รวมไปถึงแรงงานข้ามชาติที่ข้ามแดนโดยผิดกฎหมายเลย
จึงทำให้ ณ เวลานี้ ประเทศไทยไม่อาจจะรับรู้ได้เลยว่ามีแรงงานข้ามชาติที่ติดเชื้อจริงหรือไม่? และมีจำนวนเท่าไรกันแน่?
เรียบเรียงเนื้อหาบางส่วนและรูปภาพจาก:https://www.nytimes.com/2020/12/08/world/asia/covid-thailand-myanmar-migrants-border.html
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage