...................................
บนความเคลื่อนไหวศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ในวันที่ 3 พ.ย. ตามเวลาในประเทศสหรัฐอเมริกา และคาดว่าจะได้รู้ผลกันอย่างเป็นทางการในวันที่ 4 พ.ย. ตามเวลาที่ประเทศไทยนั้น
ขณะนี้มีหลายฝ่ายเริ่มออกมาแสดงความเห็นกันอย่างร้อนแรงว่า ระหว่าง นายโจ ไบเดน ผู้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯจากพรรคเดโมแครต กับ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนปัจจุบัน
ใครจะได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯต่อไปอีก 4 ปี และจะส่งผลดี หรือผลเสียกับประเทศไทยมากกว่ากัน
โดยเมื่อเร็วๆ นี้ สำนักข่าว Diplomat ได้จัดทำรายงานวิเคราะห์ศึกการเลือกตั้งครั้งนี้ ระบุว่า ปัจจุบัน ข้อมูลจากผลโพลหลายสำนักในสหรัฐฯระบุว่านายไบเดนยังคงมีคะแนนนำนายทรัมป์ ทำให้ผู้นำในประเทศภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) มีความคาดหวังว่านโยบายของประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครตนั้นจะเป็นสิ่งที่ปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกากับอาเซียนได้ตลอดระยะเวลา 4 ปี หลังจากนี้
นายคีธ โลเวียร์ด นักวิเคราะห์สถานการณ์จากประเทศอินโดนีเซีย แสดงความเห็นว่า ชัยชนะของนายไบเดนนั้นเปรียบเสมือนกับการกลับมาของนโยบายของอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา แต่ก็คงต้องใช้เวลาในการจัดการกับกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯสักพักหนึ่ง จึงจะสามารถดำเนินนโยบายดังกล่าวได้
ซึ่งนโยบายในสมัยของนายโอบามาที่จะกลับมาอย่างแน่นอนนั้น ได้แก่ นโยบายด้านความร่วมมือทางการทหารกับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยเน้นไปที่ข้อผูกพันทางด้านความมั่นคงกับภูมิภาคอินโดแปซิฟิก และมีความเป็นไปได้ที่จะมีการฟื้นคืนนโยบายความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership: TPP)
โดยนโยบายดังกล่าวนั้นถือว่ากระทบต่อ 10 ชาติในภูมิภาคอาเซียนโดยตรง แต่ก็เป็นข้อดีที่สิบประเทศเหล่านี้นั้นไม่ต้องมารับความกดดันจากนโยบายการบริหารงานของนายทรัมป์
ยกตัวอย่างเช่นข้อตกลง TPP จะทำให้ 11 ประเทศที่มีอาณาเขตติดกับมหาสมุทรแปซิฟิกนั้นมีส่วนร่วมในข้อตกลงทางการค้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก คิดเป็นมูลค่า 40 เปอร์เซ็นต์ของเศรษฐกิจโลกทั้งหมด แต่ไม่รวมประเทศจีนและอินเดียในข้อตกลงดังกล่าว ซึ่งทำให้ทั้ง 2 ประเทศเกิดความไม่พอใจเป็นอย่างยิ่ง
ซึ่งที่ผ่านมานายทรัมป์ได้เซ็นยกเลิกข้อตกลง TPP ไปเมื่อช่วงปี 2560 หลังจากที่เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี
ขณะที่นายทอดด์ เอลเลียต นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงที่บริษัทให้คำปรึกษาคองคอร์ดในกรุงจาการ์ตา กล่าวว่า ที่ผ่านมานายทรัมป์ได้ให้ความสนใจน้อยมากกับสถานการณ์ในภูมิภาคอาเซียน แม้แต่กับประเทศซึ่งเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯมาอย่างยาวนาน ดังจะเห็นได้ว่านายทรัมป์แทบไม่เคยได้เข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนเลยตลอดระยะเวลการดำรงตำแหน่ง 4 ปีที่ผ่านมา
“มีข้อบ่งชี้อันเห็นได้ชัดเจนว่าหลายประเทศในอาเซียนเริ่มที่จะเหนื่อยกับการบริหารของทีมงานบริหารของประธานาธิบดีในชุดของนายทรัมป์ ที่มุ่งเน้นแต่นโยบายต่างประเทศซึ่งเอาแน่เอานอนไม่ได้” นายเอลเลียตกล่าว
ซึ่งหลังจากนี้ไม่ว่าใครจะเป็นประธานาธิบดีคนถัดไป ประเทศต่างๆในอาเซียนก็จะเริ่มรู้สึกถึงผลกระทบจากความเป็นคู่แข่งกันระหว่างจีนและสหรัฐฯที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
ส่วนนายกาวิน กรีนวูด นักวิเคราะห์จากบริษัท A2 Global Risk ซึ่งเป็นบริษัทให้คำปรึกษาด้านความเสี่ยงที่ตั้งอยู่ในเขตปกครองพิเศษฮ่องกง ได้กล่าวว่า อาเซียนนั้นถูกละเลยจากนายทรัมป์แทบจะตลอดระยะเวลาการบริหารในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา โดยการมีส่วนร่วมครั้งสำคัญของนายทรัมป์มีแค่ไม่กี่ครั้ง อาทิ การใช้สิงคโปร์เป็นที่พบปะหารือกับนายคิมจองอุน ผู้นำเกาหลีเหนือ
การหารือของนายโดนัล ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกากับนายคิม จอง อุน ผู้นำเกาหลีเหนือ (อ้างอิงรูปภาพจาก https://time.com/longform/donald-trump-kim-jong-un-photos/)
“การที่นายทรัมป์ได้ดำรงตำแหน่งเป็นสมัยที่ 2 ก็ยิ่งเป็นไปไม่ได้เลยที่ทีมบริหารของนายทรัมป์จะยกระดับการให้ความสำคัญกับภูมิภาคอาเซียนมากไปกว่านโยบายหลักของนายทรัมป์ที่มุ่งเน้นไปที่ภายในประเทศสหรัฐฯเพื่อที่จะแข่งขันกับประเทศจีน” นายกรีนวูดกล่าว
นายกรีนวูด ยังกล่าวต่อว่า เมื่อนายไบเด้นได้เป็นประธานาธิบดี ก็จะเป็นการฟื้นคืนการมีส่วนร่วมในภูมิภาคอาเซียนของสหรัฐฯในสัดส่วนที่สูง ผ่านช่องทางการใช้งานบุคลากรด้านการต่างประเทศที่เป็นมืออาชีพในกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ซึ่งที่ผ่านมานักการทูตเหล่านี้แทบจะไม่เคยเข้ามามีบทบาทเลยภายใต้นโยบายด้านการต่างประเทศต่างนายทรัมป์
“แต่ไม่ว่าใครจะชนะการเลือกตั้ง อาเซียนก็จะถูกมองจากทั่วทั้งแปซิฟิกว่าเป็นได้ทั้งพันธมิตรอันเหนียวแน่นและพร้อมที่จะสู้เพื่อตอบสนองต่อนโยบายของสหรัฐฯ หรือว่าจะเป็นภูมิภาคเพื่อที่จะตอบสนองต่อนโยบายของประเทศจีน” นายกรีนวูดกล่าว
การซ้อมรบทางทะเลระหว่างอาเซียนและสหรัฐฯในปี 2562 (อ้างอิงรูปภาพจาก https://www.pacom.mil/Media/News/News-Article-View/Article/1955521/successful-first-asean-us-maritime-exercise-comes-to-end/)
ขณะที่นาย Kamarulnizam Abdullah ศาสตราจารย์ด้านความมั่นคงแห่งชาติ มหาวิทยาลัยอูตารามาเลเซีย กล่าวว่า เขาเชื่อว่าไม่ว่าใครจะเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯคนใหม่ ก็ล้วนแล้วแต่ส่งผลกระทบในแง่ลบด้วยกันทั้งสิ้น
“ผมมองว่าตำแหน่งของสหรัฐฯในเอเชียนั้นถูกทำให้อ่อนแอลงภายใต้การบริหารงานของนายทรัมป์ ซึ่งถ้าเขาชนะการเลือกตั้งอีกครั้ง สหรัฐฯจะมีช่วงเวลาที่ยากลำบากในการเรียกความเคารพให้กลับคืนมาจากประเทศต่างๆทั่วทั้งเอเชีย โดยเฉพาะกับนโยบายต่างๆที่เอาแน่เอานอนไม่ได้เพื่อที่จะใช้ในการขับเคี่ยวกับประเทศจีน” นาย Kamarulnizam กล่าว
นาย Kamarulnizam กล่าวต่อว่า ภาษากายของนายทรัมป์เองก็เป็นปัญหา ทั้งถ้อยคำที่ตำหนิและต่อว่าผู้นำในพื้นที่ เนื้อหาคำพูดที่ต่อต้านศาสนาอิสลาม ก็ไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น และยิ่งไปกว่านั้น นายทรัมป์ยังได้กลายเป็นเสมือนภาระของประเทศอื่นๆในทวีปเอเชียไปแล้ว ในด้านความร่วมมือกันเพื่อที่จะหยุดยั้งการขยายอิทธิพลของประเทศจีนในภูมิภาค
นาย Kamarulnizam กล่าวว่า แม้ว่านายไบเดนจะเข้ามาเป็นประธานาธิบดี นโยบายการสกัดอิทธิพลของประเทศจีน ก็จะยังคงดำรงอยู่ภายใต้นโยบายเชิงยุทธศาสตร์ความร่วมมือกันในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก แต่ทั้งนี้ต้องอย่าลืมว่าประเทศในอาเซียนนั้นเคยประสบความยากลำบากมาแล้วในช่วงสงครามเย็น ดังนั้น นโยบายการต่างประเทศในรูปแบบความร่วมมือดังกล่าว ก็เปรียบเสมือนเป็นการบีบให้แต่ละประเทศในอาเซียนถูกบังคับให้ต้องเลือกว่าจะไปอยู่ข้างจีนหรือว่าข้างสหรัฐฯ
“ถ้านายไบเดนเข้ามาเป็นประธานาธิบดี เขาต้องคิดใหม่ถึงวิธีการที่จะทำให้ประเทศในเอเชียให้ความเคารพต่อสหรัฐฯ มากกว่านี้ ซึ่งอันที่จริงแล้วต้องยอมรับว่าภูมิภาคนี้มีความสบายใจที่จะทำงานร่วมกันกับประเทศจีนมากกว่า แม้ว่า ณ เวลานี้จะมีประเด็นเรื่องความขัดแย้งกันบ้างในเรื่องการครอบครองทะเลจีนใต้"
"คำถามก็คือว่านายไบเดนนั้นมีความเข้าใจทั้งแนวคิดและกลยุทธ์การจัดการกับภูมิภาคนี้มากน้อยเพียงใด” นาย Kamarulnizam ระบุ
เรียบเรียงจาก:https://thediplomat.com/2020/10/southeast-asia-braces-for-us-elections-and-a-possible-second-trump-term/
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่https://www.facebook.com/isranewsfanpage