"....เป็นที่ชัดเจนว่าผู้เสียชีวิตจากการชนบนถนน ของประเทศไทยมีจำนวนมากถึงสามในสี่ สาเหตุจากการขับขี่หรือซ้อนโดยสารรถจักรยานยนต์ 2 ล้อ (รวมถึงรถ 3 ล้อ) ซึ่งหากคิดสัดส่วนต่อจำนวนประชากรของประเทศแล้ว ผู้เสียชีวิตที่เกิดจากรถจักรยานยนต์ในประเทศไทยจะสูงเป็นลำดับ 1 ของโลก...."
....................
สถิติจำนวนผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนทั่วโลกยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และยังไม่สามารถบรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ภายในปี พ.ศ. 2563 ในด้านความปลอดภัยทางถนนที่มุ่งลดจำนวนผู้เสียชีวิต และผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนลงครึ่งหนึ่งภายในปี พ.ศ. 2573
สำหรับประเทศไทยจำนวนผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนในประเทศไทย ภาพรวมมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในประเทศไทย ปี พ.ศ. 2562 มีจำนวน 19,904 ราย ลดลงเล็กน้อยจากปี 2561 ที่ผ่านมา
คือ ข้อมูลที่ปรากฎอยู่ในคำนำรายงานการวิเคราะห์สถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนของกระทรวงคมนาคม (คค.) พ.ศ. 2562 ที่มีการเผยแพร่เป็นทางการในช่วงเดือนพ.ค.2563 ที่ผ่านมา
แม้ว่าในภาพรวมจำนวนผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนในประเทศไทย จะมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่หากพิจารณาไส้ในรายงานการวิเคราะห์สถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนของกระทรวงคมนาคม พ.ศ. 2562 ฉบับเต็มดังกล่าว จะพบว่า อุบัติเหตุทางถนนในประเทศไทย ยังเป็นเรื่องที่มีความน่าวิตกอย่างมาก
โดยเฉพาะจำนวนผู้เสียชีวิต รูปแบบ ลักษณะการเกิดอุบัติเหตุ ภาพรวมการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนจากระบบข้อมูล 3 ฐาน (IDCC) ของกระทรวงสาธารณสุข พบว่า สถิติการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงลดลงเล็กน้อยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ในปี พ.ศ. 2562 มีผู้เสียชีวิต จำนวน 19,904 ราย ลดลงจากปี พ.ศ. 2561 แค่จำนวน 27 รายเท่านั้น
@ สถานการณ์อุบัติเหตุทางถนน
ในรายงานการวิเคราะห์สถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนของกระทรวงคมนาคม พ.ศ. 2562 ฉบับนี้ ให้ข้อมูลว่า ภาพรวมสถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนทั่วโลกจากรายงานสถานการณ์โลกด้านความปลอดภัยทางถนน ปี พ.ศ. 2561(Global Report on Road Safety 2018) โดย WHO พบว่า ปัจจุบันอัตราผู้เสียชีวิตบนท้องถนน เพิ่มขึ้นเป็น 1.35 ล้านคนต่อปี ซึ่งประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนสูงที่สุดเป็นอันดับที่ 9 ของโลกโดยมีประมาณการผู้เสียชีวิต 32.7 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคน หรือมีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยปีละ 22,491 คน (60 คนต่อวัน) สถานการณ์การบาดเจ็บและสูญเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทย มีแนวโน้มดีขึ้นเล็กน้อยในภาพรวม มีสถิติผู้เสียชีวิตลดลงจากประมาณการครั้งที่ผ่านมา ขององค์การอนามัยโลก 2,000 คน
แต่ประเทศไทยยังคงเป็นประเทศที่มีผู้เสียชีวิตสูงที่สุดอันดับหนึ่ง ในเอเชียและในภูมิภาคอาเซียน
สัดส่วนผู้เสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุทางถนนทั่วโลก มีผู้เสียชีวิตจากรถยนต์มากที่สุด ร้อยละ 29 จากรถจักรยานยนต์ร้อยละ 28 ที่เหลือเป็นผู้ขับขี่จักรยานและผู้เดินเท้า ร้อยละ 26 และผู้ใช้ถนนอื่นๆ ร้อยละ 17
ส่วนสัดส่วนผู้เสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทยเป็นผู้เสียชีวิตที่เกิดจาก รถจักรยานยนต์มากที่สุด ร้อยละ 74.4 เกิดจากรถยนต์ ร้อยละ 12.3 ผู้เดินเท้า ร้อยละ 7.6 ผู้ขี่จักรยาน ร้อยละ 3.5 และผู้ใช้ถนนอื่นๆ ร้อยละ 2.3
อย่างไรก็ตาม เป็นที่ชัดเจนว่าผู้เสียชีวิตจากการชนบนถนน ของประเทศไทยมีจำนวนมากถึงสามในสี่ สาเหตุจากการขับขี่หรือซ้อนโดยสารรถจักรยานยนต์ 2 ล้อ (รวมถึงรถ 3 ล้อ) ซึ่งหากคิดสัดส่วนต่อจำนวนประชากรของประเทศแล้ว ผู้เสียชีวิตที่เกิดจากรถจักรยานยนต์ในประเทศไทยจะสูงเป็นลำดับ 1 ของโลก
โดยจากสถิติการจดทะเบียนยานพาหนะของ กรมการขนส่งทางบก ณ วันที่ 30 กันยายน 2562 พบว่า ในปัจจุบันมีการเพิ่มขึ้นของจำนวนรถจักรยานยนต์ในประเทศไทยจาก 19 ล้านคัน เป็นจำนวน 21.13 ล้านคัน จึงทำให้จักรยานยนต์มีสัดส่วนมากที่สุดถึงร้อยละ 53.96 เมื่อเทียบกับรถจดทะเบียน สะสมประเภทอื่นตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์
@ ฐานการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนของกระทรวงสาธารณสุข
ภาพรวมการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนจากระบบข้อมูล 3 ฐาน (IDCC) ของ สธ. พบว่า สถิติการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงลดลงเล็กน้อยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ในปี พ.ศ. 2562 มีผู้เสียชีวิต จำนวน 19,904 ราย ลดลงจากปี พ.ศ. 2561 จำนวน 27 ราย
ภาพรวมการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน ระหว่างปี พ.ศ. 2554 - 2562 ตามช่วงอายุและเพศ พบว่า กลุ่มเยาวชน ช่วงอายุระหว่าง 15 - 19 ปี เป็นช่วงอายุที่มีการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนมากที่สุด เป็นเพศชาย จำนวน 15,644 ราย (ร้อยละ 82.85) เป็นเพศหญิง จำนวน 3,238 ราย (ร้อยละ 17.15) หากพิจารณาการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในทุกช่วงอายุ พบว่า เพศชายเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน มากกว่าเพศหญิง
ดังนั้น แนวโน้มการเสียชีวิต การบาดเจ็บ และความพิการจากอุบัติเหตุเกิดกับเพศชายมากกว่าเพศหญิง นอกจากนี้กลุ่มเยาวชนและวัยทำงานมีสัดส่วนการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ ทางถนนมากกว่ากลุ่มวัยเด็กและวัยสูงอายุอย่างชัดเจน
@ ภาพรวมสถิติจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรทางบกที่ได้รับแจ้ง
ข้อมูลรายงานคดีอุบัติเหตุจราจรทางบกที่ได้รับแจ้งในปี พ.ศ. 2562 (ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2562) ถูกบันทึกในระบบสารสนเทศสถานีตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (CRIMES) พบว่า มีจำนวนอุบัติเหตุทางถนน 74,958 ครั้ง สูงกว่าค่าเฉลี่ย 7 ปี ร้อยละ 1.29 และลดลงจากปี พ.ศ. 2561 ร้อยละ 5.26
สถิติจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรทางบกที่ได้รับแจ้ง ประจำปี พ.ศ. 2562 พบว่า มีผู้เสียชีวิต 8,673 ราย (เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 หรือ 307 ราย) จากปี พ.ศ. 2561 และสถิติผู้เสียชีวิตสูงกว่าค่าเฉลี่ย 7 ปี ร้อยละ 12.01
นอกจากนี้ ในปี พ.ศ. 2562 มีผู้เสียชีวิตเพศชาย จำนวน 6,493 คน (ร้อยละ 74.9) ผู้เสียชีวิตเพศหญิง จำนวน 2,180 คน (ร้อยละ 25.1) เสียชีวิตที่จุดเกิดเหตุ จำนวน 4,295 คน (ร้อยละ 49.5) และเสียชีวิตที่โรงพยาบาล จำนวน 4,378 คน (ร้อยละ 50.5) ผู้บาดเจ็บสาหัสจากอุบัติเหตุ ทางถนนของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2562 มีจำนวน 5,323 คน แม้ว่าจำนวนผู้บาดเจ็บสาหัสลดลงจาก ปี พ.ศ. 2561 จำนวน 57 คน (ร้อยละ 1.06) แต่เมื่อเทียบค่าเฉลี่ย 7 ปีแล้ว จำนวนผู้บำดเจ็บสาหัส ในปี พ.ศ. 2562 ลดลงอย่างชัดเจน คิดเป็นร้อยละ 55.90
@ จำนวนคน/ยานพาหนะ ที่เกิดอุบัติเหตุจราจรทางบก
ในปี พ.ศ. 2562 จำนวนคนเดินเท้าและยานพาหนะ ที่เกิดอุบัติเหตุจราจรทางบกที่ได้รับแจ้งและ ถูกบันทึกไว้ในระบบ CRIMES มีจำนวน 194,410 คน (กรณีเกิดกับคนเดินเท้านับเป็นจำนวนคน) พบว่า ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ รถจักรยานยนต์รถยนต์นั่งและรถบรรทุกขนาดเล็ก (ปิคอัพ) ตามลำดับ สำหรับยานพาหนะอื่นๆ เป็นข้อมูลที่ไม่ได้ระบุประเภทของยานพาหนะไว้
@ รายงานมูลเหตุสันนิษฐานหลักที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุทางถนน
มูลเหตุสันนิษฐานหลักที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุของปี พ.ศ. 2562 ได้จำแนกลักษณะการชน ออกเป็น 5 ประเภท ได้แก่ ลักษณะทั่วไปของการชน ลักษณะการชนสาเหตุจากบุคคล สาเหตุ จากอุปกรณ์ สาเหตุจากสภาพแวดล้อม และสาเหตุจากไฟจราจรและป้ายบอกทาง โดยสถิติสาเหตุหลักๆ สรุปได้ดังนี้
- ลักษณะทั่วไปของการชน จากสาเหตุของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากลักษณะการชนที่ถูกบันทึก จำนวน 74,958 ครั้ง การเกิดอุบัติเหตุทางถนนในลักษณะการชนระหว่างรถกับรถเป็นสาเหตุหลัก ในจำนวนคดีอุบัติเหตุ การจราจรทางบกที่ได้รับแจ้ง โดยเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 91 เทียบกับเหตุการณ์การชนระหว่างรถกับคน (ร้อยละ 5) การชนในลักษณะอื่นๆ (ร้อยละ 3) และการชนระหว่างรถกับสัตว์ (ร้อยละ 1)
- สาเหตุของอุบัติเหตุที่เกิดจากบุคคล จำนวน 65,111 ครั้ง พบว่า การขับรถเร็วเกินกว่า กฎหมายกำหนดเป็นสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุ โดยมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 49 และเมื่อเทียบกับสาเหตุ จากการขับรถตัดหน้ากระชั้นชิดที่มีสัดส่วนใกล้เคียงกัน (ร้อยละ 43) การหลับในขณะขับรถ (ร้อยละ 4) และเมาสุรา (ร้อยละ 4)
- สาเหตุของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากอุปกรณ์ จำนวน 5,069 ครั้ง ระบบห้ามล้อขัดข้อง และสาเหตุจากอุปกรณ์ (อื่นๆ) เป็นสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุ โดยมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 47 และสาเหตุ จากระบบไฟขัดข้อง (ร้อยละ 6)
- สาเหตุของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากสภาพแวดล้อม จำนวน 1,902 ครั้ง พบว่า อุบัติเหตุ ที่เกิดขึ้นจากสภาพแวดล้อมในลักษณะอื่นๆ ที่ไม่ได้ระบุรายละเอียดไว้ในระบบ เป็นสาเหตุหลักของการเกิด อุบัติเหตุ (ร้อยละ 39) รองลงมาได้แก่สาเหตุของถนนลื่น (ร้อยละ 27) สาเหตุจากมีฝนตก (ร้อยละ 18) และสาเหตุ จากคนตัดหน้ารถ (ร้อยละ 16)
- สาเหตุของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากสัญญาณไฟจราจรและป้ายบอกทาง จำนวน 27,310 ครั้ง พบว่า สัญญาณไฟจราจรและป้ายบอกทางไม่ชัดเจน เป็นสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติ (ร้อยละ 64) เมื่อเทียบกับสาเหตุอื่นๆ จากสัญญาณไฟจราจรและป้ายบอกทาง (ร้อยละ 33) และสัญญาณไฟ จราจรและป้ายบอกทางชำรุดหรือใช้การไม่ได้ (ร้อยละ 3)
@ ภาพรวมอุบัติเหตุบนโครงข่ายกระทรวงคมนาคม
ถนนของประเทศไทยมีระยะทางรวมทั้งสิ้น 698,426.20 กิโลเมตร (ไม่รวมพื้นที่กรุงเทพมหานคร) ถนนส่วนใหญ่ร้อยละ 86 อยู่ในความดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งกำกับดูแลโดยกระทรวงมหาดไทย เป็นระยะทาง 597,667 กิโลเมตร สำหรับถนนที่อยู่ในความรับผิดชอบของ คค. มีระยะทาง 100,759.20 กิโลเมตร หรือประมาณร้อยละ 14 ของถนนทั่วประเทศ ประกอบด้วย ทางหลวงแผ่นดินในความดูแลของ ทล. ระยะทาง 51,936.84 กิโลเมตร ทางหลวงชนบทในความดูแลของ ทช. ระยะทาง 48,597.75 กิโลเมตร และทางพิเศษในความรับผิดชอบ กทพ. ระยะทาง 224.60 กิโลเมตร นอกจากนี้ ข้อมูล ณ เดือนธันวาคม 2562 ประเทศไทยมีทางรถไฟรวมทั้งสิ้น 3,977.50 กิโลเมตร เป็นทางเดี่ยวระยะทาง 3,325.73 กิโลเมตร ทางคู่และทางสามระยะทาง 651.77 กิโลเมตร
ทั้งนี้ ระบบ TRAMS ได้รายงานข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนที่เกิดขึ้นบนถนนในความรับผิดชอบของกระทรวงคมนาคม ปี พ.ศ. 2562 พบว่า มีจำนวนการเกิดอุบัติเหตุทางถนนรวม 20,007 ครั้ง โดยมีผู้เสียชีวิต 3,277 ราย และมี ผู้บาดเจ็บ 18,217 คน สถิติการเกิดอุบัติเหตุบนถนนในความรับผิดชอบของ คค. ดังกล่าว มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับสถิติการเกิดอุบัติเหตุบนถนนในความรับผิดชอบของกระทรวงคมนาคม ในปีพ.ศ. 2561
โดยจำนวนการเกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.85 จำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.67 และจำนวนผู้บาดเจ็บเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.71
@ สัดส่วนยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุบนถนนในความรับผิดชอบของ กระทรวงคมนาคม
สัดส่วนการเกิดอุบัติเหตุบนถนนที่อยู่ในความรับผิดชอบของ กระทรวงคมนาคม ส่วนใหญ่เกิดบนสายทาง ในความรับผิดชอบของ ทล. และ ทช. เมื่อจำแนกตามประเภทของยานพาหนะ สัดส่วนยานพาหนะที่เกิด อุบัติเหตุบนถนนในความรับผิดชอบของ คค. สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ รถปิคอัพบรรทุก 4 ล้อ (ร้อยละ 32.46) รถยนต์นั่งส่วนบุคคล/รถยนต์นั่งสาธารณะ (ร้อยละ 29.31) และรถจักรยานยนต์ (ร้อยละ 17.57)
สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
- ทางหลวงแผ่นดินมีสถิติการเกิดอุบัติเหตุของยานพาหนะสูงสุด (27,004 คัน) ทั้งนี้ อาจเนื่องมาจากเป็นถนนที่เชื่อมระหว่างเมืองและระหว่างจังหวัด ปริมาณการเดินทางและการขนส่ง สินค้าโดยใช้รถยนต์รถปิคอัพ และรถบรรทุกมีสัดส่วนที่สูงกว่า เมื่อเทียบกับสายทางในความรับผิดชอบของ คค. ประเภทอื่นๆ
- สถิติรถจักรยานยนต์เกิดอุบัติเหตุบนทางหลวงแผ่นดิน (4,305 คัน) แต่เมื่อพิจารณาสัดส่วนการเกิดอุบัติเหตุที่เกิดจากรถจักรยานยนต์กับยานพาหนะประเภทอื่นๆ แล้ว พบว่า ทางหลวงชนบทมีสัดส่วน การเกิดอุบัติเหตุของรถจักรยานยนต์สูงสุด (1,123 คัน หรือร้อยละ 48.93) ทั้งนี้ อาจมีสาเหตุจากทางหลวงชนบท เชื่อมต่อกับแหล่งชุมชนและย่านที่พักอาศัยของเมือง จึงทำให้มีการใช้รถจักรยานยนต์เพื่อสัญจรเป็นจำนวนมาก
- รถบรรทุกเกิดอุบัติเหตุบนทางหลวงแผ่นดินมากที่สุด รองลงมาคือ ทางพิเศษและทางหลวงชนบท ตามลำดับ
@ อุบัติเหตุทำงถนนแยกตามความรับผิดชอบของหน่วยงานในสังกัด คค. ในปี พ.ศ. 2562
อุบัติเหตุทางถนนที่เกิดขึ้นแยกตามความรับผิดชอบของหน่วยงานในสังกัด คค. ในปี พ.ศ. 2562 พบว่า จำนวนผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตทางถนนส่วนใหญ่เกิดขึ้นในสายทางที่อยู่ในความรับผิดชอบของ กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท ตามลำดับ จากสถิติอุบัติเหตุทางถนน จำนวน 20,007 ครั้ง เป็นอุบัติเหตุบนทางหลวงแผ่นดิน ถึงร้อยละ 87.74 และเป็นอุบัติเหตุบนทางหลวงชนบท ร้อยละ 8.02
จากสถิติดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า ระยะทางจำนวนช่องจราจร รวมถึงปริมาณความต้องการเดินทางและขนส่งสินค้าอาจมีความสัมพันธ์โดยตรงกับความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุบนถนน
@ ลักษณะถนนบริเวณที่เกิดอุบัติเหตุ
ลักษณะถนนบริเวณที่เกิดอุบัติเหตุ ในปี พ.ศ. 2562 สามารถสรุปสถิติสำคัญจากจำนวน อุบัติเหตุทั้งหมด 20,007 ครั้ง สรุปได้ดังนี้
(1) ภาพรวมของลักษณะบริเวณที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด 5 ลำดับแรก บนถนนโครงข่ายของ คค. ได้แก่ อุบัติเหตุบนทางตรง จำนวน 13,511 ครั้ง (ร้อยละ 67.53) อุบัติเหตุบนทางโค้ง จำนวน 2,530 ครั้ง (ร้อยละ 12.65) อุบัติเหตุบนทางแยก จำนวน 1,390 ครั้ง (ร้อยละ 6.95) อุบัติเหตุบนทำงตรงที่ไม่มีความลาดชัน หรือเป็นที่ราบ จำนวน 713 ครั้ง (ร้อยละ 3.56) และอุบัติเหตุบนช่วงลาดชัน จำนวน 550 ครั้ง (ร้อยละ 2.75)
โดยสถิติการเกิดอุบัติเหตุสูงสุด 3 ลำดับแรกข้างต้นเกิดขึ้นในสายทางที่รับผิดชอบโดย ทล.
(2) สำหรับสายทางที่รับผิดชอบโดย ทช. พบว่า อุบัติเหตุส่วนใหญ่ เกิดบริเวณทางตรง ที่ไม่มีความลาดชันหรือเป็นที่ราบ 713 ครั้ง บริเวณทางโค้งที่ไม่มีความลาดชันหรือเป็นที่ราบ 319 ครั้ง และบริเวณทางแยก 190 ครั้ง ตามลำดับ
นอกจากนี้สถิติการเกิดอุบัติเหตุบนทางพิเศษ มักเป็นอุบัติเหตุ บนทางตรง 586 ครั้ง มากกว่าที่จะเกิดอุบัติเหตุบนทางโค้ง 64 ครั้ง อย่างเห็นได้ชัด
ส่วนอุบัติเหตุบนถนน ซึ่งตัดกับรางรถไฟ มักเกิดอุบัติเหตุบนทางตรงมากกว่าลักษณะกายภาพของทางแบบอื่นๆ
@ มูลเหตุสันนิษฐานหลักที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ
มูลเหตุสันนิษฐานหลักที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุในปี พ.ศ. 2562 สามารถสรุปสถิติสำคัญจากจำนวน อุบัติเหตุทั้งหมด 20,007 ครั้ง ได้ดังนี้
(1) มูลเหตุสันนิษฐานหลักที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด 5 ลำดับ ได้แก่ ขับรถเร็วเกินกำหนด (ร้อยละ70.94) คนหรือรถตัดหน้ากระชั้นชิด (ร้อยละ 8.25) หลับใน (ร้อยละ 7.02) อุปกรณ์บกพร่อง (ร้อยละ 3.31 ) และเมาสุรา (ร้อยละ 2.84) สถิติของมูลเหตุสันนิษฐานหลักที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด 5 ลำดับ แรกข้างต้นเกิดขึ้นในสายทางที่รับผิดชอบโดย ทล. เนื่องจากลักษณะทางกายภาพของทางหลวงแผ่นดินที่เอื้อต่อการใช้ความเร็วในการขับรถ จึงอาจมีแนวโน้มที่ผู้ขับรถจะใช้ความเร็วเกินกำหนดได้บนทางหลวง แผ่นดินมากกว่ำถนนประเภทอื่น
(2) สายทางที่รับผิดชอบโดย ทช. พบว่า ขับรถเร็วเกินกำหนดเป็นมูลเหตุสันนิษฐานหลัก รองลงมา ได้แก่ เมาสุรา ทั้งนี้ อาจเนื่องมาจากสายทางที่อยู่ในความรับผิดชอบของ ทช. มีการเชื่อมต่อ กับแหล่งชุมชนและที่อยู่อาศัย
(3) สถิติของมูลเหตุสันนิษฐานหลักที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุบนทางพิเศษ ส่วนใหญ่มาจากขับรถเร็วเกินกำหนดและการไม่ให้สัญญาณไฟจอด/ชะลอ/เลี้ยว ดังนั้น ผู้ใช้ทางพิเศษจึงควรต้องขับรถด้วย ความระมัดระวังโดยการให้สัญญาณไฟจราจร เพื่อส่งสัญญาณการใช้ทางร่วมกับผู้ใช้ทางพิเศษรายอื่น
@ สรุปข้อมูลอุบัติเหตุรายเดือน ปี พ.ศ. 2562
จากสถิติข้อมูลอุบัติเหตุบนถนนในความรับผิดชอบของกระทรวงคมนาคม (คค.) ในช่วงเดือนมกราคม - ธันวาคม พ.ศ. 2562 ในช่วงระหว่างเวลา 00.01 - 24.00 น. มีจำนวนอุบัติเหตุทั้งหมด 20,007 ครั้ง สถิติผู้บาดเจ็บรวม 18,217 คน และสถิติผู้เสียชีวิตรวม 3,277 คน สรุปได้ดังนี้
(1) อุบัติเหตุที่เกิดบนถนนส่วนใหญ่เกิดในช่วงเทศกาลสำคัญของประเทศไทย ได้แก่ เทศกาลปีใหม่ในช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนมกราคม และเทศกาลสงกรานต์ในช่วงเดือนเมษายน
(2) จากสถิติในช่วงเดือนที่มีเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์มีจำนวนผู้บาดเจ็บสูงกว่าจำนวนครั้ง ในการเกิดอุบัติเหตุ บ่งชี้ว่า การเกิดอุบัติเหตุบนถนนในแต่ละครั้งมีแนวโน้มที่จะมีผู้บาดเจ็บหลายราย ทั้งนี้ อุบัติเหตุที่มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมากนั้น อาจมาจากหลายกรณี เช่น อุบัติเหตุที่เกิดกับรถโดยสารสาธารณะ การชนของยานพาหนะหลายคัน การชนที่รุนแรง เป็นต้น ดังนั้น ปัจจัยเหล่านี้จึงมักส่งผล กระทบต่อสังคมในวงกว้าง
(3) จำนวนครั้งการเกิดอุบัติเหตุ จำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าของเดือนที่ไม่มีเทศกาลวันหยุดยาว
ทั้งหมดนี่ เป็นไส้ในรายงานการวิเคราะห์สถานการณ์อุบัติเหตุทางถนนของกระทรวงคมนาคม พ.ศ. 2562 ฉบับล่าสุด ที่มีการจัดทำไว้ ซึ่งเมื่อพิจารณาจำนวนผู้เสียชีวิต รูปแบบลักษณะการเกิดเหตุ จะพบว่าอุบัติเหตุทางถนนในประเทศไทย ยังเป็นเรื่องที่มีความน่าวิตกอย่างมาก
ทุกฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องต้องหาทางเร่งแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่โดยด่วน!
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage