"...วัคซีนไทยนั้นโอกาสสำเร็จ ณ เวลานี้ก็ยังมีน้อยมาก เพราะความรู้ความชำนาญของเรายังน้อยกว่าคนอื่น และที่สำคัญก็คือวัคซีนที่จะฉีดนั้นจะต้องทดลองในมนุษย์ก่อน แต่ประเทศไทยนั้นมีจำนวนผู้ติดเชื้อที่น้อยมาก ดังนั้นการทดลองที่ประเทศไทยคงจะยากที่จะสำเร็จในสถานการณ์แบบนี้ ซึ่งการทดลองว่าจะสำเร็จหรือไม่ต้องทดลองในพื้นที่ที่มีผู้ติดเชื้อเยอะ..."
..................
ความคืบหน้าเรื่องวัคซีนโควิด-19 ของประเทศไทยปรากฏเป็นข่าวในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ว่า กระทรวงสาธารณสุข และบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ บริษัท เอสซีจี และแอสตร้าเซนเนก้า ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลง MOU ว่า แอสตร้า เซนเนก้า จะมอบวัคซีนตัวอย่างที่ได้รับการรับรองแล้ว เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีน AZD 1222 ให้กับบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ เพื่อเริ่มต้นกระบวนการผลิตวัคซีนสำหรับคนไทย และประชากรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยไม่มุ่งหวังผลกำไร
อย่างไรก็ดี ภายหลังปรากฏข่าวดังกล่าว ก็คำถามบางประการเกิดขึ้นในโลกออนไลน์ตามมา ถึงกระบวนการผลิตวัคซีนโควิดในประเทศไทย ว่าทำไมถึงปรากฎชื่อ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ เข้ามาเกี่ยวข้องได้
โดยนายวีระ สมความคิด ประธานกลุ่มพิทักษ์สิทธิเสรีภาพของประชาชน และเลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา(www.isranews.org) ว่า "เท่าที่ทราบมาก็คือในประเทศไทยนั้นมีคณะวิจัยของประเทศไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยระบุว่าสามารถคิดค้นวัคซีนไวรัสโควิด-19 ได้แล้ว แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าคำว่าสำเร็จนั้นอยู่ที่ขั้นไหน อีกทั้งกรณีการเซ็นสัญญากับบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ เพื่อให้ผลิตวัคซีนนั้นที่ผ่านมา รัฐบาลไทยไม่ได้พูดอะไรออกมาเลย และอยู่ดีๆก็มีข่าวปรากฎว่าบริษัทสยามไอโอไซเอนซ์ได้เป็นคู่สัญญาวัคซีนจากออกซ์ฟอร์ดนั้น ใช้วิธีการอะไร ออกซ์ฟอร์ดใช้วิธีการอะไร ถึงข้ามมาให้บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ได้เป็นคู่สัญญา ก็อยากให้ชี้แจงตรงนี้ด้วยว่ามีกระบวนการเป็นอย่างไร"
"ในประเด็นเรื่องที่ระบุว่าประเทศไทยนั้นมีขีดความสามารถในการคิดค้นวัคซีนสำหรับไวรัสโควิด-19 และต้องการห้องแล็บที่มีความพร้อมสำหรับการทดลองวัคซีนนั้น ส่วนตัวก็เห็นว่าบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์นั้นก็เป็นบริษัทที่มีศักยภาพอยู่แล้ว ทำไมไม่ให้เขาไปช่วยทำการทดลองและสนับสนุนวัคซีนของประเทศไทยด้วย แต่กลับใช้ในการสนับสนุนวัคซีนของต่างประเทศแทน ซึ่งส่วนตัวตั้งคำถามไปว่า เพราะว่าการไปดีลเรื่องวัคซีนกับต่างประเทศนั้นอาจจะมีผลประโยชน์ส่วนตัวบางประการมากกว่าวัคซีนของประเทศไทยใช่หรือไม่ ก็อยากจะให้มีความชัดเจนตรงนี้ด้วยเช่นกัน"
นายวีระ ยังกล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า ส่วนตัวแล้วไม่ได้ต้องการที่จะมาโจมตีใครในเรื่องนี้ แต่ต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ออกมาชี้แจงเท่านั้น จะได้คลายข้อสงสัยในประเด็นเรื่องการหาวัคซีนให้กับคนไทยว่าไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง
นายวีระ สมความคิด ประธานกลุ่มพิทักษ์สิทธิเสรีภาพของประชาชน และเลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน
จากกรณีดังกล่าว สำนักข่าวอิศราได้สอบถามไปยังนายอนุทิน ชาญวีรกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้ชี้แจงข้อเท็จจริงเรื่องที่มีการตั้งข้อสังเกต
นายอนุทิน ยืนยันว่า กระทรวงสาธารณสุขนั้นสนับสนุนวัคซีนทุกรูปแบบ ทั้งวัคซีนที่คิดค้นโดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงพยาบาลศิริราช บริษัท ไบโอเนท เอเชีย
"วัคซีนของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ณ เวลานี้นั้นอยู่ในขั้นตอนการทดลองระยะที่ 3 หรือระยะทดลองอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งมีการทดลองกับอาสาสมัครจำนวนมากกว่าพันรายแล้ว แต่เท่าที่ทราบคือวัคซีนของประเทศไทยนั้นยังอยู่ในขั้นตอนระยะการทดสอบก่อนการทดลองการรักษา (Pre-Clinical Testing) ซึ่งจะเป็นการทดลองวัคซีนกับสัตว์ ซึ่งรวมไปถึงวัคซีนของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่เพิ่งจะเสร็จสิ้นการทดลองกับสัตว์เมื่อไม่นานมานี้ และอาจจะต้องส่งไปให้ห้องแล็บที่สหรัฐอเมริกาได้ดำเนินการทดลองในขั้นทดลองกับมนุษย์ต่อไป ซึ่งก็คงต้องใช้เวลา"
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยังระบุด้วยว่า "จริงๆแล้วเรื่องนี้อยากให้ผู้ที่เป็นแพทย์หรือผู้ที่มีความรู้เรื่องวัคซีนเป็นผู้พูดเรื่องนี้จะดีกว่า หน้าที่ของกระทรวงนั้นจะทำในเรื่องของการสนับสนุนการวิจัยวัคซีนเท่านั้น ซึ่งการสนับสนุนวัคซีนในบริบทของกระทรวงสาธารณสุขก็รวมถึงกรณีที่เราได้ไปร่วมกับโครงการความร่วมมือนานาชาติในการวัดหาวัคซีน (COVAX) ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลขององค์การอนามัยโลก (WHO) เพื่อที่จะจัดหาวัคซีนให้กับนานาประเทศได้อย่างเท่าเทียมกัน"
“ถ้ามาถามว่า ทำไมไม่ทำแบบนู้น ไม่ทำแบบนี้ แต่พอถึงเวลาเขามีวัคซีนขึ้นมาแล้ว แล้วเราไม่มีจริงๆ ก็คงจะถามผมอีกว่าแล้วทำไมไม่สั่งจองไว้ก่อนล่ะ ดังนั้นอย่าพูดดีกว่า” นายอนุทินระบุ
นายอนุทิน ชาญวีรกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
ทางด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค อดีตอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ชี้แจงว่าวัคซีนที่มีการคิดค้นในประเทศไทยยังไม่ได้มีการยื่นขอการทดลองในมนุษย์จากทางองค์การอาหารและยา (อย.) เลยแม้แต่น้อย มีแต่การทดลองในสัตว์ ดังนั้นถ้าหากต้องรอวัคซีนของประเทศไทย ก็คงอีกนานเป็นระยะเวลาเป็นปีกว่าจะเสร็จ อย่างไรก็ตามนโยบาย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ได้มีการอนุมัติงบประมาณกว่า 400 ล้านบาทไปให้กับทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยไปแล้ว เพื่อสนับสนุนการวิจัย
"วัคซีนไทยนั้นโอกาสสำเร็จ ณ เวลานี้ก็ยังมีน้อยมาก เพราะความรู้ความชำนาญของเรายังน้อยกว่าคนอื่น และที่สำคัญก็คือวัคซีนที่จะฉีดนั้นจะต้องทดลองในมนุษย์ก่อน แต่ประเทศไทยนั้นมีจำนวนผู้ติดเชื้อที่น้อยมาก ดังนั้นการทดลองที่ประเทศไทยคงจะยากที่จะสำเร็จในสถานการณ์แบบนี้ ซึ่งการทดลองว่าจะสำเร็จหรือไม่ต้องทดลองในพื้นที่ที่มีผู้ติดเชื้อเยอะ"
"ณ เวลานี้ ถ้าเราอยากจะได้วัคซีนเราจะต้องไปร่วมมือกับบริษัทต่างประเทศซึ่งเขามีศักยภาพ แล้วการจะไปร่วมมือกับต่างประเทศก็ต้องยอมรับว่าเรานั้นต้องเข้าไปมีความรู้จักกับเขาในระดับหนึ่ง เขาถึงจะมาพูดคุยกับเราได้"
นพ.โอภาส ยังกล่าวอีกว่า "กรณีของบริษัทสยามไบโอไซเอนส์นั้น ต้องชี้แจงว่าบริษัทปูนซีเมนต์ สยาม ซีเมนต์ กรุ๊ป หรือว่าเอสซีจี เขามีสายสัมพันธ์กับทางออกซ์ฟอร์ด ก็เลยช่วยให้เราได้เป็นผู้ผลิตวัคซีน ซึ่งถ้าหากไม่มีความรู้จักทางธุรกิจที่ว่ามานั้น เขาก็ไม่ให้เราเหมือนกัน เพราะมันก็มีประเทศอื่นที่ใกล้ๆเช่นประเทศสิงคโปร์เช่นกัน และอีกประเด็นนอกเหนือจากสายสัมพันธ์ทางธุรกิจแล้วก็คือว่าต้องดูด้วยว่าประเทศเรานั้นมีโรงงานที่จะผลิตวัคซีนได้หรือไม่ ซึ่งทางเขาก็ได้มีการมาสำรวจทั่วทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) แล้ว พบว่ามีอยู่ 2 ประเทศที่มีความสามารถจะผลิตวัคซีนเป็นจำนวนมากให้เขาได้ ซึ่งแห่งแรกก็คือบริษัทสยามไบโอไซเอนส์ ที่ประเทศไทย ส่วนอีกประเทศนั้นจำไม่ได้จริงๆ"
“ถ้าหากเราได้มีโอกาส ได้สิทธิบัตรวัคซีนจากทางออกซ์ฟอร์ด เราก็สามารถนำวัคซีนนั้นไปช่วยต่อยอดได้ ทางบริษัทสยามไบโอไซเอนส์เขาก็มีความรู้ในด้านขั้นตอนการผลิตและเทคนิคขั้นสูง และองค์ความรู้ที่ได้รับมาก็จะสามารถนำมาใช้ช่วยเหลือการพัฒนาวัคซีนไทยตัวอื่นๆที่กำลังพัฒนา ณ เวลานี้ได้ด้วย ซึ่งต้องขอเรียนว่าการผลิตวัคซีนนั้นไม่ใช่เรื่องที่จะผลิตง่ายๆ ต้องอาศัยเทคนิคและความรู้ขั้นสูง ซึ่งเรื่องนี้ก็จะเป็นประโยชน์ในอนาคตต่อไป เพราะว่าขั้นตอนการผลิตนั้นมันก็มีหลายขั้นตอน ขั้นแรกก็คือการผลิตเชิงทดลองก่อน ตอนต่อไปก็คือการผลิตเชิงอุตสาหกรรม ซึ่งจะเป็นการใช้คนละเทคโนโลยีกัน ประเทศไทยนั้นมีองค์ความรู้ในการผลิตวัคซีนในเชิงอุตสาหกรรมที่น้อยมาก ดังนั้นนี่ก็จะเป็นการเสริมองค์ความรู้ของประเทศไทยต่อไป” นพ.โอภาสกล่าว
เมื่อถามว่าในประเทศไทยนั้นยังมีแค่บริษัทสยามไบโอเซเอนส์แค่แห่งเดียวเท่านั้นหรือที่มีความสามารถในการผลิตวัคซีนเป็นจำนวนมาก นพ.โอภาสกล่าวว่า จริงๆแล้วในเมืองไทยยังมีโรงงานอีกจำนวน 2 แห่งที่ความสามารถในการผลิตวัคซีนได้เป็นจำนวนมากเช่นกัน ได้แก่โรงงานของทางสยามไบโอเนท และโรงงานขององค์การเภสัชกรรม แต่ว่าทางอังกฤษเป็นผู้ที่เลือกบริษัทสยามไบโอไซเอนส์เพราะว่าโรงงานของทางองค์การสัชกรรมก็ยังไม่มีความก้าวหน้ามากพอที่จะผลิตวัคซีนของเขาได้
นพ.โอภาส กล่าวต่อว่าอีกประเด็นที่ต้องชี้แจงเพิ่มเติมก็คือว่าวัคซีนที่ได้มีการทำสัญญากับทางออกซ์ฟอร์ดนั้นฉีดฟรีสำหรับคนไทย และไม่มีการหากำไรแต่อย่างใด โดยเป็นการที่รัฐบาลได้มีการเจรจาซื้อสิทธิบัตรมาผลิตแล้วจะให้คนไทยได้ฉีดฟรี โดยคาดว่าถ้าโชคดี คนไทยก็น่าจะสามารถเข้าถึงวัคซีนได้ภายในช่วงเดือน ก.ค. 2564 หลังจากสหรัฐอเมริกาไม่นานเท่าไร
“ความคืบหน้าวัคซีนโลกนั้น ถ้าหากประกาศผลเร็วที่สุดก็น่าจะเป็นในช่วงเดือน พ.ย.ว่าจะมีวัคซีนสำหรับไวรัสโควิด-19 ซึ่งสามารถใช้งานในมนุษย์ได้ ซึ่งต้องขอเรียนว่าการผลิตวัคซีนนั้นไม่ได้ง่าย การที่เราสามารถเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ได้ประมาณกลางปีหน้าก็ถือว่าโชคดีที่สุดแล้ว ก็คงจะพร้อมๆกับประเทศญี่ปุ่น ที่เขาก็พยายามเร่งหาวัคซีนให้ทันกับช่วงกีฬาโอลิมปิกเช่นกัน” นพ.โอภาสกล่าว
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค อดีตอธิบดีวิทยาศาสตร์การแพทย์
ขณะที่ ภญ.สุธีรา เตชคุณวุฒิ อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศราว่า กำหนดการบริษัทใบยา ไฟโตฟาร์ม จะมีการดำเนินการผลิตวัคซีนในระดับโรงงานอุตสาหกรรม คาดว่าน่าจะมีความชัดเจนได้ในช่วงปี 2564 อย่างไรก็ตามจะต้องมีการทดสอบในหลายประเด็นรวมไปถึงที่ปรากฎเป็นข่าวด้วยว่าการกลายพันธ์ของไวรัสนั้นจะไปส่งผลกระทบต่อสารภูมิคุ้มกัน (แอนติบอดี) ของร่างกายด้วยหรือไม่ ณ เวลานี้จึงยังตอบไม่ได้ว่าการกลายพันธุ์ที่เกิดขึ้นนั้นจะส่งผลกระทบต่อการผลิตวัคซีนในการป้องกันโรคด้วยหรือไม่ อย่างไรก็ตาม วัคซีนของเรา (บริษัทใบยา ไฟโตฟาร์ม) นั้นมีข้อดีก็คือเราเป็นแพลตฟอร์มการผลิต (ต้นแบบนวัตกรรม) ดังนั้นถ้าหากมีการเปลี่ยนแปลงของไวรัสจริง เราก็สามารถเปลี่ยนตามได้ด้วย
ภญ.สุธีรากล่าวต่อว่า "สาเหตุของการที่เราได้พัฒนาเทคโนโลยีองค์ความรู้นี้เพื่อให้เราสามารถผลิตวัคซีนได้เองในประเทศไทยนั้นก็เป็นเพราะว่าถ้าหากเราใช้เทคโนโลยีจากต่างประเทศ ซึ่งเขาอาจจะรวดเร็วกว่าก็จริง แต่ถ้าหากไวรัสนั้นมีความเปลี่ยนแปลงในอนาคต เทคโนโลยีจากต่างประเทศที่เราได้มาก่อนหน้านี้นั้นก็อาจจะไม่มีความหมายสำหรับการทำวัคซีนตัวใหม่ที่จะรองรับกับการกลายพันธุ์ได้ และเราก็ต้องรอเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนตัวใหม่จากต่างประเทศ ซึ่งนี่ก็จะทำให้เกิดความเสียหายได้ แต่ถ้าหากเราสามารถพัฒนาและมีความสามารถในการผลิตวัคซีนได้ในประเทศไทยแล้วไวรัสเกิดการกลายพันธุ์ไป เราก็ยังสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงต้นแบบเทคโนโลยีสำหรับการผลิตวัคซีนที่มีเพื่อให้เหมาะสมกับการกลายพันธุ์ได้ไปเรื่อยๆ"
“เรื่องนี้ไม่ใช่การแข่งขันกันว่าได้ที่หนึ่งเสร็จแล้ว ไม่เอาที่สอง ไม่เอาที่สาม วัคซีนไม่ใช่แบบนั้น คือตอนนี้เรายังไม่รู้เลยว่าจะต้องฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิดบ่อยแค่ไหน จะทุกปี หรือทุกสองปี แบบนี้คงจะไม่พออีกเช่นกัน หรือแม้แต่การเอาของออกซ์ฟอร์ดมาใช้ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีการผลิตรวดเดียวแล้วสามารถใช้งานได้ทั้งประเทศอีกเช่นกัน และคงต้องมีการใช้เวลาในการผลิต อีกประการก็คือในอนาคตนั้นเราจะมั่นใจได้อย่างไรว่ามันจะไม่เกิดไวรัสโควิด 21 ไวรัสโควิด 22 เกิดว่ามันเกิดขึ้นอีกแล้วเราต้องรออีก เราต้องไปซื้อเขามาอีก มันก็คงไม่ใช่ เรื่องนี้มันใช่ว่าจะเอาหนึ่ง สอง หรือสาม แต่อย่างใด และประชากรทั่วโลกนั้นมีนับพันล้าน ในอนาคตวัคซีนก็คงจะไม่พออย่างแน่นอน ดังนั้นสาระสำคัญก็คือเราควรจะต้องพึ่งพาตัวเองให้ได้” ภญ.สุธีรากล่าว
ภญ.สุธีรากล่าวต่อว่า "การผลิตวัคซีนนั้นอยากให้ดูด้วยว่าแม้ว่าทางออกซ์ฟอร์ดเขาบอกว่าทำได้ แล้วทำไมบริษัทอย่างจอห์นสันแอนด์จอห์นสันเขาก็ยังทำอยู่ ทำไมบริษัทไฟเซอร์ก็ยังทำอยู่ มอร์เดอร์นาก็ยังทำอยู่ ก็เพราะว่าทางบริษัทเหล่านี้ก็รู้เช่นกันว่าทำอย่างไรวัคซีนมันก็ไม่พอทั่วโลก เขาก็ต้องการที่จะผลิตได้เองเช่นกัน และเราเองก็คงจะไปซื้อของเขามาตลอดมันก็คงเป็นไปไม่ได้เช่นกัน ซึ่งแม้ว่าการจะซื้อวัคซีนมาผลิตจากต่างประเทศนั้นจะมีข้อดีเพราะเราจะได้ใช้ก่อน แต่ก็ต้องคิดด้วยว่าในวันหนึ่งเกิดเขาไม่ขายเรา หรือเหตุกักตุนวัคซีนขึ้นมาจะทำอย่างไรดี"
ภญ.สุธีรากล่าวว่า "เข้าใจว่าประชาชนอาจจะเข้าใจผิดว่าเราทำวัคซีนช้ากว่าเขา เขาได้เป็นที่หนึ่งแล้ว ซึ่งข้อเท็จจริงนั้นไม่ใช่ ต่อให้สถาบันวัคซีนได้มีการทุ่มเงินขนาดไหน ทางสหรัฐอเมริกาได้ทุ่มเงินขนาดไหน แต่ความแตกต่างในเรื่องของช่วงเวลาที่วัคซีนจะพร้อมใช้งานได้ในแต่ละเจ้านั้นท้ายที่สุดอาจจะมีความแตกต่างกันแค่ไม่กี่เดือนก็เป็นไปได้ และถ้าอ่านข่าวเพิ่มเติมอีกก็คือว่าบริษัทฟิลลิปมอร์ริสเขาก็เพิ่งจะเริ่มมีการนำเอาใบยาสูบเข้ามาผลิตเป็นวัคซีนสำหรับไวรัสโควิด-19 ซึ่งของบริษัทใบยาฯเองก็ใช้เทคโนโลยีเดียวกันกับบริษัทฟิลลิปมอร์ริสเช่นกัน เพียงแต่ว่านี่เป็นเทคโนโลยีของเราเอง ไม่ต้องพึ่งพาเขา"
เมื่อถามว่า ขั้นตอนการทดลองวัคซีนเพื่อการรักษาในมนุษย์ของบริษัทไบยาฯนั้นจะเป็นการทดลองแบบผสมระยะหรือไม่ ภญ.สุธีรากล่าวว่า "การทดลองในมนุษย์นั้นก็ผสมระยะกันอยู่แล้ว ซึ่ง ณ เวลานี้ ประเทศไทยยังสามารถควบคุมการระบาดของไวรัสได้ดี การทดลองการรักษาด้วยวัคซีนของบริษัทใบยาฯ ก็คงจะสามารถดำเนินการได้ในระยะที่หนึ่งและสองที่ประเทศไทย ส่วนการทดลองในระยะสามซึ่งเป็นระยะสุดท้ายก่อนที่จะมีการประกาศอนุมัติการใช้งานนั้นก็คงจะต้องมีการประสานเพื่อให้มีการดำเนินการทดลองที่ต่างประเทศซึ่งเรื่องนี้ก็อยู่ในแผนงานของทางบริษัทอีกเช่นกัน"
“ระยะหนึ่งและระยะสองเราสามารถเร่งได้ แต่ระยะสาม เราไม่รู้ว่าในปีหน้านั้นประเทศไทยอาจจะมีเคสผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นมาอีกก็ได้ ไม่มีใครรู้เรื่องนี้ เราต้องปรับตามสถานการณ์ให้เหมาะสมส่วนตัวก็อยากให้สนับสนุนงานของคนไทยด้วยเช่นกัน เพราะเรื่องนี้ก็ถือว่าเป็นความภาคภูมิใจของประเทศ" ภญ.สุธีราระบุ
เมื่อถามต่อว่า การทดลองในระยะที่สามนั้นเป็นการทดลองกับอาสาสมัครที่มีจำนวนนับพันราย ก็หมายความว่า จะต้องมีการทำให้วัคซีนของบริษัทใบยาฯนั้นสามารถถูกผลิตในระดับอุตสาหกรรมด้วยใช่หรือไม่
ภญ.สุธีรากล่าวว่า "ใช่แล้ว เรื่องนี้เรากำลังทำอยู่ ที่เราเตรียมการผลิตสำหรับการทดลองในระยะหนึ่งและระยะสอง ระยะสามเราก็ทำได้เลยเช่นกัน เพราะว่าตอนนี้เราทำเรื่องสถานที่ผลิตอยู่ เราต้องผลิตเองทั้งหมดแต่เราไม่ได้จะตั้งโรงงาน เราใช้วิธีการรวบรวมทีมงานกัน คือใครทำอะไรได้เราก็เอามาให้มีการทำงานที่สอดคล้องกัน ซึ่งคาดว่าอีกไม่กี่สัปดาห์ เราคงจะมีการแถลงข่าวเรื่องนี้กันอีกทีหนึ่ง"
เมื่อถามว่าวัคซีนของบริษัทใบยาฯนั้นจะสามารถช่วยเหลือเกษตรกรในเรื่องของการเพาะปลูกใบยาสูบได้หรือไม่ ภญ.สุธีรากล่าวว่า "คงไม่ได้ เพราะการผลิตนั้นคงต้องเป็นการผลิตภายใต้สภาวะแวดล้อมที่ถูกควบคุมของทางบริษัทใบยาฯอย่างเคร่งครัด และใบยาสูบที่จะใช้ในการทำวัคซีนนั้นจะต้องเป็นคนละเกรดและคนละสายพันธุ์กับที่ได้ใช้ในการทำบุหรี่"
"ทางบริษัทใบยาฯนั้นยังไม่เคยได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนจากทางรัฐบาลก็จริง แต่ต้องขอเรียนว่าอย่านำเอาเรื่องนี้ไปเป็นประเด็นเลย เพราะว่าทางสถาบันวัคซีนแห่งชาติซึ่งมีลักษณะเป็นองค์การมหาชน เขาก็เป็นผู้ที่ช่วยเหลือและประสานงานในเรื่องต่างๆมาโดยตลอด และในอนาคตพอวัคซีนมีความคืบหน้ามากกว่านี้ก็คงจะได้มีการระดมทุนต่อไป" ภญ.สุธีรากล่าวทิ้งท้าย
ภญ.สุธีรา เตชคุณวุฒิ อาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด
*หมายเหตุ สำหรับขั้นตอนการทดลองวัคซีนนั้นจะมีการแบ่งระยะการทดลองออกเป็น 4 ระยะด้วยกันได้แก่
1. ระยะการทดสอบก่อนการทดลองการรักษา (Pre-Clinical Testing) การทดลองวัคซีนในระยะนี้ นักวิทยาศาสตร์จะให้วัคซีนกับสัตว์ทดลอง อาทิ ลิง หนู เพื่อจะทดสอบกระบวนการตอบสนองต่อภูมิคุ้มกันของไวรัส
2. ระยะที่ 1 หรือระยะทดลองปลอดภัย นักวิทยาศาสตร์จะให้วัคซีนกับอาสาสมัครเป็นจำนวนจำกัด ในปริมาณที่ไม่มากนัก เพื่อจะยืนยันผลการตอบสนองของภูมิคุ้มกันของอาสาสมัคร
3. ระยะที่ 2 หรือระยะทดลองขยาย นักวิทยาศาสตร์จะให้วัคซีนกับอาสาสมัครจำนวนร้อยคนขึ้นไป โดยจะแบ่งอาสาสมัครออกเป็น 2 กลุ่ม ตามเกณฑ์ต่างๆ อาทิ เด็กและผู้สูงอายุ เพื่อจะดูถึงผลของวัคซีนว่ามีความแตกต่างกันหรือไม่ โดยขั้นตอนนี้จะเป็นการตรวจสอบว่าไวรัสมีความปลอดภัยจริงและสามารถจะกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายได้หรือไม่
และ 4. ระยะที่ 3 หรือระยะทดลองอย่างมีประสิทธิภาพ นักวิทยาศาสตร์จะเริ่มให้วัคซีนแก่อาสาสมัครจำนวนมากกว่าพันคนขึ้นไป และจะดูว่าผู้ที่ได้รับวัคซีนจำนวนกี่คนที่ยังคงติดเชื้ออยู่ ซึ่งขั้นตอนนี้จะเป็นขั้นตอนสำคัญที่จะทดสอบว่าวัคซีนได้ผลหรือไม่
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage