“...จากการศึกษากระบวนการขอและการจัดสรรงบประมาณงบเงินอุดหนุน พบว่า ปัญหาการใช้ดุลพินิจของผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการทุจริตงบประมาณงบเงินอุดหนุน เนื่องจากกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงบประมาณ ได้ให้อำนาจในการจัดสรรงบประมาณอยู่กับหัวหน้าส่วนราชการ…”
...................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานแล้วว่า เมื่อวันที่ 28 ต.ค. 2563 คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบข้อเสนอแนะของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรณีการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับงบประมาณเงินอุดหนุนวัดของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.)
โดยเงื่อนปมในการทุจริตงบประมาณเงินอุดหนุนของ พศ. ประกอบด้วยเงิน 3 ประเภท ได้แก่ 1.งบอุดหนุนปฏิสังขรณ์วัดและการพัฒนาวัด 2.งบอุดหนุนการส่งเสริมเผยแผ่พระพุทธศาสนา และ 3.งบอุดหนุนการศึกษาพระปริยัติธรรม โดยเห็นว่า รูปแบบการทุจริต รวมทั้งข้อกฎหมายระเบียบและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณเงินอุดหนุนของวัดเปิดช่องและเอื้อให้เจ้าหน้าที่ของรัฐแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ และเจ้าอาวาสในฐานะผู้แทนของวัดตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ปี 2505 ไม่มีความรู้เพียงพอในการเบิกจ่ายเงินงบประมาณ ทำให้คนบางกลุ่มใช้วัดเป็นเครื่องมือในการจัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุนเพื่อแสวงหาประโยชน์ทำให้เกิดปัญหาและความเสี่ยงในการทุจริต โดย ป.ป.ช. ได้จัดทำ 5 แนวทางในการป้องกันการทุจริตเพื่อให้คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบ ตามที่เคยนำเสนอข่าวไปก่อนหน้านี้ (อ่านประกอบ : ครม.รับทราบข้อเสนอ ป.ป.ช.วาง 5 แนวทางป้องกันทุจริตเงินทอนวัด)
ขณะที่คดีความทางอาญานั้น มีหลายสำนวนที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีคำพิพากษาจำคุกบุคคลที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น อดีตผู้อำนวยการสำนักงาน พศ. หรือแม้แต่พระสงฆ์เองก็ตาม ยังมีอีกหลายสำนวนอยู่ระหว่างการไต่สวนของสำนักงาน ป.ป.ช. ด้วย
แต่หลายคนอาจยังไม่รู้ว่า ‘ใจกลางปัญหา’ สำคัญที่เป็นชนวนเหตุให้เกิดการทุจริต ‘เงินทอนวัด’ ที่ปรากฏเป็นข่าวโด่งดังในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา คือ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ?
อย่างไร ?
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สรุปบางห้วงบางตอนในมาตรการป้องกันการทุจริตเงินทอนวัดของสำนักงาน ป.ป.ช. ให้สาธารณชนรับทราบ ดังนี้
ประเด็นด้านกระบวนการขอและการจัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุน
จากการศึกษากระบวนการขอและการจัดสรรงบประมาณงบเงินอุดหนุน พบว่า ปัญหาการใช้ดุลพินิจของผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เป็นปัญหาสำคัญที่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการทุจริตงบประมาณงบเงินอุดหนุน เนื่องจากกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงบประมาณ ได้ให้อำนาจในการจัดสรรงบประมาณอยู่กับหัวหน้าส่วนราชการ
ทั้งนี้หลังจากได้รับงบประมาณมาแล้ว สำนักงาน พศ. จะมีการจัดสรรงบประมาณและคัดเลือกวัดที่จะได้รับเงินอุดหนุน โยดมีการกำหนดหลักเกณฑ์/วิธีการ ในการจัดสรรงบประมาณ และมีการแต่งตั้งคณะกรรมการ/คณะทำงาน ในการพิจารณาจัดสรรงบประมาณงบเงินอุดหนุน
อย่างไรก็ดีในขั้นตอนการจัดสรรงบประมาณ ผู้บริหารของสำนักงาน พศ. สามารถใช้ดุลพินิจคัดเลือกวัด และกำหนดรายชื่อของวัดที่ต้องการให้ได้รับการจัดสรรงบประมาณ โดยไม่ได้พิจารณาตามหลักเกณฑ์/วิธีการ และความจำเป็นที่เกิดขึ้นจริง และมีการจัดทำเอกสารเพื่ออ้างว่าเป็นคำขอมาจากวัด ทั้งนี้คณะกรรมการ/คณะทำงานในการพิจารณาจัดสรรงบประมาณ มีองค์ประกอบเฉพาะเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน พศ. จะคัดเลือกวัดตามรายชื่อที่ผู้บริหารเสนอ โดยมีการอ้างว่า มีคำขอจากวัดแล้ว
กระบวนการดังกล่าวพบประเด็นปัญหาว่า มีการพิจารณาจัดสรรให้วัดที่ไม่มีคำขอ หรือวัดที่ไม่มีความต้องการอย่างแท้จริง โดยพฤติการณ์ของขบวนการทุจริต มีการวางแผนและแบ่งหน้าที่กันกระทำความผิดเป็นขั้นเป็นตอน โดยจะมีกลุ่มบุคคลทำหน้าที่ติดต่อวัดต่าง ๆ แจ้งว่า จะมอบเงินอุดหนุนการบูรณปฏิสังขรณ์วัด และการพัฒนาวัด ให้แก่วัด แต่มีเงื่อนไขวัดวัดจะต้องมอบเงินกลับคืนเพื่อนำไปใช้ในกิจการของสำนักงาน พศ. ในการจัดสรรให้แก่วัดต่าง ๆ ต่อมากลุ่มบุคคลดังกล่าวจะนำรายชื่อวัดที่เชื่อตามคำกล่าวอ้างไปจัดทำเอกสารการอนุมัติเงินอุดหนุนให้แก่วัด โดยไม่มีคำขอรับเงินอุดหนุนของวัดประกอบการพิจารณาอนุมัติ ตามขั้นตอนและระเบียบของทางราชการ เมื่อสำนักงาน พศ. โอนเงินอุดหนุนเข้าบัญชีเงินฝากของวัดแล้ว กลุ่มบุคคลดังกล่าว จะแจ้งให้วัดโอนเงินหรือรับเงินกลับคืนมาแล้วนำไปใช้ประโยชน์ส่วนตัวโดยทุจริต
ในการพิจารณาคำขอเงินอุดหนุน พบข้อสังเกตว่า วงเงินงบประมาณยังขาดความรอบคอบในการพิจารณาจากคณะกรรมการพิจารณาจัดสรร โดยพบกรณีตัวอย่างในหลายวัดที่กระทำความผิด เมื่อพิจารณาแบบคำขอรับเงินอุดหนุนบูรณปฏิสังขรณ์วัด และการพัฒนาวัดของสำนักงาน พศ. พบว่า ไม่มีแบบการประมาณค่าใช้จ่ายแนบท้ายประกอบคำขอ เพียงแต่ให้ระบุจำนวนเงินงบประมาณที่ต้องขอรับการสนับสนุนเท่านั้น จำนวนเงินอาจไม่ตรงกับงบประมาณที่ต้องการตามความเป็นจริง เป็นช่องทางให้เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือผู้เกี่ยวข้องแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ
นอกจากนี้ข้อมูลจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ตรวจสอบการจัดสรรและการเบิกจ่ยาเงินอุดหนุนการบูรณปฏิสังขรณ์วัดและการพัฒนาวัด ประจำปี 2555-2558 ของสำนักงาน พศ. พบข้อสังเกตว่า หลักเกณฑ์ของสำนักงาน พศ. ว่าด้วยการขอและการจัดสรรการบูรณปฏิสังขรณ์วัด ที่ได้รับความเห็นชอบจากมติที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาหลักเกณฑ์และการจัดสรรการบูรณปฏิสังขรณ์วัด และการพัฒนาวัดทุกปี โดยระบุว่าเป็นหลักเกณฑ์ของปีงบประมาณใด สาระสำคัญที่กำหนดในหลักเกณฑ์ไม่มีความแตกต่างในแต่ละปี เว้นแต่หลักเกณฑ์ปี 2556-2558 ไม่ได้มีการกำหนดระดับคะแนนสำหรับลักษณะของวัดและเสนาสนะที่อยู่ในเกณฑ์พิจารณาให้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณไว้ หลักเกณฑ์ดังกล่าวไม่ได้จัดทำเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างเป็นทางการ เพื่อเป็นกฎระเบียบสำหรับนำไปใช้ในการปฏิบัติแต่อย่างใด และไม่ได้กำหนดกระบวนการติดตามประเมินผลการรับเงินอุดหนุนไว้ด้วย
ทั้งหมดคือบทสรุปใจความสำคัญของปัญหาการทุจริต ‘เงินทอนวัด’ ตามมาตรการป้องกันการทุจริตที่สำนักงาน ป.ป.ช. นำเสนอแก่คณะรัฐมนตรี ก่อนมีข้อเสนอแนะ 5 ข้ออย่างที่ทราบกันไปแล้ว
แต่หลายคนอาจยังไม่รู้ว่าแต่ละปีที่ผ่านมา เงินงบประมาณอุดหนุนวัด ซึ่งเป็นงบประมาณที่ถูกทุจริตนั้น ได้รับการจัดสรรเท่าไหร่บ้าง และถูกนำไปใช้กันอย่างไร?
สำนักข่าวอิศราจะนำมาเสนอในคราวถัดไป
หมายเหตุ : ภาพประกอบพระสงฆ์ จาก http://www.asean-thailand.org/
อ่านประกอบ : ครม.รับทราบข้อเสนอ ป.ป.ช.วาง 5 แนวทางป้องกันทุจริตเงินทอนวัด
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/