"...ปีงบประมาณ 2562 ได้ตรวจสอบธุรกรรมหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด 746 คำสั่ง มีคำสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สิน 210 คำสั่ง 162 คดี มูลค่า 2,019.28 ล้านบาท มีคำสั่งเพิกถอนการยึดหรืออายัดทรัพย์สิน 26 คำสั่ง มูลค่า 33.42 ล้านบาท คุ้มครองสิทธิของผู้เสียหาย 34 เรื่อง มูลค่า 1,646.98 ล้านบาท และเห็นชอบให้ส่งพนักงานอัยการพิจารณา 187 เรื่อง มูลค่า 1,061.14 ล้านบาท..."
--------------------------------------------------------
ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 10 พ.ย.2563 ได้รับทราบรายงานผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ประจำปี 2562 ก่อนเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาพิจารณาต่อไป
สำหรับรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปี 2562 เป็นภาพรวมการทำหน้าที่ระหว่างวันที่ 1 ต.ค.2561 – 30 ก.ย.2563 โดยมีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้
@รับร้องทุกข์ 2,430 เรื่อง ยาเสพติด-ฉ้อโกง-ทุจริตเต็งหนึ่ง
ตลอดปีงบประมาณ 2562 หน่วยรับเรื่องร้องเรียน ร้องทุกข์ แจ้งเบาะแสเกี่ยวการกระทำความผิดเกี่ยวกับการฟอกเงิน และการก่อการร้าย ผ่านจดหมาย , การยื่นเรื่องด้วยตนเอง , สายด่วน 1710 , เว็บไซต์และอีเมล และส่วนราชการภายนอก รวมทั้งหมด 2,430 เรื่อง ส่วนใหญ่เป็นการกระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด การฉ้อโกงประชาชน และทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่
วิเคราะห์ความผิดปกติของธุรกรรมทางการเงินที่อาจเชื่อมโยงเกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐานหรือความผิดตามกฎหมายอื่น 750 คดี และได้นำธุรกรรมที่ได้รับรายงานมาใช้ประกอบการวิเคราะห์รวม 568,243 ธุรกรรม
จัดทำรายงานวิเคราะห์เชิงยุทธศาสตร์ เพื่อกำหนดนโยบายและมาตรการเกี่ยวกับธุรกรรมทางการเงิน จำนวน 14 ฉบับ แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานทั้งภายในและต่างประเทศรวม 5,450 ครั้ง
ส่งเสริมและประสานความร่วมมือกับประชาชน ผ่านโครงการสายลับ ปปง.เพื่อส่งเสริมความร่วมมือของประชาชนเกี่ยวกับการให้ข้อมูลข่าวสารในการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ปัจจุบันมีทั้งหมด 26 ราย รวมถึงจัดทำบันทึกความเข้าใจและบันทึกข้อตกลงกับหน่วยงานในประเทศเพื่อประโยชน์ในการประสานงานและดำเนินคดีตามกฎหมายรวม 44 ฉบับ
@ยึดทรัพย์ 2 พันล้าน–จับคนผิดฐานฟอกเงิน 91 ราย
ผลงานการตรวจสอบ สืบสวน สอบสวน และรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อดำเนินคดีกับทรัพย์สินผู้กระทำความผิด โดยปีงบประมาณ 2562 ได้ตรวจสอบธุรกรรมหรือทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด 746 คำสั่ง มีคำสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สิน 210 คำสั่ง มูลค่า 2,019.28 ล้านบาท มีคำสั่งเพิกถอนการยึดหรืออายัดทรัพย์สิน 26 คำสั่ง มูลค่า 33.42 ล้านบาท คุ้มครองสิทธิของผู้เสียหาย 34 เรื่อง มูลค่า 1,646.98 ล้านบาท และเห็นชอบให้ส่งพนักงานอัยการพิจารณา 187 เรื่อง มูลค่า 1,061.14 ล้านบาท
ส่วนทรัพย์สินที่ได้ทำการยึดและอายัดก่อนหน้านี้ที่ ปปง.ดำเนินการเก็บรักษา จำนวน 8,059.41 ล้านบาท ขายทอดตลาด 22 ครั้ง ขายได้ 876 รายการ มูลค่า 523.24 ล้านบาท นำทรัพย์สินออกบริหาร 1,976 รายการ มีรายได้จากการบริหาร 55.55 ล้านบาท การนำทรัพย์สินที่ยึดหรืออายัดส่งคืนเจ้าของทรัพย์สิน 438.69 ล้านบาท นำทรัพย์สินที่ศาลสั่งตกเป็นของแผ่นดินส่งกระทรวงการคลัง 179.16 ล้านบาท ส่งเข้ากองทุน ปปง. 109.01 ล้านบาท
กองทุนการป้องกัน สนับสนุนแผนงาน โครงการและภารกิจที่เกี่ยวข้อง จำนวน 35 โครงการ จำนวน 62.88 ล้านบาท ซึ่งมีผลผลิตและตอบสนองการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ได้แก่ ดำเนินคดี 166 ราย สืบสวนสอบสวน รวบรวมพยานหลักฐาน 720 ราย และหน่วยงานภายนอกมีการส่งข้อมูลให้ ปปง.ดำเนินการกับทรัพย์สิน 51 เรื่อง และมีภาคเครือข่ายร่วมมือเพิ่มขึ้น 135 เครือข่าย
ส่วนการดำเนินคดีอาญาตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2562 มีการพิจารณาดำเนินการด้านคดีอาญาฐานฟอกเงิน 29 เรื่อง และบูรณาการดำเนินงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมบุคคลตามหมายจับข้อหาฟอกเงิน 91 ราย
@รับทราบรายงาน 18.15 ล้านธุรกรรมตามกฎหมายฟอกเงิน
ผลการดำเนินงานด้านการกำกับและตรวจสอบผู้มีหน้าที่รายงาน ได้ตอบข้อหารือและให้ความเห็นทางกฎหมายให้ผู้มีหน้าที่รายงานการทำธุรกรรม เกี่ยวกับกฎหมายฟอกเงิน และกฎหมายที่เกี่ยวกับการสนับสนุนทางการเงินผู้ก่อการร้าย รวม 50 ครั้ง
ตามมาตรา 13 ของกฎหมายฟอกเงิน กำหนดให้ต้องมีการรายงานธุรกรรม 3 ประเภทให้ ปปง.รับทราบ ประกอบด้วย ธุรกรรมที่มีจำนวนเงินสดตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป หรือโอนเงินอิเล็กทรอนิกส์ทตั้งแต่ 1 แสนบาทขึ้นไป , ธุรกรรมที่มีมูลค่าทรัพย์สินตั้งแต่ 5 ล้านบาทขึ้นไป หรืออสังหาริมทรัพย์ที่เป็นการโอนเงินหรือชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ตั้งแต่ 7 แสนบาทขึ้นไป และธุรกรรมที่เหตุอันควรสงสัย
ภาพรวมประจำปีงบประมาณ 2562 รับทราบรายงานธุรกรรมดังกล่าวรวม 18.15 ล้านธุรกรรม แบ่งเป็นธุรกรรมที่ใช้เงินสด 1.18 ล้านธุรกรรม เกี่ยวกับทรัพย์สิน 236,108 ธุรกรรม การโอนเงินหรือชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ 16.65 ล้านธุรกรรม ธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัย 62,616 ธุรกรรม และเกี่ยวกับเงินสดผ่านแดน 16,797 ธุรกรรม
ดำเนินการกำกับ ตรวจสอบและประเมินผลการปฏิบัติตามกฎหมายฯที่เกี่ยวกับการฟอกเงินหรือการสนับสนุนทางการเงินแก่ผู้ก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มี่อานุภาพทำลายล้างสูง 753 ครั้ง
ทบทวนตรวจสอบรายงานธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัย (STR) ของผู้มีหน้าที่รายงาน 70,844 รายการ และส่งทบทวน 7,046 รายการ
การยกเลิกและแจ้งแก้ไขเพิ่มเติม เกี่ยวกับธุรกรรม 21,471 รายการ ได้แก่ เงินสด 17,147 รายการ เกี่ยวกับทรัพย์สิน 3,249 รายการ ธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัย 328 รายการ และเกี่ยวกับการโอนเงินหรือชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ 479 รายการ
ส่วนการตรวจเชิงปริมาณ ผู้มีหน้าที่รายงานทำธุรกรรมทุกกลุ่มประเภทธุรกิจ 10.20 ล้านรายการ ได้แจ้งตอบการรับรายงานการทำธุรกรรมตามกฎหมายฟอกเงิน ให้ผู้มีหน้าที่รายงานดังกล่าวปรับปรุงข้อมูล 71 ราย
@เบิกจ่ายงบประจำปี 98.03% หรือ 562.78 ล้านบาท
สำหรับผลการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2562 ปปง.ได้รับการจัดสรรเงิน 524.27 ล้านบาท และสำนักงบประมาณโอนงบมาสมทบอีก 49.82 ล้านบาท รวมเป็นงบประมาณที่ได้รับ 574.10 ล้านบาท เบิกจ่ายไปแล้ว 562.78 ล้านบาท คิดเป็น 98.03% เงินกันเหลื่อมปี 8.5 ล้านบาท คิดเป็น 1.48% และคงเหลืองบประมาณ 2.8 ล้านบาท คิดเป็น 0.49%
ขณะที่ปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะในการปฏิบัติงาน ปัจจุบัน ปปง.มีอัตรากำลังในการทำหน้าที่ด้านคดีเพียง 200 อัตรา โดยขอเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปรับปรุงแก้ไขโครงสร้าง และเพิ่มอัตรากำลังของหน่วยงานให้รองรับและสอดคล้องกับการปฏิบัติหน้าที่
ทั้งนี้เมื่อประเมินมาตรฐานสากลและผลการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2562 พบว่า มีข้อจำกัดด้านกฎหมายและอนุบัญญัติที่ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลเกี่ยวกับการได้มาซึ่งข้อมูลผู้รับประโยชน์ที่แท้จริง
ปปง.และสำนักงานสถิติแห่งชาติ ควรจัดทำระบบจัดเก็บข้อมูลสถิติต่างๆ เพื่อเป็นฐานข้อมูลในภาพรวมของประเทศ โดยให้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
นอกจากนั้นยังเสนอให้กรมที่ดิน พัฒนาระบบรายงานการทำธุรกรรมแบบอิเล็กทรอนิกส์อย่างเต็มที่ เนื่องจากตั้งแต่ปี 2543-2562 มีการรายงานธุรกรรมที่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์จากกรมที่ดินประมาณ 1.3 ล้านธุรกรรม หรือเดือนละ 10,000 – 15,000 ธุรกรรม โดยส่งรายงานในรูปแบบกระดาษ อันเป็นภาระของเจ้าหน้าที่กรมที่ดินในการเตรียมและส่งเอกสารทางไปรษณีย์ และมีความเสี่ยงเกี่ยวกับการสูญหาย ข้อมูลลบเลือน หรือส่งล่าช้าไม่เป็นไปตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด
ทั้งนี้ กรมที่ดินควรสนับสนุนการจัดบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการประสานความร่วมมือในการปฏิบัติงานร่วมกับ ปปง. เพื่อทำให้การตรวจสอบขอข้อมูลการถือครองกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ผ่านระบบอิเกทรอนิกส์เป็นไปด้วยความรวดเร็ว ครบถ้วน ถูกต้อง และลดภาระการปฏิบัติหน้าที่ของกรมที่ดินในปัจจุบัน
ทั้งหมดเป็นผลงาน ปปง.ประจำปี 2562 หนึ่งในหน่วยงานสำคัญของภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบทุจริตโดยตรง!
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/