"...ล่าสุดมีรายงานว่าเมื่อวันที่ 17 พ.ย.ที่ผ่านมานั้น ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ของไทย ได้เห็นชอบงบประมาณ 6,049 ล้านบาทเศษ จากงบกลางรายการสำรองจ่ายในกรณีฉุกเฉินและจำเป็นปี 2564 เพื่อให้กระทรวงสาธารณสุขไปทำสัญญาในการจองวัคซีนโควิด-19 กับบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าแล้วเป็นจำนวนทั้งสิ้น 26 ล้านโดส..."
..........................
สืบเนื่องจากปรากฎข่าวความคืบหน้าวัคซีนไวรัสโควิด-19 หรือโคโรน่าไวรัสในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมีรายงานจากบริษัทยาหลายแห่งได้อ้างว่าวัคซีนของตัวเองนั้นได้ผลดี จึงทำให้ ณ เวลานี้คนในสังคมเกิดการตั้งข้อสงสัยว่าสรุปแล้ววัคซีนของบริษัทยาตัวไหนจะดีที่สุดกันแน่
ล่าสุด สำนักข่าว CNBC ของสหรัฐอเมริกา ได้จัดทำรายงานเปรียบเทียบวัคซีนสำหรับไวรัสโควิด-19 ซึ่งมาจากการพัฒนาของบริษัทยาจำนวน 4 แห่ง และอยู่ในขั้นตอนสุดท้ายของการทดสอบ ได้แก่ 1.วัคซีนจากบริษัทเมอร์เดอน่า 2.บริษัทไฟเซอร์ร่วมมือกับไบโอเอ็นเท็ค 3.บริษัทแอสตร้าเซนเนก้าร่วมมือกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และ 4. บริษัทจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) แปลและเรียบเรียงรายงานพิเศษชิ้นนี้ มานำเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบ ณ ที่นี้
@ วัคซีนจากบริษัทเมอร์เดอน่า
เมื่อวันที่ 16 พ.ย.ที่ผ่านมา บริษัทมอร์เดอน่าซึ่งเป็นบริษัทยาสัญชาติสหรัฐฯ ได้รายงานผลการทดลองการรักษาหรือการทดลองทางคลินิก โดยอ้างว่าวัคซีนของบริษัทนั้นมีศักยภาพในการป้องกันไวรัสโควิด-19 ได้สูงถึง 95 เปอร์เซ็นต์ ด้วยการฉีดวัคซีน 2 เข็ม ในระยะเวลา 4 สัปดาห์
ทั้งนี้ ข่าวของบริษัทมอร์เดอน่านั้นถือว่าช้ากว่า ข่าววัคซีนของบริษัทไฟเซอร์และไบโอเอ็นเท็ค ประมาณ 1 สัปดาห์ เพราะว่าทางบริษัทไฟเซอร์เองก็ได้เคยออกมาประกาศว่าวัคซีนของพวกเขานั้นมีความสำเร็จในการป้องกันไวรัสได้ถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งทั้งวัคซีนของบริษัทมอร์เดอน่า และของบริษัทไฟเซอร์ ต่างก็เป็นความก้าวหน้าของนวัตกรรมวัคซีนตัวใหม่ที่ใช้หลักการนำข้อมูลพันธุกรรมที่ชี้นำการสังเคราะห์โปรตีนในเซลล์เพื่อจะกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกาย หรือ ที่เรียกกันว่าวัคซีนแบบ mRNA
บริษัทมอร์เดอน่า ได้ชี้แจงว่า สำหรับการเก็บรักษาวัคซีนของทางบริษัทนั้น ถ้าหากจะให้วัคซีนอยู่ได้เป็นระยะเวลาไม่เกิน 30 วัน ก็จะต้องเก็บวัคซีนที่อุณหภูมิตั้งแต่ 2-7 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิมาตรฐานสำหรับตู้เก็บความเย็นทางการแพทย์
แต่ถ้าหากจะให้วัคซีนอยู่ได้เป็นระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน ก็จะต้องเก็บวัคซีนที่อุณหภูมิ -20 องศาเซลเซียส
เมื่อย้อนกลับไปในช่วงเดือน ส.ค. บริษัทมอร์เดอน่าเคยเปิดเผยตัวเลขราคาวัคซีนไปแล้วว่าจะอยู่ที่โดสละประมาณ 32 ดอลลาร์สหรัฐฯ (969 บาท) ถึง 37 ดอลลาร์สหรัฐฯ (1,120 บาท) บริษัทฯ คาดการณ์ว่าถ้าหากมีการผลิตเป็นจำนวนมากกว่านี้ ราคาโดสวัคซีนก็น่าจะถูกลงมากขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตาม มีปัจจัยหนึ่งซึ่งอาจส่งผลต่อจำนวนการผลิตวัคซีนของบริษัทมอร์เดอน่า คือ โครงการ Covax ซึ่งเป็นโครงการของสหประชาชาติที่รับผิดชอบด้านการแจกจ่ายวัคซีนให้กับทุกประเทศ รวมไปถึงประเทศที่มีรายได้ต่ำอย่างทั่วถึง ถ้าหากยึดเอาราคาตามที่บริษัทมอเดอร์น่าได้ประกาศเอาไว้เบื้องต้น ก็มีความเป็นไปได้ที่โครงการ Covax จะจำกัดการสั่งวัคซีนของบริษัทมอร์เดอน่าเอาไว้ เนื่องจากวัคซีนนั้นมีราคาที่สูงเกินไปสำหรับการแจกจ่ายบางประเทศ
ส่วนความคืบหน้าเรื่องจำนวนวัคซีน ทางบริษัทมอร์เดอน่า ได้ประเมินว่าก่อนสิ้นปี 2563 บริษัทจะมีความพร้อมในการส่งวัคซีนจำนวนกว่า 20 ล้านโดสไปทั่วสหรัฐฯ และจะผลิตวัคซีนให้ได้ประมาณ 500-1,000 ล้านโดส เพื่อจะส่งไปยังทั่วโลกภายในปี 2564
ณ เวลานี้ มีรายงานว่านอกเหนือจากการทำสัญญาการส่งมอบวัคซีนกับสหรัฐฯจำนวนกว่า 100 ล้านโดสแล้ว ทางประเทศแคนาดา ได้สั่งวัคซีนจากบริษัทมอร์เดอน่าอีกจำนวน 56 ล้านโดส ประเทศอังกฤษได้สั่งอีกจำนวน 50 ล้านโดส และประเทศสวิตเซอร์แลนด์ก็ได้สั่งวัคซีนอีกกว่าจำนวนทั้งสิ้น 4.5 ล้านโดส
@ บริษัทไฟเซอร์และบริษัทไบโอเอ็นเท็ค
เมื่อประมาณ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา บริษัทไฟเซอร์และบริษัทไบโอเอ็นเท็ค ได้ออกมาเปิดเผยว่าวัคซีนของพวกเขา สามารถป้องกันไวรัสโควิด-19 ได้ 90 เปอร์เซ็นต์ โดยจะต้องฉีด 2 เข็มในระยะเวลา 21 วัน
แต่สิ่งที่ทำให้วัคซีนของไฟเซอร์นั้น เป็นปัญหายิ่งกว่าวัคซีนจากบริษัทมอร์เดอน่า คือ จะต้องเก็บรักษาที่อุณหภูมิ – 70 องศาเซลเซียส และจะต้องใช้ที่กักเก็บวัคซีนรวมไปถึงการขนย้ายแบบพิเศษ นี่จึงกลายเป็นอุปสรรคที่สำคัญสำหรับบางประเทศในประเด็นเรื่องของการแจกจ่ายวัคซีนของบริษัทไฟเซอร์
โดยวัคซีนจะสามารถเก็บไว้ในตู้เย็นปกติได้เป็นระยะเวลาไม่เกิน 5 วันเท่านั้น
ขณะที่ บริษัทไฟเซอร์และบริษัทไบโอเอ็นเท็ค ได้เปิดเผยถึงแผนการแจกวัคซีนเอาไว้ว่า พวกเขาจะบรรจุวัคซีนในกล่องเก็บแบบพิเศษซึ่งมีขนาดเท่ากับกระเป๋าถือ โดยจะมีกระบวนการบรรจุวัคซีนในศูนย์แจกจ่ายของบริษัทซึ่งตั้งอยู่ ณ เมืองคาลามาซู รัฐมิชิแกน และเมืองปูร์ส ประเทศเบลเยียม ก่อนที่จะนำส่งวัคซีนไปยังสนามบินที่ใกล้ที่สุด
บริษัทคาดว่า ในหนึ่งวันน่าจะสามารถจัดส่งวัคซีนไปยังสนามบินได้เป็นจำนวนทั้งสิ้น 24 รถบรรทุก หรือคิดเป็นจำนวน 7.6 ล้านโดสต่อวัน
และเมื่อวันที่ 17 พ.ย.ที่ผ่านมา บริษัทไฟเซอร์ ยังได้เริ่มโปรแกรมฝึกฝนการขนส่งวัคซีนในรัฐโรดไอแลนด์ รัฐนิวเม็กซิโก และรัฐเทนเนสซี่
โดยบริษัทไฟเซอร์ ระบุว่า โปรแกรมดังกล่าวนั้นก็เพื่อจะรองรับกับความท้าทายในการจัดส่งวัคซีน ซึ่งมีเงื่อนไขสำคัญว่าต้องถูกจัดเก็บภายใต้อุณหภูมิที่เย็นจัด
สำหรับราคานั้น บริษัทชี้แจงว่าจะอยู่ที่โดสละ 20 ดอลลาร์สหรัฐฯ (605 บาท) ซึ่งถูกกว่าของบริษัทมอร์เดอน่า
ส่วนการสั่งซื้อวัคซีนกับบริษัทไฟเซอร์นั้น เมื่อวันที่ 11 พ.ย.ที่ผ่านมา มีรายงานว่าสหภาพยุโรป(อียู)ได้บรรลุข้อตกลงสั่งซื้อวัคซีนจำนวนทั้งสิ้น 300 ล้านโดส ขณะที่ประเทศญี่ปุ่นได้สั่งวัคซีนจากบริษัทไฟเซอร์จำนวน 120 ล้านโดส และสหรัฐฯก็ได้สั่งวัคซีนอีกจำนวนทั้งสิ้น 100 ล้านโดส
ขณะที่ประเทศอังกฤษ ประเทศออสเตรเลีย และประเทศชิลี ก็ได้สั่งวัคซีนจากบริษัทไฟเซอร์คิดเป็นจำนวนประเทศละ 10 ล้านโดส
@ บริษัทแอสตร้าเซนเนก้าร่วมมือกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด
มีรายงานว่าข้อมูลสุดท้ายจากบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า ยืนยันว่า วัคซีนจะสามารถใช้งานได้ก่อนสิ้นปี 2563 โดยเมื่อปลายเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา บริษัทได้เปิดเผยว่าวัคซีนของบริษัทนั้นสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ในระดับผู้ใหญ่และในวัยรุ่นในระดับเดียวกัน ขณะที่ในกลุ่มผู้สูงอายุจะมีการกระตุ้นภูมิคุ้มกันที่น้อยกว่า
ทั้งนี้ ในช่วงต้นเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา ทางบริษัทและมหาวิทยาลัย ได้ออกมาระบุว่า ที่ผ่านมาได้มีการเก็บรักษาวัคซีนแช่แข็งเอาไว้ในตู้เก็บขนาดใหญ่ และคาดว่าหลังจากนี้ ในช่วงที่วัคซีนใกล้จะได้รับการอนุมัติ จะมีการใส่สารผสมชนิดสุดท้ายลงไปเพื่อจะทำให้สามารถเก็บรักษาวัคซีนไว้ในตู้เย็นธรรมดาได้
สำหรับข้อตกลงการสั่งซื้อวัคซีนนั้น ณ เวลานี้มีรายงานว่าประเทศสหรัฐฯและประเทศอินเดียได้มีข้อตกลงว่าจะสั่งซื้อวัคซีนจากบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าเป็นจำนวนทั้งสิ้นประเทศละ 500 ล้านโดส ขณะที่อียูก็ได้บรรลุข้อตกลงที่จะสั่งวัคซีนอีกจำนวนทั้งสิ้น 400 ล้านโดส และโครงการ Covax ก็ได้สั่งวัคซีนจากบริษัทไปแล้ว 300 ล้านโดส
ขณะที่ประเทศอังกฤษ ประเทศอินโดนีเซีย ประเทศบราซิล และกลุ่มประเทศละตินอเมริกาซึ่งไม่รวมประเทศบราซิล ก็ได้สั่งวัคซีนไปแล้วประเทศละ 100 ล้านโดส
ส่วนที่ประเทศไทย บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตยาชีววัตถุผ่านเทคโนโลยีชั้นสูงของประเทศไทยก็ได้มีข้อตกลงเช่นกันว่าจะร่วมผลิตวัคซีนกับทางบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า โดยการผลิตดังกล่าวนั้นมีรายงานว่าจะเป็นการผลิตให้กับโครงการ Covax เพื่อที่จะใช้ในการกระจายวัคซีนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ต่อไป
ล่าสุดมีรายงานว่าเมื่อวันที่ 17 พ.ย.ที่ผ่านมานั้น ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ของไทย ได้เห็นชอบงบประมาณ 6,049 ล้านบาทเศษ จากงบกลางรายการสำรองจ่ายในกรณีฉุกเฉินและจำเป็นปี 2564 เพื่อให้กระทรวงสาธารณสุขไปทำสัญญาในการจองวัคซีนโควิด-19 กับบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าแล้วเป็นจำนวนทั้งสิ้น 26 ล้านโดส
สำหรับรายละเอียดอื่นๆเกี่ยวกับวัคซีนนั้น ทางบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าได้เปิดเผยว่า วัคซีนนั้นจำเป็นที่จะต้องมีการฉีดเป็นจำนวน 2 โดส โดยราคาต่อโดสวัคซีนนั้นจะอยู่ที่ 3-4 ดอลลาร์สหรัฐฯ (90-120 บาท) โดยบริษัทฯ ยืนยันว่า จะดำเนินการขนส่งวัคซีนด้วยราคาที่ไม่แสวงหาผลกำไร ไม่ว่าจะจัดส่งไปยังสถานที่ใดบนโลกก็ตาม
“ตราบใดที่คำสั่งซื้อนั้นจะมีขึ้นในช่วงไม่กี่สัปดาห์และไม่กี่เดือนหลังจากนี้”
โดย องค์การแพทย์ไร้พรมแดน (Médecins Sans Frontières) ได้เปิดเผยข้อมูลว่าแม้ว่าบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าจะมีข้อผูกมัดกับทางมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดว่าจะไม่แสวงหาผลกำไรจากวัคซีนในช่วงโรคระบาด แต่บริษัทก็ได้ให้อำนาจตัวเองเช่นกันในการคิดราคาวัคซีนที่แพงขึ้นในช่วงเดือน ก.ค. 2564
ขณะที่นายปาสคาล โซริออทประธานผู้บริหารบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า ได้กล่าวยืนยันเมื่อวันที่ 5 พ.ย.ว่า บริษัทจะดำเนินการพัฒนาวัคซีนเพื่อตอบสนองต่อสภาวะฉุกเฉินด้านสุขภาพทั่วโลกโดยไม่หวังผลกำไร และหวังผลทางการค้า ซึ่งข้อตกลงทางด้านวัคซีนที่มีกับบริษัท ณ เวลานี้จะเป็นไปตามหลักการเดิมทั้งหมด
@ บริษัทจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน
บริษัทจอห์นสันแอนด์จอห์นสันของสหรัฐฯ ได้พัฒนาวัคซีนซึ่งสามารถฉีดเพียงแค่โดสเดียว โดยเป็นวัคซีนจากเทคโนโลยีการพัฒนาและผลิตอะดิโนไวรัสเพื่อเป็นตัวนำพายีนส์ ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวนั้นเป็นเทคโนโลยีเดียวกันกับการผลิตวัคซีนเพื่อต่อต้านไวรัสอีโบลา
โดย ณ เวลานี้ มีการทดลองวัคซีนดังกล่าวกับอาสาสมัครจำนวนกว่า 60,000 ราย ในช่วงเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา แต่แม้ว่าการทดลองของบริษัทจะเป็นการฉีดวัคซีนเข็มเดียว ทางบริษัทจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ก็ได้บรรลุข้อตกลงเฉพาะกับรัฐบาลอังกฤษในการแยกการทดลองเป็นการฉีด 2 เข็ม ในขั้นตอนทดลองการรักษา ด้วย
ทั้งนี้ บริษัทจอห์นสันแอนด์จอห์นสันได้รายงานผลการทดลองการฉีดวัคซีนเพียงเข็มเดียวว่า ออกมาในแง่บวก และมีการคาดการณ์ว่าการแจกจ่ายวัคซีนของบริษัท นั้นจะมีความได้เปรียบเหนือกว่าวัคซีนของบริษัทอื่นๆที่ต้องใช้จำนวนวัคซีนถึง 2 โดสในการฉีด
โดยวัคซีนของบริษัทนั้น สามารถกักเก็บด้วยตู้เย็นมาตรฐาน และคาดว่าจะมีราคาวัคซีนอยู่ที่โดสละ 10 ดอลลาร์สหรัฐฯ (302 บาท)
ซึ่ง ณ เวลานี้ อียูได้สั่งวัคซีนจากบริษัทจอห์นสันแอนด์จอห์นสันไปแล้วทั้งสิ้น 200 ล้านโดส ขณะที่สหรัฐฯ ก็ได้ทำสัญญาจัดซื้อวัคซีนไปแล้ว 100 ล้านโดส ประเทศแคนาดาได้ทำสัญญาจัดซื้อไปแล้ว 38 ล้านโดส และประเทศอังกฤษก็ได้ทำสัญญาจัดซื้อไปแล้ว 30 ล้านโดส
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage