"...ผลจากการฉีดวัคซีนนั้นอาจมีความแตกต่างกันในหมู่ประชากร และไวรัสก็มีการกลายพันธุ์อยู่ตลอดเวลา ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ที่กำลังระบาดในยุโรปก็เป็นคนละสายพันธุ์กับที่ได้มีการระบาดในเอเชีย แต่ทั้งนี้ทางบริษัทไฟเซอร์ ได้ออกมาระบุผลเกี่ยวกับการทดลองกับอาสาสมัครจำนวน 43,538 ราย ซึ่งมาจากทั้งประเทศสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆแล้วว่าวัคซีนนั้นสามารถใช้งานได้ถึง 90 เปอร์เซ็นต์ หรือก็คือสามารถใช้งานได้อย่างแพร่หลาย..."
.........
สืบเนื่องจากปรากฎเป็นข่าวว่า บริษัทไฟเซอร์ของสหรัฐอเมริกาได้ประกาศความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 หรือ ไวรัสโคโรน่า ที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคมากกว่า 90% ซึ่งจากกรณีดังกล่าวทำให้นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกได้ออกมาเปิดเผยว่า นี่ถือว่าเป็นก้าวที่สำคัญสู่ชัยชนะเหนือโรคระบาด
ล่าสุดสำนักข่าวเอเชียนิกเกอิของประเทศญี่ปุ่น ได้นำเสนอบทความชื่อ ว่า “วัคซีนของบริษัทไฟเซอร์มีความหมายอย่างไรกับเอเชียกับ 5 สิ่งที่ควรรู้ (What does Pfizer's vaccine mean for Asia? Five things to know)” มีสาระสำคัญที่น่าสนใจดังนี้
@ เรื่องนี้หมายความว่าอย่างไร?
โดยทั่วไปแล้ววัคซีนจะไปทำหน้าที่กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายในการตอบสนองต่อไวรัสและลดอาการที่เกิดจากไวรัส อาทิ ไข้หวัด มากกว่าการป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อขึ้น ซึ่งสำหรับรายละเอียดเกี่ยวกับวัคซีนของบริษัทไฟเซอร์ ณ เวลานี้นั้นถือว่ายังคงมีน้อยมาก แต่ผู้เชื่ยวชาญได้ออกมาเตือนสาธารณะแล้วว่าวัคซีนนั้นจะไม่สามารถกำจัดความเสี่ยงจากการติดเชื้อไวรัสให้หมดไปได้อย่างแน่นอน
@เทคโนโลยีอะไรที่ใช้ในวัคซีน?
วัคซีนที่พัฒนาโดยบริษัทไฟเซอร์ร่วมกับบริษัทไบออนเท็คของเยอรมนีนั้นจะใช้เทคโนโลยีพันธุวิศวกรรมยึดตาม messenger RNA (mRNA) ซึ่งจะมีส่วนในกระบวนการสร้างโปรตีนของดีเอ็นเอ โดยจะมีการฉีดคำสั่งทางพันธุกรรมผ่านวัคซีนเข้าสู่เซลล์ของร่างกายมนุษย์ เพื่อที่จะออกคำสั่งให้เซลล์นั้นสร้างสิ่งที่มีลักษณะคล้ายกับไวรัสโคโรน่า ซึ่งจะส่งผลกระตุ้นทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเตรียมตัวจัดการกับสิ่งแปลกปลอมที่จะมารุกราน
โดยปกติแล้ววัคซีนทั่วไปจะเป็นการฉีดไวรัสที่ถูกทำให้อ่อนแรงลงไปยังร่างกายของมนุษย์ วัคซีนที่ยึดโยงกับรหัสพันธุกรรมหรือที่เรียกกันว่า Gene-based vaccines จึงกลายเป็นวัคซีนประเภทหนึ่งที่มีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็วที่สุด แต่ว่าวัคซีนประเภทนี้ก็ยังไม่เคยถูกนำมาใช้กับมนุษย์แต่อย่างใด
mRNA ในดีเอ็นเอของมนุษย์ (อ้างอิงรูปภาพจาก https://www.polyplus-transfection.com/blog/mrna-synthesis/)
@ ผลจากการฉีดวัคซีนจะอยู่ได้นานเท่าไร
ผลจากการฉีดวัคซีนนั้นยังเป็นสิ่งที่จะต้องรอให้เห็นความชัดเจนต่อไปในอนาคต ซึ่งแม้ว่าวัคซีนจะทำให้เกิดปฏิกิริยาส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์ แต่ก็ต้องยอมรับว่าผลที่ได้จากการฉีดวัคซีนก็มีการเสื่อมสภาพไปตามเวลาเช่นกัน
โดยนายโค อิชิฮาชิ ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยการแพทย์จิชิของญี่ปุ่นกล่าวว่าสำหรับวัคซีนอย่างโรคไข้หวัดใหญ่จะมีประสิทธิภาพอยู่แค่ประมาณ 4 เดือนหรืออาจนานกว่านั้น แต่ก็เพียงพอแล้วที่จะใช้ในช่วงฤดูไข้หวัดซึ่งก็คือฤดูหนาวที่มักจะกินเวลาประมาณ 3 เดือน
แต่สำหรับไวรัสโคโรน่านั้นถือว่าเป็นปัญหา เพราะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ในตลอดปี การระบาดจะเกิดขึ้นได้ทุกพื้นที่ในโลก เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และมีโอกาสจะแพร่กระจายไปยังพื้นที่อื่นๆได้ทุกเมื่อ
นั้นหมายความว่าถ้าผลที่ได้จากการฉีดวัคซีนมีระยะเวลาที่สั้น ก็จะต้องมีการฉีดวัคซีนประมาณ 3-4 ครั้ง ในแต่ละคน ในรอบระยะเวลา 1 ปี
@ วัคซีนจะได้ผลกับทุกคนหรือไม่?
ผลจากการฉีดวัคซีนนั้นอาจมีความแตกต่างกันในหมู่ประชากร และไวรัสก็มีการกลายพันธุ์อยู่ตลอดเวลา ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ที่กำลังระบาดในยุโรปก็เป็นคนละสายพันธุ์กับที่ได้มีการระบาดในเอเชีย
แต่ทั้งนี้ทางบริษัทไฟเซอร์ ได้ออกมาระบุผลเกี่ยวกับการทดลองกับอาสาสมัครจำนวน 43,538 ราย ซึ่งมาจากทั้งประเทศสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆแล้วว่าวัคซีนนั้นสามารถใช้งานได้ถึง 90 เปอร์เซ็นต์ หรือก็คือสามารถใช้งานได้อย่างแพร่หลาย
ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า ถ้าหากยึดโยงตามข้อมูลดังกล่าวก็หมายความว่าในปัจจุบันยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้วัคซีนชนิดที่แตกต่างกันออกไปเพื่อรับมือกับไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ต่างๆ หรือก็คือวัคซีนแค่ชนิดเดียวตอนนี้ก็ยังเพียงพอกับการรับมือกับไวรัสโคโรน่านั่นเอง
อ้างอิงวิดีโอจากช่อง CBS
@ จะมีวัคซีนเพียงพอหรือไม่?
ในขั้นตอนกระบวนการผลิตและการเก็บรักษาโมเลกุล mRNA เพื่อที่จะใช้ในวัคซีนนั้นยังคงเป็นเรื่องที่ยาก ถ้าหากพบการปนเปื้อนเพียงนิดเดียวกระบวนการผลิต ก็อาจส่งผลทำให้สายการผลิตทั้งหมดต้องหยุดลงก็เป็นได้ และ ณ เวลานี้ก็ไม่มีอะไรที่จะรับประกันได้เลยว่า กระบวนการผลิตวัคซีนในอนาคตจะเป็นไปอย่างราบรื่นโดยตลอด
ประเทศญี่ปุ่น สหรัฐฯ และประเทศอังกฤษ ณ เวลานี้เองได้ทำข้อตกลงว่าจะรับวัคซีนจำนวน 10 ล้านโดสจากบริษัทไฟเซอร์แล้ว และขณะนี้ทางบริษัทก็กำลังอยู่ในช่วงพูดคุยข้อตกลงการส่งมอบวัคซีนกับทางฮ่องกง และฟิลิปปินส์
แต่แน่นอนว่าประเทศเหล่านี้ก็ย่อมที่จะมีการพูดคุยข้อตกลงกับบริษัทผลิตวัคซีนรายอื่นๆเอาไว้ด้วย เพื่อป้องกันว่าอาจจะเกิดปัญหากับสายการผลิตของทั้งวัคซีนจากบริษัทไฟเซอร์ และบริษัทอื่นๆ เพื่อทำให้มีความมั่นใจได้ว่า ประเทศเหล่านี้จะไม่ประสบปัญหาการขาดช่วงของทรัพยากรวัคซีนอย่างแน่นอน
ซึ่งบริษัทไฟเซอร์เพียงแค่บริษัทเดียวคงไม่มีความสามารถพอที่จะผลิตวัคซีนให้เพียงพอกับความต้องการของทั้งโลก ดังนั้น บริษัทผลิตวัคซีนแห่งอื่นๆ ที่กำลังพัฒนาวัคซีนเหมือนกันก็จะเพิ่มกำลังการผลิตที่มากขึ้น และตัวเลือกที่มากขึ้นสำหรับประเทศต่างๆ ตามมาด้วย
และแน่นอนว่าข่าวการพัฒนาวัคซีนของบริษัทไฟเซอร์นั้นจะช่วยเสริมสร้างมาตรฐานการผลิตวัคซีนให้กับบริษัทผลิตยาอื่นๆตามมาด้วย เพื่อที่จะทำให้ได้ฐานลูกค้า เพราะว่าความสำเร็จในระดับ 90 เปอร์เซ็นต์ ที่บริษัทไฟเซอร์ได้อ้างถึงนั้น ถือว่าเหนือกว่ามาตรฐานขององค์การอาหารและยาสหรัฐฯหรือ FDA ที่ระบุเอาไว้ว่าวัคซีนจะต้องมีประสิทธิภาพไม่ต่ำกว่า 50 เปอร์เซ็นต์จึงจะได้รับการรับรองจาก FDA
ยกตัวอย่างเช่น ทางด้านของนายซูนาโอะ มานาเบะ ประธานผู้บริหารของบริษัทไอดิจิ ซันเกียว ซึ่งเป็นบริษัทผลิตยาในประเทศญี่ปุ่น และกำลังเดินหน้าพัฒนาวัคซีน mRNA เพื่อทดลองในมนุษย์ในช่วงเดือน มี.ค. 2564 ก็ได้ออกมาระบุว่า บริษัทของเขาได้ตั้งเป้าหมายไว้เช่นกันว่า จะต้องทำวัคซีนให้ได้ตามมาตรฐานที่บริษัทไฟเซอร์ได้ทำเอาไว้
หรืออย่างเช่นกับกรณีของประเทศรัสเซียและประเทศจีน ซึ่งแม้จะเริ่มการอนุมัติการใช้วัคซีนอย่างจำกัดในประเทศของตัวเองแล้ว แต่ประเทศจีนก็ยังคงต้องการจะเผยแพร่อิทธิพลเข้ามาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผ่านโครงการความร่วมมือต่างๆ โดยเฉพาะการแจกวัคซีน
ความท้าทายใหม่ในประเด็นเรื่องวัคซีนของบริษัทจีน คือ ความจำเป็นที่จะต้องผลิตวัคซีนเพื่อให้ได้มีคุณภาพในระดับสูงเท่ากับของบริษัทจากสหรัฐฯด้วยเช่นกัน ถึงจะทำให้สามารถชิงสัดส่วนลูกค้าในประเทศเหล่านี้มาได้
เรียบเรียงจาก:https://asia.nikkei.com/Spotlight/Coronavirus/What-does-Pfizer-s-vaccine-mean-for-Asia-Five-things-to-know
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage