ณ เวลานี้เริ่มมีข้อกังวลจากผู้เชี่ยวชาญหลายคนในประเด็นเรื่องจริยธรรมและประเด็นความปลอดภัยของนโยบายพาสปอร์ตภูมิคุ้มกัน โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานั้นองค์การอนามัยโลก (WHO)ได้ให้การยืนยันกับสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นว่าจะยังคงไม่ปรับเปลี่ยนท่าทีการคัดค้านนโยบายพาสปอร์ตภูมิคุ้มกันดังกล่าว ซึ่งมีมาตั้งแต่เดือน เม.ย. โดยจนถึง ณ เวลานี้นั้นยังคงไม่ปรากฎหลักฐานในเชิงวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนว่าผู้ที่หายจากไวรัสโควิด-19 แล้วครั้งหนึ่งนั้นจะมีแอนติบอดีซึ่งเป็นภูมิคุ้มกันสำหรับการติดเชื้อเป็นครั้งที่ 2 หรือไม่
...................
สืบเนื่องจากความคืบหน้าเกี่ยวกับการพัฒนาวัคซีนสำหรับป้องกันไวรัสโควิด-19 หรือโคโรน่าไวรัส ซึ่งประเทศอังกฤษจะมีการประกาศใช้งานวัคซีนของบริษัทไฟเซอร์และบริษัทไอโอเอ็นเทคในสัปดาห์นี้
ทำให้หลายประเทศในทวีปยุโรปนั้นเริ่มที่จะมีการตกลงกันแล้วว่าจะมีการเปิดพรมแดนระหว่างประเทศกันอย่างไรดี
ล่าสุดเว็บไซต์ Travelpulse ได้ลงบทความเอาไว้ตอนหนึ่งเกี่ยวกับแนวโน้มการเปิดพรมแดนระหว่างประเทศ ซึ่งสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้เรียบเรียงบทความจากเว็บไซต์ดังกล่าวมีรายละเอียดดังนี้
ณ เวลานี้มีการหารือกันว่านอกเหนือจากการแสดงผลการตรวจโควิด-19 ว่าเป็นลบเพื่อจะใช้ในการขออนุญาตการเข้าประเทศแล้ว การเสนอผลตรวจโควิด-19 เป็นบวก ก็อาจจะสามารถใช้เพื่อการขออนุญาตในการเข้าประเทศได้เช่นกัน ซึ่งที่ผ่านมามีการเรียกสิ่งเหล่านี้ว่านโยบายพาสปอร์ตภูมิคุ้มกัน (Immunity Passport) โดยในบางประเทศนั้นก็ได้เริ่มทดลองใช้นโยบายดังกล่าวแล้ว ด้วยข้อสันนิษฐานที่ว่าเมื่อผู้ติดเชื้อโควิด-19 ติดเชื้อไปแล้วครั้งหนึ่ง บุคคลนั้นจะมีภูมิคุ้มกันและไม่ติดเชื้ออีกครั้ง
ยกตัวอย่างที่ประเทศไอซ์แลนด์ซึ่ง ณ เวลานี้ใช้มาตรการการตรวจโควิดระบุว่าผู้ที่เดินทางจากต่างประเทศเพื่อเข้าประเทศไอซ์แลนด์จะต้องมีการกักตัว 14 วัน หรือจะกักตัว 5 วันโดยมีการเข้ารับการตรวจโควิด-19 เป็นจำนวน 2 ครั้ง โดยเป็นการตรวจอีกครั้งหลังจากการมาถึงประเทศเป็นระยะเวลา 5 วัน และจะต้องมีผลการตรวจเป็นลบทั้ง 2 ครั้งก่อนจะออกจากการกักตัว
แต่หลังจากวันที่ 10 ธ.ค.เป็นต้นไป ประเทศไอซ์แลนด์จะออกข้อบังคับใหม่ออกมา โดยระบุว่าผู้เดินทางจากต่างประเทศจะได้รับการยกเว้นมาตรการกักตัวและมาตรการตรวจสอบที่ว่ามา ถ้าหากผู้เดินทางสามารถจะให้หลักฐานว่า เคยติดเชื้อโควิด-19 และหายจากอาการป่วยแล้ว โดยข้อมูลจากคอลัมน์ CNN Travel สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นระบุว่าประเทศไอซ์แลนด์นั้นจะรับเอกสารหลักฐานผลการตรวจทางพันธุกรรมหรือการตรวจพีซีอาร์ว่าเป็นบวก ในระยะเวลามากกว่า 14 วัน ขึ้นไป หรือการตรวจหาแอนติบอดีว่าเป็นบวกจากห้องแล็บที่ได้รับการรับรองจากสหภาพยุโรปก็สามารถนำมาใช้ในกรณีนีได้เช่นกัน
อ้างอิงวิดีโอจาก The Hindu
สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นได้รายงานต่อไปด้วยว่าประเทศฮังการีเองก็ได้เคยใช้วิธีดังกล่าวเช่นกันเมื่อช่วงเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา แต่ทางกรประเทศฮังการีก็ไม่เคยออกมาเปิดเผยเลยว่านโยบายดังกล่าวนั้นประสบความสำเร็จหรือว่าล้มเหลว ซึ่งตามหลักการแล้ว การดำเนินนโยบายดังกล่าวนี้นั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการวัดผลข้อดีและข้อเสียในเชิงวิทยาศาสตร์กันก่อนที่จะมีการปฏิบัติ
แต่อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะมีการระบาดของไวรัสโควิด-19 นั้น ประเทศฮังการีก็เป็นประเทศที่เข้าถึงยากอยู่แล้วสำหรับผู้อพยพ ซึ่งรวมถึงจากประเทศอื่นๆในทวีปยุโรปด้วยกันเอง ทำให้นโยบายในเรื่องของพาสปอร์ตภูมิคุ้มกันนั้นยังเป็นสิ่งที่ไม่ได้ถูกนำไปใช้และไม่ได้ถูกพูดถึงนักแม้แต่ในประเทศฮังการีเอง
ณ เวลานี้เริ่มมีข้อกังวลจากผู้เชี่ยวชาญหลายคนในประเด็นเรื่องจริยธรรมและประเด็นความปลอดภัยของนโยบายพาสปอร์ตภูมิคุ้มกัน โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานั้นองค์การอนามัยโลก (WHO)ได้ให้การยืนยันกับสำนักข่าวซีเอ็นเอ็นว่าจะยังคงไม่ปรับเปลี่ยนท่าทีการคัดค้านนโยบายพาสปอร์ตภูมิคุ้มกันดังกล่าว ซึ่งมีมาตั้งแต่เดือน เม.ย. โดยจนถึง ณ เวลานี้นั้นยังคงไม่ปรากฎหลักฐานในเชิงวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนว่าผู้ที่หายจากไวรัสโควิด-19 แล้วครั้งหนึ่งนั้นจะมีแอนติบอดีซึ่งเป็นภูมิคุ้มกันสำหรับการติดเชื้อเป็นครั้งที่ 2 หรือไม่
ขณะที่ทางด้านของนางอาเนีย เวนเบิร์ก ผู้เชี่ยวชาญจากห้องแล็บโรงพยาบาลเมาท์ไซไน เมืองนิวยอร์กได้กล่าวว่านับตั้งแต่เดือน เม.ย. ซึ่ง WHO ได้ประกาศจุดยืนดังกล่าวจนถึงวันนี้ก็ผ่านมาเป็นระยะเวลา 8 เดือนแล้ว และเราก็เริ่มที่จะมีความเข้าใจเกี่ยวกับพฤติกรรมของไวรัสโควิด-19 มากขึ้นเรื่อยๆ
“ตอนนี้ค่อนข้างจะมีความเป็นไปได้ทางทฤษฎีแล้ว บางคนที่มีแอนติบอดีก็อาจจะไม่ได้รับการคุ้มครองเสมอไป แต่ดิฉันคิดว่าผู้คนส่วนมากที่มีผลการตรวจเป็นบวกจะมีภูมิคุ้มกันเป็นระยะเวลาหนึ่ง”
นางเวนเบิร์กกล่าวต่อว่าตัวเธอก็ได้ศึกษาผู้ป่วยโควิด-19 จำนวนกว่า 30,000 คน ซึ่งมีอาการไม่รุนแรง โดยผลการศึกษาล่าสุดที่มีการตีพิมพ์เมื่อเดือน ต.ค. ระบุว่ากว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มตัวอย่างผู้ป่วยพบว่ามีแอนติบอดีเพียงพอที่จะป้องกันการติดเชื้อโควิดซ้ำอีกครั้งเป็นระยะเวลานานหลายเดือน หรืออาจจะมากกว่า
ส่วนทางด้านของนาย Thorolfur Gudnason หัวหน้าศูนย์การระบาดวิทยาประเทศไอซ์แลนด์ได้กล่าวว่าในประเทศไอซ์แลนด์เองก็มีการศึกษาภูมิคุ้มกันผู้ป่วยควบคู่ไปกับการศึกษาผู้ป่วยจากต่างประเทศเช่นกัน โดยตัวเขาค่อนข้างมั่นใจว่าเรื่องนี้มีความปลอดภัยมาก แม้ว่าจะไม่ถึง 100 เปอร์เซ็นต์ก็ตาม
อย่างไรก็ตาม ก็มีผู้สนับสนุนนโยบายพาสปอร์ตภูมิคุ้มกันหลายรายก็เริ่มที่จะมีความเชื่อว่า นโยบายนี้จะสามารถจับต้องได้ และมีประสิทธิภาพเมื่อมีการประกาศใช้งานวัคซีนอย่างเป็นทางการ โดยหน่วยงานต่างๆอาทิสมาคมการบินนานาชาติ (IATA) กำลังประเมินขีดความสามารถของนักเดินทางที่จะได้รับวัคซีนในอนาคตอันใกล้นี้ เพื่อที่จะกลับมาเปิดน่านฟ้าการเดินทางระหว่างประเทศอีกครั้งหนึ่ง
และก็มีความเป็นไปได้ว่าจะ ณ จุดผ่านแดน จะมีการให้เก็บข้อมูลในใบผ่านแดนดิจิตัล โดยระบุถึงประวัติ รายละเอียดของการฉีดวัคซีนและการตรวจเพื่อหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ประกอบกับการติดสินใจการผ่านแดน
โดยนางรีเบคกา บราวน์ นักจริยธรรมจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดก็ได้กล่าวเช่นกันว่าผู้ที่ฟื้นจากไวรัสควรจะได้รับการปฏิบัติเช่นเดียวกับผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีน ขณะที่นางคาเมล ชาร์ชา นักจริยธรรมด้านชีววิทยาและผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายด้านสุขภาพก็ได้กล่าวเช่นกันว่าตัวเธอก็เห็นด้วยว่าจะมีข้อดีในการปฏิบัติกับผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนและผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 แล้วหายแล้วด้วยมาตรฐานเหมือนๆกัน เพราะเราคงไม่อยากจะเสียวัคซีนที่ถูกใช้ไปโดยเปล่าประโยชน์ ในช่วงเวลาซึ่งวัคซีนนั้นยังคงขาดแคลนและต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งจึงจะทำให้ประชากรมนุษย์ทั่วทั้งโลกได้รับวัคซีน
เรียบเรียงจาก:travelpulse.com/news/impacting-travel/immunity-passports-exist-but-are-they-a-bad-idea.html
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage