“...คำสั่ง คสช. ที่ 5/2557 ลงวันที่ 24 พ.ค. 2557 เรียกคนรายงานตัว มีชื่อของนายวรเจตน์ อยู่ลำดับที่ 6 โดยให้ไปรายงานตัวในวันที่ 24 พ.ค. 2557 เป็นวันเดียวกับประกาศ ข้อเท็จจริงก็ยากที่จะปฏิบัติตามคำสั่งได้อยู่แล้ว ยิ่งไปกว่านั้นคำสั่งฉบับนี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 26 พ.ค. 2557 อันเป็นวันที่พ้นกำหนดให้รายงานตัว (24 พ.ค. 2557) แล้ว และการไม่ไปรายงานตัวดังกล่าว มีโทษจำคุกถึง 2 ปี โดยข้อกฎหมายต้องถือว่าผู้กระทำรู้ถึงการมีอยู่ของกฎหมาย เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว คำสั่งที่มีการกำหนดความผิดและโทษนี้จึงเป็นคำสั่งที่ปฏิบัติไม่ได้ เพราะประกาศให้รู้หรือถือว่ารู้หลังพ้นกำหนดให้รายงานตัวแล้ว ผู้มีชื่อตามคำสั่งให้รายงานตัวจึงไม่มีโอกาสจะปฏิบัติตามคำสั่งได้เลย…”
............................
ในวันที่ 2 ธ.ค. 2563 นอกเหนือจากคดีบ้านพักรับรองราชการทหารที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ไม่สิ้นสุดลงเป็นการเฉพาะตัว จนเกิดการวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชน รวมถึงนักวิชาการด้านกฎหมายอย่างกว้างขวางแล้ว
วันดังกล่าว ศาลรัฐธรรมนูญยังวินิจฉัยคดีสำคัญอีกคดีหนึ่ง กรณีศาลแขวงดุสิต ส่งคำร้องโต้แย้งของจำเลย (นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์นิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์) เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 ว่า ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 29/2557 เรื่อง ให้บุคคลมารายงานตัวตามคำสั่งของ คสช. ลงวันที่ 24 พ.ค. 2557 และประกาศ คสช. ฉบับที่ 41/2557 เรื่อง กำหนดให้การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเรียกบุคคลให้มารายงานตัว เป็นความผิด ลงวันที่ 26 พ.ค. 2557 ขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ หรือไม่
โดยศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ว่า ประกาศ คสช. ฉบับที่ 41/2557 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 ส่วนประกาศ คสช. ฉบับที่ 29/2557 ศาลรัฐธรรมนูญโดยมติเสียงข้างมาก 7 ต่อ 2 เห็นว่า ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 วรรคหนึ่ง (อ่านประกอบ : ‘วรเจตน์’ชนะ! ศาล รธน.ชี้คำสั่ง คสช. 29/57-41/57 เรียกคนรายงานตัวขัดรัฐธรรมนูญ)
กรณีนี้เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2563 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนยืนยันข้อเท็จจริง ผู้เสียหายไม่สามารถฟ้องร้องย้อนหลังได้ เนื่องจากในขณะคำสั่งดังกล่าวปรากฏอยู่เกิดขึ้นก่อนมีรัฐธรรมนูญปี 2560 ดังนั้นเจ้าหน้าที่จึงปฏิบัติตามคำสั่ง หากไม่ทำจะผิดกฎหมาย แต่ภายหลังรัฐธรรมนูญปี 2560 ประกาศใช้แล้ว คำสั่งดังกล่าวจึงสิ้นผล แต่ในช่วงเวลาก่อนศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนั้น ยังไม่มีการส่งให้ตีความ เจ้าหน้าที่จึงยังสามารถกระทำการได้เช่นเดียวกัน (อ่านประกอบ : ฟ้องย้อนหลังไม่ได้! ‘วิษณุ’แจงมติศาล รธน.ให้คำสั่ง คสช.เรียกคนรายงานตัวขัดรัฐธรรมนูญ)
ประเด็นที่น่าสนใจ เหตุใดศาลรัฐธรรมนูญ จึงวินิจฉัยให้คำสั่ง คสช. ฉบับที่ 29/2557 และฉบับที่ 41/2557 ที่อยู่ยืนยาวมากว่า 6 ปี ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ?
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) นำคำวินิจฉัยส่วนตนของนายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ หนึ่งในตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่วินิจฉัยกรณีดังกล่าวมานำเสนอ โดยมีบางห้วงบางตอนถูกเขียนไว้ในคำวินิจฉัยกลางด้วยเช่นกัน มีรายละเอียด ดังนี้
ความเห็นทางกฎหมายของนายทวีเกียรติ ในเรื่องคำสั่ง คสช. 2 ฉบับดังกล่าว เมื่อพิจารณาจากบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 279 ที่บัญญัติว่า “บรรดาประกาศ คำสั่ง และการกระทำของ คสช. หรือของหัวหน้า คสช. ที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ หรือที่จะออกใช้บังคับต่อไปตามมาตรา 265 วรรคสอง ไม่ว่าเป็นประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำที่ผลบังคับใช้ในทางรัฐธรรมนูญ ทางนิติบัญญัติ ทางบริหาร หรือทางตุลาการ ให้ประกาศ คำสั่ง การกระทำ ตลอดจนการปฏิบัติตามประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำนั้น ชอบด้วยรัฐธรรมนูญฯและกฎหมาย และมีผลใช้บังคับโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้ต่อไป การยกเลิก แก้ไขเพิ่มเติมประกาศ หรือคำสั่งดังกล่าว ให้กระทำเป็น พ.ร.บ. เว้นแต่ประกาศหรือคำสั่งที่มีลักษณะเป็นการใช้อำนาจทางบริหาร การยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมให้กระทำโดยคำสั่งนายกรัฐมนตรี หรือมติคณะรัฐมนตรี แล้วแต่กรณี” แสดงว่าประกาศหรือคำสั่งทั้งหลายของ คสช. อาจถูกยกเลิกหรือแก้ไขเพิ่มเติมได้ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้
ดังนั้นเมื่อรัฐธรรมนูญให้การรับรองการมีผลใช้บังคับต่อไปของประกาศ คสช. ที่ 29/2557 และที่ 41/2557 ประกาศทั้ง 2 ฉบับดังกล่าวจึงมีผลใช้บังคับต่อไป แม้ต่อมา คสช. จะสิ้นสภาพไปแล้วก็ตาม อย่างไรก็ดีเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันแล้ว ประกาศ คำสั่ง การกระทำ ตลอดจนการปฏิบัติตามประกาศหรือคำสั่งดังกล่าว ต้องตกอยู่ภายใต้เงื่อนไขแห่งบทบัญญัติต่อรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญได้บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่และอำนาจในการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของบทบัญญัติแห่งกฎหมายรวมถึงประกาศ คสช. ทั้ง 2 ฉบับ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 210 วรรคหนึ่ง (1) ด้วย
การพิจารณากฎหมายที่จำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้นั้น จะต้องพิจารณาถึงสภาพการณ์ของเหตุการณ์บ้านเมืองตลอดจนวิถีชีวิตการดำเนินชีวิตของประชาชนในขณะที่มีการตรากฎหมายและในขณะที่ใช้บังคับกฎหมายประกอบกัน เห็นได้ว่า ในขณะที่ประกาศ คสช. ทั้ง 2 ฉบับดังกล่าวประกาศใช้อยู่นั้น เป็นช่วงที่ คสช. กระทำการยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินสำเร็จเมื่อ 22 พ.ค. 2557 และยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2550 มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบขององค์กรที่ใช้อำนาจ โดยให้ คสช. ใช้อำนาจทั้งในส่วนของอำนาจบริหารและนิติบัญญัติในขณะเดียวกัน เพื่อให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อยเป็นปกติสุข จนกว่าจะมีประกาศใช้รัฐธรรมนูญตามครรลองของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ในช่วงระหว่างเวลาที่ คสช. ทำหน้าที่บริหารประเทศนั้น มีความต้องการให้ประชาชนอยู่ในความสงบ ไม่ก่อความวุ่นวายและส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ จึงจำเป็นต้องจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนบางประการ
(นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ หนึ่งในตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ, ขอบคุณภาพจากเว็บไซต์สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ )
เมื่อพิจารณาประกาศ คสช. ฉบับที่ 29/2557 ลงวันที่ 24 พ.ค. 2557 และฉบับที่ 41/2557 ลงวันที่ 26 พ.ค. 2557 โดยปรากฏชื่อของจำเลยคดีนี้ (นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์) เป็นบุคคลที่ต้องมารายงานตัว แล้วไม่มารายงานตัวภายในวันเวลาที่กำหนดนั้น อย่างไรก็ดีเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2560 เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2560 สถานการณ์บ้านเมืองได้เปลี่ยนไป รัฐธรรมนูญได้รับรองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลไว้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 วรรคหนึ่ง อันเป็นการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพพื้นฐานของบุคคลในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เป็นหลักสากลที่การบัญญัติรับรองไว้เป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญปี 2492 และบัญญัติไว้ในลักษณะทำนองเดียวกันในรัฐธรรมนูญทุกฉบับ ทั้งนี้การจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองคุ้มครองไว้ ต้องเป็นไปตามหลักการในมาตรา 26 และต้องอยู่บนหลักพื้นฐานสำคัญประการหนึ่งคือ หลักความได้สัดส่วนพอเหมาะพอควรแก่กรณี อันเป็นหลักการสำคัญที่มีขึ้นเพื่อควบคุม ตรวจสอบ หรือจำกัดการใช้อำนาจรัฐเพื่อมิให้ตรากฎหมายขึ้นบังคับใช้แก่ประชาชนตามอำเภอใจ โดยในการตรากฎหมายเพื่อจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของประชาชนตามหลักการดังกล่าว จะต้องมีความเหมาะสม จำเป็น และได้สัดส่วน หรือสมดุลระหว่างประโยชน์สาธารณะหรือประโยชน์ส่วนรวม ที่จะได้รับกับสิทธิหรือเสรีภาพที่ประชาชนจะต้องสูญเสียไปอันเนื่องมาจากกฎหมายนั้น
รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมายหรือข้อบังคับการกระทำใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติหรือการกระทำนั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 5 วรรคแรก
สำหรับคำสั่งเรียกของ คสช. ที่ 5/2557 ผู้ที่เรียกจะต้องมีพฤติการณ์ละเมิดกฎหมายหรือกระทำผิดต่อชีวิตหรือทรัพย์สินจะก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยอย่างไร แต่คำสั่งเรียกดังกล่าวไม่ได้บอกเหตุแห่งการเรียก แสดงว่าการไม่มาตามคำสั่งคือการกระทำผิด โดยการไม่มาดังกล่าวมิใช่เป็นการกระทำที่ร้ายแรงอันเป็นภัยต่อชีวิตร่างกายหรือทรัพย์สินของผู้อื่น หรือกระทบกระเทือนความสงบสุขของบ้านเมืองถึงขนาดต้องเป็นโทษทางอาญา
ดังนั้นการกำหนดโทษจำคุก 2 ปี เพียงไม่มารายงานตัวตามคำสั่ง คสช. จึงเพิ่มภาระและจำกัดสิทธิเสรีภาพพื้นฐานของบุคคลในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาเกินสมควรแก่เหตุ
ขณะที่ประกาศ คสช. ฉบับที่ 29/2557 และที่ 41/2557 มีผลบังคับเฉพาะผู้ที่ถูกเรียกเท่านั้น มิได้ระบุว่าถูกเรียกเพราะเหตุใด หากเทียบกับการออกหมายเรียกหรือหมายจับ ผู้ที่ออกหมายจะต้องแสดงเหตุว่าผู้ถูกเรียกระทำความผิดร้ายแรงอย่างไร ดังนั้นคำสั่งที่เลือกปฏิบัติมิได้เป็นผลเป็นการบังคับทั่วไป อันเป็นการขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 วรรคสอง และมาตรา 27 วรรคแรก
คำสั่ง คสช. ที่ 5/2557 ลงวันที่ 24 พ.ค. 2557 เรียกคนรายงานตัว มีชื่อของนายวรเจตน์ อยู่ลำดับที่ 6 โดยให้ไปรายงานตัวในวันที่ 24 พ.ค. 2557 เป็นวันเดียวกับประกาศ ข้อเท็จจริงก็ยากที่จะปฏิบัติตามคำสั่งได้อยู่แล้ว ยิ่งไปกว่านั้นคำสั่งฉบับนี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 26 พ.ค. 2557 อันเป็นวันที่พ้นกำหนดให้รายงานตัว (24 พ.ค. 2557) แล้ว และการไม่ไปรายงานตัวดังกล่าว มีโทษจำคุกถึง 2 ปี โดยข้อกฎหมายต้องถือว่าผู้กระทำรู้ถึงการมีอยู่ของกฎหมาย เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว คำสั่งที่มีการกำหนดความผิดและโทษนี้จึงเป็นคำสั่งที่ปฏิบัติไม่ได้ เพราะประกาศให้รู้หรือถือว่ารู้หลังพ้นกำหนดให้รายงานตัวแล้ว ผู้มีชื่อตามคำสั่งให้รายงานตัวจึงไม่มีโอกาสจะปฏิบัติตามคำสั่งได้เลย
นอกจากนี้ยังมีหลัก ‘กฎหมายไม่มีผลย้อนหลัง’ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 วรรคแรกนั้น บุคคลต้องกระทำการอันกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทำนั้น บัญญัติว่าเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ การที่ประกาศ คสช. ที่ 29/2557 ลงวันที่ 24 พ.ค. 2557 (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา 29 พ.ค. 2557) และฉบับที่ 41/2557 ลงวันที่ 26 พ.ค. 2557 (ประกาศในราชกิจจานุเบกษา 30 พ.ค. 2557) มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาหลังจากคำสั่ง คสช. ที่ 5/2557 ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 26 พ.ค. 2557 จึงเป็นการออกคำสั่งเรียกให้รายงานตัวก่อนและออกประกาศกำหนดโทษของการกระทำดังกล่าวในภายหลัง จึงเป็นคำสั่งที่มีโทษอาญาย้อนหลังไปลงโทษการกระทำที่เกิดขึ้นก่อน จึงขัดหลักนิติธรรม เรื่อง ไม่มีความผิด ไม่มีโทษ โดยไม่มีกฎหมาย และขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง และมาตรา 29
อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงมีความเห็นว่า ประกาศ คสช. ฉบับที่ 41/2557 และ ประกาศ คสช. ฉบับที่ 29/2557 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 4 มาตรา 26 มาตรา 27 วรรคหนึ่งและวรรคสาม และมาตรา 29 วรรคหนึ่ง
อ่านประกอบ : ‘วรเจตน์’ชนะ! ศาล รธน.ชี้คำสั่ง คสช. 29/57-41/57 เรียกคนรายงานตัวขัดรัฐธรรมนูญ
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage