“...อย่างไรก็ดีระหว่างการสอบสวนคดีนี้ คณะพนักงานสอบสวนมีการหารือกันว่าจะดำเนินคดีกับนายสกุลธรด้วยหรือไม่ ในฐานะผู้ใช้ หรือผู้จ้างวาน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 84 อย่างไรก็ดีท้ายที่สุด ไม่มีการดำเนินคดีกับนายสกุลธร และไม่มีการเรียกนายสกุลธรมาให้ปากคำด้วย? ส่งผลให้มีการสรุปสำนวนส่งให้อัยการเพื่อฟ้อง 2 จำเลยคดีดังกล่าว โดยไม่ปรากฏชื่อของนายสกุลธรอยู่ในสำนวนเลย…”
................................
กำลังเป็นประเด็นร้อนแรงที่สาธารณชนสนใจอย่างมาก!
กรณีศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง พิพากษาลงโทษจำคุก นายประสิทธิ อภัยพลชาญ อดีตเจ้าหน้าที่สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และนายสุรกิจ ตั้งวิทูวนิช 2 จำเลย คดีปลอมเอกสารสำนักงานทรัพย์สินฯ และกรณีรับเงินสินบนจากนายสกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริษัท เรียลแอสเตท ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด อย่างน้อย 3 ครั้ง 20 ล้านบาท
ล่าสุด มีรายงานข่าวจากกองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) ว่าอาจมีการแจ้งข้อกล่าวหานายสกุลธร ในความผิดฐานผู้ใช้ หรือผู้จ้างวาน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 84 ในกรณีนี้ด้วย (อ่านประกอบ : กองปราบฯอาจแจ้งข้อหา‘สกุลธร’หลังคำพิพากษาระบุให้ 20 ล้าน จนท.สำนักงานทรัพย์สินฯ)
คำถามที่น่าสนใจคือ ไฉนตั้งแต่แรกเจ้าหน้าที่ตำรวจถึงไม่มีการดำเนินคดีนี้กับนายสกุลธร ?
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รับการยืนยันข้อมูลจากแหล่งข่าวระดับสูงใน บก.ป. ว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงปี 2560 โดย บก.ป. ระแคะระคายเกี่ยวกับการดำเนินการของนายประสิทธิ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารโครงการ ระดับ บ.4 แผนกโครงการธุรกิจ 1 กองโครงการธุรกิจ 1 ฝ่ายโครงการพิเศษ สำนักงานทรัพย์สินฯ ว่ามีการปลอมเอกสารสำนักงานทรัพย์สินฯ เพื่อเตรียมเอื้อประโยชน์ให้เอกชนได้สิทธิเช่าที่ดินแปลงงามบริเวณชิดลม
ว่ากันว่าภารกิจสืบสวนเรื่องนี้ เป็นระดับ ‘ว.5’ หรือ ‘ภารกิจลับ’ เลยทีเดียว?
กระทั่งทีมสืบสวนของ บก.ป. ที่มี พ.ต.อ.สุวัฒน์ แสงนุ่ม (ยศขณะนั้น ปัจจุบันยศ พล.ต.ต. ดำรงตำแหน่งผู้บังคับการกองปราบปรามฯ) เป็นหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน พบเอกสารหลักฐานการกระทำความผิด จึงมีการแจ้งไปยังสำนักงานทรัพย์สินฯ เพื่อให้มาแจ้งความดำเนินคดีนี้
แหล่งข่าวจาก บก.ป. เล่าอีกว่า อย่างไรก็ดีระหว่างการสอบสวนคดีนี้ คณะพนักงานสอบสวนมีการหารือกันว่าจะดำเนินคดีกับนายสกุลธรด้วยหรือไม่ ในฐานะผู้ใช้ หรือผู้จ้างวาน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 84
อย่างไรก็ดีท้ายที่สุด ไม่มีการดำเนินคดีกับนายสกุลธร และไม่มีการเรียกนายสกุลธรมาให้ปากคำด้วย?
ส่งผลให้มีการสรุปสำนวนส่งให้อัยการเพื่อฟ้อง 2 จำเลยคดีดังกล่าว โดยไม่ปรากฏชื่อของนายสกุลธรอยู่ในสำนวนเลย
กระทั่งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบมีคำพิพากษาเมื่อ พ.ย. 2562 ที่ผ่านมา และมีการนำเสนอข่าวเรื่องนี้ผ่านบางสื่อ จนนำไปสู่กระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในสังคมว่า เหตุใดจึงไม่มีชื่อของนายสกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ น้องชายของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ปัจจุบันเป็นประธานคณะก้าวหน้า
ทั้งที่ในคำพิพากษาคดีนี้ ระบุตอนหนึ่งว่า จำเลยที่ 1 (นายประสิทธิ) นำเอกสารสำนักงานทรัพย์สินฯปลอมไปเสนอแก่นายสกุลธร อ้างว่าที่มีดินให้เช่า ส่งผลให้นายสกุลธรเชื่อว่าสำนักงานทรัพย์สินฯ มีที่ดินแปลงดังกล่าวจริง จึงให้จำเลยที่ 2 (นายสุรกิจ) ดำเนินการติดต่อประสานงานและอำนวยความสะดวกเพื่อให้บริษัท เรียลแอสเตท ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ได้สิทธิเช่าที่ดินแปลงดังกล่าว โดยมีค่าตอบแทนจำนวน 500 ล้านบาท จากนั้นจำเลยทั้ง 2 ได้ร่วมกันในลักษณะแบ่งหน้าที่กันทำโดยจำเลยที่ 1 ได้แนะนำให้นายสกุลธร ยื่นหนังสือแสดงความจำนงขอเช่าที่ดินต่อสำนักงานทรัพย์สินฯ ตามช่องทางปกติ แล้วจำเลยทั้ง 2 ร่วมกันเรียกรับเงินจากนายสกุลธร รวม 3 ครั้ง 20 ล้านบาท
เพื่อเป็นการตอบแทนในการที่จำเลยทั้ง 2 จะร่วมกันไปดำเนินการติดต่อประสานงาน และนำเงินส่วนหนึ่งไปมอบให้รอง ผอ.สำนักงานทรัพย์สินฯ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงาน เจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าพนักงานของรัฐตามกฎหมาย โดยวิธีอันทุจริตและผิดกฎหมาย เพื่อจูงใจรอง ผอ.สำนักทรัพย์สินฯให้กระทำการในหน้าที่ด้วยการจัดสรรที่ดินบริเวณองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ชิดลม) ซึ่งเป็นทรัพย์สินของสำนักงานทรัพย์สินฯ ให้กับบริษัท เรียลแอสเตทฯ ได้สิทธิการเช่าที่ดินระยะยาว โดยไม่ต้องผ่านการประมูลแข่งขันตามขั้นตอนปกติของการขอเช่าที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินฯ อันเป็นคุณแก่บริษัท เรียลแอสเตทฯ และทำให้สำนักงานทรัพย์สินฯ เสียประโยชน์ที่จะได้รับเงินจากการประมูลที่สูงที่สุด ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่สำนักงานทรัพย์สินฯ ผู้อื่น และประชาชน
ท้ายที่สุดศาลพิพากษาว่า จำเลยทั้ง 2 ราย มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 143, 164, 256, 268 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/4 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษทุกกรรมป็นความผิดไป ตมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันปลอมเอกสารราชการและใช้เอกสารราชการปลอม รวม 2 กระทง ลงโทษจำเลยทั้งสองฐานร่วมกันใช้เอกสารราชการปลอม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 จำคุกกระทงละ 2 ปื ฐานร่วมกันเป็นตัวกลางในการเรียกรับสินบนเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่ละบทมีอัตราโทษเท่ากัน ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 143 จำคุกคนละ 2 ปี รวมจำคุกคนละ 6 ปื จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง คงลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 3 ปื (อ้างอิงคำพิพากษาฉบับเต็มจาก ผู้จัดการออนไลน์ : https://mgronline.com/onlinesection/detail/9630000124624)
ประเด็นที่น่าสนใจคือ หากพิจารณาใจความสำคัญในคำพิพากษาคดีนี้ข้างต้น จะเห็นได้ว่า นายสกุลธร คือบุคคลผู้ให้เงินแก่จำเลยทั้ง 2 รายอย่างน้อย 3 ครั้ง รวม 20 ล้านบาท จากยอดที่อ้างว่าจะให้ทั้งหมด 500 ล้านบาท เพื่อเป็นค่า ‘อำนวยความสะดวก’ ให้แก่บริษัท เรียลแอสเตทฯ ได้สิทธิเช่าที่ดินดังกล่าว
ขณะที่ศาลตัดสินลงโทษจำเลยทั้ง 2 ราย ในฐานะความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 143 คือ ผู้ใดเรียก รับหรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่น เป็นการตอบแทนในการที่จะจูงใจหรือได้จูงใจเจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัดหรือสมาชิกสภาเทศบาลโดยวิธีอันทุจริตหรือผิดกฎหมายหรือโดยอิทธิพลของตนให้กระทำการ หรือไม่กระทำการในหน้าที่อันเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่บุคคลใด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นั่นจึงนำไปสู่ว่าเหตุใด บก.ป. อาจดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาแก่นายสกุลธร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 84 ที่ระบุว่า ผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดไม่ว่าด้วยการใช้ บังคับ ขู่เข็ญ จ้าง วานหรือยุยงส่งเสริม หรือด้วยวิธีอื่นใด ผู้นั้นเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิด
ถ้าความผิดมิได้กระทำลงไม่ว่าจะเป็นเพราะผู้ถูกใช้ไม่ยอมกระทำ ยังไม่ได้กระทำ หรือเหตุอื่นใด ผู้ใช้ต้องระวางโทษเพียงหนึ่งในสามของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น
ถ้าผู้ถูกใช้ได้กระทำความผิดนั้น ผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ และถ้าผู้ถูกใช้เป็นบุคคลอายุไม่เกินสิบแปดปี ผู้พิการ ผู้ทุพพลภาพ ลูกจ้างหรือผู้ที่อยู่ใต้บังคับบัญชาของผู้ใช้ ผู้ที่มีฐานะยากจน หรือผู้ต้องพึ่งพาผู้ใช้เพราะเหตุป่วยเจ็บหรือไม่ว่าทางใด ให้เพิ่มโทษที่จะลงแก่ผู้ใช้กึ่งหนึ่งของโทษที่ศาลกำหนดสำหรับผู้นั้น
ส่วนประเด็นที่ว่า ไฉนตำรวจจึงไม่ดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหาแก่นายสกุลธรก่อนหน้านี้ หรือระหว่างการสอบสวนคดีนี้ตั้งแต่ช่วงปี 2560 นั้น
เป็นปริศนาที่ บก.ป. หรือผู้บังคับบัญชาที่เกี่ยวข้องต้องออกมาชี้แจงต่อไป!
หมายเหตุ : ภาพประกอบนายสกุลธร จาก https://static.posttoday.com/, ภาพ บก.ป. จาก https://www.newtv.co.th/, ภาพป้ายสำนักงานทรัพย์สินฯ จาก https://siamrath.co.th/
อ่านประกอบ :
กองปราบฯอาจแจ้งข้อหา‘สกุลธร’หลังคำพิพากษาระบุให้ 20 ล้าน จนท.สำนักงานทรัพย์สินฯ
เปิดปูม บ.‘สกุลธร’ รายได้ 1,745 ล. โยงคดี จนท.ปลอมเอกสารเช่าที่ดิน สนง.ทรัพย์สินฯ
พอร์ตธุรกิจ 44 บ.ไทยซัมมิท 'สกุลธร จึงรุ่งเรืองกิจ’- 4 บริษัทย่อยเครือเรียลแอสเสทฯ
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage