“...แม้ว่าการตั้งจุดตรวจจุดสกัดของเจ้าพนักงานตำรวจชุดดังกล่าวจะดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมายก็ตาม แต่เมื่อนาย A มีเหตุอันควรทำให้เกิดความสงสัยว่า จุดตรวจจุดสกัดที่ตั้งขึ้นมานี้ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ย่อมมีสิทธิเข้าไปสอบถามเจ้าพนักงานตำรวจที่ตั้งจุดตรวจดังกล่าว เพื่อค้นหาความจริง พร้อมกับถ่ายบันทึกภาพวีดีโอสถานที่เกิดเหตุเพื่อเก็บเป็นพยานหลักฐานได้ และกรณีจะถือว่านาย A มีเจตนาเข้าไปรบกวนขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงานตำรวจในขณะนั้นหาได้ไม่…”
................................
ปฏิเสธไม่ได้ว่า การตั้งด่านของตำรวจไทย ถูกตั้งคำถามมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะพฤติกรรมความไม่ชอบมาพากลของเจ้าหน้าที่บางราย ทำให้เกิดประชาชนจำนวนไม่น้อยเกิดความเบื่อหน่ายเวลาต้องขับรถผ่านด่านตรวจของตำรวจ แม้จะอ้างเหตุผลเรื่องความมั่นคง หรือเกี่ยวกับความปลอดภัยก็ตาม
ที่ผ่านมามีประชาชนหลายรายพยายามถ่ายภาพการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจเวลาตั้งด่าน แต่มักถูกห้าม หรือถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจอ้างว่าเป็นการขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่?
แต่คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 5 เมื่อเดือน ก.ย. 2563 ที่ผ่านมา ระบุชัดเจนแล้วว่า ต่อจากนี้ไปประชาชนสามารถถ่ายภาพการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจเวลาตั้งด่านตรวจได้แล้ว
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สรุปคำพิพากษาดังกล่าว ให้สาธารณชนรับทราบ ดังนี้
เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2563 ศาลอุทธรณ์ภาค 5 อ่านคำพิพากษาคดีที่ พนักงานอัยการคดีศาลแขวงเชียงราย เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นาย A (นามสมมติ) เป็นจำเลย กรณีเมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2562 ขณะที่เจ้าพนักงานตำรวจประจำ สภ.เมืองเชียงราย กับพวก ปฏิบัติหน้าที่ตั้งด่านตรวจจุดสกัดเพื่อป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดตามกฎหมาย บริเวณทุ่มพญาหมี ต.รอบเวียง อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย นาย A ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ถ่ายภาพเจ้าพนักงานป้าย และอุปกรณ์ในการปฏิบัติหน้าที่บริเวณจุดตรวจจุดสกัดในระยะใกล้ชิด ทำให้เจ้าพนักงานไม่สะดวกในการปฏิบัติหน้าที่ตรวจค้นบุคคลหรือยานพาหนะที่แล่นผ่านจุดตรวจจุดสกัด โดยเจ้าพนักงานได้แจ้งให้นาย A หยุดการกระทำดังกล่าว แต่นาย A ไม่ยอมหยุด อันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138, 397 เบื้องต้นนาย A ให้การปฏิเสธ
คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า นาย A มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 397 วรรคสอง ปรับ 5,000 บาท ส่วนข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก นาย A อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ตรวจสำนวนประชุมปรึกษากันแล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยและอุทธรณ์ของนาย A ว่า การกระทำของนาย A เป็นความผิดฐานกระทำการใด ๆ ต่อผู้อื่นอันเป็นการเดือดร้อนรำคาญในที่สาธารณสถาน ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นหรือไม่
ศาลเห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 397 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ผู้ใดกระทำด้วยประการใด ๆ ต่อผู้อื่น อันเป็นการรังแก ข่มเหง คุกคามหรือกระทำให้ได้รับความอับอายหรือเดือดร้อนรำคาญ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5 พันบาท” คำว่า กระทำให้ได้รับความเดือดร้อนรำคาญตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายดังกล่าว จะต้องพิจารณาจากความรู้สึกของวิญญูชนทั่วไปมาเป็นหลักในการพิจารณาว่า พฤติการณ์ที่กระทำลงไปนั้นถึงขั้นทำให้ผู้อื่นได้รับความเดือดร้อนรำคาญหรือไม่ เพียงใด จะถือเอาความรู้สึกของผู้หนึ่งผู้ใดแต่เพียงอย่างเดียวหาได้ไม่
เมื่อข้อเท็จจริงฟังยุติว่า ขณะเกิดเหตุเจ้าพนักงานตำรวจตั้งจุดตรวจจุดสกัด และในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่นาย A ถือโทรศัพท์เคลื่อนที่เข้าไปถ่ายรูปเป็นภาพวีดีโอในบริเวณนั้น พร้อมทั้งสอบถามเจ้าพนักงานตำรวจเกี่ยวกับการตั้งจุดตรวจจุดสกัดว่า ตั้งขึ้นมาโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ แสดงว่าขณะนั้นนาย A เข้าใจว่าพนักงานตำรวจตั้งจุดตรวจจุดสกัดดังกล่าวมิชอบ เพราะไม่เคยปรากฏว่าเคยมีการตั้งจุดตรวจจุดสกัดตรงบริเวณที่เกิดเหตุมาก่อน นาย A เพิ่งเคยเห็นเป็นครั้งแรก และอยู่ใกล้บ้านพักของนาย A และเป็นบริเวณสามแยก เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ จึงเข้าไปสอบถามและถ่ายคลิปไว้
ดังนั้น แม้ว่าการตั้งจุดตรวจจุดสกัดของเจ้าพนักงานตำรวจชุดดังกล่าวจะดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมายก็ตาม แต่เมื่อนาย A มีเหตุอันควรทำให้เกิดความสงสัยว่า จุดตรวจจุดสกัดที่ตั้งขึ้นมานี้ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ย่อมมีสิทธิเข้าไปสอบถามเจ้าพนักงานตำรวจที่ตั้งจุดตรวจดังกล่าว เพื่อค้นหาความจริง พร้อมกับถ่ายบันทึกภาพวีดีโอสถานที่เกิดเหตุเพื่อเก็บเป็นพยานหลักฐานได้ และกรณีจะถือว่านาย A มีเจตนาเข้าไปรบกวนขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงานตำรวจในขณะนั้นหาได้ไม่ เพราะเจ้าพนักงานตำรวจยังสามารถปฏิบัติหน้าที่ตรวจรถที่ผ่านจุดนั้นไปมาได้ตามปกติ ในระหว่างที่นาย A ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ถ่ายภาพอยู่ในบริเวณดังกล่าว
อีกทั้งเมื่อพิจารณาถึงบริเวณสถานที่เกิดเหตุซึ่งเป็นถนนสามแยก นาย A คงไม่กล้าเข้าไปยืนถ่ายภาพกลางถนนขณะที่มีรถแล่นผ่านมา เพราะอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุไม่ปลอดภัยแก่ตัวเองได้ นอกจากนี้ในทางนำสืบของโจทก์ ไม่ปรากฎว่าระหว่างที่เจ้าพนักงานตำรวจทำการตั้งจุดตรวจดังกล่าว มีกฎระเบียบข้อบังคับห้ามมิให้บุคคลอื่นถ่ายภาพบริเวณสถานที่นั้นไว้แต่อย่างใด ยิ่งไปกว่านั้นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ได้ออกหนังสือตามบันทึกข้อความ กำชับมาตรการในการตั้งด่านตรวจ จุดตรวจ และจุดสกัดของเจ้าพนักงานตำรวจให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีมาตรฐานอย่างเป็นระบบ สร้างความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์ที่ดีในการใช้กฎหมายเกิดขึ้นแก่ประชาชนโดยทั่วไป และผู้ใช้รถในถนน
ดังนั้นการที่นาย A เข้าไปถ่ายวีดีโอในการตั้งจุดตรวจจุดสกัดดังกล่าว จึงหาใช่เป็นการทำให้เจ้าพนักงานตำรวจชุดดังกล่าวตลอดจนผู้อื่นได้รับความเดือดร้อนรำคาญแต่ประการใดไม่ เพียงแต่อาจทำให้เจ้าพนักงานตำรวจชุดดังกล่าวเกิดความรู้สึกไม่ดีต่อนาย A เท่านั้น ส่วนที่เจ้าพนักงานตำรวจชุดดังกล่าวอ้างว่าไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ และไม่สามารถใช้สมาธิจดจ่ออยู่กับการตรวจสอบผู้ขับขี่ยานพาหนะที่สัญจรผ่านจุดดังกล่าวในขณะที่นาย A ทำการถ่ายภาพบบริเวณจุดตรวจดังกล่าวนั้น เป็นเพียงข้อกล่าวอ้างลอย ๆ เพื่อประสงค์จะดำเนินคดีแก่นาย A เท่านั้น
ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษนาย A มานั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของนาย A ฟังขึ้น พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 397 ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
โดยสรุปคือ ศาลอุทธรณ์ภาค 5 เห็นว่า ประชาชนมีสิทธิถ่ายภาพ วีดีโอ เพื่อเข้าไปสอบถาม หรือตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับการตั้งด่านตรวจหรือจุดสกัดของเจ้าพนักงานตำรวจได้ หากเห็นว่าอาจดำเนินการไปโดยไม่ชอบมาพากล ไม่ถือว่าเป็นการรบกวน หรือขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงานตำรวจแต่อย่างใด
เป็นอีกหนึ่งคำพิพากษาที่ส่งผลต่อการตรวจสอบการทำหน้าที่ของตำรวจให้โปร่งใสยิ่งขึ้นในอนาคต!
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage