“...การติดตั้งยังไม่คำนึงถึงประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ติดบริเวณริมถนนไม่มีบ้านเรือนอาศัย หรือโดยรอบเป็นพื้นทีเกษตรกรรม โล่งแจ้ง ติดตั้งในบริเวณที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน หรือกำนัน ซึ่งไม่มีปัญหาเกี่ยวกับคุณภาพของสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และสามารถใช้บริการได้หลายเครือข่าย…”
...................................
โครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ขยายโครงการข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้ครอบคลุมทุกหมู่บ้านของประเทศไทย รวม 74,987 หมู่บ้าน ดำเนินการโดยสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กำลังถูกจับตาตรวจสอบจากหน่วยงานอย่างสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)
เพราะก่อนหน้านี้ ‘โปรเจ็คเบื้องต้น’ ของสำนักงาน กสทช. ในส่วนของจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ จำนวน 3,920 หมู่บ้าน ระหว่างปีงบประมาณ 2559-2566 วงเงินงบประมาณ 13,181.84 ล้านบาท ถูก สตง. พบว่า อาจก่อให้เกิดปัญหาการดำเนินงานในอนาคตได้ สตง. จึงชงเรื่องไปยัง กสทช. และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเพื่อแก้ไขโดยด่วน (อ่านประกอบ : อาจมีปัญหาในอนาคต! สตง.ชง รมว.ดีอี-กสทช. ทำโครงการเน็ตความเร็วสูง2หมื่นล.รอบคอบ)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า สตง.จัดทำบทสรุปผลการตรวจสอบโครงการจัดให้มีสัญญาโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ 3,920 หมู่บ้าน วงเงิน 1.3 หมื่นล้านบาทดังกล่าวแล้ว จำนวน 13 หน้า มีรายละเอียด ดังนี้
สำหรับที่มาที่ไปของโครงการนี้ กสทช.จะจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ 1,890 หมู่บ้าน จุดให้บริการ 4,916 จุดติดตั้ง การบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 30/10 Mbps. 3,912 หมู่บ้าน จุดให้บริการ 6,110 จุด ประกอบด้วย โครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 881 จุด บริการ Wi-Fi สาธารณะ 3,149 จุด และหน่วยงานภาครัฐจัดให้มีพื้นที่โครงการ เช่น โรงเรียน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล เป็นต้น รวม 1,317 จุด และศูนย์บริการอินเทอร์เน็ตสาธารณะ (USO Net) ภายในโรงเรียน 763 จุด รวมทั้งจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงดังกล่าวอย่างต่อเนื่องระยะเวลา 60 เดือน (5 ปี) โดยจัดหาผู้ให้บริการเพื่อดำเนินการให้บริการสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ได้แก่ TRUE, TOT, INTERLINK, TrueMove H และ CAT
สตง.ตรวจสอบโครงการดังกล่าวแล้วพบประเด็นสำคัญ ดังนี้
1.การดำเนินการให้บริการมีความล่าช้าไม่เป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนด โดยจากการตรวจสอบพบว่าไม่สามารถดำเนินการติดตั้งระบบอุปกรณ์การให้บริการสัญญาณดังกล่าวให้แล้วเสร็จอย่างครบถ้วน และพร้อมให้บริการภายใน 28 ก.ย. 2561 และล่วงเวลากำหนดการให้บริการของโครงการเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี นอกจากนี้ยังไม่สามารถควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของผู้ให้บริการ ให้เป็นไปตามแผนการดำเนินงานที่กำหนดได้อย่างมีประสิทธิภาพ และไม่สามารถปรับปรุงแก้ไขปัญหาอุปสรรคหรือข้อจำกัดที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ทันต่อเวลา เป็นต้น
โดยการให้บริการสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่พบว่า มีการส่งมอบติดตั้งระบบอุปกรณ์ให้บริการแล้ว 4,379 จุด และติดตั้งยังไม่แล้วเสร็จตามกำหนด 537 จุด คิดเป็น 10.92% ส่วนการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ประเภท Wi-Fi หมู่บ้าน โรงเรียน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และการก่อสร้างศูนย์ USO Net นั้น มีการปรับลดจุดให้บริการจากกำหนดไว้ในสัญญาจ้าง 15 จุด เหลือจุดให้บริการ 6,110 จุด ส่งมอบการติดตั้งอุปกรณ์แล้ว 4,674 จุด และติดตั้งอุปกรณ์ไม่ทันตามกำหนด 1,436 จุด คิดเป็น 23.5% ของจุดให้บริการทั้งหมด ขณะเดียวกันจากการสังเกตการณ์ก่อสร้าง USO Net พบว่า ก่อสร้างอาคารยังไม่แล้วเสร็จ 6 แห่ง จาก 10 แห่ง
2.การให้บริการไม่สอดคล้องกับสภาพความจำเป็นและเหมาะสมกับพื้นที่ โดยจากการสุ่มตรวจอุปกรณ์และจุดติดตั้งระบบการให้บริการแต่ละประเภท รูปแบบการใช้งานและลักษณะการให้ประโยชน์ รวมทั้งคุณภาพของการให้บริการสัญญาโทรศัพท์เคลื่อนที่ และอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงนั้น พบว่า การดำเนินการติดตั้งระบบอุปกรณ์ไม่สอดคล้องกับสภาพความจำเป็น หรือความต้องการของพื้นที่ดำเนินการ และจุดติดตั้งอุปกรณ์ไม่เอื้ออำนวยต่อการใช้งาน หรือเป็นบริเวณไม่สะดวก ไม่มีความปลอดภัยในการใช้เงิน เกิดความซ้ำซ้อนกับการสนับสนุนโครงการอื่น หรือหน่วยงานอื่นที่ดำเนินการอยู่แล้ว
โดยอุปสรรคและปัญหาส่วนใหญ่ พบว่า การให้บริการไม่สอดคล้องกับสภาพความจำเป็นภายในหมู่บ้าน เนื่องจากภายในบริเวณหมู่บ้านมีบริการสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่หลายเครือข่ายอยู่ก่อนแล้ว และผู้ใช้บริการไม่มีปัญหาด้านสัญญาณ ขณะเดียวกันจุดติดตั้งอุปกรณ์ไม่เอื้อต่อการใช้งาน โดยติดตั้งบริเวณริมถนนขอบทางแคบเสี่ยงต่อการประสบอุบัติเหตุ ติดตั้งในบริเวณที่อยู่อาศัยพื้นที่ส่วนบุคคล ติดตั้งหลังพุ่มไม้ หรือพุ่มต้นกล้วย สังเกตไม่ได้ ทั้งนี้การติดตั้งยังไม่คำนึงถึงประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ติดบริเวณริมถนนไม่มีบ้านเรือนอาศัย หรือโดยรอบเป็นพื้นทีเกษตรกรรม โล่งแจ้ง ติดตั้งในบริเวณที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน หรือกำนัน ซึ่งไม่มีปัญหาเกี่ยวกับคุณภาพของสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และสามารถใช้บริการได้หลายเครือข่าย นอกจากนี้ยังเกิดความซ้ำซ้อนกับการสนับสนุนโครงการอื่นหรือหน่วยงานอื่นดำเนินการอยู่ก่อนแล้ว เช่น กรณีติดตั้งในโรงเรียน บางแห่งได้รับการสนับสนุนบริการอินเทอร์เน็ตพร้อมเครื่องคอมพิวเตอร์ในโครงการ USO Net ของ กสทช. อยู่แล้ว เป็นต้น
ในช่วงท้ายของบทสรุป สตง. มีข้อสังเกตถึงกระบวนการติดตามประเมินผล และรายงานผลการดำเนินโครงการที่ขาดความชัดเจนอย่างเป็นรูปธรรม โดยพบว่า การดำเนินการตามแผนการดังกล่าว ไม่มีการจัดทำรายงานผลการติดตาม หรือประเมินผลความสำเร็จของแต่ละโครงการที่ใช้จ่ายเงินจากกองทุนวิจัย กสทช. เพื่อประโยชน์สาธารณะ และโครงการนี้ขาดการกำหนดแนวทางการติดตามและประเมินผลโครงการอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อทราบถึงการบรรลุผลสัมฤทธิ์ตามความมุ่งหมายและเจตนารมณ์ในภารกิจของหน่วยงาน
ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (ผู้ว่า สตง.) จึงมีข้อเสนอแนะให้เลขาธิการ กสทช. พิจารณาดำเนินการ ดังนี้
1.จัดทำบันทึกข้อตกลงกับหน่วยงานหรือผู้นำชุมนุมในพื้นที่ที่ให้การสนับสนุนตามโครงการเกี่ยวกับการบริหารจัดการ การควบคุมดูแลอุปกรณ์ แนวทางการบำรุงรักษาซ่อมแซมครุภัณฑ์ หรือเปลี่ยนทดแทนเพื่อการใช้ประโยชน์สาธษรณะ และการรายงานผลการดำเนินงานตามรูปแบบและกำหนดเวลาที่สำนักงาน กสทช. กำหนดอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อประโยชน์ในการประเมินผลการใช้จ่ายเงินจากกองทุนวิจัย กสทช. เกี่ยวกับการใช้งานใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ จำนวนและประเภทผู้เข้าใช้งาน และสภาพปัญหาอุปสรรคของการดำเนินงาน เป็นต้น เพื่อให้โครงการดำเนินต่อในระยะถัดไปเกิดความต่อเนื่องยังยื่น
2.ให้ทบทวนและปรับปรุงกระบวนการติดตามและประเมินผล โดยกำหนดหลักเกณฑ์ แนวทาง วิธีการ หรือคู่มือการปฏิบัติงานที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม เพื่อให้ได้ข้อมูลหรือสามารถวัดผลการดำเนินงานได้อย่างเหมาะสม ถูกต้อง และครบถ้วน โดยมีการรวบรวมสรุปผลลัพธ์จากการดำเนินงานตามวัตถุประสงค์โครงการ ปัญหาอุปสรรค ข้อจำกัด ผลกระทบหรือความเสียหายที่อาจทำให้ไม่เกิดประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ หรือไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้โดยตรงตามความต้องการแท้จริงในแต่ละพื้นที่เป้าหมาย เพื่อใช้กำหนดแนวทางที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นให้สามารถบรรลุผลตามวัตถุประสงค์ จัดเก็บรวบรวมข้อมูลทางสถิติ เป็นฐานข้อมูล และใช้เป็นเครื่องมือเพื่อการพิจารณากำหนดนโยบายส่งเสริม สนับสนุนโดยมีข้อมูลในเชิงผลลัพธ์และข้อมูลเกี่ยวกับศักยภาพความพร้อม ความจำเป็น และตรงความต้องการใช้ประโยชน์
3.สั่งการให้มีการสำรวจ ติดตาม และประเมินผลการดำเนินงานโครงการอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อทราบสภาพข้อเท็จจริงของการดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ของโครงการ ตลอดจนปัญหาอุปสรรคของหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบ พร้อมทั้งให้มีการจัดทำรายงานการประเมินผลในทุกโครงการเป็นประจำปีในภาพรวมเสนอต่อผู้บริหาร และผู้ที่เกี่ยวข้องในระดับนโยบาย ตลอดจนเสนอต่อกองทุนวิจัย กสทช. ให้เป็นไปตามระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป
“พร้อมกันนี้ให้พิจารณาปรับปรุงอุปสรรคในการดำเนินงานของหน่วยงานที่ให้การสนับสนุน และหาข้อสรุปการกำหนดแนวทางปรับปรุงแก้ไขปัญหาอุปสรรค และข้อจำกัดของการดำเนินงานในแต่ละโครงการ หากพิจารณาแล้วเห็นว่า ไม่เป็นประโยชน์หรือไม่คุ้มค่าหรือไม่เหมาะสมกับการดำเนินการ อาจรวบรวมข้อมูลหลักฐานที่เป็นเหตุเป็นผลอันเป็นข้อสรุปเพื่อยุติการดำเนินการตามแต่กรณี ขณะเดียวกันแจ้งกำชับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้ถูกต้องภายใต้ระเบียบข้อบังคับหรือกฎหมายที่กำหนดไว้ โดยจักต้องถือปฏิบัติให้เป็นไปตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 อย่างเคร่งครัด ไม่ให้มีการปล่อยปละละเลยหรือไม่ดำเนินการ หรือไม่ซ่อมแซม หรือไม่ดูแลบำรุงรักษา ที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของรัฐ” ผู้ว่า สตง. ระบุ
ทั้งหมดคือใจความสำคัญในส่วนของบทสรุปผู้บริหารของ สตง. รายงานถึงสภาพปัญหาในการจัดทำโครงการดังกล่าว ชงถึงเลขาธิการ กสทช. เพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ต่อไป
ท้ายที่สุดประเด็นเหล่านี้จะได้รับการแก้ไขหรือปรับปรุงหรือไม่ ต้องติดตาม!
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage