"...การป้องปรามทุจริตภาครัฐ พบว่า ประชาชนขาดความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม การทำสำนวนคดีไม่เป็นกลาง ไม่โปร่งใส และไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ร้องเรียน ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ควรแสดงถึงความโปร่งใสในกระบวนการยุติธรรมอย่างเร่งด่วน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน โดยเฉพาะกระบวนการยุติธรรมที่ไม่สามารถลงโทษคนผิดที่มีอำนาจในสังคมไทย ซึ่งส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและเสถียรภาพของรัฐบาลในระยะยาว..."
ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 3 พ.ย.2563 คณะกรรมการประชาสัมพันธ์แห่งชาติ (กปช.) ที่มีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้จัดทำรายงานผลการดำเนินการประจำปี 2563 ให้ ครม.ได้รับทราบ
โดย กปช.รายงานว่า คณะอนุกรรมการทบทวนนโยบายและแผนการประชาสัมพันธ์แห่งชาติ ฉบับที่ 5 (พ.ศ.2559 – 2564) ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ประเมินผลการรับรู้ข้อมูลข่าวสารและสำรวจความเห็นประชาชนในภาพรวมของประเทศเกี่ยวกับนโยบายสำคัญของรัฐบาล รวม 12 เรื่อง
สำหรับการสำรวจความเห็นครั้งนี้ ได้ใช้วิธีสำรวจผ่านสื่อสังคมออนไลน์ และแบบสอบถามแบบสั้น รวมทั้งประเมินการรับรู้ผ่านสื่อวิทยุกระจายเสียง สื่อวิทยุโทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ และสื่ออื่นๆ โดยร่วมกับที่ปรึกษาจากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (ศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล)
อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าสนใจว่า หลายโครงการของรัฐบาลอยู่ในการรับรู้ของประชาชน แต่ไม่เข้าใจและเข้าไม่ถึงการดำเนินนโยบายดังกล่าว ซึ่งที่ประชุม ครม.ได้รับทราบ และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รับข้อเสนอของประชาชนไปดำเนินการปรับปรุงต่อไป โดยประชาชนมีข้อเสนอต่อการพัฒนางานประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานภาครัฐที่น่าสนใจ ดังนี้
1.บัตรสวัสดิการแห่งรัฐและเบี้ยยังชีพ ประชาชนกลุ่มที่ได้รับสิทธิ์รับรู้และเห็นว่าเป็นโครงการที่ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนและลดค่าใช้จ่าย แต่คนส่วนใหญ่มีความเห็นเพิ่มเติมว่า สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ควรเน้นการประชาสัมพันธ์ถึงข้อดีของบัตรเชื่อมโยงกับเรื่องอื่นๆ เช่น 1.การใช้ฐานข้อมูลผู้ถือบัตรในการพัฒนาอาชีพ และแก้ปัญหาความยากจน 2.ควรนำเสนอตัวอย่างความสำเร็จที่เป็นรูปธรรม และ 3.อธิบายให้ชัดเจนภายใต้แบรนด์ของหน่วยงานรัฐเพื่อไม่ให้เกิดความสับสนในการใช้สิทธิ์และลดกระแสเชิงลบจากประชาชน
2.การจ้างงานผู้สูงอายุ ประชาชนเห็นว่าภาคเอกชนเริ่มมีการประชาสัมพันธ์เรื่องนี้แต่ยังเข้าถึงประชาชนไม่มาก ดังนั้น สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน ควรประชาสัมพันธ์ให้เห็นถึงความสำคัญเรื่องนี้ในแง่มุมต่างๆ เช่น ลดภาระค่าใช้จ่ายของคนวัยทำงาน , สร้างคุณค่าและลดปัญหาภาวะซึมเศร้าให้กับผู้สูงอายุ นอกจากนี้ กรมการจัดหางาน ควรเพิ่มเติมวิธีการสมัครงานโดยเปิดโอกาสให้คนในครอบครัวสมัครงานแทนผู้สูงอายุได้
3.ลดความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงบริการสุขภาพ คนยังรับรู้ค่อนข้างน้อย และสับสนระหว่างโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคของรัฐบาลชุดที่ผ่านมา ดังนั้น สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ควรดำเนินการดังนี้ 1.ประชาสัมพันธ์ประเภทของบริการสุขภาพ สิทธิประโยชน์แต่ละประเภทให้ประชาชนได้รับทราบ 2.ขยายพื้นที่บริการคลินิกหมอครอบครัว ให้ครอบคลุมพื้นที่เขตเมืองและชนบททั่วประเทศ
4.บริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งและอุทกภัย พบว่าคนในเขตพื้นที่โครงการชลประทานและเกษตรกร รับรู้เกี่ยวกับการดำเนินการต่างๆ แต่ยังไม่ทราบถึงวิธีการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน จึงเสนอให้ กรมชลประทาน เร่งเผยแพร่ผลงานการบริหารจัดการน้ำให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย และขอให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เร่งสื่อสารถึงมาตรการหรือวิธีแก้ปัญหาภัยแล้งและอุทกภัยในระยะยาว
5.การทำประมงตามมาตรฐาน IUU ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พบว่า ส่วนใหญ่สนใจเรื่องการออกกฎหมายควบคุมจำนวนวันการทำประมง 240 วันต่อปี พร้อมเสนอให้ กรมประมง เร่งสื่อสารเชิงรุกโดยพิจารณาใช้ช่องทางสื่อสารออนไลน์โดยเฉพาะทวิตเตอร์ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมกับประชาชน เพื่อลดกระแสเชิงลบในประเด็นที่รัฐออกกฎหมายที่อาจกระทบต่อการประเกอบอาชีพของชาวประมงไทย
6.ศูนย์ดำรงธรรม ส่วนใหญ่รับรู้เกี่ยวกับศูนย์ดังกล่าว แต่ไม่เข้าใจถึงบทบาทหน้าที่ ดังนั้น สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ควรดำเนินการดังนี้ 1.สื่อสารถึงผลสำเร็จในการช่วยเหลือประชาชน 2.เพิ่มช่องทางการเข้าถึงการร้องเรียนให้มากขึ้น และ 3.เก็บรักษาข้อร้องเรียนที่มีข้อมูลเป็นความลับจากผู้ร้องทุกข์
7.ยุติธรรมสร้างสุข พบว่า คนส่วนใหญ่รับรู้และเข้าใจค่อนข้างน้อย ส่วนคนที่รับรู้ส่วนใหญ่ไม่รู้ช่องทางการเข้าถึงบริการหรือขอความช่วยเหลือ ดังนั้น สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม ควรดำเนินการ 1.ประชาสัมพันธ์ความหมาย ความสำคัญ บทบาท ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น 2.ประชาสัมพันธ์ผลการดำเนินการที่ผ่านมา เพื่อทำให้ประชาชนเชื่อมั่นว่ากฎหมายเป็นสิ่งที่พึ่งพิงให้กับประชาชนได้
8.การป้องปรามทุจริตภาครัฐ พบว่า ประชาชนขาดความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม การทำสำนวนคดีไม่เป็นกลาง ไม่โปร่งใส และไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ร้องเรียน ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ควรดำเนินการ 1.แสดงถึงความโปร่งใสในกระบวนการยุติธรรมอย่างเร่งด่วน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน โดยเฉพาะกระบวนการยุติธรรมที่ไม่สามารถลงโทษคนผิดที่มีอำนาจในสังคมไทย ซึ่งส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและเสถียรภาพของรัฐบาลในระยะยาว 2.การรับเรื่องร้องทุกข์ควรเป็นความลับ เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่โดนข่มขู่จากอิทธิพลใดๆ
9.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) พบว่า คนในพื้นที่และนอกพื้นที่ส่วนใหญ่ไม่รับรู้และไม่เข้าใจเกี่ยวกับรายละเอียดโครงการ รวมถึงประเด็นที่เกี่ยวกับการจ้างงานในพื้นที่ ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ควรดำเนินการ 1.เน้นการสื่อสารในเนื้อหาที่ประชาชนจะได้รับ เช่น การจ้างงานในพื้นที่ ระบบเทคโนโลยีสื่อสาร และไม่ควรสื่อสารเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวกับนักลงทุนหรือผู้ประกอบการเพียงอย่างเดียว 2.แสดงผลงานเชิงเปรียบเทียบกับผลงานของหลายรัฐบาลที่ผ่านมา และ 3.จัดการกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัยเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน
10.เขตพัฒนาพิเศษภาคใต้ (เอสอีซี) พบว่า คนให้ความสนใจน้อยมาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ควรดำเนินการ 1.สื่อสารมุ่งให้ผู้ประกอบการมาลงทุน เน้นการใช้ทรัพยากรในพื้นที่และแหล่งท่องเที่ยวที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตคนในท้องถิ่น และ 2.ชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ในท้องถิ่นและผู้ประกอบการรายย่อยในพื้นที่จะได้รับ
11.เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน พบว่า เป็นการสื่อสารเพื่อแจ้งให้ทราบเท่านั้น จึงไม่เกิดแรงขับเคลื่อนหรือมีส่วนร่วมจากประชาชน ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ควรสื่อสารเส้นการสร้างโอกาส สร้างงานให้แก่ประชาชนในท้องถิ่น และประโยชน์ที่ผู้ประกอบการรายย่อยในพื้นที่จะได้รับ และ กรมการจัดหางาน ควรสื่อสารถึงประเภทและตำแหน่งงานที่เกิดจากการพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในแต่ละท้องถิ่น
12.เรื่องโรคติดเชื้อโควิด รัฐบาลมีการควบคุมการระบาดของโรคได้เป็นอย่างดี แต่ประชาชนมีความเห็นเพิ่มเติมว่า ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) ทำหน้าที่สื่อสารสถานการณ์ได้อย่างชัดเจน แต่ควรกำหนดหน่วยงานที่ทำหน้าที่ดูแลด้านเงินช่วยเหลือเยียวยาให้ชัดเจน เพื่อป้องกันความสับสน 2.กำหนดหน่วยงานให้ชัดเจนเพื่อทำหน้าที่คัดกรองข่าวสาร เพิ่มบทบาทการดูแลข่าวปลอม และ 3.เร่งสื่อสารการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ถือเป็นประเด็นสำคัญในการช่วยเหลือคนที่ได้รับผลกระทบ
ทั้งหมดเป็นความคิดเห็นของประชาชนที่สะท้อนถึงการสื่อสารของรัฐบาลแต่ละนโยบาย ซึ่ง ครม.มีมติรับทราบ และมอบหมายให้หน่วยงานที่รับผิดชอบนำไปปรับปรุงให้การสื่อสารมีประสิทธิภาพต่อไป
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage