"...เมื่อบุคคลในครอบครัว โดยเฉพาะผู้สูงอายุมีความเห็นไม่ลงรอยทางการเมืองกับลูกหลาน ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่านี่จะเป็นความเสี่ยงที่ทำให้เกิดความเหินห่าง จนไปถึงการสูญเสียความสัมพันธ์ในครอบครัว อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่ต้องระลึกเอาไว้ ก็คือไม่ว่าความเชื่อทางการเมืองจะมีความแตกต่างกันอย่างไร แต่ก็ไม่มีสิ่งใดที่จะมีค่าเท่ากับความสัมพันธ์ในครอบครัว..."
..............................
สืบเนื่องจากการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอกที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ ณ เวลานี้ คงเป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความเห็นต่างทางการเมือง ได้ก่อให้เกิดความไม่ลงรอยในทุกระดับของสังคม ตั้งแต่ระดับประเทศไปจนถึงระดับความสัมพันธ์ในครอบครัว จนกระทั่งเกิดความขัดแย้งขึ้นมาได้
คำถามสำคัญ คือ จะมีหนทางแก้ไขปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัว ที่เกิดขึ้นจากความเห็นต่างทางการเมืองได้อย่างไร
เว็บไซต์ Verywell Family ของสหรัฐอเมริกา ได้นำเสนอบทความที่ชื่อว่า “เมื่อครอบครัวมีความเห็นไม่ลงรอยทางการเมือง” (When Families Disagree About Politics) เอาไว้
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) เห็นว่าเนื้อหาบทความชิ้นนี้ มีสาระสำคัญหลายประการ ที่สามารถตอบคำถามที่ตั้งไว้ได้ มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
เมื่อบุคคลในครอบครัว โดยเฉพาะผู้สูงอายุมีความเห็นไม่ลงรอยทางการเมืองกับลูกหลาน ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่านี่จะเป็นความเสี่ยงที่ทำให้เกิดความเหินห่าง จนไปถึงการสูญเสียความสัมพันธ์ในครอบครัว
อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญที่ต้องระลึกเอาไว้ ก็คือไม่ว่าความเชื่อทางการเมืองจะมีความแตกต่างกันอย่างไร แต่ก็ไม่มีสิ่งใดที่จะมีค่าเท่ากับความสัมพันธ์ในครอบครัว
ดังนั้น นี่คือข้อแนะนำเพื่อหลีกเลี่ยงการสูญเสียความสัมพันธ์ และป้องกันไม่ให้ความเชื่อทางการเมืองมาทำลายครอบครัว
@ ต้องพักจากการหารือในประเด็นที่จะสร้างความขัดแย้ง
ไม่ว่าจะเวลาใดก็ตาม การตัดสินใจทางการเมืองต่างๆมักจะส่งผลต่อชีวิตเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น การหารือในประเด็นการเมืองนั้นจึงเป็นสิ่งที่คุ้มค่าที่จะพูดคุย เพราะว่าในโลกที่เราปฏิเสธที่จะพูดเรื่องการเมือง เพราะความกลัวว่าจะทำร้ายความรู้สึกของผู้อื่น นั่นถือเป็นเรื่องที่ผิดปกติจากโลกที่ควรจะเป็น
ในบางครั้งบางคราว ก็จะเห็นได้ว่าขั้วที่อยุ่ตรงข้ามกันทางการเมืองนั้นไม่สามารถหาจุดร่วมที่ลงรอยกันได้ ดังนั้น จึงเป็นการดีกว่าถ้าจะประกาศให้ชัดเจนไปเลยว่าจะหยุดหรือพักจากการหารือในด้านการเมืองเอาไว้ ซึ่งกรณีเหล่านี้ บุคคลในครอบครัวควรจะหาเรื่องสัพเพเหระอื่นๆอาทิเช่น งานอดิเรก กิจกรรมบันเทิงต่างๆ และไม่มีความเกี่ยวข้องกับการเมืองมาพูดคุยกัน
@ เลือกวิธีที่จะพูดคุยอย่างไร หากต้องพูดเรื่องการเมือง
ถ้าเราเลือกที่จะพูดคุยในเรื่องการเมือง เราก็ควรจะหารืออย่างมีแผนการ เพื่อที่จะเพิ่มโอกาสให้การหารือนั้นเป็นการหารืออย่างมีอารยะ อาทิ
การเปิดใจรับฟังเมื่ออีกฝ่ายนั้นกำลังจะพูดอะไร ซึ่งถ้าคุณไม่สามารถปฏิบัติในข้อนี้ได้ ก็ไม่ควรที่จะพูดหรือหารือเลย เพราะถ้าจิตใจของเรามัวแต่ยุ่งว่าคิดจะพูดอะไรต่อไป เราก็จะไม่สามารถรับฟังได้อย่างจริงจัง
เพราะต้องยอมรับว่าอีกฝ่ายหนึ่งก็มีเหตุผลที่สนับสนุนความเชื่อของตัวเองเหมือนกัน ดังนั้น เราจึงต้องรับฟังอีกฝ่ายหารืออย่างจริงใจ
อย่างไรก็ตาม เมื่อเรารับฟังสารมาแล้ว เราก็ควรที่จะพูดซ้ำ โดยเรียบเรียงข้อความด้วยวิธีการที่ฉลาดเพื่อที่จะทำให้อีกฝ่ายได้รับรู้ว่าเราก็รับฟังเขาเช่นกัน
การใช้อารมณ์ขันก็เป็นอีกวิธีที่จะทำให้การสนทนานั้นมีความราบรื่น และทำให้หัวข้อสนทนามีความเบาและไม่หนักจนเกินไป
แต่ทั้งนี้ควรต้องเลือกด้วยว่ามุขตลกนั้นไม่ควรที่จะมีลักษณะที่หยาบจนเกินไป
ซึ่งที่ผ่านมาในสถานการณ์ทางการเมืองเองก็มีการพยายามทำให้เป็นเรื่องที่มีความตลก เพื่อที่จะลดความเครียดของสถานการณ์ลงไป
ถ้าเราเป็นผู้สนทนา ควรจะสงบนิ่ง ถ้าหากเรารู้สึกว่าไม่สามารถที่จะควบคุมโทนเสียงให้มีลักษณะมีเหตุมีผลได้ และในช่วงเวลานี้ควรจะเป็นช่วงเวลาที่เราเลือกที่จะเปลี่ยนแปลงการสนทนาไปหัวข้ออื่น และถ้าหากอีกฝ่ายอยู่ในสภาวะดื่มสุรา ก็ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะเสวนาเรื่องการเมืองด้วยในเวลานั้น
การควบคุมภาษากายก็เป็นเรื่องสำคัญ อย่าพยายามที่จะแสดงท่าทีเหมือนกับจะรุกล้ำพื้นที่ส่วนตัวของผู้อื่น และต้องระวังที่จะสนทนาในลักษณะที่จะต้อนผู้อื่นจนจนมุม เพราะเราเองก็ไม่ชอบเช่นกันที่จะถูกต้อน และที่สำคัญต้องอย่าตัดสินภาษากายของคนอื่นว่า มีลักษณะไม่เป็นมิตรกับเรา
โดยผู้เชี่ยวชาญบางคนเชื่อว่าภาษากายนั้นเป็นส่วนของการสนทนาถึงเกือบครึ่งหนึ่ง
การเรียนรู้ที่จะออกจากการสนทนาเองก็เป็นสิ่งสำคัญ มีหลายครั้งที่ผู้สนทนาเลือกที่จะจบการสนทนาด้วยการพูดว่า “เราจะต้องเห็นด้วยบนความไม่เห็นด้วย” หรือ “เราคงมีความเห็นไม่เหมือนกัน” ซึ่งการจบการสนทนาแบบนี้นั้นดูเหมือนจะไม่เป็นพิษเป็นภัย อย่างไรก็ตาม การพูดแบบนี้ก็ดูอันตรายได้เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคู่สนทนามีความรู้สึกว่าถูกตัดออกจากการสนทนาที่ยังค้างอยู่
ซึ่งถ้าหากเราต้องการที่จะจบการสนทนาจริงๆ เราควรเลือกคำพูดที่ดีกว่านี้ และฉลาดกว่านี้เช่นคำพูดว่า “สิ่งที่คุณพูด เราก็คงกลับไปคิด พิจารณาเหมือนกัน คราวหน้าน่าจะมาพูดเรื่องนี้กันต่อ”
@ การหารือกับผู้เป็นหลานต้องใช้วิธีการเข้าถึงแบบพิเศษ
สิ่งหนึ่งซึ่งอาจจะสร้างรอยร้าวในครอบครัว ก็คือ ความพยายามที่จะเปลี่ยนความเชื่อ แนวคิดของผู้เป็นหลาน เมื่อผู้สูงอายุมีโอกาสอยู่กับหลานๆ นี่เป็นสิ่งที่อันตรายอย่างยิ่ง โดยเฉพาะถ้าหลานยังอยู่ในวัยเรียนหนังสือ
การป้องกันที่จะเอาเรื่องการเมืองมาพูดกับลูกหลานนั้นจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ ถ้าหากลูกหลานได้ร่วมการสนทนาในเรื่องการเมือง วิธีการที่เราจะตอบสนองกลับไปนั้นจะต้องคำนึงถึงสถานการณ์ในครอบครัวด้วย
ถ้าหากมีความไม่ลงรอยกันในครอบครัวในระดับที่จะทำให้เกิดการปะทุได้ง่าย การตอบสนองต่อเด็กๆ นั้น จึงเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงในทุกกรณี
ถ้าหากครอบครัวของเราไม่ได้เปิดพื้นที่ในการสนทนา หรือมีการสนทนาการเมืองที่ไม่มากนั้น ก็เป็นเรื่องที่ดีหากเราจะให้คำตอบในประเด็นที่อีกฝ่ายสงสัยได้ แต่ว่าต้องทำให้อีกฝ่ายนั้นมีความรู้สึกมั่นใจด้วยว่าเรารักเขาเพราะว่ายังเป็นครอบครัวเดียวกัน
แม้ว่าจะมีความเห็นที่ไม่ลงรอยกันก็ตาม
และต้องคำนึงด้วยว่าเด็กนั้นอาจจะยังไม่มีประสบการณ์มากพอในการตีความการสื่อสารของเราได้อย่างถูกต้อง แม้ว่าเราจะได้มีความระมัดระวังแล้วก็ตาม ซึ่งนี่เป็นเรื่องที่อันตรายเพราะจะสร้างความผิดพลาดในการตีความการสื่อสารได้
ดังนั้น เมื่อเราตอบสนองต่อคำถามทางการเมืองของผู้ที่เป็นลูกหลาน ควรที่จะนึกถึงตำแหน่งในครอบครัว กับประเด็นหัวข้อสนทนา ก่อนที่จะตัดสินใจว่าจะตอบคำถามหรือไม่ตอบคำถามดี โดยบางสถานการณ์ก็เป็นการดีที่สุดที่จะหลีกเลี่ยงการพูดคุยเรื่องนี้
@ สถานการณ์ทางสังคมกับการเลือกหัวข้อทางการเมือง
ในช่วงเวลาวันหยุดพักผ่อน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ครอบครัวมีกิจกรรมทำอะไรด้วยกัน การพูดคุยเรื่องการเมืองบนโต๊ะอาหารนั้นถือเป็นเรื่องที่ต้องหลีกเลี่ยงอยากยิ่ง เพราะจะทำลายบรรยากาศการพักผ่อนและอาจจะทำให้สูญเสียความสัมพันธ์ในครอบครัวได้
@ ความขัดแย้งบนโซเชียลมีเดีย
ในช่วงปีที่ผ่านมา มีช่องทางการแสดงออกเพื่อสื่อสารถึงความไม่เห็นด้วยผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียมากมาย แต่ก็ต้องยอมรับว่าการสื่อสารในโซเชียลมีเดียนั้นก็สามารถสร้างความขัดแย้งได้ด้วยการที่ใช้ถ้อยคำเกินจริง อาทิ การโพสต์ การแชร์ข้อความโดยไม่กลั่นกรองอย่างละเอียด ยกตัวอย่างเช่น เฟซบุ๊กนั้นก็อาจจะเป็นเว็บไซต์ที่มีการปล่อยข้อความอันเป็นเท็จและสร้างความเสียหายได้เพราะมีผู้ที่ใช้เป็นจำนวนมาก
และแน่นอนว่าฐานข้อมูลเพื่อนบนโซเชียลมีเดียนั้นมีความหลากหลายทางความคิดมาก
ดังนั้น สิ่งที่เราโพสต์ไปก็อาจจะไปหมิ่น หรือทำร้ายคนอื่นโดยไม่รู้ตัว ซึ่งบางทีก็อาจจะเป็นประเด็นทางการเมืองที่ทำให้เราขัดแย้งกับเพื่อนบนเฟซบุ๊กซึ่งเป็นคนในครอบครัวของเรา
ดังนั้น เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงจากความขัดแย้งบนโซเชียลมีเดีย ก็ควรที่จะเลี่ยงจากการคอมเมนต์ หรือโพสต์ข้อความในช่วงเวลาที่เรามีอารมณ์หรือมีความเครียดมากเกินไป
วิธีการที่เป็นไปได้ก็คือเวลาเราจะโพสต์อะไร เราควรที่จะร่างข้อความเอาไว้คร่าวๆก่อนแล้วพิจารณาความถูกต้องในทีหลังตอนที่เราอารมณ์เย็นกว่านี้ ว่าจะโพสต์ข้อความนั้นดีหรือไม่ โดยนี่ถือเป็นวิธีที่ฉลาดถ้าหากต้องแสดงความเห็นทางการเมืองบนโซเชียลมีเดีย
และอีกวิธีการก็คือการพิจารณาว่าใครบ้างที่อาจจะเห็นโพสต์บนเฟซบุ๊กของเราแล้วเกิดความรู้สึกไม่พอใจ แล้วเราจึงตั้งค่าความเป็นส่วนตัวของโพสต์เฟซบุ๊กเราให้เห็นได้เฉพาะคนที่คิดว่าจะไม่เป็นปัญหาเท่านั้น ก็จะเป็นการลดความขัดแย้งบนโซเชียลได้เช่นกัน
@ การปฏิบัติจริง
ข้อสุดท้ายที่ดีที่สุดก็คือ แทนที่เราจะโน้มน้าวคนอื่นโดยเฉพาะกับครอบครัวให้มีความคิดเห็นคล้อยตามไปในทางเดียวกับเรา หรือสนับสนุนความเชื่อทางการเมืองของเรา
ทางที่ดีเราควรที่จะปฏิบัติเพื่อให้ได้แสดงให้เห็นความเชื่อทางการเมืองมากกว่าที่จะใช้คำพูดโน้มน้าว อาทิ ถ้าเราเชื่อว่าเกิดความเหลื่อมล้ำทางสังคมจริง ถ้าหากมีโอกาสก็ควรจะบริจาคเงินเพื่อที่จะแสดงให้เห็นว่าเราได้ใส่ใจที่จะมีส่วนในการแก้ไขปัญหาสังคมที่เกิดขึ้น และไม่ละเลยในประเด็นที่คนรุ่นหลานได้แสดงความเป็นห่วง
ที่ผ่านมา มีข้อพิสูจน์ได้ชัดเจนอยู่แล้วว่าการที่เราปฏิบัติจริงตามความเชื่อทางการเมืองของเรานั้น สามารถสร้างอิทธิพลและโน้มน้าวคนอื่นได้ดีกว่าการที่เราใช้คำพูดอยู่แล้ว และยังเป็นการสร้างตัวอย่างความเชื่อทางการเมืองของเราให้ผู้อื่นเห็นได้ดีกว่าการที่เราจะพยายามเอาชนะความเชื่อทางการเมืองของคนในครอบครัวด้วยคำพูด
เพราะท้ายที่สุดเมื่อเกิดความเสียหายขึ้นในครอบครัวแล้ว ก็จะไม่มีใครชนะเลย
เรียบเรียงจาก:https://www.verywellfamily.com/when-families-disagree-about-politics-4112342
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage