"...นักวิจัยพบข้อมูลว่า ผู้ที่เคยเข้าไปรักษาตัวในโรงพยาบาลเนื่องจากติดไวรัสโควิด-19 จะมีความเสี่ยงที่จะต้องเข้ารับการตรวจทางจิตด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ยังพบข้อมูลความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของอาการโรคจิตเสื่อมในกลุ่มผู้ซึ่งฟื้นตัวจากไวรัสโควิด-19 ตามมาด้วย..."
...................................
สืบเนื่องจากปัญหาการระบาดของไวรัสโควิด-19หรือโคโรน่าไวรัส ที่ ณ เวลานี้มีผู้ติดเชื้อสะสมไปแล้วทั่วโลกกว่า 56.5 ล้านราย สร้างความเสียหายทั้งชีวิตและมูลค่าทางเศรษฐกิจเป็นจำนวนมหาศาล อย่างไรก็ตาม หลังจากการติดเชื้อผลกระทบไม่ได้เกิดเฉพาะกับทางร่างกายของผู้ติดเชื้อเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงสภาวะจิตใจของผู้ที่ติดเชื้อด้วย
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักข่าวสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติสหรัฐ (NPR) ได้เผยแพร่รายงานข่าวเกี่ยวกับผลกระทบทางจิตใจของผู้ที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มีรายละเอียดดังนี้
@ ผู้ป่วย 1 ใน 5 เสี่ยงภาวะป่วยทางจิต
ผลการวิจัยฉบับใหม่พบว่า เกือบ 1 ใน 5 ของผู้ที่ถูกวินิจฉัยว่าติดไวรัสโควิด 19 ถูกตรวจพบว่ามีอาการอันผิดปกติทางด้านจิตวิทยา อาทิ ความวิตกกังวล ความสะเทือนใจ หรือภาวะนอนไม่หลับ ซึ่งจะเกิดขึ้นเป็นระยะเวลาอย่างน้อยภายใน 3 เดือน หลังจากที่ถูกวินิจฉัยว่าติดโควิด 19
โดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ ได้ดำเนินการวิเคราะห์บันทึกคลื่นไฟฟ้าจากผู้ป่วยโควิด-19 ในสหรัฐอเมริกาจำนวนกว่า 62,000 ราย และเปรียบเทียบกับผู้ป่วยอาการอื่นๆที่เกิดขึ้นในรอบปี อาทิ ไข้หวัดใหญ่ ภาวะนิ่วในไต หรือภาวะกระดูกหัก พบข้อมูลเพิ่มเติมว่าผู้ติดโควิด-19 ประมาณ 18.1 เปอร์เซ็นต์จะมีอาการความผิดปกติทางจิตเกิดขึ้นในระยะเวลาประมาณ 14-90 วัน และใน 5.8 เปอร์เซ็นต์พบว่ามีอาการทางจิตครั้งแรกนับตั้งแต่ที่วินิจฉัย
การศึกษาวิจัยยังพบว่า ความสัมพันธ์ระหว่างความเจ็บป่วยทางจิตกับการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 นั้นอยู่ในรูปแบบของการเคลื่อนขนานไปด้วยกัน
โดยในกลุ่มตัวอย่างพบว่าผู้ที่มีการอาการป่วยทางจิตจะมีโอกาสมากกว่าถึง 65 เปอร์เซ็นต์ที่จะถูกวินิจฉัยว่าป่วยด้วยไวรัสโควิด 19 ด้วยเช่นกัน
ซึ่ง ณ เวลานี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น โดยกระบวนการศึกษาและวิจัยนั้นได้พยายามควบคุมปัจจัยหลายประการรวมไปถึงความเสี่ยงทางกายภาพ และปัญหาทางจิตซึ่งกลุ่มตัวอย่างอาจจะมีอยู่ก่อนหน้านี้แล้วจากสภาวะความยากลำบากทางเศรษฐกิจและที่อยู่อาศัย
อย่างไรก็ตาม เมื่อพยายามที่จะควบคุมปัจจัยดังกล่าวแล้ว ก็ยังพบว่ามีความเสี่ยงซึ่งเชื่อมโยงกันระหว่างอาการป่วยโควิด-19 กับปัญหาทางจิตอยู่ดี และมีแนวโน้มว่าความเสี่ยงจากการติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งมีต่ออัตราการเสียชีวิตจากผู้ที่มีปัญหาทางจิตนั้นจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆด้วยเช่นกัน
@ ความเสี่ยงต่อโรคประสาทกังวลหลังการติดเชื้อโควิด 19
แต่ก็มีคำถามตามมาว่า จากเหตุระบาดทั่วโลกนั้นทำให้คนส่วนมากมีความวิตกกังวลมากกว่าปกติอยู่แล้วหรือไม่
ทางด้านของนายพอล แฮร์ริสัน นักวิจัยมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ที่ได้ศึกษาเรื่องนี้ กล่าวว่า ประเด็นประสาทวิทยาที่เกิดขึ้นกับผู้ติดเชื้อโควิด-19 นั้นมากกว่าความรู้สึกไม่สบายใจทั่วไปที่เราต้องรู้สึกเมื่ออยู่ในสภาวะโรคระบาดในช่วงเวลาที่ผ่านมา
โดยถ้าหากเปรียบเทียบในช่วงเวลาเดือน ม.ค.-ส.ค. ปีนี้ ซึ่งทุกคนต้องใช้ชีวิตอยู่กับสภาวะโรคระบาด แม้ว่าจะไม่ได้มีอาการป่วยหรือต้องไปพบแพทย์ก็ตาม
นักวิจัยพบข้อมูลว่า ผู้ที่เคยเข้าไปรักษาตัวในโรงพยาบาลเนื่องจากติดไวรัสโควิด-19 จะมีความเสี่ยงที่จะต้องเข้ารับการตรวจทางจิตด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ยังพบข้อมูลความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของอาการโรคจิตเสื่อมในกลุ่มผู้ซึ่งฟื้นตัวจากไวรัสโควิด-19 ตามมาด้วย
นายพอล ยังกล่าวว่า ณ เวลานี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าอะไรเป็นปัจจัยทำให้เกิดโรคเหล่านี้ แต่ก็มีความเป็นไปได้ว่าผู้ป่วยบางรายนั้นเริ่มจะมีอาการจิตเสื่อมอยู่ก่อนแล้ว และไม่ได้ถูกตรวจพบจนกระทั่งมีการวินิจฉัยอาการโควิด-19
อ้างอิงวิดีโอจากศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐอเมริกา
ขณะที่นางลอรี แพช นักจิตวิทยาบำบัด ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานฟรานซิสโกกล่าวว่า เธอเคยทำงานรักษาผู้ป่วยซึ่งอยู่ในคลินิกฟื้นตัวหลังจากที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 พบว่ามีคนไข้หลายรายมีความวิตกกังวล ความกลัว ความเศร้า และความรู้สึกโดดเดี่ยว
นางลอรี กล่าวด้วยว่า ผู้ป่วยซึ่งฟื้นตัวจากโควิด-19 บางราย ได้บรรยายถึงสภาวะนอนไม่หลับ ความเครียดและฝันร้าย รวมไปถึงการตื่นขึ้นมากลางดึกด้วยความรู้สึกว่าเหมือนกับยังอยู่ในโรงพยาบาลอีกครั้ง รวมไปถึงการตื่นขึ้นมาพร้อมกับความจำและแง่มุมที่เลวร้ายจากโควิด-19 ด้วยความรู้สึกว่าเราหายใจไม่ออกและกำลังจะตาย
คนไข้จำนวนมากได้ให้ข้อมูลว่าในช่วงเวลาระหว่างการป่วยและช่วยเวลาที่พักฟื้น ความคิดของพวกเขามักวนอยู่กับเรื่องความตาย พวกเขาเริ่มติดเกี่ยวกับการสูญเสียสมาชิกในครอบครัว คิดถึงสิ่งที่ยังไม่สามารถทำได้สำเร็จในช่วงชีวิตที่ผ่านมา และผู้ที่ป่วยโควิดเป็นระยะเวลานานเริ่มที่จะมีอาการจิตใจอ่อนล้าเป็นเวลานานและปัญหาด้านความทรงจำ
@ กำลังใจให้กับผู้ป่วย
แต่แม้จะมีผู้ป่วยบางรายถูกวินิจฉัยว่ามีอาการทางจิตในระยะเวลา 3 เดือน หลังจากถูกพบว่าติดโควิด-19 ผู้ป่วยโควิด-19 ส่วนมากกลับไม่พบอาการทางจิตดังกล่าวแต่อย่างใด
โดยนางลอรีกล่าวว่า ผู้ป่วยโควิดบางรายก็มีอาการตรงกันข้ามกัน ซึ่งสาเหตุหนึ่งก็เพราะว่าในช่วงเวลาซึ่งติดโควิด-19 นั้น จะเห็นได้ว่ามีเพื่อนหรือครอบครัวของผู้ป่วยได้เข้ามาให้กำลังใจในแบบที่ผู้ป่วยเองก็ไม่คาดคิดว่าจะได้รับมาก่อนเช่นกัน ซึ่งนั้นก็เป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกซาบซึ้งกับสิ่งที่ได้รับ ด้วยความรู้สึกเหมือนกับว่าได้ฉลิมฉลองที่กลับมามีชีวิตใหม่อีกครั้งหลังจากที่ผ่านพ้นการติดเชื้อไปแล้ว
นางลอรีกล่าวว่า สิ่งนี้มีนิยามศัพท์เรียกว่าการเติบโตขึ้นหลังจากเหตุการณ์เลวร้าย (post-traumatic growth) ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่ตรงกันข้ามกับความเครียดจากเหตุการณ์เลวร้ายหรือ PTSD
อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์การติดเชื้อไวรัสในปัจจุบัน เธอคาดว่าจะมีผู้ที่เป็น PTSD จากไวรัสโควิด-19 เข้าไปรักษามากขึ้นเรื่อยๆจนทำให้ล้นระบบของโรงพยาบาลในที่สุด ก่อนที่อาการเหล่านี้จะลดลงในเวลาต่อมา
“สิ่งที่ฉันได้บอกกับคนไข้เสมอก็คือว่าขั้นตอนการฟื้นตัวนั้นจะช้าและค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งนี่เป็นิ่งที่คนไข้โดยเฉพาะกลุ่มที่อยู่ในวัยหนุ่มสาวนั้นรู้สึกหงุดหงิด ไม่สบายใจอยู่เสมอ และจะยิ่งไม่สบายใจเข้าไปอีก ถ้าหากต้องรู้ว่าจะต้องอยู่กับอาการที่น่ากลัวเหล่านั้นไปอีกนาน พร้อมกับความรู้สึกว่าชีวิตของคนไข้นั้นจะไม่มีวันกลับไปสู่ภาวะปกติได้อีกครั้ง”นางลอรี่ระบุ
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage