"...จําเลยดําเนินการออกใบเสร็จรับเงินตามแบบที่ทางราชการกําหนดแก่บริษัทเทพผดุงพรมะพร้าว จํากัด เพื่อเป็นหลักฐานการรับเงิน แต่สําหรับการลงบัญชีตามแบบที่ทางราชการกําหนด จําเลยมิได้นําเงินที่ได้รับมอบมาลงระบบบัญชีของโรงเรียนมิได้นําเงินเข้าฝากในบัญชีโรงเรียนบ้านโคกสุมุเพื่อสํารองใช้จ่ายภายในวงเงินที่สํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกําหนดหรือนําฝากที่สํานักงานคลังจังหวัดนราธิวาสแล้วแต่กรณี แต่ได้นําฝากเข้าบัญชีธนาคารกรุงไทย จํากัด (มหาชน) สาขานราธิวาส ที่จําเลยกับพี่สาว และมารดา จำเลย เปิดบัญชีเตรียมไว้ตั้งแต่วันที่ 13 พฤศจิกายน 2558..."
.....................
จำเลยมีความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 147 พรป. ปปช. พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษ มาตรา 147 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด
จำคุก 5 ปี ให้จำเลยคืน เงิน 200,000 บาท แก่โรงเรียนบ้านโคกสุมุ ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
คือ คำพิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 9 ในคดีกล่าวหานางสาวโรซียะห์ เบ็นดือราแม หรือหลานหมาด เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านโคกสุมุุ ตำบลบางปอ อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส กรณีเบียดบังเงินทุนสนับสนุนการศึกษาเพื่อดำเนินการโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันของโรงเรียน ซึ่งถูกคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 147 มาตรา 151 มาตรา 157 มาตรา 161 ตาม พรป. ปปช. พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 มาตรา 123/1 ตั้งแต่เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2561 ที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำมาเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบไปแล้ว
(อ่านประกอบ : คุก 5 ปี คืนเงิน 2 แสน! อดีตผอ.รร.บ้านโคกสุมุ นราธิวาส ทุจริตทุนโครงการอาหารกลางวันเด็ก)
ล่าสุด เมื่อวันที่ 6 ต.ค.2563 ศาลอุธรณ์ มีคำพิาพากษา แก้โทษจำเลย เป็น 3 ปี 4 เดือน เนื่องจากทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดี มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้หนึ่งในสาม นอกจากที่แก้ไขให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
สำหรับรายละเอียดคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ มีดังต่อไปนี้
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบตรวจสํานวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ขณะเกิดเหตุจําเลยดํารงตําแหน่งผู้อํานวยการโรงเรียนบ้านโคกสุมุ สังกัดสํานักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา นราธิวาส เขต 1 กระทรวงศึกษาธิการ เป็นตําแหน่งผู้อํานวยการกอง ตามคํานิยามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ประกอบประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่อง กําหนดตําแหน่งผู้อํานวยการระดับต้นหรือเทียบเท่าขึ้นไปตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2554 ข้อ 8 (ก)
จําเลยจึง มีฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (16)
เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2558 จําเลยทําหนังสือถึง บริษัท เทพผดุงพรมะพร้าว จํากัด ตามหนังสือ เรื่อง โครงการมอบทุนเพื่อการศึกษาให้แก่โรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร ประจําปี 2558 โดยระบุ ชื่อนายน. (ตัวย่อ) ครูโรงเรียนบ้านโคกสุมุ เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ และ สแกนลายมือชื่อนาย น. เป็นผู้เสนอและรับผิดชอบโครงการ ระบุชื่อนาย ม. สะมะแอ เป็นประธานคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นผู้เห็นชอบโครงการ โดยสแกนลายมือชื่อนาย ม. พร้อมแนบเอกสารโครงการจัดส่งเป็นจดหมายอิเล็กทรอนิกส์เพื่อขอทุนสนับสนุนการศึกษาโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันจากบริษัทเทพผดุงพรมะพร้าว จํากัด
วันที่ 11 พฤศจิกายน 2558 จําเลยขอเปิดบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงไทย จํากัด (มหาชน) สาขาบัญชีนราธิวาส ชื่อโรงเรียนบ้านโคกสุมุ ระบุชื่อผู้มีอํานาจสั่งจ่าย คือ จําเลย นาง น. พี่สาวจําเลย และนางห. มารดาจําเลย โดยมีเงื่อนไขการเบิกคือต้องลงชื่อ 2 ใน 3 คน และธนาคารอนุมัติเปิดบัญชีใหม่
บริษัทเทพผดุงพรมะพร้าว จํากัด พิจารณามอบทุนสนับสนุนการศึกษาแก่โรงเรียนบ้านโคกสุมุุ 200,000 บาท โดยสั่งจ่ายเช็คธนาคารกสิกรไทย จํากัด (มหาชน) สาขาเสาชิงช้า
จําเลยรับมอบเช็คจากบริษัทเทพผดุงพรมะพร้าว จํากัด แล้วมีหนังสือตอบขอบคุณ และมอบใบเสร็จรับเงินแก่บริษัทเทพผดุงพรมะพร้าว จํากัด วันที่ 20 พฤศจิกายน 2555
จําเลยนําเช็ค ที่ได้รับจากบริษัทเทพผดุงพรมะพร้าว จํากัด เข้าฝากในบัญชีธนาคารกรุงไทยจํากัด (มหาชน) สาขานราธิวาส ตามใบรับฝากเงิน และในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2558 จําเลยถอนเงิน 200,000 บาท จากบัญชีดังกล่าว
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจําเลยว่า จําเลยมีความผิด ตามคําพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่
โดยจําเลยอุทธรณ์ว่า จําเลยทําหนังสือโดยไม่มีหน้าที่และไม่ถูกต้องตามระเบียบ ทั้งไม่ได้รับมอบหมาย ให้เป็นตัวแทนของโรงเรียนบ้านโคกสุมุ และสํานักงานเขตพื้นที่การศึกษา ประถมศึกษานราธิวาส เขต 1 จําเลยขอทุนสนับสนุนเพื่อการศึกษาจากบริษัทเทพผดุงพรมะพร้าว จํากัด และรับเช็คไปเข้าบัญชีของจําเลย เป็นการกระทํานอกอํานาจหน้าที่รับผิดชอบของจําเลย ถือไม่ได้ว่า จําเลยเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทํา จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนโดยทุจริต หรือใช้อํานาจในตําแหน่งโดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่รัฐ
จําเลยนําเงิน 200,000 บาท ที่ได้รับจากบริษัทเทพผดุงพรมะพร้าว จํากัด ไปใช้ในโครงการทั้งหมด จึงไม่ต้องคืนเงินดังกล่าวแก่โรงเรียนบ้านโคกสุมุ เห็นว่า การที่จําเลยทําเอกสารขอรับทุนสนับสนุนการศึกษาในนามโรงเรียนบ้านโคกสุมุ พร้อมแนบ เอกสารโครงการจัดส่งเป็นจดหมายอิเล็กทรอนิกส์เพื่อขอรับทุนสนับสนุน การศึกษาจากบริษัทเทพผดุงพรมะพร้าว จํากัด โดยระบุชื่อ นาย น. ครูโรงเรียนบ้านโคกสุมุ เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ นาย ม. เป็นประธานคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้เห็นชอบโครงการ เพื่อให้ครบองค์ประกอบในการขอรับทุนสนับสนุนการศึกษา โดยที่นายน. มิได้รู้เห็นยินยอม และในขณะนั้นนาย ม. ได้เป็นประธานคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นการกระทําเพื่อให้บริษัทเทพผดุงพรมะพร้าว จํากัด หลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง จนกระทั่งบริษัทเทพผดุงพรมะพร้าว จํากัด พิจารณามอบทุน 200,000 บาท แก่โรงเรียนบ้านโคกสุมุ ตามโครงการที่โรงเรียนเสนอดังที่บริษัทเทพผดุงพรมะพร้าว จํากัด มีหนังสือชี้แจงสํานักงาน ป.ป.ช. ประจําจังหวัดนราธิวาส เงินที่บริษัทเทพผดุงพรมะพร้าว จํากัด มอบแก่โรงเรียน บ้านโคกสุม 200,000 บาท ดังกล่าว จึงมิใช่เงินส่วนตัวของจําเลย แต่เป็นเงินรายได้สถานศึกษาตามระเบียบสํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานว่าด้วยการบริหารจัดการเกี่ยวกับเงินรายได้สถานศึกษาขั้นพื้นฐานที่เป็นนิติบุคคลในสังกัดเขตพื้นที่การศึกษา พ.ศ. 2554 ข้อ 3 จึงเป็นเงินของทางราชการ
ทั้งได้ความจากคําเบิกความของนาง อ. นักวิชาการเงินและบัญชีชํานาญการพิเศษ ปฏิบัติหน้าที่ผู้อํานวยการกลุ่มบริหารงานการเงินและ สินทรัพย์ สํานักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานราธิวาส เขต 1 มีอํานาจ หน้าที่ดําเนินการเกี่ยวกับงานบริหารการเงิน บัญชี บริหารสินทรัพย์ และให้คําปรึกษาแนะนําแก่เจ้าหน้าที่และสถานศึกษาที่อยู่ในสังกัดสํานักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานราธิวาส เขต 1 ว่า ทุนสนับสนุนการศึกษาโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันที่บริษัทเทพผดุงพรมะพร้าว จํากัด มอบแก่โรงเรียนบ้านโคกสุมุุเป็นเงินรายได้สถานศึกษา ตามระเบียบสํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานว่าด้วยการบริหารจัดการเกี่ยวกับเงินรายได้สถานศึกษา ขั้นพื้นฐานที่เป็นนิติบุคคลในสังกัดเขตพื้นที่การศึกษา พ.ศ. 2544 ข้อ 5 กําหนดให้สถานศึกษาต้องออกใบเสร็จรับเงินตามแบบที่ทางราชการกําหนดให้แก่ ผู้ชําระเงินทุกครั้ง สถานศึกษาต้องลงบัญชีตามแบบที่ทางราชการกําหนด การเบิกถอนเงินที่ได้รับมอบมาดําเนินงานตามโครงการต้องปฏิบัติตามระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยเฉพาะการนําเงินที่ได้รับมอบไปเป็นค่าใช้จ่ายในการศึกษาต้องปฏิบัติตามประกาศสํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานว่าด้วยหลักเกณฑ์ อัตรา และวิธีการนําเงิน รายได้สถานศึกษาไปจ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาของสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่เป็นนิติบุคคลในสังกัดเขตพื้นที่การศึกษา พ.ศ. 2551
จําเลยในฐานะผู้อํานวยการสถานศึกษาซึ่งเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานมอบอํานาจให้เป็นผู้พิจารณารับบริจาคเงินหรือทรัพย์สินเพื่อนํามาใช้ประโยชน์ต่อการศึกษา ตามคําสั่งสํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่ 265/2545 เรื่อง การมอบอํานาจการรับบริจาคเงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้ทางราชการ จําเลยจึงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามระเบียบสํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานว่าด้วยการบริหารจัดการเกี่ยวกับเงินรายได้สถานศึกษาขั้นพื้นฐานที่เป็นนิติบุคคลในสังกัดเขตพื้นที่การศึกษาพ.ศ.2554 และประกาศสํานักงในคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานว่าด้วยหลักเกณฑ์ อัตรา และวิธีการนําเงินรายได้สถานศึกษาไปจ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาของสถานศึกษาขั้นพื้นฐานที่เป็นนิติบุคคลในสังกัดเขตพื้นที่การศึกษา พ.ศ. 2551
ในส่วนของการออกใบเสร็จรับเงิน ได้ความว่า จําเลยดําเนินการออกใบเสร็จรับเงินตามแบบที่ทางราชการกําหนดแก่บริษัทเทพผดุงพรมะพร้าว จํากัด เพื่อเป็นหลักฐานการรับเงิน แต่สําหรับการลงบัญชีตามแบบที่ทางราชการกําหนด จําเลยมิได้นําเงินที่ได้รับมอบมาลงระบบบัญชีของโรงเรียนมิได้นําเงินเข้าฝากในบัญชีโรงเรียนบ้านโคกสุมุเพื่อสํารองใช้จ่ายภายในวงเงินที่สํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกําหนดหรือนําฝากที่สํานักงานคลังจังหวัดนราธิวาสแล้วแต่กรณี แต่ได้นําฝากเข้าบัญชีธนาคารกรุงไทย จํากัด (มหาชน) สาขานราธิวาส ที่จําเลยกับพี่สาว และมารดา จำเลย เปิดบัญชีเตรียมไว้ตั้งแต่วันที่ 13 พฤศจิกายน 2558 เป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบสํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานว่าด้วยการบริหารจัดการเกี่ยวกับเงินรายได้สถานศึกษาขั้นพื้นฐานที่เป็นนิติบุคคลในสังกัด เขตพื้นที่การศึกษา พ.ศ. 2559 ข้อ 6
การกระทําของจําเลยเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โรงเรียนบ้านโคกสุมุและกระทรวง่ศึกษาธิการ จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 สําหรับทุนสนับสนุนการศึกษาโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันที่โรงเรียนบ้านโคกสุมุได้รับมาจากบริษัทเทพผดุงพรมะพร้าว จํากัด เป็นทุนที่มี วัตถุประสงค์ชัดแจ้ง จึงต้องนําไปใช้จ่ายหรือก่อหนี้ผูกพันได้เฉพาะในกิจการที่ ผู้มอบระบุวัตถุประสงค์ในการใช้ไว้เท่านั้น ตามที่กําหนดไว้ในข้อ 2 ของประกาศสํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานว่าด้วยหลักเกณฑ์ อัตรา และ วิธีการนําเงินรายได้สถานศึกษาไปจ่ายเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาของ สถานศึกษาขั้นพื้นฐานที่เป็นนิติบุคคลในสังกัดเขตพื้นที่การศึกษา พ.ศ. 2551 ซึ่งตามเอกสารขอรับทุนสนับสนุนการศึกษาโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน
แบ่งกิจกรรมตามโครงการ ออกเป็น 4 ประเภท คือ
1 ปลูกผัก 50 แปลง งบประมาณ 30,000 บาท
2. เลี้ยงปลาดุกในบ่อ 2,000 ตัว งบประมาณ 10,000 บาท
3. เลี้ยงไก่ไข่ 500 ตัว งบประมาณ 50,000 บาท
4. เพาะเห็ด 1,000 ขวด งบประมาณ 20,000 บาท
แต่จําเลยเบิกความรับว่าจําเลยดําเนินการตามโครงการดังกล่าวไม่ครบ เฉพาะกิจกรรมเลี้ยงไก่ไข่ 500 ตัว งบประมาณ 50,000 บาท จําเลยให้การว่าเหตุที่ยังไม่ได้ซื้อไก่ไข่มาเลี้ยงเนื่องจากเงินที่ได้รับการสนับสนุนหมดลงแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่จําเลยเบิกความตอบทนายจําเลยขออนุญาตศาลถามว่าเหตุที่ไม่ได้เลี้ยงไก่ไข่เนื่องจากในฤดูน้ำหลากพื้นที่ภายในบริเวณโรงเรียนมีน้ำท่วมสูงเกือบถึงศีรษะ และขัดแย้งกับข้อเท็จจริงที่จําเลยเบิกความต่อมาว่าสามารถเลี้ยงปลาดุกและปลูกผักได้
ส่วนที่จําเลยอ้างว่านําเงินที่ได้รับจากบริษัทเทพผดุงพรมะพร้าว จํากัด ไปซื้อวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อมาดําเนินการตามโครงการที่ได้รับทุนสนับสนุน
โดยมีพยานบุคคลต่าง ๆ รวมถึงเด็กชาย ด. นักเรียนโรงเรียนบ้านโคกสุมุ มาเบิกความเป็นพยาน
แต่พยานดังกล่าวทั้งหมด เบิกความว่า พยานไม่เคยไปให้ถ้อยคําต่อคณะอนุกรรมการหรือคณะกรรมการป.ป.ช. ทั้งไม่ทราบเรื่องที่จําเลยทําเอกสารขอรับทุนสนับสนุนการศึกษาโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน
ส่วนบิลเงินสดหรือใบสําคัญรับเงิน ที่จําเลยอ้างเป็นหลักฐานว่าได้นําเงินจากการรับทุนสนับสนุนการศึกษาไปซื้อวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ส่วนใหญ่ไม่ได้ระบุวันเดือนปีที่มีการจัดทําเอกสาร และเอกสารบางฉบับเช่นใบเสร็จรับเงิน ระบุว่ามีการซื้อตาข่ายเคลือบเขียวและลวดขาว ทําขึ้นเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2559 ก็เป็นเวลาภายหลังจากที่จําเลยรับมอบทุนสนับสนุนการศึกษาและเบิกถอนเงิน 200,000 บาท จากบัญชีธนาคารกรุงไทยจํากัด (มหาชน) สาขานราธิวาส นานประมาณ 7 เดือน โดยเฉพาะการซื้อวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ดังกล่าวมิได้ดําเนินการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติมพยานหลักฐานจําเลย
จึงรับฟังไม่ได้ว่าจําเลยนําเงิน 200,000 บาท มาดําเนินการตามโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันตามที่ได้รับทุนสนับสนุนการศึกษาจาก บริษัทเทพผดุงพรมะพร้าว จํากัด การที่จําเลยรับเงินสนับสนุนการศึกษาไว้ในฐานะผู้อํานวยการโรงเรียนซึ่งมีหน้าที่บริหารงานและกิจการศึกษาของโรงเรียน ตลอดจนบริหารงานและควบคุมดูแลด้านการเงินทุกประเภทของโรงเรียนให้เป็นไปตามระเบียบและกฎหมาย จึงเป็นการปฏิบัติราชการตามกฎหมาย
การที่จําเลยเบิกถอนเงิน 200,000 บาท จากบัญชีธนาคารที่จําเลยเปิดเตรียมไว้แล้วนําไปเก็บไว้ที่บ้านตามที่จําเลยเบิกความตอบศาลถามโดยมิได้นําเงินเก็บรักษาไว้ตามระเบียบ จึงเป็นการเบียดบังเงินซึ่งเป็นรายได้ของสถานศึกษาที่อยู่ในหน้าที่จัดการหรือดูแลรักษาของจําเลยไปโดยทุจริต อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมาย อาญา มาตรา 147 และต้องคืนเงิน 200,000 บาท แก่โรงเรียนบ้านโคกสุมุุ ที่ ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบเห็นพ้องด้วย
อุทธรณ์ของจําเลยฟังไม่ขึ้น
ส่วนอุทธรณ์ข้ออื่นของจําเลยไม่จําต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทําให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป แต่ทางนําสืบของจําเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาเห็นสมควรลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78
พิพากษาแก้เป็นว่า ทางนําสืบของจําเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 28 ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจําคุกจําเลย 3 ปี 4 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคําพิพากษาศาลชั้นต้น
อย่างไรก็ดี สำหรับคดีนี้ ยังไม่สิ้นสุด จำเลย มีสิทธิต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในชั้นศาลที่สูงกว่านี้อีกได้
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/